Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2535
"อีก 15 ปีอาจจะเร็วเกินไป สำหรับโครงการรวมกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง"             
 


   
search resources

International




ถอดความจาก MEKONG BUSINESS ใน MANAGER MAGAZINE ฉบับพฤษภาคม 2535

"การค้าและทุนจากบริษัทต่าง ๆ ในเอเชียกำลังไหลเข้าสู่ประเทศในกลุ่มลุ่มน้ำโขง (อินโดจีน) เป็นไปได้หรือที่อินโดจีนจะมีการรวมกลุ่มเป็น Trade bloc หรือ Mekong Community ตอนนี้เป็นเพียงแค่แนวคิดที่ยังไม่มีข้อสรุปอย่างน้อยอีก 15 ปี"

แนวความคิดในเรื่องกลุ่มประเทศแถบลุ่มแมน้ำโขงนั้นมีมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขงดำเนินการวิเคราะห์กันอย่างยาวนานและเสียค่าใช้จ่ายสูงมากในช่วงทศวรรษ 1960 โดยเป็นโครงการหนึ่งของสหประชาชาติที่มุ่งความสำคัญไปที่การใช้แหล่งน้ำเพื่อผลิตพลังงานการชลประทาย การขนส่งและการประมง อันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในแถบลุ่มแม่น้ำแห่งนี้ แต่ในช่วงทศวรรษถัดมา เหตุผลเชิงประวัติศาสตร์ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวพันกับแผนการด้านการพัฒนาของสหประชาชาติ ดังนั้นเมื่อภูมิภาคนี้หวนคืนสู่สันติภาพอีก การเรียกร้องให้สร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยใช้ระบบตลาดเสรีและนโยบายเปิดประเทศ กับการเปลี่ยนแปลงดุลอำนาจทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก ก็ได้ทำให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หันมาแสวงหาผลประโยชน์ในภูมิภาคนี้ ทั้งที่หลายประเทศเคยเป็นศัตรูกันมาก่อน

นโยบายแปรสนามรบเป็นสนามการค้า ทำให้นักธุรกิจชาวไทยเป็นจำนวนมากหันมาให้ความสนใจกับประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีน พม่า รวมทั้งภาคใต้ของจีนมากขึ้น ประเทศที่เคยติดต่อค้าขายกระสุนและอาวุธก็ปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์มาค้าขายสินค้าแบบปกติ ทุกฝ่ายต่างพากันเรียกร้องสันติภาพความมั่งคั่งและความก้าวหน้า ขณะเดียวกันนักปฏิบัตินิยมรุ่นใหม่ก็ได้เข้ามามีบทบาทต่อจากชนชั้นปกครองที่ชราไปตามกาล

แต่แม้ว่าจะยังมีคำถามชวนสงสัยอยู่ว่า ภูมิภาคซึ่งเคยคละคลุ้งไปด้วยควันไฟแห่งการสู้รบภายใต้อุดมการณ์อันแตกต่างจะสามารถพลิกกลับมาเป็นดินแดนแห่งการติดต่อค้าขาย และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ปรากฏว่ากลุ่มนักคิดส่วนใหญ่ตั้งแต่ในจาการ์ตาจนถึงฮ่องกงยังเชื่อมั่นว่า ในที่สุดแล้วแนวความคิดเกี่ยวกับประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงจะเป็นแนวความคิดหลักขึ้นมาได้

กระนั้นก็ตาม โดยข้อเท็จจริงแล้ว แม่น้ำโขงเองก็ไม่ได้มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ กับประชาชนในภูมิภาคย่อยนี้ การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในระยะหลังก็ไม่ได้เสริมย้ำการเกิดกลุ่มประเทศแถบนี้อย่างจริงจัง แนวความคิดแหลมทองที่ไทยเคยริเริ่มขึ้นก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแม่น้ำโขง หากเป็นการเน้นให้ประเทศไทยเป็นเสาหลักของการพัฒนา ซึ่งแน่นอนว่าเวียดนามย่อมไม่พอใจกับแนวทางเช่นที่ว่านี้

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้แนวความคิดเรื่องกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงไม่เป็นจริงขึ้นมาก็คือ มีกลุ่มนักคิดในภูมิภาคนี้จำนวนไม่น้อยที่ผูกติดอยู่กับภาครัฐบาล จึงมีความคิดในเชิงประเทศต่อประเทศ และกลุ่มต่อกลุ่มอยู่มาก อีกทั้งให้ความสำคัญกับประเด็นบูรณภาพของดินแดนและพันธมิตรระหว่างประเทศมากจนเกินจะข้ามพ้นมาสู่ความรับรู้ว่าระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่นั้น จะกดดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนทางการเมืองและเปลี่ยนรูปของขั้วอำนาจเสียใหม่

