การชุมนุมต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนกลางอย่างพลเอกสุจินดา
คราประยูร ได้กลายเป็นชนวนทำลายความเชื่อถือต่อข่าวทีวี-วิทยุซึ่งเป็นเครื่องมือของรัฐอย่างสิ้นเชิง
ทั้งยังเป็นการหักโค้งครั้งสำคัญของธุรกิจสื่อสารมวลชนของสื่อทีวี-วิทยุ เพราะรัฐบาลหลงเข้าใจผิดว่าสื่อของรัฐคือสื่อของรัฐบาล
และถ้าให้เสรีภาพก็จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ทำไม…? และแนวโน้มธุรกิจสื่อทีวี-วิทยุและหนังสือพิมพ์จะเป็นอย่างไรต่อไปท่ามกลางกระแสสังคมที่อยู่ในโลกของการสื่อสาร…?
"ข่าวด่วนพิเศษ"
คำสั้น ๆ ที่ปรากฏด้วยความถี่เป็นระยะ ๆ บนหน้าจอทีวีทุกช่องตลอดช่วงของการชุมนุมต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกยุค
พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกฯ คนที่ 19 ของเมืองไทยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น
ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความไม่น่าเชื่อถือของคนดูไปอย่างถ้วนหน้า
ประหนึ่งดูเพื่อจับโกหกว่ารัฐบาลจะบิดเบือนข่าวอย่างไรอีกมากกว่า..!
ขณะที่หนังสือพิมพ์กลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่า บางคนถึงขนาดลุกขึ้นมาซื้ออ่านตั้งแต่ตีสี่
เพราะอยากรู้ข่าวเร็วและกลัวหนังสือพิมพ์หมดแผง อีกทั้งโทรศัพท์เช็กตามหนังสือพิมพ์เป็นช่วง
ๆ เมื่อมี "ข่าวด่วนพิเศษ" จากทีวี
เครดิตข่าวทีวี-วิทยุต้องล่มสลายลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งที่สื่อทีวีและวิทยุล้วนแล้วแต่เป็นของรัฐแทบทั้งสิ้น
จนบรรดาผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นผู้นำรัฐบาลหรือกองทัพ หลงเข้าใจไปว่าสื่อทั้งสองก็คือสื่อของรัฐบาลเต็มรูปแบบ
อันที่จริง สื่อของนัฐก็คือสื่อของประชาชนมีหน้าที่ที่จะสื่อข้อมูลข่าวสารไปสู่คนดูอย่างรอบด้าน
ถูกต้องเที่ยงธรรมเพื่อเดินไปสู่เป้าหมายของประเทศอย่างเสรีชน แต่ทีวีก็เป็นของรัฐทุกช่อง
ทั้งที่รัฐบาลไม่เคยตรากฎหมายหรือนโยบายห้ามเอกชนตั้งสถานีทีวีและวิทยุเป็นลายลักษณ์อักษร
หากแต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายกฯ มากกว่า
จะเห็นว่าช่อง 3 ช่อง 9 และช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์อยู่ในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีส่วนช่อง
5 และช่อง 7 สังกัดกระทรวงกลาโหม
ขณะที่ปัจจุบันมีสถานีวิทยุกว่า 500 แห่งทั่วประเทศ สัดส่วนที่เป็นของกระทรวงกลาโหมคิดเป็น
36% ของประเทศ หรือประมาณ 64% ของสถานีวิทยุราชการ
ที่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีคิดเป็น 31% แยกเป็นของกรมประชาสัมพันธ์ 91%
และเป็นขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) อีก 9%
นอกจากนี้ ยังอยู่ในสังกัดของราชการเช่น กระทรวงคมนาคม 4% มหาดไทย 4% ทบวงมหาวิทยาลัย
3% และศึกษาธิการ 1% ส่วนที่เป็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรฯ และสำนักพระราชวังอย่างละหนึ่งสถานี
รวมเบ็ดเสร็จที่สังกัดทางราชการประมาณ 80% และเป็นของเอกชนประมาณ 20% เท่านั้น
ทุกสถานีจะอยู่ในความควบคุมดูแลของคณะกรรมการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์หรือ
กบว. โดยมีกรมประชาสัมพันธ์เป็นกองงาน กบว. ซึ่งจะมีโครงสร้างการบริหารโดยมีตัวแทนจากหน่วยงานราชการต่าง
ๆ ร่วมเป็นกรรมการ (โปรดดูตาราง "โครงสร้าง กบว.") ส่วนกรมไปรษณีย์โทรเลขจะเป็นผู้ดูแลและบริหารความถี่ของคลื่นวิทยุทั้งหมด
เห็นได้ชัดว่า บอร์ด กบว. นั้นจะมีตัวแทนจากหน่วยงานด้านทหารและความมั่นคงทุกแห่ง
ไม่ว่าจะเป็นจากสำนักข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ เสนาธิการทหาร
หรือผู้บัญชาการของทั้ง 3 เหล่าทัพ อันเป็นรากฐานของสังคมไทยที่เน้นนโยบายเรื่องความมั่นคงของชาติเป็นหลักตลอดช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่อง
5 จะมี กบว. ทหารคอยควบคุมอีกทอดหนึ่ง
ทั้งทีวีและวิทยุจึงไม่อาจสลัดโซ่ตรวนจากรัฐบาลและก้าวไปสู่ความมีอิสระได้
เพราะทีวีและวิทยุเป็นสื่อที่มีลักษณะพิเศษต่างจากสื่อหนังสือพิมพ์
ความต่างของสื่อแต่ละประเภท ผนวกกับการพัฒนาของชนชั้นกลางที่เติบโตขึ้นท่ามกลางความหยุดนิ่งของฝ่ายอำนาจทหาร
ได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้กลุ่มชนออกไปร่วมสร้างม็อบชนชั้นกลางหรือม็อบมือถืออันยิ่งใหญ่และกว้างขวางทั่วประเทศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
แม้ว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทีวีได้พัฒนาและปรับปรุงรูปแบบ รวมถึงเทคโนโลยีในการเสนอข่าวอย่างครึกโครมและชัดแจ้ง
จนสร้างความเชื่อถือตามข่าวทีวีที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในยุคที่สมเกียรติ
อ่อนวิมล เริ่มเข้าสู่วงการและพลิกโฉมข่าวทีวีใหม่ แต่แล้วเครดิตต่อข่าวทีวีที่มีอยู่ก็สิ้นสลายไปในช่วงสั้น
ขณะเดียวกันได้ไปสร้างความนิยมและสนใจต่อหนังสือพิมพ์มากขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งกับ
"ชนชั้นกลาง" กลุ่มสังคมที่พัฒนาขึ้นมาโดยที่ไม่มีใครให้ความสนใจมาก่อน
ทั้งที่ "ชนชั้นกลาง" กับสื่อสิ่งพิมพ์หรือแคบลงมาในรูปแบบของหนังสือพิมพ์นั้นมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นและแฝงลึก
โดยมีประวัติศาสตร์ที่อธิบายได้อย่างเป็นระบบ
ถ้าถอดภาพพัฒนาการของสื่อแต่ละชนิด จะพบว่าสิ่งพิมพ์เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว
โดยนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า "ชนชั้นกลาง" เริ่มเติบโตเห็นชัดเมื่อต้นรัตนโกสินทร์
เฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเริ่มมีค่านิยมตะวันตกเข้ามาสู่สังคมไทย
มีนักคิดที่ไม่ใช่บรมวงศานุวงศ์มาทำงานด้านสื่อมวลชน พอยอมรับเข้ามา ก็เริ่มผลิตสิ่งพิมพ์จนงอกเงยอย่างรวดเร็ว
เช่น เทียนวรรณ กศร. เป็นต้น
กระทั่งตอนหลังออกมาเป็นหนังสือพิมพ์ ช่วงแรกที่เริ่มต้นซื้อแท่นพิมพ์เข้ามาในรัชกาลที่
4 ก็ใช้ส่วนขยายของศาสนา เพื่อเผยแพร่แข่งกับศาสนาคริสต์ ก็มีจุดประสงค์เพื่ออ่านกันเองในหมู่ราชวงศ์
ขุนนาง ชนชั้นสูง หรือข้าราชการใหม่ เช่น ทหาร ตำรวจ ซึ่งเป็นช่วงต่อของสังคม
จนมีการส่งคนไปเรียนต่อเมืองนอก คนมีการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่มาก หนังสือพิมพ์จึงอยู่กลุ่มคนอ่านเพียงไม่กี่พันคน
เมื่อมีไฟฟ้าเกิดขึ้น เทคโนโลยีของระบบสื่อสารมวลชนเริ่มเปลี่ยนแปลง ทีวีและวิทยุเข้ามาทำให้หนังสือพิมพ์ค่อนข้างหลุดวงโคจรของการควบคุมมากกว่าทีวี
วิทยุ
เนื่องจากชนชั้นสูงมองว่า คนไทยโตจากสังคมของการเป็นผู้ฟังมากกว่ามีนิสัยรักการอ่านเขียน
ทำให้รัฐบาลหวั่นวิตกต่อสื่อทีวีและวิทยุมากกว่าหนังสือพิมพ์ เพราะทีวีและวิทยุเป็นสื่อที่เข้าถึงคนฟังได้ง่าย
ไม่ต้องอาศัยความรู้ในการรับรู้สื่อนั้นมากอย่างการอ่านหนังสือพิมพ์ อันเป็นไปตามสภาพสังคมไทยเหมือนที่ถูกจัดอยู่ในโลกที่
3 ไม่ใช่ประเทศที่พัฒนาแล้วในโลกที่ 1
ยิ่งกว่านั้น ทีวีเป็นสื่อที่มีเสียง ภาพ สีสันที่เร้าความสนใจได้มากกว่า
ประกอบกับประเทศไทยโตจากสังคมที่เน้นเพื่อความมั่นคงของรัฐ ก็ยิ่งทำให้รัฐบาลไม่ไว้ใจสื่อทีวี-วิทยุ
ด้วยเหตุว่าโน้มน้าวคนได้ง่าย รับรู้และเข้าถึงประชาชนได้รวดเร็ว และกว้างขวาง
กระทั่งเกิดการปฏิวัติเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2535 ทีวีก็ยังถูกสงวนให้เป็นสื่อของรัฐเหมือนเดิม..!
