เปิดปมฉาวทุจริตโครงการประมูลระบบบิลลิ่งมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท ทศท. หลังพบความสัมพันธ์โยงใยระหว่างผู้ถือหุ้นในบริษัท
ยู.ซี.อี.ซี. ที่เป็นที่ปรึกษาโครงการทำหน้าที่เขียนเงื่อนไขข้อเสนอ ทีโออาร์และทำการทดสอบความสามารถของระบบหรือ
Benchmark กับ บริษัท เทเลเมติคส์ ที่ชนะการประมูล ด้านสหภาพฯทศท.ทำหนังสือด่วนร้องกรรมการผู้จัดการใหญ่
ถามหาความโปร่งใสโครงการ
โครงการประกวดราคาการเช่าระบบบริหารงานลูกค้า หรือ CUSTOMER CARE AND BILLING
SYSTEM มูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาท ของบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น แบ่งงานเป็น 2 ส่วน
คือ ระบบบิลลิ่ง และคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งบริษัท เทเล เมติคส์ ชนะประมูลระบบบิลลิ่ง
ด้วยราคา 1,190 ล้านบาท และบริษัท โลคัส ชนะ ประมูลคอลเซ็นเตอร์ด้วยราคา 1,307
ล้านบาท กำลังเกิดปัญหาทุจริต ไม่โปร่งใส ในกระบวนการประมูล โดยเฉพาะการประมูลระบบบิลลิ่ง
ข้อหาหนักที่เกิดขึ้นคือ พบการถือหุ้นโยงใยแสดง ถึงความสัมพันธ์ระหว่าง บริษัทยู.ซี.อี.ซี.
ซึ่งเป็นบริษัท ที่ปรึกษาโครงการนี้ กับบริษัท เทเลเมติคส์ ที่เป็นผู้ชนะการประมูล
สัญญาที่ปรึกษาโครงการเซ็นสมัย นาย สุธรรม มลิลา เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ กับบริษัท
ยู.ซี.อี.ซี. ซึ่งมีกรรมการบริษัท 2 คน ที่สามารถลงชื่อผูกพันบริษัทได้คือ นายไพศาล
สินธนา กับนางองค์การ อินทรัมพรรย์
ความสำคัญของที่ปรึกษาในโครงการนี้ คือ เป็นผู้เขียนข้อเสนอหรือ ทีโออาร์ด้วยค่าจ้าง
6 ล้านบาท และเป็นผู้ทำ Benchmark ซึ่งหมายถึงวิธีการทดสอบความสามารถของระบบ ด้วยค่าจ้าง
12 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 18 ล้านบาท
ในขั้นตอนพิจารณาการประมูล จะมีการให้คะแนน 3 ด้าน รวม 300 คะแนน คือ ด้านเทคนิค
ด้าน Demo และ การทำ Benchmark หลังจากนั้นจะรวมคะแนนแล้วนำไปหารราคา ที่เสนอในลักษณะการเปรียบเทียบคะแนนกับราคา
(Price/Performance) ใครต่ำสุดเป็นคนชนะ
ผู้ถือหุ้นโยงใยกัน
ในทะเบียนผู้ถือหุ้น เมื่อวันที่ 27 เม.ย.45 พบว่า บริษัท ยู.ซี.อี.ซี. มี นายไพศาล
สินธนา ถือหุ้น 48,995 หุ้น นายองค์การ อินทรัมพรรย์ ถือหุ้น 10,000 หุ้น นอกจากนั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อย
สิ่งที่โยงใยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องจากบริษัท ยู.ซี.อี.ซี. กับเทเลเมติคส์
คือบริษัท ซิสเต็ม แอ๊ดไวเซอร์ กรุ๊ป หรือ SAG
นายองค์การ อินทรัมพรรย์ มีรายชื่อเป็นถือ หุ้นอีก 50,000 หุ้นในบริษัท ซิสเต็ม
แอ๊ดไวเซอร์ กรุ๊ป หรือ SAG ตามทะเบียนผู้ถือหุ้นเมื่อ วันที่ 30 เม.ย.45 ร่วมกับผู้ถือหุ้นคนอื่นที่น่าสนใจคือ
นายวิสาล นีรนาทโกมล ถือ 5,070,000 หุ้น นางพัชรี นีรนาทโกมล 4,829,970 หุ้น ที่เหลือเป็นตัวประกอบอย่าง
นางสาวสุกัญญา หมู่พุทธรักษ์ 10 หุ้น นางเพชรน้อย ฉัตรแก้ว 10 หุ้น
และเมื่อค้นไปยังทะเบียนผู้ถือหุ้น บริษัท เทเลเมติคส์ เมื่อวันที่ 6 ก.พ.46
พบว่า นายวิสาล นีรนาทโกมล เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่จำนวน 1,089,950 หุ้น นางพัชรี นีรนาทโกมล
