Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์3 กันยายน 2550
วัดฝีมือ "กู๋ - เฮีย"บนเวทีบันเทิงไทย โชว์ผลงาน แกรมมี่ - อาร์เอส หลังปฏิวัติองค์กร             
 


   
www resources

โฮมเพจ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่
โฮมเพจ อาร์.เอส. โปรโมชั่น

   
search resources

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, บมจ.
อาร์เอส, บมจ.
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์
Entertainment and Leisure




- จับความเคลื่อนไหวคู่แข่งตลอดกาลในวงการบันเทิงไทย "แกรมมี่ - อาร์เอส"
- ผ่านยกที่ 1 ครึ่งปีแรกภายใต้การจัดทัพธุรกิจใหม่ของทั้งสององค์กร หลังผ่านวิกฤตวงการเพลง
- "อากู๋" ยิ้มรื่น กอดธุรกิจเพลงฝ่าวิกฤติสำเร็จ มั่นใจ ยักษ์ใหญ่แกรมมี่ กำลังกลับมา
- "เฮียฮ้อ" เหงื่อหยด "เอนเตอร์เทนเมนต์ เน็ตเวิร์ค" ไม่เวิร์คดังใจ ส่งผลรายได้หด กำไรหาย

เผยผลงานครึ่งปี 2 ค่ายบันเทิงยักษ์ใหญ่เมืองไทย หลังปฏิวัติองค์กร จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งยืนยันทำธุรกิจค่ายเพลงต่อไป ปรับทัพสินค้าเจาะหาลูกค้าในยุคดิจิตอล กับ อาร์เอส เจ้าตลาดเพลงวัยรุ่นที่วันนี้หนีสู่ธุรกิจบันเทิงวงกว้าง จับคอนเทนต์บันเทิงทุกรูปแบบ ฝั่งหนึ่งธุรกิจติดปีกวิ่งฉิว แต่อีกฝั่งกลับล้มลุกคลุกคลาน

แกรมมี่ติดเครื่องสู่ยุครุ่งเรือง

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เปิดเผยผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีแรกอย่างสวยหรู เป็นไปดังที่ "อากู๋" ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด(มหาชน) เคยประกาศความมั่นใจไว้เมื่อครั้งมีโอกาสต้อนรับกองทัพสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเมื่อต้นปี ในการแถลงข่าวทิศทางของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยืนยันนำธุรกิจเพลงเข้าสู่ยุคดิจิตอล ไม่สนใจไปหาธุรกิจอื่น ๆ เหมือนดังเช่นค่ายเพลงคู่แข่ง

ครั้งนั้น อากู๋ ประกาศว่า ภาพของแกรมมี่ในยุครุ่งเรืองที่เคยเห็นกันครั้งสุดท้ายเมื่อ 4 ปีก่อน กำลังจะกลับมาให้เห็นอีกครั้ง

แกรมมี่ เปิดตัวในปีนี้อย่างสดใส รายได้ในไตรมาสแรกมากกว่า 1,600 ล้านบาท อาจไม่ใช่ตัวเลขที่น่าแปลกใจอะไร แต่ส่วนของกำไร 41.3 ล้านบาทนั้น เป็นกำไรที่สูงเกือบ 100 เท่าตัว จากที่เคยทำได้เพียง 5 แสนบาทในปี 2549 สร้างความมั่นใจ

ขณะที่ผลงานในไตรมาสที่ 2 กองทัพบันเทิงจากฝั่งอโศก ยังคงเดินหน้าสร้างการเติบโตให้กับองค์กรอย่างต่อเนื่อง รายได้ที่เกิดจากการปรับจูนแนวทางการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่เปลี่ยนไปอย่างลงตัว ขยับสูงขึ้นไปถึงหลัก 1,700 ล้านบาท ส่วนตัวเลขกำไรเพิ่มขึ้นมากถึงกว่า 136 ล้านบาท สูงกว่ากำไรในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2549 ถึง 39% สอดคล้องกับแนวทางองค์กรยุคใหม่ที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด มากกว่าตัวเลขรายได้สูงเด่นแต่แฝงไปด้วยรายจ่ายมหาศาล จนอากู๋ถึงกับเอ่ยปากขอบคุณพระเจ้า ที่ได้กลับมาเห็นช่วงเวลาอันมั่งคั่งขององค์กรที่ตนเองสร้างมากับมือ ในเวลานี้