นักวิชาการผู้หนึ่งแห่งศูนย์เอเชียศึกษาประจำฮ่องกงได้ให้ทัศนะว่า "กลุ่มนักคิดส่วนใหญ่จะมีแนวความคิดในเชิงอยู่นิ่ง เพราะว่าพวกเขาเป็นกลไกกึ่งราชการ ในแง่ทฤษฎีแล้ว พวกเขามองปัญหาต่าง ๆ ในมุมมองระหว่างประเทศ แต่มีอีกเป็นจำนวนมากที่ดำเนินงานไปในกรอบของภูมิภาคการมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มอาเซียน และจะต้องคิดในเชิงภูมิภาค"

แนวความคิดเช่นว่านี้ก็คือ กลุ่มอาเซียนและจีนซึ่งมีเวียดนามคั่นอยู่ระหว่างกลางโดยคอยระแวดระวังไทยอยู่ ไม่ว่าเวียดนามจะเอนเอียงเข้าหาจีนหรือใช้กลุ่มอาเซียนเป็นตัวถ่วงดุลกับจีนก็ตาม ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตาดุอยู่และหากเวียดนามให้ความสำคัญกับกลุ่มอาเซียนเป็นอันดับแรก ก็ย่อมเอนเอียงเข้าหาจีนเพื่อปฏิเสธตะวันตก ซึ่งเท่ากับว่าเวียดนามจะหันกลับไปพึ่งพาตนเองมากขึ้นโดยมองไปที่กลุ่มอาเซียนเป็นหลัก

สำหรับ กุสุมา สนิทวงศ์ ประธานกรรมการของสถาบันศึกษาระหว่างประเทศและความมั่นคงในไทยให้ความเห็นว่า "ในระยะสั้นและระยะกลางแล้ว จะไม่มีเหตุผลใดที่จีนหรือเวียดนามจะคุกคามทางทหาร" โดยอ้างถึงความพยายามของรัฐบาลของอานันท์ ปันยารชุนในการผลักดันให้เกิด "เขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟตา) ขึ้น รวมทั้งสนับสนุนให้กลุ่มอาเซียนร่วมมือกันในประเด็นการพัฒนาอินโดจีน เพื่อมิให้เกิดการแข่งขันจนเกิดเป็นความขัดแย้ง"

เหตุนี้เองที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามจะเป็นปัจจัยชี้นำสำคัญในการผนวกประสานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ให้เป็นจริงขึ้นมาได้ หากทั้งสองประเทศให้ความสำคัญกับความร่วมร่วมใจกัน ดังเช่นกรณีของฝรั่งเศสและเยอรมนี

ไม่มีใครปฏิเสธแนวโน้มที่เอเชียตะวันออกกำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีความสำคัญอย่างยิ่งในการประสานเชื่อมโยงภูมิภาคแถบลุ่มแม่น้ำโขงนี้ ในขณะที่เงื่อนไขทางการเมืองและความมั่นคงยังไม่แน่นอน เพราะไม่ว่าจะเป็นการล่มสลายของสหภาพโซเวียตรวมทั้งประเทศคอมมิวนิสต์ในอินโดจีน การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในกัมพูชา การปรับความสัมพันธ์ระหว่างฮานอยกับปักกิ่ง ท่าทีนโยบายต่างประเทศของเวียดนาม การสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มอาเซียน กรอบความคิดเรื่องอาฟตา เหล่านี้ล้วนมีส่วนสร้างเงื่อนไขแวดล้อมในระดับภูมิภาคใหม่ขึ้น ภูมิภาคย่อยในแถบลุ่มแม่น้ำโขงนั้นถูกกำหนดให้เป็นตลาดการค้าที่ผสมผสานกันมากขึ้นโดยลำดับ ปฏิสัมพันธ์ทางธุรกิจจะเป็นตัวเร่งจังหวะก้าวทางเศรษฐกิจยิ่งขึ้น กระนั้นสิ่งที่พึงตระหนักก็คือ ประเทศในกลุ่มอินโดจีน และจีนตอนใต้นั้นยังคงมีระบบเศรษฐกิจในแบบคอมมิวนิสต์อยู่ ซึ่งอาจจะขัดขวางทิศทางดังกล่าวได้

