ประเทศไทยดูเหมือนจะแคบลงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรและจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่เพิ่มมากขึ้น
การใช้การแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติก็เพิ่มมากขึ้นจนบางครั้งการใช้เป็นการใช้เกินขอบเขตจนกระทั่งเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม
เหตุการณ์เมื่อกลางเดือนมีนาคมได้มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำตาลในจังหวัดขอนแก่นได้ปล่อยน้ำเสียที่มีกากน้ำตาล
(โมลาส) ลงในลำน้ำพอง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล ทำให้แม่น้ำทั้ง 3 สาย เน่าเสียเป็นเหตุให้เกิดพันธุฆาตกับปลาและสัตว์น้ำจำนวน
89 ชนิด ซึ่งรวมเป็นจำนวนถึง 400,000 ตัน และยังส่งผลกระทบกับประชาชนที่ไม่สามารถทำการประมงและขาดแคลนน้ำใช้
และยังก่อให้เกิดความเสียหายต่อการประปา ส่วนภูมิภาคที่ไม่สามารถใช้น้ำในการผลิตทำน้ำประปา
การดำเนินกิจการของผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมจนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เท่ากับเป็นการใช้สิทธิตนเองรุกล้ำสิทธิในสิทธิสิ่งแวดล้อมของผู้อื่น ประชาชนทุกคนจึงได้รับส่วนแบ่งของความเสียหาย
และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมด้วยกัน
สิทธิในสิ่งแวดล้อมนี้ได้มีการบัญญัติไว้ในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
แต่เดิมมีจุดมุ่งหมายใช้เป็นมาตรการคุ้มครองมิให้รัฐใช้อำนาจเกินขอบเขต
หรือเป็นการปรามมิให้ผู้ใช้อำนาจปกครองปฏิบัติต่อประชาชนอย่างไม่ชอบธรรม
ต่อมาได้มีการขยายความหมายให้ครอบคลุมถึงสิทธิที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคม เช่น
สิทธิที่รัฐจะต้องจัดหางานให้ประชาชน สิทธิที่จะมีที่พักอาศัยอย่างถูกสุขลักษณะ
สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ภายในสิ่งแวดล้อมที่ดี
หลาย ๆ ประเทศได้นำเอาสิทธิตามหลักการเหล่านี้มาบัญญัติเป็นกฎหมายภายในเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
เช่น THE NATIONAL ENVIRONMANTAL POLICY ACT (NEPA) ของสหรัฐอเมริกา, THE
BASIC LAW OF ENVIRONMANTAL POLLUTION CONTROL ของญี่ปุ่น, CANADA WATER
ACT ของ CANADA เป็นต้น
การคุ้มครองและรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมของประชาชนที่ถูกคุกคามโดยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม
รัฐบาลบางประเทศได้มีบทบัญญัติไว้อย่างเคร่งครัด
ในสหรัฐอเมริกาได้มีการเพิ่มบทแก้ไขเพิ่มเติมต่อท้ายรัฐธรรมนูญ คือ BILL
OF RIGHT ซึ่งมีหลักการว่ารัฐบาลจะต้องคุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะให้ครอบคลุมถึงสิ่งแวดล้อม
โดยถือว่ารัฐอยู่ในฐานะเป็น TRUSTEE รัฐจำต้องมีหน้าที่ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับสภาพการดำเนินชีวิตของมนุษย์
และสิ่งอื่น ๆ และให้ทุกคนได้มีโอกาสที่จะใช้ทรัพยากรและสภาพแวดล้อมธรรมชาติที่มีคุณภาพดีเสมอกัน
เพื่อเป็นการสนับสนุนการใช้อำนาจของรัฐจึงได้มีบทบัญญัติกฎหมายอันได้แก่
NEPA กฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล 1966 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิที่จะร้องขอข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้หากมีกิจกรรมใดที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และอาจส่งผลร้ายกับตนเองได้ เว้นแต่จะต้องห้ามโดยกฎหมายมิให้เปิดเผยเช่นเป็นความลับต่อความมั่นคงของประเทศ
เป็นต้น
กฎหมายของประเทศแคนาดาก็มีความเข้มงวดโดยนำแนวคิดเรื่องความรับผิดเด็ดขาด
(ABSOLUTE LIBILITY) ที่มักนิยมใช้ในการพิจารณาคดีอาชญากรรมและความผิดฐานละเมิด
มาปรับใช้กับกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองความเป็นอยู่ที่ดีของสาธารณชน
เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันสภาวะแวดล้อมเป็นพิษอันเป็นความผิดทางอาญาอย่างหนึ่งที่มีไว้เพื่อคุ้มครองความเป็นอยู่ที่ดีของสาธารณชน
ซึ่งจะเป็นผลให้โจทก์หรือผู้เสียหายในคดีอาญาประเภทนี้ไม่มีหน้าที่ต้องนำสืบถึงเจตนาของจำเลยให้ปรากฏต่อศาล
โจทก์ก็เพียงแต่พิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำการใด ๆ ครบองค์ประกอบตามที่กฎหมายในเรื่องการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อมฉบับใดฉบับหนึ่งบัญญัติไว้