หลายครั้งที่รัฐบาลพูดว่าจะปลดปล่อยให้เสรีภาพแก่ทีวี-วิทยุ แต่ก็ไม่เคยมีรัฐบาลยุคไหนกล้าทำ
เพราะเป็นเครื่องมือของรัฐและควบคุมความคิดของประชาชนได้สะดวกกว่าหนังสือพิมพ์
ดังนั้น นโยบายที่ว่าจะให้เสรีภาพ ถ้าจะมีขึ้นบ้างก็เฉพาะกับหนังสือพิมพ์เท่านั้น
ทั้งที่การเปิดสถานีโทรทัศน์ลงทุนเพียงไม่กี่พันล้าน และสถานีวิทยุใช้เพียง
20 ล้านบาทเท่านั้น
"อย่างสมัยนายกฯ ชาติชาย ก็เคยคิดอยากมีก็ยังเป็นกองทัพบก เรือ และกองทัพอากาศ
ซึ่งชี้ให้เห็นว่า การตัดสินใจจะเปิดกว้างสื่อทีวีหรือไม่นั้นอยู่ที่รัฐบาลจะตัดสินใจ
ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้สรุปก็เกิดปฏิวัติ (23 ก.พ. 2534) ก่อน" สุรพงษ์
โสธนะเสถียร อาจารย์คณะวารสารศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงอำนาจและนโยบายของรัฐต่อสื่อทีวี
แต่รัฐบาลก็ไม่กล้า เพราะถ้าเปิดเสรีทีวี-วิทยุ รัฐบาลก็จะมีคู่ต่อสู้มากขึ้นนอกเหนือจากหนังสือพิมพ์ที่มีอยู่แล้ว…!
ทว่าเหตุการณ์ชุมนุมต่อต้านนายกฯ จากคนกลางอย่าง พลเอกสุจินดา ที่ขึ้นมาเป็นนายกฯ
อย่างทุลักทุเลนั้น เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่ายิ่งรัฐบาลสุจินดาออกข่าวด้านเดียวมากเท่าไหร่
ก็ยิ่งทำให้เขามีคู่ต่อสู้ทางความคิดมากขึ้นเป็นเท่าทวี และประชาชนก็ดิ้นรนขวนขวายหาข้อมูลจากแหล่งต่าง
ๆ รอบด้านเพื่อประมวลข้อเท็จจริงด้วยตัวเองยิ่งกว่าเดิม
ขณะที่กลุ่มชนในสังคมได้พัฒนาขึ้นสู่ "ชนชั้นกลาง" (โปรดอ่าน
"ชนชั้นกลาง : กระฎุมพี ใหม่เป็นใคร มาจากไหน..?") อันสอดรับกับกระแสของโลกข่าวสารที่เคลื่อนไหวและพลิกผันไปทุกขณะ
แต่รัฐบาลภายใต้การครอบงำของอำนาจทหารยังคงใช้สื่อและวิธีต่อสู้ทางความคิดในระบบเก่า
ซึ่งหยุดนิ่งอยู่กับที่เท่ากับว่าเป็นวิธีการถอยหลังจนทำให้รัฐบาลจนมุมตัวเองในที่สุด..!
"เชื่อไม่ได้"
แทบจะเป็นความรู้สึกสอดคล้องเป็นหนึ่งเดียวกันของคนดูรายการข่าวการชุมนุมจากทีวี
"นั่นก็เพราะว่าทีวีได้พัฒนาไปมากเหมือนกับเป็นสงครามจิตวิทยาในประเทศ
มีขั้นตอนและลักษณะการตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างฉับพลันได้ดีที่สุด โดยรัฐบาลระดมใช้อย่างหนักทั้งทีวีวิทยุจากฐานข้อมูลที่มีอยู่"
บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา คณบดีคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สะท้อนสื่อทีวีตลอดช่วงของการชุมนุมประท้วง
ขณะที่กลุ่มคนในสังคมก็พัฒนาเป็นลำกับ จำนวนคนมีความรู้มากขึ้น จะเห็นได้ว่าคนจบปริญญาตรีเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมาก
คนที่จบจากต่างประเทศก็มีอัตราสูงกว่าเก่าหลายพันคนต่อปี จากเดิมที่นับคนได้
จำนวนคนหนุ่มสาวจาก 30% เศษในปี 2516 ก็ได้เพิ่มขึ้นเป็น 61% ของประชากรทั้งประเทศ
ประกอบกับกระแสโลกที่ก้าวไปสู่ยุคแห่งข้อมูล กลุ่มคนชนชั้นกลางเหล่านี้จึงกระหายที่จะได้ข่าวสารอย่างหลากหลายจากการลิ้มรสประชาธิปไตยในห้วงหลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะตั้งแต่ยุค
14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา และยากที่กลับไปสู่ยุคเก่าอีกต่อไป
วันนี้ "ชนชั้นกลาง" ได้แสดงตัวและความต้องการของตนอย่างเห็นได้ชัดเจนจนกลุ่มอำนาจที่ติดอยู่ในระบบเก่าไม่อาจจะเข้าใจได้
ประเด็นนี้ จะเห็นได้จากช่วงต่อประวัติศาสตร์ของประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นครึ่งใบ
เสี้ยวใบหรือแบบไทย ๆ ก็ตาม
หากย้อนไล่ภาพเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังจากที่ได้ขับไล่
3 ทรราช คือ จอมพลถนอม กิตติขจร ประภาส จารุเสถียร และณรงค์ กิตติขจร อันเป็นกลุ่มอำนาจผูกขาดออกไปจากวงจรการเมืองช่วงนั้นแล้วพูดได้ว่า
ประชาชนตื่นตัวในการรับรู้ข่าวสารในยุคประชาธิปไตยเบ่งบานอย่างเต็มที่
"หลัง 14 ตุลา 16 จนถึงก่อน 6 ตุลา 19 มีการใช้สื่อกันมาก ทั้งของพรรคการเมือง
ธนาคาร ทหาร เรียกว่าระดมใช้สื่อ (ทั้งทีวีและวิทยุ) เป็นเครื่องมือในการต่อสู้
แต่อาจจะไม่ชัดเจน ไม่เข้มข้น ไม่ต่อเนื่องเท่ากับระยะ 5-6 สัปดาห์ที่ผ่านมา
(ตั้งแต่เดือนเมษายนหลังจากที่มีการชูพลเอกสุจินดาขึ้นเป็นนายกฯ แทนณรงค์
วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ตัวเต็งเรื่อยมาถึงค่อนปลายเดือนพฤษภาคม)
เพราะช่วงมันยาวและการเมืองขณะนั้นเป็นการเมืองเปิด" บุญรักษ์ คณะบดีคณะวารสารฯ
ธรรมศาสตร์เปรียบเทียบบทบาทของสื่อทีวีและวิทยุแต่ละยุค
ระยะนั้น มีการแข่งขันระหว่างกลุ่มต่าง ๆ แบ่งกันเป็นฝ่าย ๆ ที่อาจจะมาคุ้มครองหรือขัดขวางการใช้สื่อของรัฐ
หรือของเอกชน รูปแบบนี้ชัดเจนมากไม่ว่าจะเป็นฝ่ายซ้ายแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์
หรือเสรีประชาธิปไตย นับว่าเป็นบรรยากาศแบบเปิดกว้างมากเพราะประชาชนถูกปิดกั้นมานาน
การใช้หนังสือพิมพ์แข่งขันและต่อสู้ทางอุดมการณ์การเมืองเคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างต่อเนื่องจากอดีต
เช่น สมัย จอมพล ป. หรือสมัย ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษก็ใช้หนังสือพิมพ์สู้โต้แย้ง
เขียนและอ่านกันเองสำหรับคนห้าหกพันคนในกรุงเทพฯ อ่านกัน เนื่องจากประชาชนสมัยนั้นแทบไม่อยู่ในขอบเขตความคิดทางการเมือง
ไม่มีส่วนที่จะไปกำหนดอะไรได้
พอหลัง 6 ตุลาคม 2519 ประมาณ 6-12 เดือน มีการระดมสื่อเพื่อสร้างและจัดระบบสังคมใหม่