ส่วนนักคิดในฮ่องกงนั้นดูเหมือนว่าจะกังวลใจกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางยุทธศาสตร์อันมีที่มาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากกว่านักคิดจากที่อื่น แต่ก็ยังเห็นว่าแนวความคิดดังกล่าวนั้นมีความเป็นไปได้ โดยพิจารณาจากตัวอย่างของกลุ่มประเทศต่าง ๆ ในบริเวณนี้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสามเหลี่ยมแห่งการเติบโตในสิงคโปร์ มาเลเซียและอินโดนีเซีย หรือกลุ่มของจีน ไต้หวันและฮ่องกง นอกเหนือไปจากปัจจัยในเชิงสังคม ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว บริเวณดังกล่าวได้ฝ่าฟันกับอุปสรรคในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน อีกทั้งมีความร่วมมือกันทางด้านการสำรวจเพื่อความก้าวหน้าซึ่งจะสนับสนุนให้นักลงทุนพบช่องทางทางธุรกิจใหม่ ๆ ภายใต้กรอบแนวทางในการขจัดความแตกต่างของกลุ่ม ทว่า กรอบแนวคิดเช่นนี้ไม่อาจใช้ได้ในกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง

โธมัส หว่อง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยของมูลนิธิฮ่องกงยังคาดหมายด้วยว่า "แนวคิดในเรื่องกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขง ยังมีความเป็นไปได้ แต่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาของประเทศเพื่อนบ้าน… มันไม่ใช่ประเด็นเพ้อฝัน มีความเป็นไปได้ แต่ต้องใช้เวลา"

ส่วนประเด็นที่ว่าไทยอาจจะเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้นั้น นอร์แมน โอเวน ประธานกรรมการของโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำศูนย์เอเชียศึกษาในฮ่องกงชี้ว่า "แน่นอนว่าไทยจะต้องเป็นปะเทศที่มีบทบาทอย่างสูง ทว่าไม่ใช่ผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุด นักลงทุนรายใหญ่จะมาจากไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์และฮ่องกง" ขณะที่ ดร. กุสุมาและ ดร. เขียน ธีระวิทย์ นักวิชาการไทยและล็อบบียิสต์ด้านจีนผู้เคยเป็นผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษาได้ให้ความเห็นว่า "กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงไม่อาจจัดเป็นแนวทางสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจได้… ผมไม่คิดว่าในอนาคตแล้ว ไทยจะเป็นผู้นำในการสร้างภูมิภาคทางเศรษฐกิจ เพราะเราเป็นกันอยู่แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นน่าจะเกิดจากฐานของกลุ่มอาเซียนที่พยายามร่วมมือกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้…" หากจะมีแนวความคิดใด ๆ ในเรื่องนี้น่าจะเป็นแนวความคิดในภาคเอกชน และแนวโน้มในการสร้างสรรค์ความร่วมมือกันจะได้ไม่อิงอยู่กับกลุ่มเศรษฐกิจกลุ่มใด

"ทุกคนที่ไปลงทุนในอินโดจีนจะไปด้วยความพอใจส่วนตัวเป็นหลัก" ดร. กุสุมา ย้ำโดยชี้ว่าอินโดจีนและพม่าจะไม่ใช่ตลาดใหญ่มาก เพราะติดที่ระดับของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และเท่าที่ผ่านมานั้น ไทยมีการติดต่อทางการค้ากับเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ สหรัฐฯ และอาเซียนมากกว่า ส่วนบริษัทธุรกิจขนาดกลางอาจให้ความสนใจกับภูมิภาคแม่น้ำโขงนี้มากนั้นก็เพื่อการขยายตัวทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว การบิน และธุรกิจโรงแรมเท่านั้น ส่วนภาคอุตสาหกรรมการผลิตนั้นบางส่วนยังไม่แน่ใจ

แต่ในท่ามกลางความเคลือบแคลงสงสัยต่อศักยภาพของการเกิดกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงที่มีความแตกต่างกันหลายระดับ บรรดานักคิดในภูมิภาคนี้คาดหมายว่ากลุ่มดังกล่าวจะเป็นจริงได้ก็ต้องอาศัยเวลาอีกสิบปีถึงสิบห้าปีนับจากนี้ โดยเชื่อว่าชุมชนแห่งผลประโยชน์จะเกิดขึ้นภายใต้การแบ่งแยกแรงงานระดับระหว่างประเทศ และยังชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่อาจเกิดขึ้นของฮ่องกง กรุงเทพฯ และสิงคโปร์ในแง่ความสัมพันธ์กับภูมิภาคย่อยนี้

