|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ประกันชีวิต" เลือกช่วงนาทีทอง ดอกเบี้ยไถลรูด ทยอยเปิดตัวกรมธรรม์อิงดัชนีหุ้นSET50 เปิดพื้นที่ให้นักลงทุน "มือสมัครเล่น" กระเป๋าหนัก มีทางเลือกออมได้ผลตอบแทนสูงไร้ขีดจำกัด และเงินต้นยังอยู่ครบ ปะทะกองทุน แอลทีเอฟ อาร์เอ็มเอฟ ที่ค่อนข้างเสี่ยงสูงและแช่แข็งเงินไว้นานกว่าจะได้สิทธิ์ประโยชน์ภาษี ..."เมืองไทยประกันชีวิต" ออกสตาร์ทไล่ตามหลัง "เอเอซีพี" และ"เอไอเอ" พี่ใหญ่ ที่วิ่งออกตัวไปก่อนหน้านั้นหลายช่วงตัว เปิดตัว "เมืองไทย ไอ-ลิงค์ SET50" ขายผ่านตัวแทน โดยไม่พึ่งสาขาแบงก์...
กรมธรรม์สะสมทรัพย์ อิงดัชนี SET 50 ถือเป็นสินค้าประเภท "ประกันชีวิตพ่วงการลงทุน" ที่ธุรกิจประกันชีวิตหลายรายทยอยเปิดตัวไล่หลังกันติดๆ ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยร่วงรูดลงอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกได้ว่าชั่วโมงทองกำลังจะหมุนย้อนกลับมาอีกครั้ง สำหรับอุตสาหกรรมประกันชีวิต
ทั้งเอไอเอ หรือแม้แต่ อยุธยา อลิอันซ์ ซี.พี. ประกันชีวิต (เอเอซีพี) ถือเป็นรายแรกๆ ที่หันมาเปิดพื้นที่ให้กับสินค้าประเภท "กรมธรรม์สะสมทรัพย์อิงดัชนี SET 50" อย่างเป็นล่ำเป็นสัน ในช่วงที่ดอกผลจากบัญชีเงินฝากเรทติ้งเริ่มจะหล่นวูบพักใหญ่ ขณะที่ดัชนีSET50 กลับมีสถิติที่น่าสนใจ
"เมืองไทยประกันชีวิต" เป็นรายถัดมาที่เริ่มจะหันมาให้ความสำคัญกับสินค้าหน้าตาแปลกใหม่สำหรับลูกค้าผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิต แต่ยังไม่มีความรู้ด้านการลงทุนที่ซับซ้อนมากพอ
"เมืองไทย ไอ-ลิงค์ SET50" จึงหมายถึง กรมธรรม์สะสมทรัพย์มีเงินปันผล ที่ไม่ต่างจาก สินค้าของ เอไอเอหรือ เอเอซีพี คือ เลือกกลุ่มเป้าหมายกระเป๋าหนัก แต่เป็นมือใหม่หัดขับในแง่มุมของการลงทุน
สินค้าหน้าตาคล้ายคลึงกันทุกกระเบียดนิ้ว แต่ห้อยท้ายด้วยการลงทุนอิงดัชนี SET50 ของทั้ง 3 ราย จึงกลายเป็นการปฎิวัติรูปแบบของสินค้า หรือกรมธรรม์ที่แปลกไปกว่าธรรมชาติของธุรกิจประกันชีวิต ที่ส่วนใหญ่โฟกัสไปที่การคุ้มครองชีวิตเป็นหลัก
ถ้า "เอไอเอ" มี Secure SET50 ที่เปิดขายไปเมื่อปีก่อนถึง 2 ครั้ง 2 ครา "เอเอซีพี" ก็มี เอเอซีพี มายเซต อิงดัชนี SET50 และตามติดมาด้วย "อลิอันซ์ มาร์เก็ต วินเนอร์ 10/2 อิงกับดัชนีดาวโจนส์ยูโรสต็อค 50 ขณะที่ "เมืองไทยประกันชีวิต" จะใช้ชื่อ เมืองไทย ไอ-ลิงค์ SET50
ทั้ง 3 ค่ายเปิดศึกขายกรมธรรม์ที่เรียกเป็นทางการว่า "อินเวสเมนต์ ลิงค์" หรือ กรมธรรม์ประกันชีวิตพ่วงการลงทุน สินค้าที่เหมาะเจาะลงตัวในช่วงดอกเบี้ยดิ่งเหว
ขณะเดียวกัน ก็เป็นทางเลือกให้เจ้าของเงิน ที่เข้าไม่ถึงตลาดพันธบัตร ซึ่งต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ซื้อผ่านธนาคาร หรือ ลงทุนผ่านสตรัคเจอร์โน๊ต ที่ไม่เปิดโอกาสให้บุคคลธรรมดาลงทุนได้เลย ยกเว้นนักลงทุนสถาบันเท่านั้น
สินค้าของ เอไอเอ เลือกเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 1.5 แสนบาท จ่ายเบี้ยงวดเดียว อายุสัญญา 5ปี ส่วน มายเซต ของ เอเอซีพี จ่ายเบี้ย 2 แบบคือ ชำระเบี้ย 2 ปี คุ้มครอง 7 ปี และจ่ายเบี้ย 2 ปี คุ้มครอง 10 ปี ลงทุนขั้นต่ำ 1 แสนบาท ขณะที่ เมืองไทย ไอ-ลิงค์ SET50 เริ่มต้นลงทุนขั้นต่ำที่ 75,000 บาท อายุสัญญา 5 ปี
การเปิดขายสินค้าลักษณะนี้จึงต้องใช้เวลาโปรโมท และปิดการขายในช่วงเวลาสั้นเพื่อให้ได้เบี้ยไหลเข้ามาตามเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 100-150 ล้านบาท
