Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2535
"เพิ่มใบอนุญาตจัดการกองทุน อุดมพอใจ "มีอิสระในการซื้อขายมากขึ้น"             
 


   
search resources

เอ็มเอฟซี, บลจ.
อุดม วิชยาภัย
Funds




นโยบายที่จะให้มีบริษัทจัดการกองทุนรวมเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวของกระทรวงการคลังบวกกับการประกาศใช้กฎหมาย SEC จะส่งผลกระทบในทางดีต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวม ซึ่งเคยเป็นผู้ผูกขาดใบอนุญาตจัดการกองทุนมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี

อุดม วิชยาภัย กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์ กองทุนรวมเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่า "เรื่องนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลคือให้มีการแข่งขันประกอบธุรกิจอย่างเสรี ใบอนุญาตใหม่นั้นผมเข้าใจว่าก็เหมือนกับของกองทุนรวมคือประกอบธุรกิจได้แคบ ทำได้เพียงการจัดการกองทุนเท่านั้น"

อุดมค่อนข้างมองในแง่ดีที่ว่าจะเกิดการแข่งขันขึ้นในบรรดาผู้จัดการกองทุนเก่า และใหม่แทนที่แต่เดิมมีเฉพาะการแข่งขันระหว่างกองทุนแต่ละกองที่อยู่ภายใต้การจัดการของ บล. กองทุนรวม และการแข่งขันกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ในแง่ของการวัดประสิทธิภาพของการบริหารกองทุน

การที่มีผู้จัดการกองทุนเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าจะทำให้ บล. กองทุนรวมพ้นจากข้อหาเรื่อง "การเทขายหุ้น" ที่ได้รับมาตลอดเวลาที่ผูกขาดใบอนุญาตจัดการกองทุน

"ผมเคยพูดตลอดมาว่าในอดีตนั้นเมื่อกองทุนรวมทำอะไรมักจะระมัดระวัง มันก็มีผลให้การดำเนินงานของเราไม่ค่อยคล่องตัวเท่าไหร่ แต่เมื่อมีเพิ่มเข้ามาอีกหลายบริษัท การแข่งขันค่อนข้างฟรี ทำให้เรามีอิสระในการซื้อขาย ผมหวังว่าต่อไปนี้คงจะไม่มีใครมาว่าเราว่าเป็นคนเทขายหุ้นหรือทำให้ราคาหุ้นปั่นป่วนอะไรอีก เพราะมีผู้จัดการกองทุนหลายราย เป็นการแข่งขันที่เสรีขึ้น" อุดมเปิดเผยความในใจ

หลังจากที่กระทรวงการคลังอนุญาตให้มีบริษัทจัดการกองทุนเพิ่มขึ้น 9 ราย (ดูตารางรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตจัดการกองทุนใหม่) บริษัทเหล่านี้จะต้องจัดตั้งกองทุนแบบปิดขึ้น มูลค่ากองทุนละไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท อายุกองทุนอย่างน้อย 5 ปี และจะต้องดำเนินการจัดการตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน

นั่นหมายความว่าในช่วง 6 เดือนหลังจากบริษัทจัดการกองทุนเหล่านี้จดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว จะมีเงินลงทุนไหลเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 9,000 ล้านบาท เป็นเม็ดเงินลงทุนใหม่ ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเม็ดเงินลงทุนของ บล. กองทุนรวมซึ่งเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์มีอยู่เกือบ 40,000 ล้านบาท

ปัญหาคือซัพพลายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีเพียงพอแก่ความต้องการลงทุนเหล่านี้หรือไม่??

อุดมมองว่า "ซัพพลายจะถูกดูดออกไปโดยเฉพาะหุ้นบลูชิพ นั่นหมายความว่าปริมาณหุ้นลอยหรือหุ้นที่เหลืออยู่ในตลาดฯ จะลดลง แต่ถ้ากองทุนใหม่ที่เข้ามามีการซื้อขายบ่อย อันนี้ก็จะช่วยให้มีหุ้นหมุนเวียนมากขึ้น ทางกองทุนรวมก็มีนโยบายที่จะซื้อขายหุ้นบ่อยขึ้น ให้มีการหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามภาวการณ์ของตลาด"

ในอดีตที่ผ่านมา อุดมอ้างว่ากองทุนรวมใช้นโยบายถือหุ้นไว้ในระยะกลาง-ยาว ส่วนที่ออกมาหมุนเวียนมีบ้างแต่ไม่บ่อย และไม่มากนัก เพราะมีข้อจำกัดที่ว่ากองทุนรวมมีผู้ถือหุ้นเป็นหน่วยงานราชการทำให้ต้องมีการสนองนโยบายราชการและทำอะไรก็ต้องระมัดระวัง

การสนองนโยบายราชการที่ว่าหมายถึงบทบาทที่กองทุนรวมเคยช่วยแก้ไขปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้น สุดแล้วแต่ว่าจะได้รับมอบจากกระทรวงการคลังหรือแบงก์ชาติมาอย่างใด ส่วนมากที่เห็นกันคือการดูแลกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อพยุงตลาดเป็นครั้งคราวยามเกิดวิกฤติการณ์ต่าง ๆ แต่ต่อไปนั้นอุดมมองว่า "บทบาทอย่างนี้นี่ผมคิดว่าหมดแล้ว"