นอกจากนั้นยังมีบางทัศนะที่ชี้ว่า ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษใหม่ จะเกิดชุมชนแห่งความมั่งคั่งที่เชื่อมโยงญี่ปุ่น กลุ่มนิกส์ และอาเซียนเข้าด้วยกัน โดยเป็นสามเส้าที่มีความแตกต่างกันในแง่ของขั้นตอนการพัฒนา ระดับความแตกต่างของทักษะเทคโนโลยีและอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ อีกทั้งยังพ่วงเอาการประสานเชื่อมโยงเศรษฐกิจเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลกด้วย โดยผ่านจีน ทุกวันนี้อินโดจีนยังเป็นกลุ่มที่หลุดออกจากวงแหวนแห่งความมั่งคั่งที่ว่านี้ ดังนั้น เวียดนาม ลาวและกัมพูชาจึงต้องเร่งปรับโครงสร้างและฟื้นฟูเศรษฐกิจในทิศทางสู่ตลาดเสรี อันจะเป็นประโยชน์ต่อการสร้างภูมิภาคแถบลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นกลุ่มทางธุรกิจแห่งใหม่ แต่จะเป็นแนวการขยายตัวทางเศรษฐกิจแห่งสุดท้ายในเอเชียแปซิฟิก โดยที่แนวโน้มทางธุรกิจนั้นจะต้องแยกภาคอุตสาหกรรมออกจากภาคบริการ ธุรกิจบริการนั้นควรจะอยู่ในฮ่องกง การผลิตสินค้าไฮเทคอยู่ที่กวางตุ้ง และการผลิตสินค้าโลว์เทค และต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมากจะอยู่ในเวียดนาม เป็นต้น

นักคิดบางส่วนยังคาดด้วยว่าต่อไปเวียดนามจะเป็นเหมือนกวางตุ้ง และจะเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมเบาในกลุ่มประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงนี้ และจะใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในฮ่องกง และสิงคโปร์เป็นฐาน ส่วนฮ่องกงจะเป็นส่วนสนับสนุนทางการเงินและโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องอิงกับเทคโนโลยีขั้นสูง

กลุ่มนักคิดองค์กรเอกชน

ฮ่องกง ฟาวเดชั่น (HKF) เป็นกลุ่มนักคิดของนักธุรกิจในฮ่องกง ก่อตั้งขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากทั้งเอกชนและกลุ่มธุรกิจ โดยมีสตีเฟน เฉิง สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของสมาคมกลุ่มผู้ผลิตของฮ่องกง และเฮนรี่ แวง สมาชิกของ "LEGCO" เป็นประธาน HFK มุ่งโปรโมททุนนิยมวัตถุซึ่งเป็นลักษณะเด่นของฮ่องกง ฉะนั้น การมอบประเทศแถบแม่น้ำโขงจึงหนักไปทางด้านแรงงานราคาถูกและการใช้ที่ดินให้เป็นประโยชน์

สมาคมนี้มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสภาพัฒนาการค้าของฮ่องกงและต่างก็มีอิทธิพลในแวดวงธุรกิจทั้งคู่ และแม้ว่า HFK จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาฮ่องกง หลังปี 1997 สมาคมก็ยังตั้งแผนกวิจัยแยกต่างหากขึ้นมาเพื่อทำการสำรวจศักยภาพการลงทุนและการผลิตในอินโดจีนและพม่าด้วย

กลุ่มวัฒนธรรม

เอเชีย โซไซตี้ เป็นองค์กรด้านการศึกษาระดับนานาชาติที่ตั้งขึ้นโดยไม่หวังผลกำไรใด ๆ ทั้งสิ้นเพราะจุดมุ่งหมายขององค์กรคือเสริมความเข้าใจในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและเหตุการณ์ร่วมสมัยในเอเชีย และยังมุ่งสนับสนุนการติดต่อสื่อสารระหว่างชาวเอเชียและอเมริกันด้วย เอเชียโซไซตี้ในฮ่องกงเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะองค์กรที่จัดให้มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในหลายรูปแบบทั้งการประชุม, สัมมนา ฯลฯ สมาชิกองค์กรก็ล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี จึงให้ข้อมูลได้มากและหลากหลาย ตั้งแต่เรื่องการถอนทหารอเมริกาออกจากภาคพื้นเอเชีย แปซิฟิกไปจนถึงเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตเวียดนาม, ลาว และกัมพูชาด้วย