หลังจากที่เกิดการนองเลือด กวาดจับประชาชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์จำนวนมาก
เรียกว่าเป็นการหาผลประโยชน์ทางการเมืองอุดมการณ์ในเชิงของโครงสร้างเป็นการโฆษณาที่ซ่อนรูป
ว่าไทยควรจะมีการปกครองแบบนั้นแบบนี้ภายใต้กลุ่มอำนาจทางการทหารที่เรียกกันว่าขวาจัด
ในตอนนั้นว่าเหมาะกับเมืองไทยที่สุดซึ่งตรงกับยุคของรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร
ทั้งทีวีและวิทยุมีการเติบโตอยู่ตลอดเวลาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะเป็นฐานการเงินของรัฐ
จึงมีกลุ่มต่าง ๆ ผลักดันให้มีมากขึ้น และมีช่องทางหาเงินตลอดเวลา "เป็นการเติบโตที่สม่ำเสมอ
โดยไม่สัมพันธ์กับตลาดนัก นั่นก็คือ ทีวีมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอยู่เรื่อย
ๆ วิทยุก็มีจำนวนสถานีมากขึ้น แต่เนื้อหายังคงเดิม และแน่นอนว่าจะโตยิ่งขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจดี"
บุญรักษ์ชี้ถึงประเด็นการขยายตัวของสื่อทีวีและวิทยุว่าแม้จะแพร่หลายมากขึ้น
แต่ก็ขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจซึ่งเวลานั้นยังอยู่ในสภาพที่สงบนิ่งและสำคัญรองจากความมั่นคงของชาติ
ล่าสุด มาถึงยุคที่เศรษฐกิจกำลังก้าวกระโดดไปด้วยดี หลังการเลือกตั้งวันที่
22 มีนาคมศกนี้ ฝ่ายปกครองได้ระดมใช้สื่ออย่างหนักหน่วงอีกครั้ง
โดยเฉพาะเมื่อมีการชี้ว่า พลเอกสุจินดา คือคนที่จะขึ้นมาเป็นนายกฯ คนที่
19 ได้อย่างเหมาะสมที่สุด หลังจากที่ณรงค์ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ตัวเก็งในขณะนั้นกำลังโดนกระหน่ำด้วยเรื่องที่สหรัฐฯ
งดออกวีซ่าเข้าประเทศ จนกลายเป็นข้อด้อยที่ประชาชนต่อต้านอย่างทั่วหน้าแล้ว
ก็ได้ใช้สื่อทีวีและวิทยุสนับสนุน พลเอกสุจินดา ระลอกแล้วระลอกเล่า
ช่วงแรก คือช่วงก่อนถึงวันแต่งตั้งสื่อโดยเฉพาะทีวีจะถูกใช้เพื่อสร้างบารมีให้
พลเอกสุจินดา เช่น มีม็อบมามอบดอกไม้ให้มากมายหลายกลุ่ม ซึ่งมีรูปลักษณ์และท่วงทำนองที่คล้ายคลึงกันอย่างยิ่งจนกลายเป็นการสร้างบารมีที่น่าสงสัย
พอสร้างบารมีได้ไม่กี่วัน ก็มีกระแสต่อต้านจึงเริ่มใช้นโยบายเพิกเฉยต่อฝ่ายต่อต้านคนกลางเป็นนายกฯ
โดยไม่ออกข่าวให้ ไม่ว่าใครจะชุมนุมประท้วงคัดค้านด้วยกลุ่มชนที่มากขึ้นเท่าไหร่ก็ตาม
จนเริ่มมีคำถามมากขึ้น ๆ ว่าทำไมทีวีไม่ออกข่าวฝ่ายชุมนุมเลย ขณะที่เขาอำลากองทัพด้วยคำพูดที่เจือด้วยน้ำตา
นัยว่าจำเป็นต้อง "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ซึ่งแทนที่จะเป็นบุคลิกเรียกความเห็นใจจากประชาชน
ดูเหมือนว่าจะทำให้คนหมั่นไส้และขุ่นเคืองใจเสียยิ่งขึ้น
ช่วงที่สาม เรียกว่าเป็นช่วงรุก ด้วยการทำลายผู้ชุมนุมต่อต้าน โดยออกข่าวว่าผู้ชุมนุมเป็นกลุ่มที่เล่นนอกสภานอกระบบ
พลเอกสุจินดาย้ำด้วยคำพูดซ้ำ ๆ ว่าตนขึ้นมาเป็นนายกฯ ในระบบแม้ว่าจะขลุกขลักเต็มประดาก็ตาม
ถ้าจะไปก็ไปตามระบบไม่ใช่ตามคำเรียกร้องของผู้ชุมนุม
ยิ่งกว่านั้น เขามองว่ากลุ่มชุมนุมนั้นเป็นม็อบจัดตั้งทั้งสิ้น ถึงขนาดพูดว่าถ้าจะเอาสัก
5 ล้านคน ตนก็หามาได้ ส่วนใครจะอดข้าวประท้วงก็อดไป เพราะถ้าขืนลาออกเพราะมีคนอดข้าวก็แย่เพราะมีคนอดข้าวทุกวัน
ทั้งที่เป็นคนละประเด็น เนื่องจากคนที่ยังต้องอดข้าวอยู่เป็นจำนวนมากตามถิ่นทุรกันดารนั้นเพราะไม่มีอะไรจะกินต่างหาก
การทำลายผู้ชุมนุมต่อต้านในช่วงที่สามนี้มีหลายระยะ
เมื่อถูกฝ่ายค้านพุ่งเป้าหระหน่ำไปยังตัวพลเอกสุจินดาว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะขึ้นมาเป็นนายกฯ
เพื่อบริหารนโยบายให้เป็นจริงได้กระทั่งวันประชุมแถลงนโยบายเป็รนวันที่สองได้อ้างความชอบธรรมว่า
ที่ขึ้นมาเป็นนายกฯ นั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ห้ามคนนอก
แต่ที่สำคัญคือ การอ้างสถานการณ์ว่าเป็นช่วงที่มีนายทหารที่ตนคุ้นเคยและเป็นผู้นำพรรคการเมืองบางคนกำลังจะนำประเทศไปสู่ระบบสภาเปรซิเดียมตามที่ใฝ่ฝัน
ซึ่งรู้กันว่าหมายถึง พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่
มิหนำซ้ำ ยังมีนักการเมืองบางคนคิดจะตั้งลัทธิศาสนาใหม่ขึ้นมา นี่ก็เป็นที่รู้กันอีกเช่นกันว่า
กระสุนนัดนี้ยิงไปที่ พลตรีจำลอง ศรีเมือง โดยตรง จากนั้น อุกฤษ มงคลนาวิน
วุฒิสมาชิกและประธานรัฐสภาในขณะนั้นก็รีบสั่งปิดประชุมทันที
เป็นที่น่าสังเกตว่าการแถลงของพลเอกสุจินดาเรียกเสียงโห่ฮาจากที่ประชุมในแต่ละข้อกล่าวอ้าง
การประชุมสภาฯ ครั้งนี้ถ่ายทอดสดทางทีวีช่อง 9 แต่เมื่อมีการนำภาพมาเสนอใหม่เป็นภาพที่ถูกตัดต่อแล้ว
หลายคนเริ่มไม่พอใจและลดความเชื่อถือลงไป
นอกจากนี้ คนที่มีความเห็นไม่ตรงกับฝ่ายชุมนุมต่อต้านซึ่งเป็นใครก็ไม่รู้จะได้ออกทีวีตลอดเวลารวมไปถึงการเจาะจงไปสัมภาษณ์
ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงผลกระทบของสภาเปรซิเดียมว่าจะเป็นอันตรายต่อประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร
ภาพเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความพยายามที่จะทำลายความน่าเชื่อของสองผู้นำพรรคการเมืองและกลุ่มชุมนุม
ดังนั้น เมื่อมีชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 17 จนกลายเป็นพฤษภาวิปโยค รัฐบาลก็คงใช้ทีวีและวิทยุออกข่าวด้านเดียวอย่างต่อเนื่องเป็นระบบเพราะมองว่านี่เป็นเกมรุกในการทำลายเครดิตและความชอบธรรมของกลุ่มชุมนุม