และเมื่อดูผลการดำเนินงาน 6 เดือน จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และบริษัทในเครือ สามารถทำรายได้มากกว่า 3,400 ล้านบาท และมีกำไรสูงถึง 178 ล้านบาท เติบโตกว่ากำไรของครึ่งปีแรกของปี 2549 ถึง 81% รายได้ทั้งหมดของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ประกอบมาจากธุรกิจเพลง และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเพลง ทั้งการจำหน่ายสินค้าเพลง การจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ การจัดคอนเสิร์ต การบริหารศิลปินและธุรกิจดิจิตอล ที่สามารถทำรายได้สูงกว่าปีก่อนถึง 10% คอนเทนต์ของเพลงได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจการจำหน่ายสินค้า เพลง การจัดคอนเสิร์ต และดิจิตอลดาวน์โหลดดีขึ้นตามทั้งหมด

รายได้จากธุรกิจโทรทัศน์ ที่สูงกว่าครึ่งปีแรกของปีก่อน 26% เป็นอีกปัจจัยสำคัญ การปรับผังและรูปแบบรายการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น รวมถึงมีการเพิ่มรายการประเภทวัยรุ่นอีกหลายรายการ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี ด้านรายได้จากธุรกิจภาพยนตร์ สามารถสร้างรายได้สูงกว่าครึ่งปีแรกของปีก่อน ถึง 49% มีผลจากภาพยนตร์ที่ออกฉายจำนวน 2 เรื่อง คือ "365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์" (Final Score) และ"แฝด" (Alone) ประสบความสำเร็จทางด้านการขายตั๋วค่อนข้างน่าพอใจ โดยเฉพาะภาพยนตร์เรื่อง "แฝด" ที่ได้รับการตอบรับจากต่างประเทศเป็นอย่างดี ทำให้สามารถขายให้กับสายหนังต่างประเทศได้

ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ยอมรับว่า ช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของแกรมมี่ ลำพังธุรกิจเพลงที่ประสบปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างรุนแรงก็ทำเอาบริษัทแทบย่ำแย่อยู่แล้ว เมื่อมาพัวพันเข้ากับปัญหาทางการเมือง ก็ยิ่งลำบากหนักขึ้นอีก แต่ด้วยแนวคิด Customer Centric ที่แบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มตามไลฟ์สไตล์ สร้างรูปแบบการตลาดเฉพาะตัวตั้งแต่เด็ก 9 ขวบ ไปจนถึงคนในรุ่น 40-60 ปี ทำให้คอนเทนต์ดนตรีของแกรมมี่ต้องเพิ่มรูปแบบการนำเสนอจากที่เคยอยู่ในตลับเทป แผ่นซีดี ดีวีดี ปรับเพิ่มช่องทางสู่ดิจิตอล คอนเทนต์ กระจายสู่เทคโนโลยีใหม่ ๆ โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต เอ็มพี 3

จากบริษัทที่เกือบจะพ่ายแพ้ให้กับเทคโนโลยี วันนี้ จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ กลับเดินคู่ไปกับเทคโนโลยีอย่างกลมกลืน สร้างความสำเร็จให้กับค่ายเพลงอันดับ 1 ของประเทศได้กลับมาอีกครั้ง

"ผมไม่รู้จะขอบคุณพระเจ้าอย่างไรดี ที่โลกนี้ได้พยายามดีไซน์สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น เทคโนโลยีใหม่ ๆ โมบายโฟน, โมบายคอนเทนต์, มิวสิค อิน อินเทอร์เนต, แซทเทลไลท์ ล้วนแต่เป็นพาหนะที่นำพาสินค้าเราไปได้ทั่วโลก ต่อจากนี้เทคโนโลยีคงจะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ กฎหมายในด้านสื่อก็มีแนวโน้มเปิดกว้างอย่างอิสระ บรอดแบนด์ขยายตัวอย่างมากมาย ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของโอกาสที่เราจะขยายธุรกิจในเชิงดิจิตอลออกไปได้อีกในอนาคต" ไพบูลย์กล่าว

หืดจับอาณาจักรอาร์เอส

อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ในวงการบันเทิง ค่ายเพลงที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ อดีตอาร์เอสโปรโมชั่น ซึ่งช่วงขวบปีที่ผ่านมามีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ ปรับชื่อองค์กรเหลือเพียง อาร์เอส พร้อมประกาศทิ้งภาพค่ายเพลงไว้เบื้องหลัง หันไปหาธุรกิจใหม่ ๆ ที่กว้างใหญ่กว่าเดิม Entertainment Network ผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์บันเทิงครบวงจร พ่วงด้วยคอนเทนต์กีฬา มุ่งหวังเป้าหมายรายได้ 3,500 ล้านบาท