สมาคมยังเป็นสปอนเวอร์ให้กับการประชุมประจำปีระหว่างประเทศในเอเชียแปซิฟิกคือ "WILLIAMBURG CONFERENCE" ซึ่งจะเน้นประเด็นด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ อาทิ ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่กำลังเพิ่มความสำคัญมากขึ้นทุกขณะและโดยทั่ว ๆ ไปเอเชียโซไซตี้จะจัดโปรแกรมเกี่ยวกับปรากฏการณ์ร่วมสมัยต่าง ๆ บางครั้งก็ให้ความช่วยเหลือนักข่าวด้วยการให้แบ็กกราวน์สั้น ๆ ในบางเรื่องหรือแนะนำผู้เชี่ยวชาญที่จะให้คำปรึกษาได้

กลุ่มนักคิดที่ไม่เผยตัว

เซ็นทรัล โพลิซี ยูนิ (CPU) เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นโดยเลียนแบบ CENTRE POLICY UNIT ของอังกฤษ ต่างกันตรงที่ CPU ของฮ่องกงจะมีบทบาทมากกว่าการเป็นกระบอกเสียงให้รัฐบาลเช่นเดียวกับ CPU ของอังกฤษ แต่ก็ยังหาการทำงานที่ชัดเจนขององค์นี้ไม่ได้ เพราะทางองค์กรไม่เปิดเผยอะไรมาก CPU ผลิตเอกสารหลายฉบับเกี่ยวกับอินโดจีน แต่บทบาทที่เด่นชัดก็ยังอยู่ที่การจัดการกับเรื่องต่าง ๆ ในฮ่องกง

นักคิดขององค์กรเองคือ ลีโอ กูดสตาร์ด ผู้อำนวยการของ CPU, จูดี้ โบนาเวีย อดีตบรรณาธิการของฟาร์อีสเทิร์น อิโคโนมิก รีวิว และที่ปรึกษาฝ่ายประชาสัมพันธ์ของเบอร์สัน มาร์สเทลเลอร์ คือ ลี ชิ คินก็เผยว่า พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดเผยว่าทำอะไรบ้างใน CPU ความคลุมเครือนี้เองทำให้สรุปได้ว่า CPU คงเป็นกลุ่มนักคิดที่ไม่มีอิทธิพลมากนัก เพราะหากมีบทบาทต่อการกำหนดนโยบายของฮ่องกงก็ควรจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการสร้างสนามบินฮ่องกงด้วย

อย่างไรก็ตาม CPU ก็จัดเป็นองค์กรหนึ่งซึ่งจับตาความเคลื่อนไหวในเอเชียแปซิฟิกและนโยบายของฮ่องกงไปด้วยพร้อม ๆ กัน และเนื่องจากองค์ที่เป็นของรัฐบาลนี้จะห่วงในเรื่องรายได้มากกว่าสนใจความเป็นมาขององค์กร รูปแบบความสนใจในประเทศแถบลุ่มแม่น้ำโขงของ CPU จึงเป็นการโฟกัสไปทีละประเทศ แล้วโยงว่าประเทศใดส่งผลกระทบอะไรต่อฮ่องกงบ้าง ประเด็นที่ CPU ให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ เวียดนามจะจัดการกับปัญหา "โบต พีเพิล" อย่างไร

กลุ่มนักคิดบริสุทธิ์

เซ็นเตอร์ ฟอร์ อาเซียน สตัดดี้ (CAS) เป็นองค์กรกลุ่มนักคิดระดับมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของนักวิชาการ, นักการเมืองและผู้มีส่วนในการกำหนดนโยบายจากทั่วทั้งภูมิภาคนี้ แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเมือง ศูนย์นี้เป็นที่พบปะของนักวิชาการจากต่างประเทศทั้งหลายและสตาฟ์ทำงาน 30 คน, โปรเฟสเซอร์จาก 40 คณะของมหาวิทยาลัย และยังมีผู้ร่วมทำวิจัยอีก 50 คน มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีงบประมาณปีละ 250,000 ดอลลาร์ฮ่องกง

เมื่อปีที่แล้วทางศูนย์ได้จัดประชุมในหัวข้อการแบ่งเขตแดนในทะเลจีนใต้ระหว่างจีนและฮ่องกงขึ้นตามมาด้วยรายงานภายใต้หัวข้อ "FISHING IN TROUBLE WATER" CAS ยังได้ให้ความสะดวกกับนักวิชาการและนักข่าวบางส่วนที่มีสนับสนุนการเผยแพร่สิ่งพิมพ์และการจัดสัมมนาของทางศูนย์ใน 4 ขอบเขตใหญ่ ๆ คือจีนสมัยเก่า, จีนร่วมสมัย, ฮ่องกง และเอชียตะวันออกเฉียงใต้

