"จดหมายถึงลูก" นี้เป็นของไกรศรี นิมมานเหมินท์ เขียนถึงบุตรชายสุดที่รักสองคน
คือ ธาริน นิมมานเหมินท์ และศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ ที่ออกไปรับการศึกษา
ณ ต่างประเทศ
หลังจากที่ทั้งคู่จบจากโรงเรียนมงฟอร์ตที่เชียงใหม่แล้ว ได้ไปศึกษาต่อที่โรงเรียนกินนอนชั้นนำในวงการทูตชื่อ
"วู้ดสต็อค" ในเมืองมัสสูรี รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย แล้วไปต่อที่โรงเรียนโช้ต
เมืองวอลลิงฟอร์ด รัฐคอนเนคติกัต สหรัฐ
ธารินทร์จบปริญญาตรีเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แล้วต่อเอ็มบีเอที่สแตนฟอร์ด
แคลิฟอร์เนีย ขณะที่ศิรินทร์จบปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนและศึกษาต่อเอ็มบีเอที่สแตนฟอร์ดเช่นกัน
จดหมายทั้ง 19 ฉบับนี้เขียนขึ้นระหว่างปี 2504-2512 ขณะที่บุตรทั้งสองเป็นวัยรุ่น
ในจดหมายได้เรียกชื่อ ธารินทร์ว่า "น้อย" และเรียกชื่อศิรินทร์ว่า
"หนุ้ย"
ไกรศรีได้ถ่ายทอดถ้อยคำอันลึกซึ้งที่มีความหมรายประหนึ่งมรดกทางความคิดที่ให้หลักชีวิตในการเข้าใจและปฏิบัติตนให้เจริญก้าวหน้า
นับว่าเป็นความตั้งใจที่ไกรศรีย้ำเสมอ
"เมื่อวานนี้ ป๋าได้นั่งคุยกับ ชมพู อรรถจินดา ทนายความที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคนี้ของประเทศไทย
เขาพูดว่าบุคคลที่จะประสบความสำเร็จได้อย่างบริบูรณ์ในชีวิตนั้น หาใช่บุคคลที่เรียนเก่ง
สอบไล่ได้ที่หนึ่ง หรือมีปริญญาอันสูงแต่เท่านั้นไม่ แต่เขาจะต้องมีเพื่อนฝูงให้มาก
และรู้จักคนคนหลายชั้น หลายประเภท และจะต้องเป็นนักกีฬาที่ดีด้วย ทั้งสามสิ่งนี้จะแยกออกจากกันไม่ได้"
(อ้างถึงจดหมายวันที่ 10 ก.ย. 2506)
ถ้อยคำที่ลึกซึ้ง ไกรศรีได้บรรจงเขียนไว้ มีบางตอนที่ทิ้งไว้ให้ลูกรู้จักคิดให้เป็นและเข้าใจเอาเองอย่างถ่องแท้
เพื่อแสวงหาทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับชีวิตตัวเอง
"ได้อ่านเรื่องฝันหวานของน้อยแล้ว ก็รู้สึกยินดีในความมักใหญ่ใฝ่สูงของเขาที่ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ขอเตือนมาว่าในเมืองไทยเรา การเป็นนักการเมืองยังได้รับการดูถูกมากมาย
และไม่เคยมีใครคิดว่านักการเมืองเป็นคนซื่อเลย แทบทุคนเอาความเป็นนักการเมือง
และความเป็นข้าราชการเข้าไปเกลือกกลั้วกับการสร้างความร่ำรวย และการคอรัปชั่นให้แก่ตนเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าน้อยมีความคิดที่อยากจะเป็นนักการเมือง ก็จะต้องเริ่มปฏิวัติทุกอย่างหมด
จะต้องเป็นนักการเมืองชนิดที่ขาวสะอาด ที่จะนำเกียรติมาสู่วงศ์ตระกูลในภายหน้า
เรื่องนี้จะต้องคิด และจะต้องตัดสินใจเสียตั้งแต่เดี๋ยวนี้ว่าถ้าอยากเป็นนักการเมืองที่ดี
ก็อย่าเป็นห่วงในการที่จะสร้างความร่ำรวยแก่ตนเอง และในเรื่องความร่ำรวยนี้จะต้องเสียสละไปสิ้น"
(อ้างถึงจดหมายลงวันที่ 16 กันยายน 2507)
นี่คือปฐมเหตุที่ทำให้ ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ นักศึกษาฮาร์วาร์ดหนุ่มคนนี้เบนเข็มทิศชีวิตจากเส้นทางนักรัฐศาสตร์สู่นายธนาคารด้วยคุณภาพชีวิต
PERFECTIONIST ทำให้ธารินทร์ประสบความสำเร็จได้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ตั้งแต่อยู่ในวัยหนุ่มจวบจนปัจจุบัน