"เฮียฮ้อ" สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ กรรมการผู้อำนวยการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด(มหาชน) เคยกล่าวว่า การเป็นผู้ให้บริการด้านคอนเทนต์บันเทิง ถือเป็นรูปแบบธุรกิจแนวใหม่ที่จะให้ผลตอบแทนในรูปแบบกำไรได้ดีกว่าการทำธุรกิจค่ายเพลงเหมือนก่อน ไม่ต้องใช้บุคลากรมากมาย ไม่ต้องมีโรงงาน ไม่ต้องสต็อกวัตถุดิบ หรือมีสินค้าคงคลังไว้ให้เป็นภาระ แต่ดูเหมือนอาร์เอสจะปฏิวัติองค์กรได้ไม่ถูกเวลานัก

ผลการดำเนินงานของอาร์เอส ในรอบครึ่งปีแรกกลับไม่สวยหรูดังที่เฮียฮ้อ ตั้งความหวังไว้ รายได้ในไตรมาสแรกของปี ทำได้เพียง 580 ล้านบาท ลดต่ำกว่าปี 2549 ถึง 20 ล้านบาท แต่ตัวเลขกำไรก็สามารถสะท้อนทิศทางที่ถูกต้องของการทำธุรกิจได้ดี เมื่อรายได้ที่น้อยกว่านี้ กลับทำกำไรได้สูงกว่า ช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อาร์เอส ที่ยังมีธุรกิจเพลงเป็นแกนหลัก มีกำไรเพียง 7.8 ล้านบาท มาถึงปีนี้รายได้ที่น้อยกว่า กลับสามารถทำกำไรได้มากถึงเกือบ 9 ล้านบาท

เมื่อก้าวถึงไตรมาสที่ 2 แม้อาร์เอสจะสร้างรายได้จะเพิ่มสูงขึ้นถึงหลัก 620 ล้านบาท แต่เมื่อดูถึงตัวเลขกำไร กลับพบสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง รายได้ที่สูงขึ้นกว่าไตรมาสแรก แต่กำไรลดต่ำลงเหลือเพียง 4.2 ล้านบาท และที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นการเปรียบเทียบกำไรกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ไตรมาส 2 ของปี 2549 มีกำไรมากถึง 35 ล้านบาท เท่ากับอาร์เอสบนเส้นทางใหม่ ทำกำไรหล่นหายไปจากเส้นทางเดิม ถึง 31 ล้านบาท

รายได้ครึ่งทางของปี1,201 ล้านบาท จึงถือเป็นภาระอันหนักอึ้งของทัพบันเทิงจากลาดพร้าว ในการก้าวสู่เป้าหมาย 3,500 ล้านบาทที่วางไว้ และเมื่อมองถึงเงินกำไรที่จะกลับมาสร้างการเติบโตให้กับองค์กร เพียง 13 ล้านบาท ยิ่งน่าสงสัยว่า ทิศทางที่เฮียฮ้อ พาอาร์เอส ก้าวมานี้ ถูกต้องแล้วหรือ

อาร์เอสแจงเหตุผลความถดถอยด้านรายได้ว่า ประเด็นหลักมาจากการลดลงของรายได้จากธุรกิจสื่อที่สูงถึง 121 ล้านบาท หลงเหลือกลับมาเพียง 172 ล้านบาท หายไป 61% เนื่องจากการลดเวลาการออกอากาศในสื่อโทรทัศน์ ด้านสื่อวิทยุที่มีการลดจำนวนคลื่นลงก็ทำให้รายได้ลดลงถึง 24.5% ขณะที่รายได้จากธุรกิจเพลงที่เคยหล่อเลี้ยงองค์กรมาตลอด 25 ปี ก็หนีไม่พ้นสภาพตกต่ำในวันนี้ รายได้ 130 ล้านบาท ดิ่งลง 24.5% คิดเป็นเงิน 51 ล้านบาท มากกว่ากำไรที่ทำได้ถึงเกือบ 5 เท่า เหตุผลมาจากความตั้งใจที่จะควบคุมปริมาณสินค้าที่วางขายให้เหมาะสมกับสภาวะตลาดในปัจจุบัน โดยมีการลดจำนวนอัลบั้มลง