ถือหุ้น 50,000 หุ้น และมีตัวประกอบอย่างนางสาวสุกัญญา หมู่พุทธรักษ์ 10 หุ้นและนางเพชรน้อย
ฉัตรแก้ว 10 หุ้น
"ดูจากรายชื่อผู้ถือหุ้น แสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นใน SAG กับเทเลเมติคส์
เป็น กลุ่มเดียวกัน และมีความสัมพันธ์กับบริษัท ยู.ซี.อี.ซี. ในลักษณะการเป็นหุ้นส่วนกัน"
แหล่งข่าวในวงการไอที ซึ่งคร่ำวอดในงานประมูลให้ความเห็นว่า จากความสัมพันธ์ใน
การถือหุ้นพิสูจน์ให้เห็นชัดแล้วว่า การประมูลระบบบิลลิ่งไม่โปร่งใส เพราะคนในวงการ
กล่าวกันถึงขนาดว่า SAG เปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นเทเลเมติคส์
ภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น เมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา
คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที)
ในฐานะประธานบอร์ด ทศท.ถึงกับเรียกนาย ชัยเชวง กฤตยาคม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่
ที่รับผิดชอบการประมูลโครงการนี้ มายืนยัน ถึงความโปร่งใสในการประมูล ทำนองว่า
พร้อมตอบข้อซักถามทุกเรื่อง
ในการตอบข้อซักถาม อาการนายชัยเชวงที่ปรากฏกับสายตาคือ เสียงสั่นเครือในบาง คำตอบ
มือไม้สั่น ระหว่างตอบข้อซักถาม และบางครั้งมีอาการไม่ยอมสบตา เนื่องจากนาย ชัยเชวง
น่าจะเป็นคนที่รู้ความจริงที่อยู่เบื้องหลังมากที่สุด เพราะก่อนหน้านี้เขาเคยกล่าวว่า
ถ้าไม่คิดว่าจะเป็นการเนรคุณกับสถาบัน จะไล่อาจารย์จุฬาฯ ที่ทำงานเป็นที่ปรึกษาในบริษัท
ยู.ซี.อี.ซี.ออกไปให้หมด
เขาอาจลืมไปว่า สถาบันเป็นสถานที่ทรงคุณค่า น่าเคารพชื่นชู แต่กลุ่มคนที่อ้างสถาบันหาประโยชน์เพื่อพวกพ้องตัวเองต่างหาก
เป็นสิ่งที่น่าเกลียดชัง และทำให้ภาพสูงส่งของสถาบันมัวหมอง
"ถือว่าคุณหญิงพลาดไปหน่อยที่ออกมาการันตีความโปร่งใสโครงการนี้เร็วไปหน่อย แต่หากแก้ไขตอนนี้ถือว่ายังไม่สายเพราะเพิ่งผ่านขั้นตอนต่อรองราคา
และคาดว่าจะนำเสนอบอร์ด ทศท.ในวันที่ 2 พ.ค.นี้ เมื่อยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญาก็ยังแก้ไขทัน"
ย้อนปูมโครงการฉาว
โครงการนี้ ดำเนินการมาตั้งแต่สมัย นายสุธรรม มลิลา เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่
ทศท.เริ่มยื่นประกวดราคาตั้งแต่ 25 ก.ย.45 นายชัยเชวง กฤตยาคม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่เป็นประธานกรรมการพิจารณาโครงการนี้
บริษัท ยู.ซี.อี.ซี. เป็นจิ๊กซอว์อีกตัวหนึ่งที่ถูกเลือกมา รับบทบาทที่ปรึกษาโครงการประมูลในครั้งนี้
ซึ่งคนในวงการไอที รวมทั้ง ผู้ที่เข้าร่วมประมูล ในตอนต้นต่างมองที่ปรึกษาด้วยสายตาระแวดระวัง
เพราะการทำงานของ ที่ปรึกษา ออกมาในเชิงล้ำเส้น ไม่โปร่งใส
ความน่าแคลงใจของที่ปรึกษาโครงการเริ่มต้นจาก การทำหนังสือลงวันที่ 29 พ.ย.45
อ้างว่าตามที่ ทศท. ได้แจ้งให้ทุกบริษัทที่เข้ามาประมูล มาทำการสาธิตระบบ(DEMO)
ได้นั้น ซึ่งเป็นการแสดงว่า กรรมการได้พิจารณาให้ทุกบริษัทมีคุณสมบัติ ผ่านคุณสมบัติด้านพาณิชย์และคุณสมบัติด้านเทคนิคนั้น
ทางคณะที่ปรึกษา ได้พิจารณาเห็นว่ามี 3 บริษัท ที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในข้อกำหนด
เฉพาะ ตามที่คณะที่ปรึกษา ได้แจ้งให้ประธานทราบแล้ว