เส้นทางชีวิตนายธนาคาร ธารินทร์ได้เดินเจริญตามรอยพ่อ ซึ่งเคยทำงานเป็นผู้ช่วยหัวหน้าฝ่ายต่างประเทศ
ธนาคารไทยพาณิชย์ (ปี 2483) ผู้อำนวยการเขตภาคเหนือ ธนาคารนครหลวงไทย (ปี
2489-2499) ผู้อำนวยการเขตภาคเหนือและกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ
(ปี 2499-2507) ผู้จัดการทั่วไปบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมฯ (ปี 2507-2513)
และจัดตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยพัฒนาในปี 2513
อันที่จริง ก่อนที่จะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ไกรศรี ได้สร้างโครงการเพื่อวางแผนชีวิตในอนาคตของลูกไว้ก่อนแล้ว
ซึ่งผิดกับลูกของคนอื่นที่พ่อแม่ไม่สู้สนใจ ปล่อยให้เด็กคลำหาทางช่วยตนเอง
โดยปราศจากความช่วยเหลือของพ่อแม่
"ลูกคงจะจำได้ดีว่า ป๋าได้เคยพูดอยู่เสมอเกี่ยวกับเรื่องมหาวิทยาลัยต่าง
ๆ ในสหรัฐ ฉะนั้นชื่อมหาวิทยาลัยต่าง ๆ คงจะชินหูลูกเป็นอย่างดีแล้ว แม้เสื้อที่ลูกสวมเมื่อยังเป็นเด็ก
ๆ แม่ก็ได้ปักตรามหาวิทยาลัยเก่าของป๋าติดไว้ที่หน้าอกเสื้อ ตั้งแต่สอนลูกหัดเดิน
จนกระทั่งเข้าเรียนชั้นมูล ในโรงเรียนเรยินาลี ลูกก็ยังสวมเสื้อที่ปักรูปตราอาร์มของมหาวิทยาลัยเก่าของป๋า
เป็นสิ่งเตือนใจเสมอว่า จะต้องเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นดีให้ได้….
ป๋าแม่ยอมทุ่มเทเพื่อการศึกษาที่ดีของลูก หาได้เท่าใดก็เจียดไว้ใช้เพียงเล็กน้อยเพื่อส่งลูกทั้งสองมาเรียนหนังสือ
ป๋าแม่เองก็มิได้ร่ำรวยไปกว่าญาติพี่น้องคนอื่น แต่เราถือว่าการศึกษาเป็นการให้มรดกแก่ลูก
และเมื่อลูกไดรับการศึกษาเป็นอย่างดีแล้ว วิชานั้นแหละจะเลี้ยงชีพลูกไปได้อย่างสบายตลอดชีวิต"
(อ้างถึงจดหมายลงวันที่ 25 เมษายน 2509)
จดหมายแต่ละฉบับไกรศรีจะเขียนเรื่องราวหลายด้าน เป็นการส่งข่าวคราว หรือแจ้งเหตุทางเมืองไทยให้ลูกทั้งสองทราบ
บางครั้งก็แทรกความรู้สารคดีประกอบด้วย ทำให้จดหมายเหล่านี้มีรสชาติยิ่งขึ้น
บ่อยครั้งที่หัวจดหมายจะขึ้นต้นสถานที่เขียนว่าเป็นบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้เพราะระหว่างปี 2507-2513 ไกรศรีดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไป โดยก่อนหน้านี้
ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เสนอตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ของธนาคารมณฑล แต่ไกรศรีปฏิเสธไม่รับ
ต่อมา ดร. ป๋วย ได้เสนองานที่บรรษัทเงินทุนฯ ในตำแหน่งรองผู้จัดการ โดยมี
ยม ตัณฑเศรษฐี เป็นผู้จัดการใหญ่
ด้วยสาเหตุที่ไกรศรีประสบปัญหาเขียนหนังสือไม่ได้ถนัดเพราะข้อมือมีโรคเกาต์รบกวน
ประกอบกับเหตุผลที่เขียนได้ไม่เร็วเท่าความคิด ทำให้วิธีการเขียนจดหมายแต่ละฉบับของไกรศรีจะมีลักษณะ
"จดตามคำบอก" โดยมีนายอินสมจดแล้วให้คุณชั้นไปพิมพ์อีกต่อหนึ่ง
จดหมายทุกฉบับ ไกรศรีได้ขอให้บุตรคนหนึ่งส่งสำเนาไปให้อีกคนหนึ่งอ่านเสมอ
เพราะไกรศรีจะสลับกันเขียนถึง "น้อย…ลูกรัก" บ้าง หรือ "หนุ้ย…ลูกรัก"
บ้าง
ยามที่ลูกคนใดคนหนึ่งท้อถอย จดหมายของพ่อจะเปรียบประดุจกำลังใจที่หล่อเลี้ยงให้ลุกขึ้นสู้กับอุปสรรคและมุมานะจนประสบความสำเร็จ
เพราะหนทางอันแสนไกลเหมือนคนละฟากฟ้านั้น สื่อแห่งความคิดที่ดีที่สุดคือจดหมายที่สามารถเก็บรักษาและอ่านทบทวนเนื้อความหลาย
ๆ ครั้งได้สมใจ