แต่แล้วรัฐบาลก็ต้องพ่ายแพ้ตัวเอง เพราะประชาชนในสังคมวันนี้ มิใช่กลุ่มคนที่จะคอยรับและเชื่อข่าวจากรัฐบาลแต่เพียงด้านเดียวท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังตื่นตัวอีกต่อไป
ทว่า "ชนชั้นกลาง" กลุ่มสังคมซึ่งเก็บซ่อนความต้องการและความทัดเทียมในการดำรงชีวิตนั้นมาถึงจุดอิ่มตัว
และระเบิดความคิดอันแสดงถึงหลักการและกติกาที่ตนอยากให้เป็นออกมา
เขาต้องการรู้นโยบาย สถิติ การตัดสินใจที่มีเหตุผล โปร่งใสที่จะทำนายได้ว่า
พรุ่งนี้ ปีหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ใช่การตัดสินใจของคนไม่กี่คนที่พลิกไปพลิกมา
อิสระและเสรีภาพคือสิ่งที่เขาต้องการภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่จะให้โอกาส
"ชนชั้นกลาง" ทำมาหาเลี้ยงชีพสร้างเนื้อสร้างตัวและยกระดับฐานะ
อันเป็นการเคลื่อนตัวของสังคมที่กระจายไปทั่วโลก คนเหล่านี้กระหายข้อมูลข่าวสารรอบด้านเพื่อใช้วิจารณญาณและตัดสินใจเองว่าอะไรจริงหรือไม่จริง
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลใช้รูปแบบภายใต้ความคิดที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง จึงถูก
"ชนชั้นกลาง" ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง ข่าวทีวีและวิทยุเลยกลายเป็นข่าวที่เชื่อไม่ได้
ทั้งที่ช่วง 4-5 ปีก่อนหน้านี้ ทีวีเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมอย่างมาก…!
ความเชื่อถือต่อข่าวทีวีจึงสูญมลายไปในพริบตาประดุจว่าทีวีไม่ได้พัฒนาตัวเองในด้านเนื้อหา
แต่ยังบิดเบือนข่าว ขณะที่หนังสือพิมพ์กลับเป็นสื่อที่มีเครดิตดีกว่า..?!?
ทีวีมีพื้นฐานการพัฒนาในรูปของความบันเทิงเป็นหลัก..!
ไทยเริ่มมีทีวีครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2497 เนื่องจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ไปเห็นในสหรัฐอเมริกาจึงอยากให้ไทยมีบ้าง ลงทุนประมาณ 20 ล้านบาทถ่ายทอดการรำที่โรงแรมรอยัลริมคลองหลอดกรุงเทพฯ
โดยบริษัทฟิลิปส์ตอนนั้นทั่วประเทศมีไม่ถึง 200 เครื่อง ดูกันเองในหมู่ข้าราชการยังไม่มีโฆษณาเพราะยังไม่เข้าใจระบบ
อีกราว 5 ปีต่อมาจึงเริ่มพัฒนาในรูปของธุรกิจ งบโฆษณาในปีแรกมีมูลค่าเพียง
100 ล้านบาทซึ่งถือว่าน้อยมาก ขณะที่ปัจจุบันประมาณการว่างบโฆษณาเพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า
20,000 ล้านบาท ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวสูงขึ้น
"ทีวีเป็นสื่อที่เข้าถึงคนมากที่สุด มีพื้นฐานให้ความบันเทิง เป็นความสนุกสนานที่มีการปรับตัวตลอดเวลา
มีเสน่ห์และหลากหลายกว่าสื่อชนิดอื่นขณะที่วิทยุไม่ค่อยปรับตัวด้านเนื้อหาหรือถ้ามีก็น้อยมาก"
บุญรักษ์ ชี้ความต่างของพัฒนาการทีวีและวิทยุ
ทีวีจะเสนอข้อมูลในรูปขิงการเฉลี่ย ๆ กันเพื่อให้ทุกคนดูและฟังรู้เรื่อง
ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการพื้นฐานที่ดูเพื่อฆ่าเวลา ข่าวทีวีเปรียบเทียบแล้วก็ไม่ต่างจากข่าวพาดหัวของหนังสือพิมพ์
จะไม่ลึกซึ้งดูเร็วฉาบฉวย
ด้วยลักษณะของสื่อทีวีอย่างนี้ เป็นความสอดคล้องกับสภาพสังคมโดยทั่วไปซึ่งไม่ว่าจะมีการศึกษาหรือไม่
แต่จะชอบดูและฟังมากกว่าอ่านรายการทีวีส่วนใหญ่จึงเป็นรายการบันเทิงถึง 80-90%
โดยเพิ่งจะมาดูเพื่อเอาข่าวสารเมื่อ 5-6 ปีนี่เองตามสภาพของสังคมโลกที่ปัญหาเศรษฐกิจรุกคืบเข้ามาเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรก
ต่างกับยุคหลายสิบปีก่อนที่เรื่องการเมืองจะนำหน้าเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความมั่นคงแห่งชาติ
ถ้าพูดถึงกลุ่มที่มีความรู้ทางการเมืองที่เรียกว่า POLITICAL PUBLIC นั้นมีน้อยแต่ไหนแต่ไร
คนกลุ่มนี้จะอ่านหนังสือมากกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ดูทีวีน้อยหรือไม่ดูทีวี
เพียงแต่ให้ความสำคัญกับสื่อที่เขียนมากกว่า ส่วนทีวีจะดึงคนที่สนใจเรื่องของความบันเทิงไป"
สื่อหนังสือจะดึงคนที่เป็นปัญญาชน เป็นนักคิดเข้าไป ขณะที่โดยทั่วไปแล้วหนังสือพิมพ์จะเป็นสื่อทางความคิดได้มากกว่า"
บุญรักษ์กล่าว
แนวโน้มคนจะสนใจการเมืองมากขึ้นตามระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้างขึ้นและมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการเมืองอย่างเป็นลูกโซ่ภายใต้โลกของข่าวสาร
ผู้คนสนใจข่าวทีวีมากขึ้นในยุคที่ สมเกียรติ เข้ามาบุกเบิกวงการข่าวทีวีเมื่อ
5 ปีก่อนโดยอิงข่าวต่างประเทศ เสนอข่าวด้วยรูปแบบใหม่เป็นหลักจากที่เคยใช้สไตล์คำสั่งหรืออ่านประกาศที่เรียกว่า
TOPDOWN แม้จะเป็นข่าวธรรมดา ก็มีลักษณะเป็นกันเองมากขึ้นทำให้ข่าวทีวีปรับตัวกันอย่างคึกคัก
จะเห็นว่า ก่อนถึงวันพฤษภามหาวิปโยค รายการข่าวได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นโดยตลอด
รายการข่าวได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นโดยตลอด จากการสุ่มตัวอย่างในเขตกรุงเทพฯ
ของบริษัทที่ปรึกษา ซี. เอส. เอ็น. แอนด์แอสโซซิเอท จำกัด พบว่าช่อง 7 ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับหนึ่ง
รองลงมาเป็นช่อง 3 ตามมาด้วยช่อง 5 และช่อง 9 (โปรดดูตาราง "รายการโทรทัศน์ที่อยู่ในความนิยม")
ขณะที่รายการวิทยุที่ฮิตที่สุดคือ จส. 100 วิทยุจราจรตั้งแต่เริ่มต้น มีสัดส่วน