กลุ่มนักคิดที่ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงโลก

อินสติติว ออฟ เซ้าธ์ อีสต์ อาเซียน สตัดดี้ เป็นกลุ่มนักคิดที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดของฮ่องกง เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้เปิดสำนักงานขึ้นที่อินโดจีนเพื่อให้บริการกับภาคเอกชนและสาธารณะในการร่วมกันพัฒนาภูมิภาคนี้ในระยะยาว ตามนโยบายของกลุ่มที่ว่าการจับตาประเทศในกลุ่มอินโดจีนก็จำเป็นเท่า ๆ กับการจัดการเรื่องของสิงคโปร์เองเช่นกัน เพราะภูมิภาคนี้มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากอยู่

ISEAS ใช้งบในการตั้งสำนักงานในอินโดจีนไป 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร ์และรับผิดชอบจัดประชุมในประเด็นของเวียดนามทุกปี ซึ่งการประชุมครั้งแรกจะจัดขึ้นในปลายปีนี้ นอกจากนี้ ISEAS ยังมีหน่วยงานอื่นที่อยู่ในเครือคือ หน่วยวิจัยเศรษฐกิจอาเซียน, โครงการศึกษาด้านยุทธวิธีประจำภูมิภาค และโครงการด้านสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทาง ISEAS มีนโยบายการหาเงินสนับสนุนเอง ทำให้ได้เงินช่วยเหลือในรูปของการบริจาคจากหลายหน่วยงาน อาทิ KONRAD ADENATURE FOUNDATION, FORD FOUNDATION, NEW SEALAND HIGH COMMISSION และ ROCKEFELLER BROTHERS FUND เพราะทางกลุ่มเห็นว่า การได้เงินสนับสนุนมาในรูปแบบนี้จะทำให้ทางกลุ่มทำอะไรได้มากขึ้น

ISEAS ปกครองโดยกรรมการที่มีหน้าที่ดูแลดินแดน และดำเนินงานโดยคณะกรรมการซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงอีกชุดหนึ่ง ภายใต้จุดยืนที่ว่า ISEAS ไม่ใช่สถาบันทางวิชาการแต่เป็นศูนย์วิจัยอย่างเต็มตัวฉะนั้นจึงไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองโดยเด็ดขาด ส่งผลให้นักคิดในกลุ่มนี้ไม่มีแนวการคิดแบบถอนรากถอนโคนเท่าใดนัก ผู้อำนวยการของกลุ่มนี้คือ เคเอส แซนดูก็เผยว่า "เราไม่ได้ตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อความขัดแย้ง" นักวิชาการทั้งหลายควรร่วมกันหาทางเลือกในการแก้ปัญหาต่าง ๆ แต่ไม่ใช่หาทางเปลี่ยนแปลงโลก เพราะนั่นเป็นหน้าที่ของนักการเมือง

ผลงานที่ตีพิมพ์โดย ISEAS มี ASEAN ECONOMIC BULLETIN, CONTEMPORARY SOUTHEAST ASIA และ SOCIAL ISSUES IN SOUTHEAST ASIA

กลุ่มนักคิดระดับท้องถิ่น

อินสติติว ออฟ สแตเตอจิก แอนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล สตัดดี้ มาเลเซียไม่ใคร่มีบทบาทมากนักในการจับประเด็นประเทศกลุ่มแม่น้ำโขง แต่ก็ไม่ได้ละเลยในเรื่องนี้ ดังที่ผู้อำนวยการของ ISIS คือ โมฮัมเมด จอว์ฮาร์ ฮาสซัน เผยว่า "มาเลเซียสนใจความเป็นไปของอินโดจีนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของเวียดนามและกัมพูชาแต่ทาง ISIS ยังไม่มีแผนที่จะตั้งศูนย์วิจัยในภูมิภาคนี้"

ISIS มาเลเซียจะเน้นการศึกษาระดับนโยบายและการแก้ปัญหาเกี่ยวข้องกับเซรษฐกิจ, วิทยาศาสตร์, สิ่งแวดล้อม, พลังงาน, การสร้างชาติและความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาติในประเทศแถบแม่น้ำโขง อันเป็นความแตกต่างระหว่าง ISIS กับองค์กรนักคิดอื่น ๆ ยกเว้น CSIS หรือ CENTER FOR STRATEGIC & INTERNATIONAL STUDIES ในจาการ์ตา และเป็นเหตุผลว่าทำไม ISIS จึงไม่เปิดสำนักงานในอินโดจีนเช่นเดียวกับ ISEA ของสิงคโปร์