ดังนั้น ขอยืนยันว่ามีเพียง 2 บริษัท เท่านั้นที่ผ่านคุณสมบัติด้านพาณิชย์และคุณสมบัติด้านเทคนิค
คือบริษัท เทเลเมติคส์ กับกลุ่มเอ็มลิ้งค์
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีผู้บริหารบางคนในบริษัท ยู.ซี.อี.ซี.ได้ยื่นข้อเสนอว่า
จะทำ Benchmarked ให้ทุกขั้นตอนกับกลุ่มเอ็นอีซีที่ใช้ซอฟต์แวร์เจนีวา ในลักษณะเป็นคนออกข้อสอบเอง
และจะมาทำคำตอบให้ด้วย
แต่กลุ่มเอ็นอีซีไม่ยอม ผลคือในวันเปิดซองราคา ถูกตีตกหมดสิทธิ์เปิดซองราคา ทั้งๆที่กรรมการที่พิจารณาบางคนกล่าวว่า
คะแนนด้านการทดสอบต่างๆของเอ็นอีซี สูงกว่าคนอื่น
ในการเปิดข้อเสนอด้านราคาครั้งนี้มีบริษัทที่ผ่านการพิจารณาและให้คะแนนด้านเทคนิคทั้งหมด
6 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทที่ผ่านการพิจารณาในส่วนโครงการระบบบิลลิ่ง 4 บริษัท ประกอบด้วยกลุ่มบริษัท
เอ็มลิ้งค์ คอร์ปอเรฃั่น , กลุ่มบริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น, กลุ่มบริษัท ชรัมเบอร์เจอร์และกลุ่มบริษัท
เทเลเมติค
ส่วนผู้ผ่านการพิจารณาในส่วนระบบบริการลูกค้าหรือคอลเซ็นเตอร์มี 2 บริษัท คือ
กลุ่มบริษัท เอ็มลิ้งค์และกลุ่มบริษัท โลคัส เทเลคอมมูนิเคชั่นอิงค์
ในส่วนของระบบบิลลิ่งนั้น กลุ่มบริษัท เอ็นอีซี คอร์ปอร์เรชั่นถูกตัดสินจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการฯไม่ให้ผ่านข้อเสนอด้านเทคนิคทำให้ไม่ต้องมีการเปิดซองราคา
"กรรมการไม่กล้าเปิดคะแนนของเอ็นอีซี โชว์ให้เห็นเพราะได้คะแนนมากพอสมควร
หากไม่ถูกแกล้งจากเรื่อง Benchmark เพราะซอฟต์แวร์เจนีวาถือว่ามีชื่อเสียงทั่วโลกแม้แต่เอไอเอสผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ยังใช้ซอฟต์แวร์ตัวนี้"
สหภาพฯร้องหาความโปร่งใส
นายมิตร เจริญวัลย์ ประธานสหภาพ แรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทศท คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่าได้ทำหนังสือถึงนายสิทธิชัย
ส่งพิริยะกิจ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ถึงประเด็นที่บริษัท เทเลเมติคส์ ที่ชนะการประมูลบิลลิ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ปรึกษาที่
ทศท.ได้จ้างให้ทำทีโออาร์และ Benchmark เพื่อให้ส่งต่อไปยังคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์
ประธานบอร์ด ทศท.
เนื่องจากสหภาพฯเห็นว่าโครงการดังกล่าว เป็นโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูง และเป็นที่สนใจของสาธารณชนทั่วไป
จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส และต้องมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายจากหลักฐานดังกล่าวอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์เฉพาะให้แก่บริษัทใดบริษัทหนึ่งหรือเกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ซึ่งอาจจะเป็นประเด็นการฟ้อง
ร้องฉุกเฉินขอความเป็นธรรมต่อขบวนการยุติธรรมอันจะส่งผลให้โครงการดังกล่าวต้องล่าช้าออกไป
"ทางออกเพื่อไม่ให้โครงการล่าช้า น่าจะเรียกบริษัทที่ผ่านด้านเทคนิค ทำการ DEMO
มาเสนอราคาแข่งกันทำแบบ e-Auction ก็ได้ เพราะถือว่าขั้นตอนการทำ Benchmark ไม่โปร่งใสไม่สามารถนำมาใช้พิจารณาตัดสิน
อะไรได้"