อาร์เอสก็ยังมีธุรกิจที่พอมองเห็นอนาคตได้ ในส่วนของธุรกิจภาพยนตร์ที่ผลงานถูกใจตลาดหลายเรื่องวางออกฉาย สร้างรายได้ถึง 140.45 ล้านบาท เติบโตขึ้น 36.5% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยแผนการผลิตภาพยนตร์ของอาร์เอสจะเน้นการหาพันธมิตร เจ้าของสินค้าต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนการสร้าง เป็นการลดความเสี่ยงจากการขาดทุนเมื่อภาพยนตร์ออกฉาย เพราะงบประมาณที่พันธมิตรให้การสนับสนุนจะคุ้มทุนในการสร้าง กำไรจึงเริ่มตั้งแต่ตั๋วเข้าชมใบแรกที่ขายได้

"ครึ่งปีหลังเราคาดหวังว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมาย ซึ่งทุกคนก็ทำงานกันอย่างเต็มที่ เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาทำให้เราเจียมตัวว่า ต้องมุ่งมั่นให้มากกว่าเดิม สถานการณ์วันนี้เข้มข้นขึ้น แต่แกรมมี่โชคดีที่สามารถผ่านการพิสูจน์ตัวเลขของครึ่งปีแรกในปีนี้ ทำได้เกือบเท่ากับเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เรายังมีอีกครึ่งปีที่เราจะสร้างธุรกิจต่อไปเพื่อตอบคำถามว่า แกรมมี่กลับมาหรือยัง" อากู๋ ประกาศความท้าทาย

ไพบูลย์กล่าวว่า กลยุทธใหม่ ๆ ที่แกรมมี่จะนำมาใช้มากขึ้น คือการเลิกทำธุรกิจในลักษณะเหวี่ยงแหหวังตลาดวงกว้าง หากแต่เวลานี้ตลาดส่วนใหญ่เริ่มมีกลุ่มเฉพาะเจาะจง ดังนั้นจึงจะเลือกใช้แนวทางเจาะกลุ่มเฉพาะในการโปรโมทผลงานแต่ละอัลบั้ม แต่ตั้งใจที่จะขายให้กับคนทั่วโลกด้วยสื่อแนวใหม่อย่างอินเทอร์เนตที่มีศักยภาพในการเข้าถึง แต่ใช้งบประมาณน้อยมาก

"เวลานี้เราคิดว่ายากที่จะมีคนตามทันเรา เรามีทั้งประสบการณ์ มีตำนานในคลังเพลงของเราที่จะหยิบขึ้นมารำลึกได้ มีเพลงเป็นหมื่นเพลง คอนเสิร์ต มิวสิควิดีโอ ละคร รายการโทรทัศน์ที่สามารถเก็บกลับมาใช้ได้ มีอยู่ในห้องสมุดเป็นแสน ๆ คอนเทนต์ ที่มีเสน่ห์ในการนำออกมาใช้ได้เสมอ"

ไพบูลย์ตั้งเป้าหมายว่า ก้าวเดินต่อไปของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จะไปสู่การบริหาร Talent Management ที่ตนพยายามเรียนรู้จากค่ายเพลงในเกาหลี หรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นต้นแบบในงานด้านนี้ สร้างศิลปินออกเปิดตลาดได้ทั่วโลก หากแกรมมี่เดินตามแนวทางนี้ได้ คงต้องมีการลงทุนครั้งใหญ่เพื่อสร้างงานคุณภาพระดับสากลให้ได้

สุดท้าย "อากู๋" ยืนยันว่า วันนี้แกรมมี่จะไม่สร้างองค์กรสะเปะสะปะ แต่จะสร้างแพลตฟอร์มธุรกิจที่สามารถสร้างความต่อเนื่องให้กับจิ๊กซอว์องค์กรแกรมมี่ที่ถึงปีที่ 25 แล้วก็ยังต่อไม่เสร็จเสียที