อย่างไรก็ตาม ISIS ได้ตั้งศูนย์เพื่อศึกษาประเทศญี่ปุ่นขึ้น โดยเฉพาะด้วยเหตุผลว่า "ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกมากและสำคัญสำหรับเราโดยพื้นฐานอยู่แล้ว" นอกจากนั้น ISIS ยังตั้งศูนย์ศึกษาขึ้นอีก 2 แห่งคือ TUN HUSSIEN ONN CENTER FOR NATIONAL UNITY & BUILDING และ CENTER FOR ENVIRONMENT STUDIES

ISIS มีกรรมการควบคุมอยู่ 21 คน แต่ไม่เหมือน ISEAS เพราะ ISIS มาเลเซียไม่ตีพิมพ์รายงานประจำปีแสดงรายละเอียดทางด้านการเงิน ส่วนเงินสนับสนุนนั้นมาจากกองทุนและกลุ่มธุรกิจทั้งจากท้องถิ่นและต่างประเทศ โดยเชื่อว่ามีผู้สนับสนุนด้านการเงินรายใหญ่คือ SASAGAWA PEACE FOUNDATION, THE ASIA FOUNDATION, THE INTERNATIONAL DEVELOPMENT RESEARCH CENTER OF CANADA และ FRIEDRICH STIFTUNG และคาดว่าญี่ปุ่นเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินรายใหญ่ที่สุด

กลุ่มนักคิดที่เน้นการบริการ

อินฟอร์เมชั่น แอนด์ รีเสิร์ช เซ็นเตอร์ ออฟ สิงคโปร์ หรือ IEC เป็นกลุ่มนักคิดของเอกชน ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ตั้งขึ้นเพื่อโปรโมตกิจกรรมด้านสันติภาพ, การประสานความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างราบรื่น, เสริมสร้างสถาบันประชาธิปไตย, การแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี และระบบการค้าเสรีด้วย

ผู้อำนวยการของ IRC คือ ราชเรนาม เผยว่า "ทางกลุ่มมีกิจกรรมหลายอย่างเกี่ยวกับอินโดจีน หนึ่งในนั้นคือการจัดอภิปรายขึ้นที่ฮานอยเมื่อปีกลาย" ในหัวข้อ "INTERACTION FOR PROGRESS VIETNAM'S NEW COURSE AND ASEAN'S EXPERIENCE" จุดประสงค์เพื่อรวบรวมผู้นำ, ผู้กำหนดนโยบาย, ผู้จัดการระดับอาวุโสและผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายจากเวียดนามและอาเซียนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหาทางแก้ไขปัญหาที่พบเห็น

IRC ตั้งขึ้นในปี 1985 ในฐานะศูนย์วิจัยอินโดจีน มี สุริน พิศสุวรรณ จากประเทศไทยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วยกิจกรรมหลัก ๆ ของ IRC คือการวิจัยและตีพิมพ์เรื่องราวที่เป็นที่กล่าวขวัญกันมาก กิจกรรมรองลงมาคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งก็มีโปรแกรมกลายอย่าง อาทิ สอนชาวเวียดนามในการทำธุรกิจกับกลุ่มอาเซียนและประเทศอื่น ๆ และ IRC ยังมีแผนจะจัดสัมมนาประมาณ 4-6 ครั้งในหัวข้อที่เกี่ยวกับการเงิน, การธนาคาร, การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และการบริหารท่าเรือ นอกจากนั้นยังมีแผนจะตั้งโรงเรียนสอนการบริหารสมัยใหม่ในฮานอยคือ INTERNATIOANL RESOURCE CENTER ด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น ทาง IRC ก็ยังได้จัดตั้งกลุ่มที่ปรึกษาธุรกิจขึ้นในภูมิภาคนี้ และในปีนี้ก็จะมีการประชุมอีกหลายครั้งในเวียดนามและกัมพูชา รวมไปถึงอาจจะทำการค้ากับประเทศในกลุ่มอินโดจีนด้วย

กลุ่มนักคิดแบบเสนอทางเลือก

อินสติติว ออฟ ซิเคียวริตี้ แอนด์ อินเตอร์เนชั่นแนล สตั้ดดี้ หรือ ISIS ในไทยตั้งขึ้นมาเมื่อปี 1983 ด้วยจุดประสงค์ในการเปิดกว้างสำหรับการเสนอทางเลือกทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาคโดยมี ดร. กุสุมา สนิทวงศ์ เป็นประธาน

