|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
พิษ"ซับไพรม์"ในสหรัฐปะทุเพิ่มป่วนตลาดหุ้นทั่วโลก "คันทรีไวด์ ไฟแนนเชียล คอร์ป" ปลดพนักงาน 1.2 หมื่นคนล่าสุดธุรกิจอสังหาฯในสหรัฐปลดคนงานแล้ว 5 หมื่นคน ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานเดือนส.ค.ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี ทำให้หุ้นไทยรูดหลุด 800 จุด ก่อนปิดลบ 4.6 จุดอยู่ที่ 796.85 จุด วอลุ่ม สุดซึมต่ำหมื่นล้านอีกครั้ง "ปกรณ์"หวังไทยแลนด์โฟกัสดึงเงินนอกลงทุน ขณะที่"ภัทรียา" พร้อมรั้งบจ.ที่เล็งเพิกถอนจากตลาด
ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์วานนี้ (10 ก.ย.) ความกังวลต่อปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ของสหรัฐอเมริกาหลังผลกระทบที่เริ่มปรากฎขึ้นรอบใหม่รุนแรงกว่าที่มีการคาดการณ์โดย"คันทรีไวด์ ไฟแนนเชียล คอร์ป" บริษัทผู้ให้สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ประกาศจะปลดพนักงานถึง 12,000 คน ขณะที่ปัจจุบันได้มีการปลดคนงานแล้วถึง 50,000 ส่งทำให้ดัชนีเปิดตลาดปรับตัวลดลงหลุด 800 จุดก่อนจะมีแรงซื้อเข้ามาในช่วงบ่ายส่งผลให้ดัชนีปิดที่ 796.85 จุด ลดลง 4.61 จุด หรือ 0.58% โดยจุดสูงสุดของวันอยู่ที่ 798.95 จุด และจุดต่ำสุดอยู่ที่ 790.49 จุด มูลค่าการซื้อขาย 9,711.19 ล้านบาท
ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 554.60 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 270.69 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 815.29 ล้านบาท
นางสาวทัศน์มน วิทยารักษ์สรรค์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.สินเอเซีย กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นภูมิภาคที่ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงตามดัชนีตลาดหุ้นดาวน์โจนส์ของสหรัฐฯ ประกอบกับไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามาสนับสนุนการลงทุน ทำให้ดัชนีปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศเป็นหลัก
ทั้งนี้สาเหตุหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นต่างประเทศปรับตัวลดลงนั้นเนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของสหรัฐว่าจะชะลอตัวลงหรือไม่ หากปัญหาเรื่องซับไพรม์ยังคงยืดเยื้อออกไปและอาจจะลุกลามมาในแถบภูมิภาคเอเชียได้ โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานใหม่นอกภาคเกษตร ในเดือน สิงหาคม ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้นักลงทุนมีความกังวลว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัว จากปัญหาซับไพรม์หรือไม่
นอกจากนี้นักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างเร็วเกินไป ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวลดลงได้ ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเรื่องการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคม 50 นี้ ซึ่งไม่มีนัยกับตลาดหุ้นไทยมากนัก
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นในวันนี้ยังยากที่จะคาดการณ์ว่าดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือตัวลดลงได้ เนื่องจากปัจจุบันไม่มีปัจจัยใหม่เข้ามากระตุ้นการลงทุน ดังนั้นดัชนีจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยต้องติดตามการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด)ในวันที่ 18 ก.ย. โดยส่วนตัวคาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25%
"ไทยแลนด์โฟกัส"หนุนหุ้น
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ (10 ก.ย.)ปรับตัวลดลง เนื่องจากบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ขนาดใหญ่หลายแห่งมีการประกาศจ่ายเงินปันผลและได้มีการขึ้นเครื่องหมาย XD (ผู้ซื้อไม่มีสิทธิรับเงินปันผล) ทำให้ราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลงโดยเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องปกติ
ทั้งนี้ การจัดงานไทยแลนด์โฟกัสในวันที่ 12-14 ก.ย. มีผู้จัดการกองทุน นักลงทุนต่างประเทศ รวมถึงสถาบันไทย ตอบรับเข้าร่วมงานนี้ประมาณ 500 ราย ซึ่งถือว่าเป็นงานที่สำคัญในการทำความเข้าใจกับนักลงทุนต่างประเทศในเรื่องพื้นฐาน เศรษฐกิจและภาวะปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในอนาคต และนโยบายที่สำคัญของภาครัฐบาล รวมถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ทางการเงินต่างๆ
นอกจากนี้กองทุนที่มีความสนใจที่จะเข้าลงทุนในบริษัทจดทะเบียนใดก็สามารถที่จะมีการพบในลักษณะตัวต่อตัวได้ และสอบถามข้อมูลในเชิงลึกของบริษัทจากผู้บริหารระดับสูงได้
พร้อมรั้งบจ.ที่เล็งถอนตัว
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลท. กล่าวว่า การที่บริษัทจดทะเบียนมีการขอเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นเพราะมีการควบรวมกิจการ และจากปัญหาการกระจายหุ้น (ฟรีโฟลท) ไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ซึ่งไม่ได้เกิดจากความไม่พอใจในเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ โดยหากตลาดหลักทรัพย์ฯทราบว่าจะมีบริษัทขอเพิกถอน ทางตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะมีการสอบถามว่าเกิดจากปัญหาอะไร และตลาดหลักทรัพย์ฯพร้อมที่จะให้คำแนะนำและความช่วยเหลือในทันที
G10จับผลกระทบต่อศก.