33.30% (โปรดดูตาราง "รายการวิทยุที่อยู่ในความนิยม")
เมื่อ "ชนชั้นกลาง" กระหายข้อมูล แต่กลับถูกปิดกั้นข่าวทางทีวี
จึงทำให้คนเหล่านี้ต้องหาทางช่วยและเคลียร์ข้อมูลด้วยตนเอง
นั่นก็คือ ออกไปหาข่าวจากแหล่งชุมนุมด้วยตนเอง นอกเหนือจากความต้องการแสดงพลังประชาธิปไตยเมื่อไปเจอของจริง
ก็ทำให้ยิ่งชัดเจนว่าข่าวทีวีที่แพร่ออกมาในระยะนั้นล้วนแต่ถูกบิดเบือนจากเหตุการณ์ที่เป็นอยู่จริงทั้งสิ้น
ขณะที่หนังสือพิมพ์อยู่ในฐานะที่จะแสดงจุดยืนและเสนอข้อมูลได้อย่างตรงไปตรงมามากกว่า
พอทีวีกลายเป็นสื่อที่ไม่อาจเชื่อถือได้ในกลุ่มคนที่มากขึ้น ทางออกก็คือหันไปอ่านหนังสือพิมพ์
เพราะเชื่อถือว่าข่าวสมบูรณ์กว่า ดังที่ บุญรักษ์ ย้ำว่า "ตลาดปัจจุบันไม่ใช่ตลาดโง่
เขาจะตัดสินใจของเขาเอง อ่านหนังสือพิมพ์แล้วไม่ใช่ว่าเขาจะเชื่อทันที แต่เขาจะอ่านเอาข้อมูล
รวมถึงจากแหล่งอื่น ๆ ให้ได้รอบด้าน ละเอียดแล้วคิดเองและคอยดูว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป
ไม่ได้หมายความว่าจะไปครอบงำเขาได้"
ถ้าดูจากการสุ่มตัวอย่างของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่
17 พฤษภาคม 2535 ยิ่งจะบ่งชัดว่าหลุ่มชั้นกลางหรือกระฎุมพีใหม่ที่เข้าร่วมถึงครึ่งหนึ่งของผู้ชุมนุมทั้งหมดนั้นส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง
25-40 ปี จบปริญญาตรีเป็นหลักจะมีสัดส่วนที่อ่านหนังสือพิมพ์มากที่สุด
จะเห็นว่าเพศชายจะอ่านหนังสือพิมพ์สูงถึง 46.6% ดูข่าวทีวี 25.1% ในเพศหญิงก็เช่นกันจะอ่านหนังสือพิมพ์
15.9% ดูข่าวทีวี 9.4% กลุ่มอายุระหว่าง 20-39 ปี อ่านหนังสือพิมพ์ในสัดส่วนที่มากกว่าการดูข่าวทีวีประมาณครึ่งหนึ่ง
ถ้าดูจากการศึกษา คนจบปริญญาตรีจะอ่านหนังสือพิมพ์มากกว่าดูข่าวทีวีเกือบ
50% และในกลุ่มที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีจะอ่านในสัดส่วน 10.2% แต่ดูข่าวทีวีเพียง
4.2%
กลุ่มที่มีรายได้ตั้งแต่ 5,000-19,999 ต่อเดือนหรือแม้กระทั่งเงินเดือนขนาด
50,000 บาทล้วนแต่อ่านหนังสือพิมพ์มากกว่าดูข่าวทีวีกว่าครึ่ง และคนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะทำงานบริษัทเอกชนถึง
30% (โปรดดูตาราง "การรับข่าวสารในช่วงเวลาปกติของผู้เข้าร่วมกิจกรรม
จำแนกตามชนิดของสื่อและข้อมูลพื้นฐาน") ส่วนวิทยุจะฟังกันน้อยมากสูงสุดเพียง
1.4% เท่านั้น
กลุ่มชนชั้นกลางเหล่านี้ยังสนใจข่าวธุรกิจ-การเมืองมากกว่าข่าวประเภทอื่น
(โปรดดูตาราง "ประเภทของหนังสือพิมพ์ที่ผู้ร่วมเหตุการณ์สนใจ")
ภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ยังเปรียบเทียบตัวเลขที่ดูข่าวทีวีช่วงก่อนการชุมนุมและขณะสถานการณ์กำลังวิกฤติก่อนการนองเลือดว่า
ได้ลดจาก 34.5% เหลือ 8% ส่วนตัวเลขคนอ่านหนังสือพิมพ์จาก 62.5% ได้เพิ่มขึ้นเป็น
81.6% ส่วนวิทยุลดจาก 2.2% เหลือ 1.5%
ถ้าคิดเป็นตัวเลขความเชื่อถือต่อข่าวทีวีแล้วมีเพียง 16.4% เทียบค่าเฉลี่ยอยู่ที่
1.4 ขณะที่มีการให้เครดิตหนังสือพิมพ์ 58.5% ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 2.43 จากคะแนนเต็ม
3
รูปลักษณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อสถานะ เฉพาะอย่างยิ่งคือช่อง 5 และช่อง
7 (สัมปทานจากช่อง 5) อย่างสาหัสฉกรรจ์
นี่ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการทำลายเครดิตของทีวีเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อเนื่องไปถึงโฆษณาอันเป็นช่องทางหารายได้ที่สำคัญของทีวีไปด้วย
ดังที่ สมเกียรติ ยอมรับว่า "ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการถอนโฆษณาหรือโฆษณาที่ลดลงไปโดยเฉพาะในรายการข่าว
ด้วยเหตุผล 3 อย่างคือ ผลกระทบจากเหตุการณ์การเมืองทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน
จึงชะลอโฆษณาไว้ก่อน และใกล้ฤดูฝน โฆษณาจะน้อยกว่าปกติอยู่แล้ว รวมไปถึง..การแอนตี้รายการข่าวช่อง
5.."
"การแอนตี้ข่าวช่อง 5 โดยงดโฆษณามีจริงที่เคยขายได้ในช่วง 8 นาทีตอนนี้ลดลงเหลือประมาณ
4 นาทีเท่านั้น" สมเกียรติชี้ถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
ยังไม่รวมถึงความรู้สึกต่อธุรกิจอื่นของกลุ่มทหารดังที่มีข่าวว่า นักธุรกิจและแพทย์กลุ่มหนึ่งได้เสนอให้ธนาคารไทยพาณิชย์เลิกสนับสนุนรายการ
"โลกสลับสี" ในช่อง 5 มิฉะนั้นแล้วจะถอนเงินไปฝากแบงก์อื่นหรือบางกลุ่มถึงขนาดกล่าวว่า
พยายามจะไม่ซื้อสินค้าที่โฆษณาทางช่อง 5
แม้แต่คนอ่านข่าวชื่อดังอย่าง จักรพันธุ์ ยมจินดา ช่อง 7 ก็ถูกประชาชนต่อต้าน
ถูกโทรศัพท์ขู่เอาของขว้างปาบ้าน หลังจากที่อ่านแถลงการณ์ห้ามออกไปชุมนุมฉบับแรก
ความชื่นชมของคนดูข่าวต่อ จักรพันธุ์ ก็ลดฮวบไปทันที เพราะท่าทีลีลาการอ่านที่ดุจดังคำสั่งคณะปฏิวัติทำให้คนดูอดคิดกันไม่ได้ว่า
เขาเป็นกลุ่มอิงอำนาจทหาร ทั้งที่เขาเป็นลูกจ้างของสถานีที่จะต้องทำตามคำสั่ง
และอึดอัดใจจนต้องประกาศลาออกแล้วเลิกอาชีพนี้ไปเลย
ไม่รวมถึงบรรดานักดูข่าวทีวี ต่างก็ต้องปกปิดแหล่งที่ตนสังกัด ไม่อย่างนั้นก็จะโดนปฏิกิริยาต่อต้าน
เพราะประชาชนมองว่าออกข่าวด้านเดียว เป็นเครื่องมือของรัฐบาลและทหารยุคพลเอกสุจินดา
ท่ามกลางความไม่เข้าใจว่าทีมข่าวเหล่านี้ต่างก็ตกอยู่ในกรอบจำกัด
ทีท่าต่อต้านของคนดู ว่าไปแล้วก็คือการประท้วงข่าวทีวีนั่นเอง…!