เช่น กฎหมายบัญญัติว่าห้ามมิให้ผู้ใดทิ้งสารพิษหรือสิ่งอื่นใดอันเป็นอันตรายต่อคุณภาพของน้ำลงไปในแม่น้ำ
และหากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกลงโทษ โจทก์ก็ไม่ต้องพิสูจน์ว่า จำเลยได้กระทำการโดยเจตนหรือประมาทให้ของเสียลงสู่แม่น้า
โจทก์เพียงแต่นำสืบว่าในแหล่งน้ำนั้นถูกเจือปนด้วยของเสียที่ออกมากับน้ำ
ทิ้งของโรงงานจำเลยให้สมดังฟ้อง จำเลยก็จะถูกลงโทษตามกฎหมายทันที
จากการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้นำเอาแนวความคิดในเรื่องความรับผิดเด็ดขาดมาใช้ในคดีประเภท
PUBLIC WELFARE OFFENCES นั้น นอกจากจะก่อให้เกิดการกระตุ้นเตือนกลุ่มผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมให้ต้องระมัดระวังอย่างสูง
ต่อการปล่อยของเสียออกสู่ระบบสิ่งแวดล้อมจนอาจสร่งผลกระทบต่อชีวิตร่างกาย
สุขภาพอนามัยแล้วยังเป็นการชี้ให้เห็นถึงการเอาใจใส่ดูแลคุ้มครองและการรับรองสิทธิของประชาชนที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีโดยรัฐอีกด้วย
ดังนั้นในกฎหมายใหม่หลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็น CANADA WATER ACT, CLEAN AIR
ACT รัฐบาลแคนาดาได้นำเอาแนวความคิดเรื่องความรับผิดโดยเด็ดขาดสอดแทรกไว้ในกฎหมายเหล่านั้นด้วย
เพื่อให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ทางสังคมในยุคที่ใช้อุตสาหกรรมเป็นภาคนำในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของประเทศ
สำหรับประเทศไทยแล้วได้มีบทบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่มากมายหลายฉบับ
เช่นพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2454, พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2522, พ.ร.บ.
รักษาความสะอาด พ.ศ. 2503 เป็นต้น
กฎหมายเหล่านี้ได้ให้อำนาจหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อรับผิดชอบ ทำให้มีความซ้ำซ้อนและขาดการประสานงานเช่นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานหนึ่ง
ตรวจพบการกระทำความผิดในเรื่องที่คนรับผิดชอบ แต่ในขณะเดียวกันการกระทำดังกล่าวก็ผิดกฎหมายที่หน่วยงานนี้รับผิดชอบอยู่ด้วย
หน่วยงานที่ตรวจพบก็มิได้แจ้งให้อีกหน่วยหนึ่งทราบ ทำให้มีการร้องทุกข์ในความผิดต่าง
ๆ ได้อย่างครบด้วย
ต่อมาในเดือนเมษายนได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและคุ้มครองสภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นกฎหมายแม่บทในการควบคุมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านต่าง
ๆ รวมถึงมลพิษทางน้ำด้วย และมีบทบัญญัติในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของสิ่งแวดล้อมต่อประชาชน
ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับบทบัญญัติใน BILL OF RIGHT ของอเมริกาด้วย
และในเรื่องความรับผิดชอบทางแพ่ง ซึ่งบัญญัติไว้ในหมวดที่ 6 มาตรา 96 ได้มีแนวคิดในเรื่องความรับผิดเด็ดขาด
(ABSOLUTE LIABILITY) ไว้โดยมีความว่า "แหล่งกำเนิดมลพิษใดก่อให้เกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดของการรั่วไหลหรือแพร่กระจายของมลพิษอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ชีวิต
ร่างกายหรือสุขภาพอนามัย หรือเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือของรัฐเสียหายด้วยประการใด
ๆ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นมีหน้าที่รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น
ไม่ว่าการรั่วไหล หรือแพร่กระจายของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษหรือไม่ก็ตาม"
จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้วางหลักกฎหมายตามแนวที่ประเทศอุตสาหกรรมวางไว้
โดยถือว่าการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นพันธกรณีอย่างหนึ่งที่รัฐต้องดูแลและเอาใจใส่ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้ดีขึ้นแต่ด้านเดียว
และขาดการคำนึงถึงปัญหาสาธารณสุขของประเทศ ไม่อาจทำให้บรรยากาศของสภาพเศรษฐกิจ
สังคม และการเมืองพ้นสภาพความวุ่นวายไปได้
สุดท้ายนี้ถึงแม้เราจะมีกำหมายที่ดีสักเพียงใดความผิดต่อสิ่งแวดล้อมก็คงจะไม่หมดไป
และอาจมีการพัฒนากลวิธีในการกระทำความผิดให้ยากต่อการตรวจสอบยิ่ง ๆ ขึ้น
ตราบใดที่เรายังไม่มีจิตสำนึกว่าสิ่งแวดล้อมเป็นของทุกคนที่ต้องช่วยกันปกปักษ์รักษาเหตุการณ์เช่นที่ขอนแก่นก็ยังต้องเกิดขึ้นเรื่อย
ๆ อย่างไม่มีวันจบสิ้น