บรรดาธนาคารกลางสำคัญของโลก ต่างกำลังเฝ้าจับตามองผลกระทบอันเกิดจากความปั่นป่วนผันผวนของตลาดการเงิน ทั้งนี้เป็นคำแถลงของประธานธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) เมื่อวานนี้(10)ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม "กลุ่มจี 10" ขณะที่ตัวเลขข้อมูลจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ บ่งชี้ให้เห็นว่าวิกฤตสินเชื่อกำลังก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจวงกว้างแล้ว และทางด้านตลาดหลักทรัพย์แทบเอเชีย ส่วนใหญ่อยู่ในอาการติดลบ ตามหลังวอลล์สตรีทในวันศุกร์(7)
"แน่นอนว่าเราจะยังคงตื่นตัวระวังภัยกันในระดับทั่วโลก มันไม่ใช่เป็นเวลาที่จะนิ่งนอนใจเลย" ประธานอีซีบี ฌอง-โคลด ตริเชต์ กล่าวในฐานะประธานของกลุ่มจี 10 อันเป็นกลุ่มนายธนาคารกลางระดับนำของโลก ซึ่งจัดการประชุมกันเป็นประจำที่ธนาคารเพื่อการชำระบัญชีระหว่างประเทศ(บีไอเอส) เมืองบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
"เราจะต้องติดตามกันอย่างระมัดระวังมากว่าเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ" เขากล่าวต่อ "เฟด(ธนาคารกลางสหรัฐฯ)ได้พูดแล้วว่า อาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจแท้จริงในสหรัฐฯ"
ตริเชต์บอกว่า สิ่งที่ธนาคารกลางต่างๆ ได้กระทำไป โดยเฉพาะการอัดฉีดสภาพคล่อง ก็เพื่อทำให้ตลาดเงินเกิดเสถียรภาพ ทว่านายธนาคารกลางที่มาประชุมกันในบาเซิลคราวนี้ ไม่มีใครคิดว่าเป็นหน้าที่ของพวกตนที่จะต้องกอบกู้ช่วยเหลือไม่ให้นักลงทุนเจ๊ง
IMFเห็นผลดีของภาวะตลาดป่วน
ความเห็นของกลุ่มจี 10 ก็เป็นไปในทำนองเดียวกับของ โรดริโก ราโต กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ ว่า ความปั่นป่วนของตลาดการเงินในระยะนี้ ซึ่งคือการประเมินราคาของความเสี่ยงกันใหม่อย่างแรงๆ นั้น น่าจะเป็นผลดีต่อเสถียรภาพระยะกลางของเศรษฐกิจโลก แม้มันจะสร้างความเจ็บปวดในระยะสั้นก็ตาม
"การคิดคำนวณคราวนี้อาจจะเป็นสิ่งที่น่ายินดี ทว่ามันก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นสิ่งซึ่งไร้ความเจ็บปวด" เขาบอกกับไฟแนนเชียลไทมส์ ขณะไปร่วมการประชุมในประเทศอิตาลี
นอกจากนี้ ภาวะสินเชื่อบีบคั้นที่กำลังเกิดขึ้น เป็น "วิกฤตที่ร้ายแรง" ซึ่งยังไม่ทันคลี่คลายออกมาหมดสิ้น โดยที่มีความไม่แน่นอนอยู่ในระดับที่สูงมาก กระนั้นก็ตาม ผลกระทบของมันน่าจะมีเพียงจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจโลกกำลังมีความแข็งแกร่ง และผู้มีอำนาจทางนโยบายการเงินทั่วโลกต่างก็ได้รับความเชื่อถืออย่างสูง
เศรษฐกิจญี่ปุ่น-สหรัฐฯอาการไม่สู้ดี
ในญี่ปุ่นวานนี้ได้มีการแถลงตัวเลขปรับปรุงล่าสุดของเศรษฐกิจประจำไตรมาส2 ปีนี้ ซึ่งปรากฏว่าหดตัวลง 0.3% แย่กว่าที่พวกนักเศรษฐศาสตร์พยากรณ์กันเอาไว้ว่าจะติดลบ 0.2%
ส่วนที่สหรัฐฯในวันศุกร์(7) ก็มีการแถลงตัวเลขการจ้างงานประจำเดือนสิงหาคม อันแสดงให้เห็นว่าตัวเลขนี้ลดต่ำลงเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี บ่งชี้ว่าภาวะสินเชื่อบีบคั้นกำลังเริ่มกัดกร่อนอัตราเติบโตของเศรษฐกิจภาคแท้จริงในประเทศนั้นแล้ว
ข่าวร้ายเหล่านี้ ตลอดจนการที่ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของวอลล์สตรีทปิดวันศุกร์โดยหล่นลงมา 1.87% ได้ส่งผลกระทบทำให้ตลาดหลักทรัพย์แถบเอเชียวานนี้ย่ำแย่กันเป็นแถว แม้ว่าในช่วงท้ายๆ ตลาดหลายๆ แห่งจะสามารถดีดกลับขึ้นจากจุดต่ำสุด และกระทั่งบางแห่งถึงขั้นปิดในแดนบวกด้วย
ทั้งนี้ ตลาดโตเกียวปิดติดลบ 2.2% เพราะถูกซัดทั้งด้วยข้อมูลเศรษฐกิจจากสหรัฐฯและแดนซามูไรเอง แถมข่าวการจ้างงานในอเมริกาทำให้เกิดเสียงคาดหมายเรื่องเฟดจะต้องลดดอกเบี้ยแน่ๆ จนทำให้ค่าเงินดอลลาร์ตกฮวบเมื่อเทียบกับเงินเยนและยูโร ขณะที่ตลาดแถบเอเชียอื่นๆ ฮ่องกงสามารถดีดขึ้นมาจนปิดบวก 0.1% ส่วนสิงคโปร์ลบ 1.4%, โซล ลบ 2.6%, กัวลาลัมเปอร์ ลบ 1.1%
|
|
 |
|
|