การประชุม "U.N. CONFERENCE ON ENVIRONMENT & DEVELOPMENT"
หรือ UNCED ระหว่างตัวแทนจาก 170 ประเทศที่จะมีขึ้นที่ริโอ เดอ จาเนโร ในเดือนมิถุนายนที่กำลังจะมาถึงนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการถกเถียงกันอย่างเป็นจริงเป็นจังในประเด็นการพัฒนาแบบยั่งยืนหรือ
SUSTAINABLE DEVELOPMENT ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่กินความหมายกว้างขวางกว่าการรักษาทรัพยากรที่มีอยู่แล้วไว้
SUSTAINABLE DEVELOPMENT เป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมที่จะต้องร่วมมือกันทั่วโลกระหว่างประเทศอุตสาหกรรมและประเทศที่กำลังพัฒนา
จึงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากก่อนเข้าที่ประชุมเนื่องจากขอบเขตของการพัฒนาแบบนี้ล้ำเส้นเข้าไปในเรื่องของผลประโยชน์ทางด้านการค้าด้วย
และผลของมันอาจหมายถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมและวิถีชีวิตของคนเลยทีเดียว
ความคิดที่ว่ามนุษย์กำลังทำลายสิ่งแวดล้อมจนกระทั่งธรรมชาติยากที่จะฟื้นตัวขึ้นมาใหม่นั้นเคยเป็นเรื่องขบขันใน
3 ทศวรรษก่อน แต่ถึงวันนี้ประเด็นกลับกลายเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางเพราะในช่วงเวลาเพียง
20 ปีเท่านั้นประชากรโลกเพิ่มขึ้นถึง 66% เป็น 5,300 ล้านคนแล้ว และผลิตผลทางด้านเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้นอีกเกือบ
2 เท่าตัว พร้อม ๆ กัน นั้นก็คือการทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง เช่น
ทะเลบอลติกประสบปัญหาน้ำเสียเพราะสิ่งโสโครก, ยุโรปตะวันออกและแถบเม็กซิโกซิตี้อากาศเป็นพิษมาก
และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรงมากในขณะนี้คือบรรยากาศชั้นโอโซนที่เหลือน้อยลงทุกที
ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นเรื่อย ๆ
และหากคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น หากปัญหาเหล่านี้ไม่ได้รับการแก้ไขจะพบว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น
2 เท่าเมื่อถึงปี 2030 (ตัวเลขของยูเอ็น) และ 84% ของจำนวนนี้จะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา
ซึ่งยังต้องขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อขจัดความยากจนและจำกัดการเพิ่มของประชากรอันเป็นปัญหาที่ซ้อนอยู่ในปัญหาอีกทีหนึ่ง
เพราะการพัฒนาตัวเองของประเทศเหล่านี้ย่อมหมายถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
เริ่มต้นจากความขัดแย้ง
เมื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมต้องเดินสวนทางกันจึงต้องมีการหาทางออกที่ประนีประนอมที่สุดซึ่งก็คือ
"การพัฒนาแบบยั่งยืน" หรือ "SUSTAINABLE DEVELOPMENT"
อันมีหลักการอยู่ว่าอนาคตของสิ่งแวดล้อมขึ้นอยู่กับการรักษาทุนตามธรรมชาติ
คืออากาศ, น้ำ และทรัพยากรในระบบนิเวศน์อื่น ๆ ไว้ ซึ่งการที่จะทำเช่นนั้นได้ก็ต้องมีความสมดุลระหว่างกิจกรรมของมนุษย์
และความสามารถที่จะฟื้นตัวเองของธรรมชาติ การพัฒนาแบบยั่งยืน จึงกลายเป็นประเด็นอันแหลมคมในการปฏิรูปสังคม
และเศรษฐกิจเมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐบาล, ธุรกิจและนักวิชาการได้เปิดประชุมเรื่องนี้ถึง