การที่ข้อจำกัดดังกล่าวหมดไปมีผลทำให้กองทุนรวมเริ่ม "หายใจได้คล่องขึ้น" อุดมเริ่มใช้นโยบายผ่อนคลายในเรื่องการบริหารกองทุนมากขึ้น เขาอธิบายว่า "ต่อไปนี้หากผู้จัดการกองทุนเห็นจังหวะที่จะขายหุ้นได้ คือ เมื่อถึงจุดอิ่มตัว เห็นว่าควรทำกำไร ก็จะปล่อยออกไปทั้งหมด ไม่มีการอิดเอื้อนใด ๆ สมัยก่อนอาจจะขายมาก ๆ ไม่ได้ เพราะตลาดจะตกใจ แต่ต่อไปเราอาจจะปล่อยได้ทั้งหมด 500,000 หุ้นที่เรามีอยู่ในมือ แล้วรอจังหวะซื้อเข้ามาใหม่ นโยบายนี้ทำให้เรามีความคล่องตัวมากขึ้นในแง่ของการบริหารเวลาในการตัดสินใจนี่สำคัญที่สุดของการบริหารกองทุน"

นอกจากการใช้นโยบายผ่อนคลายการบริหารกองทุน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดสำหรับเตรียมรับมือการแข่งขันเสรีน่าจะเปิดโอกาสให้มีการจัดตั้งกองทุนได้หลาย ๆ แบบ เช่น กองทุนที่ลงทุนเฉพาะหุ้นกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธนาคาร กลุ่มไฟแนนซ์หรือกลุ่มที่ดิน และกองทุนแบบรับซื้อหน่วยลงทุนคืนคือไม่จำเป็นต้องไปซื้อขายหน่วยลงทุนกับตลาดหลักทรัพย์ แต่ให้ซื้อขายที่กองทุนรวมได้ รวมทั้งเรื่องการตั้งกองทุนเปิด เป็นต้น

ในอดีตการขออนุญาตจัดตั้งกองทุนแต่ละครั้งต้องส่งรายละเอียดไปให้แบงก์ชาติพิจารณาอนุมัติ ซึ่งก็ใช้เวลานานไม่น้อย และหลายครั้งมักจะมีความเห็นในการตั้งกองทุนที่แตกต่างกัน

อุดมยกตัวอย่างเรื่องกองทุนที่ดินซึ่งกองทุนรวมทำเรื่องเสนอไปและแบงก์ชาติอนุมัติมาแล้ว แต่มีรายละเอียดที่อุดมเห็นว่า "ผูกมัดทางกองทุนรวมมากเกินไป"

"แบงก์ชาติระบุว่าร้อยละ 75 ของกองทุนนั้นต้องลงทุนในหุ้นที่ประกอบธุรกิจที่ดิน แต่ใจจริงผมไม่ต้องการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผมต้องการทำเรื่องนี้ก่อนตลาดที่ดินจะบูมเมื่อ 5-6 ปีก่อน โดยไปลงทุนในโครงการข้างนอก เป็นการร่วมลงทุนแบบเวนเจอร์ แคปิตอล เพราะโอกาสที่จะทำกำไรดีกว่า หากมาซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ นี่ราคามันขึ้นมาสูงมาก ตอนที่ผมจะทำนั้นมีต่างประเทศร่วมด้วยเมื่อเขาเห็นเงื่อนไขข้อนี้ผูกมัดมากไป เขาก็ขอถอนตัว ตอนนี้ผมก็ทำเรื่องเข้าไปใหม่ ขอแบบไม่ผูกมัดแต่ก็ยังไม่มีผลตอบออกมา" อุดมเผยประสบการณ์ความพยายามในการตั้งกองทุนใหม่ ๆ

ยังมีเรื่องของการทำ INDEX FUND ซึ่งกองทุนรวมทำเรื่องขอไปเป็นแบบกองทุนเปิด แต่ได้รับอนุมัติให้ทำแบบกองทุนปิด เรื่องนี้จึงยังคงคาราคาซังอยู่จนบัดนี้

INDEX FUND เป็นกองทุนที่ลงทุนในดัชนีตลาดหลักทรัพย์หมายความว่าผลของหลักทรัพย์ที่อยู่ในกองทุนนี้ เมื่อทำออกมาแล้วจะเป็นเสมือนส่วนย่อของธุรกิจหลักทรัพย์นี้ทั้งหมด มูลค่าหลักทรัพย์ในกองทุนจะเป็นบวก/ลบตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ

การลงทุนใน INDEX FUND เหมาะสำหรับนักลงทุนที่เป็นสถาบันต่างประเทศที่ไม่สามารถส่งคนมาดูแลผลประโยชน์จากการลงทุนได้อย่างใกล้ชิด สถาบันฯ เหล่านี้จะลงทุนใน INDEX FUND ที่ถือว่าเป็นส่วนย่อของตลาด ทฤษฎีมีอยู่ว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ปีที่แล้วเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโต 7.9% ขณะที่ 3 ปีก่อนหน้านั้นเติบโต 10% หากตลาดหลักทรัพย์ฯ โตตามภาวะเศรษฐกิจก็ควรจะเติบโตประมาณ 30% การลงทุนแบบนี้สถาบันต่างประเทศสามารถดูมูลค่าการลงทุนได้ตามดัชนีเศรษฐกิจ

อุดมเผยว่า "กองทุนรวมเคยเจรจาจะร่วมกับสถาบันแห่งหนึ่ง แต่เรื่องยืดเยื้อออกไปไม่สำเร็จ ตอนนี้เราก็เจรจาอยู่กับอีกแห่งหนึ่ง คิดว่าจะมีความเป็นไปได้กับสถาบันแห่งนี้"

ปัญหาเรื่องการขอตั้งกองทุนใหม่ ๆ จากแบงก์ชาติไม่ประสบผลสำเร็จมาหลายครั้ง แต่ต่อนี้ไปเมื่อมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. SEC ซึ่งกองทุนรวมและบริษัทหลักทรัพย์อื่น ๆ จะต้องมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เท่ากับว่ากองทุนรวมต้องขออนุญาตการตั้งกองทุนใหม่จาก กลต.

อุดมกล่าวว่า "สิ่งที่ผมอยากเห็นคืออยากให้การขออนุญาตจัดตั้งกองทุนเป็นไปโดยอัตโนมัติ หมายความว่าอะไรที่เข้าข่ายแล้ว หากไม่ตอบขัดข้องมาภายใน 45 วันก็สามารถดำเนินการได้เลย เหมือนกับ พ.ร.บ. ของธนาคารพาณิชย์อะไรก็ตามที่อยู่ใน พ.ร.บ. นั้นธนาคารฯ ก็สามารถทำไปได้เลย"

สิ่งที่อุดมอยากจะเห็นใน พ.ร.บ. SEC คือไม่ต้องการให้กฎหมายนี้มีเนื้อหาที่รัดกุมละเอียดมากเกินไป "ผมคิดว่าเราเห็นตัวอย่างมาแล้วในสหรัฐซึ่งกำหมายควบคุมธุรกิจนี้เขียนไว้รัดกุมแน่นหนามาก แต่ก็ยังมีคนที่สามารถจะโกงได้ เรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบธุรกิจมากกว่า ผมคิดว่าหากเราเริ่มต้นใหม่ ๆ โดยเฉพาะตลาดของเรายังไม่พัฒนา ผมว่าอย่าเพิ่งให้มีกฎที่รัดกุมมากเกินไป ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรม กลต. ที่จะเป็นผู้ตัดสินว่าจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ ในรูปนี้ผมคิดว่าเราจะพัฒนาได้เร็ว ส่วนการที่ใครจะขึ้นมาเป็นคณะ กลต. นั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องคงต้องเลือกชนิดที่ว่าเมื่อประกาศชื่อออกมาแล้ว คนยอมรับ"

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งที่อุดมเป็นห่วงอยู่ลึก ๆ เมื่อต้องเผชิญการแข่งขันกับกองทุนใหม่ ๆ ที่ผู้จัดการล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์อื่น ๆ คือเรื่องของสำนักงานสาขา อุดมมองว่าบริษัทจัดการกองทุนที่ได้ใบอนุญาตมาใหม่ ๆ นั้นล้วนมีความได้เปรียบ บล. กองทุนรวมในแง่นี้อย่างมาก

ที่ผ่านมาอุดมพยายามขออนุญาตทางการให้กองทุนรวมมีสาขาหรือตัวแทนในต่างจังหวัดได้ แต่ยังไม่ได้รับการสนองตอบอย่างที่ต้องการ เมื่อก่อนกองทุนรวมใช้วิธีส่งใบจองซื้อขายหน่วยลงทุนทางไปรษณีย์ แต่มีปัญหาเรื่องการติดต่อให้บริการหลังการขาย

สิ่งที่อุดมอยากจะได้คือการได้รับอนุญาตให้มีตัวแทนหรือเปิดออฟฟิศเล็ก ๆ ได้ในสำนักงานสาขาของบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายหนึ่งของกองทุนรวม เพื่อที่ว่าเจ้าหน้าที่จะได้ไปเยี่ยมเยียนลูกค้าได้อย่างใกล้ชิด

ประเด็นนี้อุดมต้องรอให้คณะ กลต. เป็นผู้พิจารณาต่อไป

มองในแง่ของการแข่งขันในตลาดบริหารกองทุนแล้ว กองทุนรวมต้องเตรียมรับมือหลายอย่าง แต่มองในแง่ดีของตลาดเสรีแล้ว กองทุนรวมดูจะได้ประโยชน์หลายประการ อย่างน้อยก็เพื่อนร่วมธุรกิจที่จะช่วยกันต่อสู้เรื่องกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนากิจการบริหารกองทุน!!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us