การที่เครดิตของทีวีสิ้นสลายไปอย่างนี้ เป็นเพราะระบบและวิธีคิดของกลุ่มอำนาจทางการเมือง-ทหารของ
รสช. ที่คุ้นเคยกับกระบอกปืนอย่างไม่เคยแปรเปลี่ยนเฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นซ้ำซาก
คงเนื่องเพราะไม่ได้ศึกษาและสรุปบทเรียนจากอดีตเลยแม้แต่น้อย
ทีวี-วิทยุที่เคยเป็นเครื่องมือของรัฐ หรือของรัฐบาลตามที่กลุ่มอำนาจมักจะเข้าใจและใช้กันเพื่อตอบสนองเจตนารมณ์และผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มตนจึงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงด้านเนื้อหามากนัก
เพราะโครงสร้างอำนาจใหญ่ฝังรากลึกอยู่ แม้ว่าจะมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและพูดกันว่าพยายามจะมีนโยบายเปิดเสรีทีวีก็ตาม
ทีวีจึงยงคงตกอยู่ในแดนสนธยา ทั้งที่รัฐบาลไม่เคยมีกฎระเบียบห้ามตั้งสถานีใหม่
จะมีก็เพียงแต่ข้อตกลงในหลักการกว้าง ๆ ว่าข่าวที่แพร่ออกไปจะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติไม่ขัดต่อประเพณี
ศีลธรรมอันดี เป็นต้น
ทำไมคนทำข่าวทีวีจึงไม่อาจทะลวงฝ่ากำแพงปิดกั้นเสรีภาพไปได้ทั้งที่นักข่าวทีวีอาชีพก็คงไม่ต่างจากหนังสือพิมพ์
ที่อยากทำงานให้สมเกียรติและสมบูรณ์แต่ก็ทำไม่ได้ แม้ว่าตามปกติแล้วจะไม่มีการสั่งห้ามเป็นทางการหรือประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม…?
พลเอกสุจินดา เองก็ตอกย้ำหลายครั้งว่า "ผมไม่เคยสั่งห้าม (ออกข่าวการชุมนุมต่อต้าน)
และอยากให้ออกข่าวทุกด้านด้วยซ้ำไป แต่ไม่รู้ทำไมจึงไม่เสนอกัน"
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า มีกระบวนการอะไรบางอย่างเกิดขึ้นในการกำหนดนโยบายอย่างไม่เป็นทางการ
ตามพลังของอำนาจมืดที่ซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลัง
จะเห็นว่าช่อง 3 และช่อง 7 ซึ่งดำเนินการโดยเอกชนนั้น เป็นที่คาดหวังของคนดูว่าน่าจะเสนอข่าวได้ฉับไว
รอบด้าน และลุ่มลึกกว่าช่องอื่น แต่บางครั้งกลับเป็นว่าช่อง 9 กล้าเสนอข่าวในบางประเด็นมากกว่าด้วยซ้ำไป
ทั้งที่ช่อง 9 อ.ส.ม.ท. เป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการและคุมนโยบาย
ที่จริง ทุกช่องเป็นของรัฐทั้งหมดเพียงแต่ต่างกันในรูปแบบการบริหารเท่านั้น…!
ช่อง 3 บริษัท บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์ได้รับสัมปทานจากช่อง 9 โดยต้องจ่ายค่าสัมปทานเกือบ
2,000 ล้านบาทใน 10 ปี นอกจากการให้ผลประโยชน์เฉลี่ยปีละ 20 ล้านบาท
เป็นเพราะช่อง 3 ได้สัมปทานสัญญามา ทำให้ต้องเกรงใจผู้ใหญ่เพราะเกรงจะไม่ได้ต่อสัญญา
จึงไม่เสี่ยงในเรื่องข่าว ถ้าสนองรัฐบาลได้จะสนองหมด ข่าวของช่อง 3 เลยไม่เป็นธุรกิจ
ไม่จำเป็นต้องจะเป็นจะตายเพราะข่าว ขอให้มีหนังมีละครดี ๆ เป็นใช้ได้ "ช่อง
3 น่าสงสารที่สุด เขาไม่ค่อยกล้าหาเรื่องทั้งที่อยากทำ (ข่าว)" สมเกียรติ
กล่าว
ช่อง 5 กองทัพบกเป็นเจ้าของแล้วให้เอกชนซื้อเวลา โดยรัฐบาลเป็นคนบริหารเวลา
จะมีรายได้จากค่าโฆษณาและค่าเช่าเวลา เช่น ข่าวช่วง 19.30-20.00 น. ให้กับอีเอ็มนิวส์ในเครือบริษัท
แปซิฟิค อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น โดยช่อง 5 จะได้ผลตอบแทนประมาณ 150 ล้านบาทใน
3 ปี
การทำงานจะเป็นระบบสายบังคับบัญชาแบบทหาร ต้องเดาใจเจ้านายในระดับต่าง
ๆ โดยไม่ต้องมีคำสั่ง จะถูกปิดกั้นสูง ฉะนั้นทำอะไรก็ต้องขอให้ปลอดภัยไว้ก่อน
ช่อง 7 จะรับสัมปทานจากช่อง 5 และใช้ระบบดาวเทียม ทำให้ครอบคลุมเครือข่ายกว้างได้ทั่วประเทศ
คนรับข่าวเยอะ มีอิทธิพลต่อประชาชน ด้านโฆษณาก็แคร์ รัฐบาลเลยดูแลมากหน่อย
แต่ก็เป็นช่องที่มีไหวพริบที่จะพลิกแพลงตัวเองได้คล่องตัว ไม่มีการห้ามฝ่ายข่าวเหมือนช่องอื่น
"เพียงแต่ชาติเชื้อ กรรณสูต ผู้อำนวยการอาจจะคอยกระตุกให้เพลา ๆ บ้างเท่านั้น"
ผู้จัดเจนด้านข่าวทีวีกล่าว ส่วนช่อง 11 เป็นของกรมประชาสัมพันธ์
ด้วยความที่ช่อง 3 และช่อง 7 บริหารในรูปของเอกชนกลับกลายเป็นข้อจำกัดในการเสนอข่าว
จะยึดหลักว่าจะทำข่าวเรื่องอะไรก็ควรจะเป็นข่าวที่ทำให้บริษัทผู้รับสัมปทานปลอดภัยไว้ก่อน
เพราะถ้าเกิดความขัดแย้งกับทางราชการส่วนใดขึ้นอาจจะกระทบต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจได้ง่าย
ถ้าช่อง 5 และช่อง 9 เกิดเสนอข่าวที่ไม่ถูกใจผู้บริหารระดับใดขึ้นมา ผู้อำนวยการสถานีหรือบรรณาธิการข่าวจะเป็นคนรับผิดชอบ
อย่างมากก็โดนย้ายเพียงคนเดียว ไม่เหมือนกับช่อง 3 และช่อง 7 หากโดนกรณีเดียวกันจะกระทบความอยู่รอดของทีมงานทั้งหมด
แต่ช่อง 9 จะอยู่ในฐานะที่สบายกว่าช่องอื่นเพราะคนดูแลเป็นพลเรือนคือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
จะกลัวก็แค่โทรศัพท์ ถ้าทำไม่ถูก จะมีโทรศัพท์มาโวย แต่ถ้าเผลอก็ทำได้อีก
การกล่าวอ้างของ พลเอกสุจินดา ข้างต้นจึงไม่เกินเลยความจริงที่พยายามแสดงให้เห็นดุจว่าเป็นคนเปิดกว้างต่อการรับฟัง
แต่เป็นที่รู้กันว่า "วันที่ 7 พฤษภาคมนายทหารอากาศชั้นผู้ใหญ่ได้ออกคำสั่งห้ามเสนอข่าวฝ่ายชุมนุมคัดค้านคนกลางเป็นนายก"
แหล่งข่าวจากวงการทีสีเปิดเผยถึงสาเหตุที่ไม่อาจเสนอข่าว 2 ด้านได้ เลยยิ่งทำให้ภาพพลเอกสุจินดากลายเป็นคนปัดความรับผิดชอบอย่างช่วยไม่ได้
ขณะที่บางคนสะท้อนว่า "อะไร ๆ ก็ไม่รู้ไม่เห็น แล้วจะเป็นนายกฯ ได้ยังไง"
อย่างไรก็ตาม การออกคำสั่งห้ามด้วยลายลักษณ์อักษร ปกติไม่บ่อยนัก…!