80 ครั้ง มีหนังสือที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่า 75 เล่ม และธุรกิจหลายแห่งก็เริ่มคิดว่าตนจะได้รับผลกระทบอันใดบ้าง
และแง่มุมที่แหลมคมนี้เองที่นำไปสู่การประชุม UNCED ที่ริโอ เดอ จาเนโร
ในเดือนมิถุนายน ผู้นำจาก 170 ประเทศทั่วโลกจะมารวมกันเพื่อถกเถียงถึงการปกป้องบรรยากาศและสิ่งมีชีวติในโลก,
ขจัดความยากจนและสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลง เรียกได้ว่าเป็นการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจขั้นพื้นฐานก็ได้
เพราะการที่จะบรรลุวัตถุประสงค์นี้จะต้องมีการทบทวนกฎหมายและนโยบายเศรษฐกิจเสียใหม่
รวมไปถึงการทำสัญญาเพื่อพิทักษ์โลกร่วมกันระหว่างประเทศที่ร่ำรวยและประเทศอื่นที่ยากจนกว่าด้วย
หากจะมองกันให้เป็นรูปธรรมแล้ว ความหมายของการพัฒนาแบบยั่งยืนก็คือประเทศอุตสาหกรรมจะต้องเปลี่ยนตัวเองจากการใช้ระบบการผลิตรวม
ทั้งวิถีชีวิตที่เคยใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือยมาเป็นระบบที่ใช้ทรัพยากรน้อยลงและไม่ก่อมลพิษด้วย
ส่วนประเทศที่กำลังพัฒนาก็ต้องใช้ระบบเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยลงเช่นกัน
แต่จะมีเรื่องอื่น ๆ เพิ่มเติมมากขึ้นเช่น การลดอัตราการเกิด ซึ่งก็จะโยงไปถึงการให้สิทธิสตรีมากขึ้นด้วย
และการเดินไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ก็ต้องร่วมมือกันทั้งประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา
เพราะประเทศที่อยู่ในภาวะที่ด้อยกว่ายังต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากประเทศร่ำรวยกว่า
และประเทศที่อยู่ในภาวะเหนือกว่าก็ต้องป้อนเทคโนโลยีใหม่ให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา
จึงคล้ายกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมของทั้งสองฝ่ายทีเดียว
เหรียญย่อมมีสองด้าน
แม้การพัฒนาแบบยั่งยืนจะเป็นข้อตกลงที่เห็นร่วมกันแล้วว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุด
ก็ยังมีข้อให้ถกเถียงอยู่จนได้จากบุคคลหลาย ๆ ฝ่ายเช่น นักวิทยาศาสตร์บางคนห็เห็นว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้รุนแรงถึงเพียงนั้น
เพราะยังเชื่อว่าการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ๆ และความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมของประชากรจะเป็นตัวลดปัญหาได้เอง
ขณะที่บางฝ่ายก็เห็นว่าการที่จะรักษาระบบนิเวศน์นั้นมีทางออกอยู่ทางเดียวคือการกระจายความร่ำรวยเสียใหม่
อย่างไรก็ตามความเห็นขัดแย้งที่มากที่สุด เห็นจะเป็นฝ่ายที่เสียผลประโยชน์จากการพัฒนาแบบยั่งยืนนี้ตามมาด้วยการใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อปกป้องผลประโยชน์ไว้
ประโยคเดียวที่ยืนยันความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมคือความเห็นของ มัวริส
สตรอง นักธุรกิจแคนาดาและเลขาธิการทั่วไปของการประชุม UNCED ที่เห็นว่า "โลกกำลังอยู่ในภาวะเป็นตายเท่ากัน"
เพราะประชากรของประเทศกำลังพัฒนา 40 ประเทศนั้นเพิ่มจำนวนขึ้นเร็วมากในทศวรรษ
1980 จนกระทั่งส่งผลถึงรายได้มวลรวมประชาชาติ และเมื่อ 45 ปีที่ผ่านมาก็มีการทำลายพื้นที่โลกไปถึง
11% ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ นานา คิดเป็นเนื้อที่กว้างกว่าอินเดียและจีนรวมกันทีเดียว