มือใหม่ อาร์เอส พิสูจน์ฝีมือครึ่งปีหลัง

โอกาสที่อาร์เอสจะเปิดตัวแนวคิดใหม่ในการบริหารธุรกิจ Entertainment Network ในปีแรกด้วยบิลลิ่งสิ้นปี 3,500 ล้านบาท พร้อมตัวเลขกำไรงาม ๆ ก็คงจะทำได้ไม่ง่ายนัก เมื่อธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดธุรกิจใหม่อย่าง โชว์บิซ ดูจะไม่สวยหรูเหมือนการแสดงบนเวทีนัก อาร์เอส ไอดรีม ที่ได้มือดีในวงการโชว์ บุญเพิ่ม อินทนปสาธน์ มานำทัพ เฮียฮ้อ หวังสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับอาณาจักรอาร์เอส ด้วยการรับบทบาทโปรโมเตอร์จัดการแสดงระดับโลกในทุกรูปแบบ ตั้งแต่คอนเสิร์ตจากศิลปินระดับโลก ทั้งแจ๊สเฟสติวัล กลางสนามหน้าโรงเรียนวชิราวุธ ศิลปินชั้นนำ คริสติน่า อากีเลร่า หรือซีลีน ดิออน การแสดงชุดตระการตา พลุชิงแชมป์โลก หรือมวยปล้ำชิงแชมป์โลก อีเวนต์ยิ่งใหญ่ All Star Hero ทุกรายการต่างประสบปัญหาที่ไม่สามารถสร้างรายได้คืนมาแตกต่างกัน ตั้งแต่ล้มเลิกการจัดแสดง ไม่ได้รับความสนใจจากผู้ชมเท่าที่ควร จนถึงใช้การลงทุนสูงลิ่วมองหากำไรคืนมาไม่ได้

และที่สุรชัยทำใจรับการขาดทุนเรียบร้อยแล้ว คือการเข้าไปร่วมโครงการสร้างภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ ชุด โปรเจ็กอุลตร้าแมน กับกลุ่มซึบูราญ่า ไชโย ของสมโภชน์ แสงเดือนฉาย ที่ถูกฟ้องร้องการละเมิดสิทธิ์การผลิตผลงานอุลตร้าแมนซึ่งเป็นลิขสิทธิ์ของซึบูราญ่า ประเทศญี่ปุ่น ผลการตัดสินคดีออกว่า ซึบูราญ่า ไชโย มีความผิดในข้อหาละเมิดสิทธิ์จริง โครงการโปรเจ็กอุลตร้าแมนที่มีการลงทุนไปถึง 10.5 ล้านบาท เดินทางไปถ่ายทำถึงประเทศจีน ขายสิทธิ์การฉายให้กับช่อง 7 สีเรียบร้อย แต่ก็ไม่สามารถนำออกอากาศได้

ส่วนลิขสิทธิ์กีฬาที่บริษัทในเครืออาร์เอสบีเอส คว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลระดับโลกหลายรายการมาไว้ในมือ คงมีเพียงรายการฟุตบอลโลก และฟุตบอลยูโรเท่านั้น ที่สามารถสร้างมูลค่าการตลาดเป็นรายได้กลับคืนมาได้ และสุรชัยเองก็ตั้งเป้าที่จะบูมทัวนาเมนต์กีฬารายการใหญ่ ๆ เหล่านี้ตั้งแต่ปีแรกที่ได้ลิขสิทธิ์ แต่ผ่านไปครึ่งปีก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ ของการแข่งขันฟุตบอล 2 รายการใหญ่นี้

เหลือเพียงธุรกิจภาพยนตร์เพียงหนึ่งเดียวที่ เฮียฮ้อ ตั้งความหวังว่าจะเป็นตัวเชิดหน้าชูตาให้กับองค์กร ภาพยนตร์ 3 เรื่อง ที่มีทั้งแนวระทึกขวัญที่ถูกใจตลาด "บ้านผีสิง" หนังจากกลุ่มดนตรีโปงลางสะออน ในชื่อ "โปงลางสะดิ้ง" และงานมาสเตอร์พีชค้างปี ที่นำแสดงโดยศรราม เทพพิทักษ์ "แรกบิน" จะเป็นตัวสร้างกำไรให้กับอาร์เอสได้ในปีนี้ได้

ซึ่งก็คงเป็นช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสมนักของการปฏิวัติองค์กรของอาร์เอส จากธุรกิจเสียงเพลงที่ตนเองมีความคุ้นเคย มาสู่ธุรกิจบันเทิงที่เน้นไปที่การแสดง ชนโครมเข้ากับสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซา สภาพการเมืองที่สับสน และสภาพบ้านเมืองที่วุ่นวาย

วัดฝีมือยกแรก "เฮียฮ้อ" เดินอ่อนแรงกลับเข้ามุม ซึ่งคงต้องกลับมาปรับแผนเพื่อรอยกต่อไป ขืนลุยต่อไปในสภาพเช่นนี้มีคงไม่ใช่สิงห์อโศกที่ไปไกลเกินจะกลับมาขย้ำ หากแต่สภาพตลาด สภาพการเมือง สภาพเศรษฐกิจที่อยู่รอบข้างต่างหากที่จะปัจจัยน็อคเสือลาดพร้าว อาร์เอส ให้อยู่ในสภาวะยากลำบากยิ่งขึ้น   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us