แต่ความสำคัญไม่ใช่อยู่ที่ว่าสั่งด้วยตัวหนังสือหรือวาจา เพราะแก่นแท้ของการห้ามก็คืออำนาจมืดซ่อนแฝงอยู่ภายใต้โครงสร้างการบริหารแบบเก่า
ไม่ว่าจะยุคของรัฐบาลมหารหรือยุคนายกฯ ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งพร่ำบอกกันเสมอว่าให้เสรีภาพเต็มที่ก็ตาม
แต่ก็เป็นเพียงคำที่ปั้นแต่งขึ้นมาให้ดูสวยหรูเท่านั้น
แหล่งข่าวที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการข่าวทีวีรายหนึ่งเปรียบเทียบ "ยุคที่ว่าประชาธิปไตยเบ่งบานหลัง
14 ตุลา 16 ข่าวซีเรียสก็ออกไม่ได้ หรือยุคนายกฯ ชาติชายก็ยังมีคนใกล้ชิดสั่งให้ทำข่าวตามความต้องการ
บางเรื่องในยุค รสช. ยังเสรีกว่าด้วยซ้ำ จะเห็นว่ายังมีรายการ "มองต่างมุม"
โดยมีอาจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
พูดได้ว่าเป็นเพราะนายกฯ อานันท์เป็นคนเปิดกว้างและอยู่ในฐานะที่มีบารมีในตัวเองสูงพอและมีลูกล่อลูกชนกับคณะ
รสช. ทำให้รักษาความเป็นตัวของตัวเองได้ จะเห็นว่าทีวีจะมีเสรีหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของรัฐบาลว่าจะใจกว้างหรือแคบมากน้อยแค่ไหน
ดังที่ คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า
เวลาเกิดปัญหาคนที่จะโดนเล่นงาน คือบรรณาธิการข่าว ต่อมาก็เป็นผู้อำนวยการสถานี
แต่ถ้ารัฐมนตรีมีนโยบายตรงนี้เปิดกว้างก็จะทำให้เสนอข่าวได้ 2 ทาง คือข่าวฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
หรือจากข้างล่างไปสู่ข้างบน และจากบนลงล่าง ไม่ได้หมายถึงทั้งทางทีวีและวิทยุ
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าผู้ใหญ่จะกล้าแอ่นอกเข้ามารับแค่ไหน
บังเอิญว่าพลเอกสุจินดาไม่เพียงแต่ไม่ได้ก้าวนำหน้าประชาชน หรือก้าวตามพลังขับเคลื่อนใหม่
ๆ แต่กลับย่ำอยู่กับที่ เพราะเชื่อมั่นตนเองเกินไปและคงคิดเลยเถิดไปว่าถ้าตนไม่ขึ้นเป็นนายกฯ
แล้วบ้านเมืองอาจจะมีอันเป็นไปกระมัง จากระบบคิดที่เชื่อในทฤษฎีเก่า ๆ อย่างเหนียวแน่นว่า
ตนชำนาญยุทธวิธีและมั่นใจในเกมรุกดีพอ แต่เกมรบในสงครามของทหารกับเกมพลังประชาชนในยุคนี้
ตรงกันข้ามกันโดยสิ้นเชิง
เกมรุกโดยระดมใช้สื่อครั้งนี้ กลับเป็นความพ่ายแพ้อย่างหมดรูป…!
รัฐบาลสุจินดา และคณะคงมองไม่ออกว่าการโฆษณาชวนเชื่อทางทีวีและวิทยุนั้นไม่อาจสกัดกั้นความกระหายใคร่รู้ของ
"ชนชั้นกลาง" ได้ เมื่อพึ่งสื่อเหล่านี้ไม่ได้ ก็มีหนังสือพิมพ์แม้จะเชื่อไม่ได้
100% ทุกฉบับก็ตาม ยิ่งกว่านั้น ก็ยังมีโทรศัพท์มือถือ แพคลิงค์ โฟนลิงค์
แฟกซ์ วิทยุติดตัว หรือเคเบิ้ลทีวี ซึ่งล้วนแล้วเป็นเครื่องมือสื่อข้อเท็จจริงถึงกันและกันอย่างรวดเร็วทั้งในและต่างประเทศ
ไม่รวมถึงยุทธการปากต่อปากที่ไม่มีใครหยุดยั้งได้
ดูเหมือนว่า ยิ่งคนดูรู้ว่ารัฐบาลจลใจออกข่าวบิดเบือน ข่าวลือที่มาจากฐานข้อมูลจริงยิ่งแพร่สะพัดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
เพราะความกริ่งกลัวที่ตกผลึกอยู่ในใจของรัฐบาล เขาจึงหวั่นไหวต่อเสรีภาพของทีวีและวิทยุ
เพราะวิตกว่าตนจะมีคู่ต่อสู้เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่อดีต
น่าสังเกตว่ามีกฎหมายควบคุมสื่อมวลชนหลายฉบับ เช่น พ.ร.บ. การพิมพ์ พ.ศ.
2484 ซึ่งเป็นปีแรก ๆ หลังจากที่เกิดปฏิวัติในปี 2475 พอมีการปฏิวัติในปี
2498 รัฐบาลก็เริ่มออก พ.ร.บ. วิทยุกระจายเสียง พ.ศ. 2498 และปรับปรุงใหม่อีกครั้งในปี
2502 ซึ่งมีการปฏิวัติอีก อันสะท้อนถึงความกลัวของรัฐบาลต่อสื่อวิทยุในยุคกองทัพเป็นผู้นำ
พอปี 2519 เมื่อพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ปฏิรูป ก็ออกประกาศคำสั่งคณะปฏิรูป
ฉบับที่ 15 (ปร. 15) ระบุห้ามวิทยุออกข่าวยุยงปลุกปั่น หรือกระทบความมั่นคงของชาติหรือสนับสนุนระบบคอมมิวนิสต์
พร้อมทั้งออก ปร. 17 เพื่อใช้ควบคุมทีวีในลักษณะเดียวกับ ปร. 15
แสดงว่า รัฐบาลเริ่มหวาดหวั่นต่อสื่อทีวีซึ่งแพร่หลายออกไป หลังจากที่ถ่ายทอดเป็นทางการครั้งแรกในปี
2498 ทางสถานีช่อง 4 บางขุนพรหม จึงต้องเข้มงวดมากขึ้น เพื่อกันปัญญาชนออกไประดับหนึ่ง
แท้จริง การหวั่นต่อเสรีภาพทีวี-วิทยุน่ากลัวและอันตรายมากกว่า เนื่องจากยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ
ยิ่งปิดกั้นก็ยิ่งอยากรู้ สุดท้ายก็จบลงด้วยความรู้สึกไม่เชื่อถือทีวี-วิทยุอีกต่อไป
และเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อระบบการสื่อสาร เพราะ 2 สื่อนี้เป็นช่องทางเดียวของรัฐ
เมื่อคนไม่เชื่อถือแล้ว รัฐบาลก็จะไม่มีเครื่องมือแพร่ข่าวสารหรือถ่ายโอนนโยบายไปสู่ประชาชน
และจะจนมุมตัวเอง
ดังที่คุณหญิงสุพัตราให้ความเห็นว่า "รัฐบาลใช้ทีวีเป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อ
โดยอ้างว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ ทั้งที่ประชาสัมพันธ์หมายถึงทำให้คนเกิดความเข้าใจแบะวิพากษ์วิจารณ์ได้
แต่ตอนนี้คนเกิดอาการไม่อยากดูทีวี ซึ่งส่งผลให้หูตาแคบลงด้วย และไม่ใช่ทุกคนที่อ่านหนังสือได้"
ตรงนี้จะเป็นผลเสียของทั้งประเทศในการรับรู้ข่าวสาร
อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดข่าวลือ มีอาการระแวงต่อความไม่จริงใจของรัฐบาล
อันนำไปสู่ความแตกแยกยากที่จะรู้รักสามัคคี จะทำให้การพัฒนาของ "ชนชั้นกลาง"
ตีบตันในที่สุดก็ร่วมกันรังสรรค์ประเทศไม่ได้
แล้วเสียงเรียกร้องเสรีในการรับข่าวสารจากทีวี-วิทยุก็ประดังขึ้นทั่วทุกสารทิศโดยมิได้นัดหมาย
เพื่อปรับทีวีวิทยุให้เป็นสื่อที่ทรงประสิทธิภาพอย่างถูกต้องตามบทบาทที่แท้จรองของมัน
เพราะมิฉะนั้นแล้วทีวี-วิทยุก็จะกลายเป็นเครื่องสี่เหลี่ยมที่ไร้ความหมาย
เชื่อกันว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬจะเป็นตัวแปรของการปรับเปลี่ยนรายการข่าวทีวี-วิทยุ
หลังจากที่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ภายใต้การควบคุมอำนาจระบบปิดทีวี-วิทยุไม่อาจใช้เป็นเครื่องมือในการป้อนข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนได้อย่างเที่ยงธรรม
รอบด้านอันเป็นกลไกสำคัญยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบเปิดของประเทศ ซึ่งมี