หัวใจของการพัฒนาแบบยั่งยืน
หนึ่งในคำตอบที่ดีสำหรับการให้น้ำหนักระหว่างผลประโยชน์และการร่วมมือกันทั่วโลกคือเนื้อความในหนังสือ
"OUR COMMON FUTURE" ที่ตีพิมพ์โดย "WORLD COMMISSION ON
ENVIRONMANT & DEVELOPMENT" ซึ่งยืนยันว่า กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมนั้นมีผลเพียงเล็กน้อยต่อภาวะเงินเฟ้อ,
มีผลพอประมาณทางด้านการค้า, กระตุ้นให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นและที่สำคัญไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของประเทศแต่อย่างใดและบทสรุปที่สำคัญที่สุดก็คือความยากจนนั้นเป็นตัวทำลายพอ
ๆ กับอุตสาหกรรมเช่นกัน
นับแต่นั้นมาการประสานช่องว่างระหว่างประเทศที่ร่ำรวยกับประเทศกำลังพัฒนาก็กลายเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาแบบยั่งยืน
เพราะความขาดแคลนของประเทศที่ยากจนประกอบกับการบริโภคที่เกินพอดีนั่นเองที่เป็นต้นเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกประเภท
ตัวอย่างเช่น ในปี 1989 ประเทศที่กำลังพัฒนาเป็นหนี้อยู่ 1.2 ล้านล้านดอลลาร์และใช้การส่งออกทรัพยากรถึงปีละ
50 พันล้านดอลลาร์เป็นหนทางในการผ่อนหนี้มาตั้งแต่ปี 1983 และสินค้าที่ส่งออกนั้นก็ไม่พ้นจำพวกพืชผล,
สัตว์น้ำ, ทรัพยากรจากป่าและเหมืองแร่อันเป็น "ทุนธรรมชาติ" ของประเทศเหล่านี้อยู่แล้ว
และหากยังมีเทคโนโลยีการถ่ายเทของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ดีพออย่างเช่นที่อินเดีย,
จีน และบราซิลกำลังทำอยู่ก็จะเพิ่มปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ตามมาอีก
ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายต้องแก้ปัญหาที่ความยากจน ประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลายก็ต้องมุ่งไปที่การใช้เทคโนโลยีใหม่
ๆ มาช่วยลดความเสียหายให้เกิดขึ้นน้อยลง U.S. OFFICIAL OF TECHNOLOGY ASSESSMENT
หรือ "OTA" พบว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยสามารถกำจัดขยะที่เป็นพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมในอเมริกาได้ถึง
75% และ U.N. เองก็สำรวจพบว่าประเทศอุตสาหกรรมสามารถหมุนเวียนกระดาษ, กระจก,
พลาสติก และโลหะมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 50% ที่สำคัญก็คือเทคโนโลยีใหม่เหล่านั้นยังสามารถเพิ่มพลังงานที่ใช้ในโลกขึ้นอีกในปี
2020 ตามความคาดหมายของ WORLDWIDE ENERGY CONFERENCE เพราะผลิตภัณฑ์ที่จะออกมาใหม่ไม่ว่าจะเป็นแอร์คอนดิชั่น,
ตู้เย็น ฯลฯ ล้วนแต่จะใช้พลังงานน้อยลงทั้งนั้นและการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ก็จะลดการใช้พลังงานจากแหล่งอื่นไปได้ถึง
30%
ป่าไม้ แหล่งผลิตอากาศที่ต้องมีการบริหาร
ในส่วนของทรัพยากรที่สำคัญ และรักษาไว้ยากที่สุดอย่างป่าไม้นั้น เป็นความท้าทายมากที่สุด
ป่าไม้ในเขตร้อนถูกทำลายลงปีละประมาณ 42.5 ล้านเอเคอร์ จึงเกิดการคาดหมายว่าต่อไปว่าสัตว์ป่าบางชนิดจะต้องสูญพันธุ์ไปกว่า
20% ภายใน 50 ปีต่อจากนี้ไป นักเศรษฐกิจของเวิลด์แบงก์จึงให้ความเห็นว่าประเทศที่กำลังพัฒนาควรจะวางนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศที่ควบคู่ไปกับการรักษาป่าไม้ไว