ISIS ของไทยก่อตั้งขึ้นด้วยความร่วมมือของนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่คน และเน้นการเสนอแง่มุมทางด้านสวัสดิภาพอันมีขอบเขตไปถึงการทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐ กิจกรรมของทางกลุ่มยังรวมไปถึงการสนับสนุนด้านการวิจัยและการจัดประชุมและสัมมนาทั้งในระดับนานาชาติและระดับท้องถิ่น การประชุมในลักษณะนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในหัวข้อเกี่ยวกับพลังงานและสวัสดิภาพของประเทศ และมีรายงานที่จับประเด็นเรื่องบทบาทของทหารไทยพิมพ์เผยแพร่ด้วย ปัจจุบัน ดร. กุสุมากำลังทำวิจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมและสวัสดิภาพของประเทศอยู่

ISIS ยังจัดประชุมประจำปีคือ ASEAN ISIS ขึ้นโดยมีผู้เข้าร่วมหลายองค์กรด้วยกัน เช่น ISIS ในมาเลเเซีย, THE SINGAPORE INSTITUTE OF INTERNATIONAL AFFAIRS และ THE PHILLIPINE CENTER FOR STRATEGIC INTERFACE AND DEVELOPMENT และแม้ว่า ISIS จะไม่มีการประสานงานโดยตรงกับกลุ่มนักคิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ ISIS ก็พบปะกับกลุ่มนักคิดของจีนอยู่เนือง ๆ

ISIS เองไม่มีนักวิจัยที่ทำงานเต็มตัว ส่วนใหญ่จะเป็นเลขานุการคณะกรรมการระดับสูงประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอย่าง ชัยอนันต์ สมุทรวานิช และ ม.ร.ว. สุขุมพันธ์ บริพัตร องค์กรนี้ไม่ได้เงินสนับสนุนจากรัฐบาล แต่อาศัยเงินทุนที่ได้มาจาก FORD, ROCKEFELLER และกองทุนของเอเชีย

กลุ่มนักคิดที่เป็นกลุ่มแม่โขง

แม่โขง เบซิน ดีเวลอปเมนต์ รีเสิร์ช เน็ตเวิร์ค ซิเครท รีแอต หรือแม่โขงเน็ตเวิร์ค ตั้งขึ้นเมื่อปีที่แล้วเพื่อประสานความร่วมมือด้านการวิจัยในแถบแม่น้ำโขง โดยได้รับการสนับสนุนจากอินสติติว ออฟอาเซียน สตัดดี้ (IAS) มี ดร. เขียน ธีรวิทย์ เป็นประธาน

แม่โขง เน็ตเวิร์คนั้นมีองค์กรต่าง ๆ ที่เข้าร่วมจาก 6 ประเทศ อาทิ YUNNAN SCIENCE & TECHNOLOGY ของจีน, FOREIGN ECONOMIC RELATIONS DEPARTMENT ของพม่า, MINISTRY OF SCIENCE 7 TECHNOLOGY ของลาว, STATE COMMISSION OF SCIENCE ของเวียดนาม, IAS ของไทย และ SUPREME NATIONAL COUNCIL ของกัมพูชา

ผลงานขององค์กรคือการจัดประชุมเมื่อปีที่แล้วซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก INTERNATIONAL DEVELOPMENT RESEARCH CENTER (IDRC) ของแคนาดา ผู้เข้าร่วมการสัมมนาเป็นผู้เชี่ยวชาญจากแม่โขงคอมมิตตีและสมาชิกจาก 69 ประเทศ โดย ดร. เขียน เผยถึงการทำงานขององค์กรว่า "เราตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อทำการวิจัยและขอให้สมาชิกของแต่ละประเทศเลือกสถาบันหลัก ๆ ของตนมาร่วมงานกัน การประชุมครั้งต่อไปซึ่งจะจัดขึ้นที่ประทศไทยนั้น จะเป็นการหาวิธีการร่วมกันทำวิจัยในอีก 3 ปีข้างหน้าโดยหัวข้อที่จะศึกษาครอบคลุมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม, การค้า, การท่องเที่ยว. การขนส่ง, ชลประทานและการประมง"

งบประมาณจำนวน 15 ล้านบาทที่จะต้องใช้ในช่วง 3 ปีนั้น IDRC จ่ายไปก่อน นอกจากนั้นยังได้รับเงินแบ่งสรร 2 ล้านบาทจากงบประมาณการร่วมมือด้านเทคนิคและเศรษฐกิจสำหรับการพัฒนาประเทศจากรัฐบาลด้วย

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us