"ชนชั้นกลาง" เป็นพลังขับเคลื่อนหลักอีกต่อไป
หลายคนพยายามเสนอให้เปิดสถานทีวีช่องใหม่ เพื่อให้เอกชนดำเนินการในรูปของธุรกิจเต็มตัว
โดยเฉพาะคลื่นที่เป็นคลื่น UHF ซึ่งมีความแรงกว่าคลื่น VHF คลื่นเก่าที่ทีวีใช้กันอยู่ในขณะนี้
แต่จะกระจายคลื่นออกไปได้เป็นพื้นที่ ๆ และจะต้องสร้างเครือข่ายขยายออกสู่ภูมิภาคต่าง
ๆ อีกทอดหนึ่ง
โดยเฉพาะขณะนี้มีแรงกดดันอย่างมากในการหนุนเปิดทีวีช่องใหม่ ซึ่งเป็นไปตามวัฒนธรรมของคนที่ไม่ค่อยได้ทำอะไรตามหลักการหรือวางแผนล่วงหน้า
แต่จะทำทุกอย่างเพราะมีแรงกด หรือพลังการเมืองและฐานการเงินที่เข้มแข็งพอ
เช่นเดียวกับความพยายามในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้นายกฯ มาจาก ส.ส. ให้ประธาน
ส.ส. เป็นประธานรัฐสภา เริ่มลงมือเป็นเรื่องเป็นราวหลังจากที่เกิดวันพฤษภาทมิฬ
โดยที่ 5 พรรคร่วมรัฐบาลพลิกคำพูดยอมแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 25 พฤษภาคมศกนี้
และรอเข้าวาระที่ 3 ในวันที่ 10 มิถุนายนปีเดียวกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้พยายามเบี่ยงเบนเตะถ่วงให้ล่าช้า
โดยบอกว่าจะต้องตั้งกรรมการศึกษาอีกหลายขั้นตอนซึ่งเชื่อกันว่า หากไม่มีการหลั่งเลือดและพลีชีพของประชาชนจำนวนมาก
อีกนานเท่านานก็ยังคงแก้รัฐธรรมนูญไม่ได้
ไม่เช่นนั้น ก็แยกช่อง 3 และช่อง 7 ออกมาให้เอกชนเป็นเจ้าของในเชิงธุรกิจเต็มรูปแบบ
ซึ่งจะต้องจ่ายเงินคืนให้กับรัฐเท่าไหร่ก็ว่ากันไป เพื่อให้ทีวีมีทั้งที่เป็นส่วนของรัฐและเอกชน
สร้างกลไกในการแข่งขันซึ่งกันและกัน
อีกวิธีหนึ่ง ก็คือ แปรรูปให้เอกชนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และให้รัฐบาลหรือต้นสังกัดเดิมถือหุ้นส่วนน้อย
ทั้งนี้ ในแต่ละวิธี ควรจะกระจายผู้ถือหุ้นให้หลากหลาย และมีวิธีป้องกันการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของรายใดรายหนึ่ง
จึงควรเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และผลักดันให้เป็นบริษัทมหาชน
ที่จริง ทีวีจะมีเสรีภาพในการเสนอข่าวมากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่ที่ว่าผู้บริหารจะมีระบบคิดและโลกทัศน์ที่กว้างไกลแค่ไหน
หากเป็นความคิดคับแคบในระบบปิด คงยากที่จะให้ทีวีมีเสรีภาพในการเสนอข่าว
แม้ว่าเอกชนจะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ก็ตาม
อย่างไรก็ดี การที่ให้เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เชื่อว่าจะสอดคล้องกับหลักการของตลาดเสรีที่ว่า
จะหนุนเนื่องให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ยิ่งกว่านั้นก็คือถ้าเป็นบริษัทมหาชน
อย่างน้อยพลังประชาชนจะเป็นส่วนสำคัญในการเรียกร้องและกดดันให้เสนอสินค้าหรือข่าวสารที่ตลาดต้องการได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน มีการเคลื่อนไหวออก พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการขึ้นมาก
เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยในการรับรู้ข่าวสารของราชการ
อันเป็นกลไกสำคัญที่ประชาชนจะได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจและการบริหารงานของรัฐ
ทั้งยังตรวจสอบการใช้อำนาจของราชการที่จะให้คุณให้โทษชุมชนหรือปัจเจกชน
พร้อมทั้งกำหนดกฎเกณฑ์คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่ในความดูแลของราชการ
อีกทั้งกำหนดให้ราชการต้องมีหน้าที่ในการจัดทำเปิดเผยข้อมูลข่าวงสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
โดยจะกำหนดลำดับชั้นของข้อมูลที่เป็นความลับดังนี้คือ
ลับที่สุดให้เก็บเป็นความลับได้ไม่เกิน 25 ปี
ลับมาก ไม่เกิน 20 ปี
ลับ ไม่เกิน 5 ปี
ปกปิด ไม่เกิน 1 ปี
ส่วนการกำหนดประเภทของข้อมูลนั้น ให้คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นผู้กำหนดตามคำเสนอแนะของกองจดหมายเหตุแห่งชาติ
กรมศิลปากร ซึ่งจะทำให้ต้องจัดวางระบบข้อมูลให้เป็นแนวเดียวเพื่อสะดวกในการเรียกใช้
พ.ร.บ. ฉบับนี้ สมัยนายกฯ อานันท์ ได้เห็นชอบแล้ว และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นเพื่อแก้ไขให้สมบูรณ์ก่อนที่จะเสนอเข้า
ครม. แต่หมดวาระยุคอานันท์ไปก่อน จึงต้องเตรียมเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่
กฎหมายนี้จะเป็นการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากราชการ
และฝ่ายราชการจะต้องจัดวางโครงสร้างระบบสารนิเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน
และค้นคว้าไปใช้ในการตัดสินใจของงานแต่ละเรื่องได้อย่างสัมฤทธิผล
สาระของ พ.ร.บ. นี้ แม้ว่าจะเป็นคนละส่วนกับการเปิดเสรีทีวี-วิทยุ แต่ก็เป็นการสนับสนุนสิทธิของการรับรู้ข้อมูลของประชาชน
ซึ่งน่าจะช่วยส่งเสริมให้มีการเปิดเสรีทีวี-วิทยุได้เร็วขึ้น
เพราะการเปิดเสรีในการรับรู้ข่าวสารได้รอบด้านถูกต้อง เที่ยงธรรมจะเป็นกลไกสำคัญยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจในระบบเปิดอย่างทุนนิยม
และเป็นหน้าที่ของรัฐด้วยเช่นกันว่าจะต้องร่วมผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นจริง
และปรับทิศทางการใช้สื่อทีวี-วิทยุใหม่เพื่อป้อนสาระประโยชน์แก่ประชาชนมากยิ่งขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวางฐานระบอบประชาธิปไตย ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจ
การปูพื้นจริยธรรม หรือการรณรงค์แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่สั่งสมอยู่มากมาย แทนที่จะมุ่งแต่โฆษณาชวนเชื่อ
พยายามให้ประชาชนคล้อยตามการดำรงอยู่ของกลุ่มอำนาจในระบบปิดอันนำมาแต่ความแตกแยก
ร้าวฉาน และฉุดรั้งการสร้างบ้านแปลงเมืองไปสู่เป้าหมาย
วันนี้…กาลเวลาได้ผันเปลี่ยนไปสู่สังคมใหม่ที่ต้องการเสรีในการฟัง อ่าน
คิด และกระทำเป็นเท่าทวี
เสรีภาพทีวี-วิทยุที่ผวากันมานานหนักหนาว่าจะเป็นอันตราย ก็ต่อกลุ่มผู้มีอำนาจที่คับแคบเท่านั้น
ซึ่งถ้าปิดกั้นเสรีแล้ว มหันตภัยที่จะเกิดต่อประเทศจะหนักหนาสาหัสอย่างที่เทียบกันไม่ได้เลย…!