้ด้วยการอนุรักษ์ป่าไม้ที่น่าชมเชยในกลุ่มประเทศเหล่านี้คือ บราซิล ซึ่งได้ยกดินแดนบางส่วนไปให้ชาวอินเดียนแดงด้วยเหตุผลว่า
"พวกเขารู้ดีว่าจะใช้ป่าไม้แบบยั่งยืนได้อย่างไร" ส่วนในคอสตาริกานั้นมีการตั้งกลุ่มอิสระ
"อินบิโอ" ขึ้นเพื่อทำการเก็บรวบรวมทรัพยากรจากป่ามาหาว่ามีชนิดใดบ้างที่มีคุณค่าทางด้านเศรษฐกิจและเป็นการทำงานโดยไม่หวังผลประโยชน์ใดใด
เมื่อปีที่แล้ว บริษัทยาขนาดใหญ่อย่าง "เมิร์กค์ แอนด์ โค" ก็ได้ลงทุนถึง
1 ล้านดอลลาร์เพื่อเข้าชมผลิตภัณฑ์ที่สะสมจากป่าของอินบิโอ และหากสามารถนำมาทำเป็นยาได้บริษัทก็ไม่รีรอที่จะจ่ายให้ทางกลุ่มด้วย
วาระที่ 21
กระนั้นก็ตามการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมก็ยังเป็นสิ่งที่ทำไปตาม ๆ กัน ผู้บริโภคยังไม่เห็นเป็นธุระมากนักเพราะต้นทุนที่ต้องเสียไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นไม่ได้เห็นอยู่ในสินค้าและบริการที่เขาใช้กันอยู่ทุกวัน
ฉะนั้นนักเศรษฐศาสตร์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการวางนโยบายจึงเห็นว่าทางที่ดีควรมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางด้านเศรษฐกิจเสียเลย
หลายประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมจึงมีการเก็บภาษีใหม่บางตัว เช่น ปุ๋ย เป็นต้น
แลเมื่อเร็ว ๆ นี้กลุ่มอีซี ก็ได้ตกลงในหลักการที่จะเก็บภาษีสารคาร์บอนที่เกิดจากเชื้อเพลิงอินทรีย์ด้วย
แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา อีกส่วนหนึ่งที่หลายฝ่ายมองข้ามไปก็คือ
การให้เงินช่วยเหลือและลดหนี้ให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมทั้งหลาย
จึงเป็นที่มาของ "วาระที่ 21" หนึ่งในหัวข้อการประชุมที่ริโอ ซึ่งเสนอว่าประเทศอุตสาหกรรมควรให้เงินช่วยเหลือประเทศที่ยากจนกว่าไม่ต่ำกว่า
125 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ไปจนกระทั่งถึงปลายศตวรรษนี้และอาจจะเพิ่มเงินช่วยเหลือขึ้นได้เมื่อประเทศที่ร่ำรวยกว่าสามารถเพิ่มผลผลิตขึ้นเป็น
0.7% ของรายได้มวลรวมของประชาชาติ
และการช่วยเหลือของประเทศอุตสาหกรรมนั้นไม่ควรไปจมอยู่กับการสร้างเขื่อนและถนนให้มาก
เนื่องจากสิ่งก่อสร้างเหล่านี้เป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อมแต่ควรแบ่งสรรงบประมาณด้านความช่วยเหลือไปที่การรักษาดิน,
ฟื้นฟูป่าไม้, การวางแผนครอบครัว, การพัฒนาทางด้านเกษตรกรรม, การถ่ายทอดเทคโนโลยีและขจัดความยากจน
ที่สำคัญคือควรชูประเด็นการยกเลิกหนี้ให้กับเงินกู้ยืมเพื่อการรักษาธรรมชาติด้วย
เพราะเท่าที่ผ่านมามีการทำสัญญายกเลิกหนี้ประเภทนี้ในทั่วโลกเพียง 100 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
ความสำเร็จในระยะยาว
ถ้าหากการพัฒนาแบบยั่งยืนเป็นจริงขึ้น ธุรกิจทั้งหลายจะได้รับประโยชน์มหาศาลจากการเปิดตลาดใหม่,
การสร้างงาน และการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อวิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตที่จะใช้ทรัพยากรน้อยลง
ต้นทุนต่ำ และกำไรสูง ญี่ปุ่นและบางประเทศในยุโรปเห็นประโยชน์ในระยะยาวเช่นนี้แล้ว
และได้มีการเร่งมือลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์อยู่ในขณะนี้ นอกจากนั้นยังได้มีการตั้งแผนการพัฒนาแบบยั่งยืนใน
100 ปี และได้ตังสถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยพิทักษ์โลกด้วยเพราะเชื่อว่า
"ในอนาคตผู้ที่จะกุมตลาดโลกไว้ได้นั้นต้องเป็นผู้ที่มีเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุดเท่านั้น"
คำถามเรื่องผลของการพัฒนาแบบยั่งยืนนี้มีคำตอบจากการวิจัยของหลายบริษัทด้วยกันเช่นการวิจัยของ
"เชลล์ กรุ๊ป" ที่ชี้ว่า การยุติเงินสนับสนุนจากรัฐบาลทุกด้านตั้งแต่ด้านเกษตรไปจนถึงการขุดเจาะน้ำมันจะทำให้มีเงินเพื่อการลงทุนอย่างอื่นอีกมหาศาล
และประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลายจะสามารถประหยัดต้นทุนด้านเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพ
ในอเมริกานั้น ELECTRIC POWER RESEARCH INSTITUTE ก็แจ้งว่าเศรษฐกิจของสหรัฐในปี
2020 จะเล็กลง 2.2% หากสหรัฐสามารถลดปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 20%
จากปี 1988 สำเร็จ ELECTRIC POWER RESEARCH INSTITUTE ก็แจ้งว่าค่าใช้จ่ายของสหรัฐในปี
2020 จะน้อย คิดเป็นเงิน 230 พันล้านดอลลาร์
ความผิดของใคร
บางครั้งการแก้ปัญหาก็นำมาซึ่งปัญหาด้วยเหมือนกัน บ่อยครั้งจึงเกิดการกล่าวโทษกันระหว่างแต่ละฝ่ายว่าเป็นต้นเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คือ การค้าเสรีเพราะในการพัฒนาประเทศที่ยังด้อยอยู่นั้นการค้าเสรีจำเป็นมาก
มิฉะนั้นประเทศเกษตรกรรมจะไม่สามารถส่งออกสินค้าเพื่อการพัฒนาประเทศได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้นการค้าเสรีก็ทำให้ประเทศอุตสาหกรรมเห็นช่องทางที่จะเข้าไปดำเนินการผลิตในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีวัตถุดิบมากและราคาถูก
สุดท้ายก็นำมาซึ่งการทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นเคย ไม่รวมความเห็นที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ระหว่างประเทศอุตสาหกรรม และประเทศกำลังพัฒนาอันนำมา ซึ่งความขัดแย้งไม่รู้จบเพราะประเทศกำลังพัฒนาเห็นว่าการบริโภคที่ฟุ่มเฟือยในประเทศที่ร่ำรวยกว่าตนทำให้สิ่งแวดล้อมเสียไป
ส่วนอีกฝ่ายก็อ้างว่าปัญหาคอร์รัปชั่นและการบริหารที่ผิดพลาดในประเทศกำลังพัฒนาต่างหากที่ทำให้เกิดปัญหาความยากจนขึ้น
ฉะนั้นประเทศเหล่านี้ควรจะพิสูจน์ตัวเองด้วยการแก้ปัญหาในระดับหนึ่งไปก่อนที่จะหวังเงินช่วยเหลือจากประเทศอุตสาหกรรม
ประเด็นที่ถกเถียงกันไม่มีวันจบเหล่านี้ทำให้การประชุมก่อนการประชุมจริงที่ริโอไม่สามารถหาข้อสรุปได้
แต่ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดการพัฒนาแบบยั่งยืนก็แน่ใจว่าถึงที่สุดแล้วความคิดนี้จะต้องได้รับการยอมรับ
ประธานาธิบดีของบราซิลให้ความเห็นไว้ว่า "เราทั้งหลายล้วนแต่อยู่ในเรือลำเดียวกัน
และการประชุมที่ริโอนี้เป็นความตั้งใจจริงที่จะแก้ปัญหาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน"
และผลของมันอาจจะต้องใช้เวลาหลายรุ่นทศวรรษกว่าที่กลายเป็นจริง สิ่งเดียวที่เป็นความหวังของการประชุมคือความพยายามของทุกฝ่ายที่จะฝ่าให้พ้นอุปสรรคหลากประการที่ขวางกั้น
เพราะในขณะที่หลายฝ่ายมีจุดยืนที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดหนึ่งที่เหมือนกันนั่นคือทุกคนต่างกำลังยืนอยู่บนเชิงเขาที่อยู่เชิงเขาที่ขรุขระและสูงชัน
และจะต้องปีนเขาลูกนั้นไปพร้อม ๆ กัน