จากนั้นบริษัทก็จะนำเงินที่ได้ในรูปของเบี้ยไปลงทุนผ่าน "สตรัคเจอร์โน๊ต" ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนหลายแห่งเปิดขายให้กับนักลงทุนสถาบัน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
ตลาดของกรมธรรม์ประเภทนี้จึงหนักไปทางลูกค้ากระเป๋าหนัก แต่ยังไม่มีความรู้ด้านการลงทุนดีนัก ต่างจากการออกสินค้าประเภท กรมธรรม์พ่วงการลงทุนรูปแบบหนึ่ง หรือ"ยูนิเวอร์แซลไลฟ์" ที่เสนอขายผ่านสาขาแบงก์ แต่ก็มีความเสี่ยงแตกต่างกัน
"ยูนิเวอร์แซลไลฟ์" หรือ ยูแอล คือความหวังแรกของธุรกิจประกันชีวิต หลังทางการแช่แข็ง "ยูนิต ลิงค์" สินค้าประเภทกรมธรรม์ควบการลงทุน ที่มีความเสี่ยงสูงพอๆกับผลตอบแทนที่จะได้รับ เพราะลงทุนในหุ้นโดยตรง โดยที่ลูกค้าไม่สามารถรับรู้ได้ว่าลงทุนในหุ้นตัวใดบ้าง บวกกับไม่มีการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำให้ลูกค้า ถ้าผลประกอบการขาดทุน
ขณะที่ยูแอล มีการรับประกันขั้นต่ำตามเปอร์เซ็นต์ที่บริษัทนั้นๆกำหนดโดยลงทุนในหุ้นโดยตรงเช่นกัน ความเสี่ยงที่ราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงจึงใกล้เคียงกัน
อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด "ยูแอล" ก็ไปได้ไม่ไกล เพราะการขายผ่านสาขาแบงก์ ยูแอลต้องปะทะกับสินค้าที่แบงก์มีอยู่หลายตัว และน่าสนใจไม่แพ้กันในที่สุด ประกันชีวิตก็หันมาหาทางเลือกใหม่ เป็น "อินเวสเมนต์ ลิงค์" แทน
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ กฎเกณฑ์การลงทุนในหุ้นของธุรกิจประกันชีวิตค่อนข้างเข้มงวด และมีเพดานการลงทุนชัดเจน ขณะที่ "อินเวสเมนต์ ลิงค์" กรมธรรม์อิงดัชนี SET50 จะต่างออกไป นั่นคือ ไม่ได้ลงทุนผ่านหุ้นโดยตรง
การลงทุนผ่านสตรัคเจอร์โน๊ต อิงดัชนี SET 50 ที่ไม่ได้ลงทุนในหุ้นโดยตรง แต่ก็เสมือนหนึ่งได้ลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า พันธบัตรรัฐบาล แต่ความเสี่ยงจะลดลงค่อนข้างมาก
นอกจากนั้น สินค้าใหม่ก็จะขยายวงไม่ให้ประกันชีวิตถูกจำกัดอยู่ในกรอบแคบๆ ในขณะที่สินค้าทางการเงินล้ำหน้าและซับซ้อนขึ้นทุกวัน
สาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ เมืองไทยประกันชีวิต คาดว่าเบี้ยขั้นต่ำสำหรับการเปิดขายระหว่างวันที่ 1-22 กันยายนนี้ จะอยู่ที่100 ล้านบาท หลังจากนั้น ถ้าตลาดตอบรับก็อาจจะต่อยอดไปอิงกับตลาดเกิดใหม่หรือไปลิงค์กับสิ่งน่าสนใจใหม่ๆ
ปราโมทย์ ศักดิ์กำจร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เมืองไทยประกันชีวิต บอกว่า สินค้าใหม่จะเริ่มให้การศึกษากับนักลงทุน เจ้าของเงินที่ยังไม่มีความรู้ด้านการลงทุนมากนัก หรือ เป็นตลาดระดับกลางถึงสูง โดยมีตัวแทนขายเป็นผู้แนะนำและอธิบายอย่างใกล้ชิด
" เป็นการฉีกแคแรคเตอร์ใหม่หมด ทั้งในแง่ ตัวสินค้า ตัวลูกค้า และอุตสาหกรรมประกันชีวิต"
เจ้าของเงินจะต้องลงทุนขั้นต่ำ 7.5 หมื่นบาท ผ่านกรมธรรม์ที่อิงดัชนี SET50 ที่บริหารโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน ยูโอบี มีโอกาสจะได้ผลตอบแทบแบบไร้เพดาน ซึ่งขึ้นกับผลประกอบการ แต่ถ้าดัชนีติดลบ เงินต้นก็ยังอยู่ครบ
"เมื่อครบอายุสัญญา 5 ปี เจ้าของเงินที่ซื้อกรมธรรม์ จะได้รับผลประโยชน์ขั้นต่ำเท่ากับเบี้ยประกันที่ชำระ100% บวกกับเงินปันผลอิงดัชนี SET50 ถ้าเสียชีวิตในระยะเวลาเอาประกันภัยจะได้รับการคุ้มครองชีวิตในวงเงิน101% ของเบี้ยประกัน"
ว่ากันว่า ประกันชีวิตส่วนใหญ่เลือกการลงทุนรูปแบบนี้เพราะมองว่า ผลตอบแทนเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 7-8%หรืออาจจะมากกว่า ขณะที่พันธบัตรอายุ 5 ปี มีผลตอบแทนประมาณ 4% แต่ก็ต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ซื้อผ่านธนาคารที่ทำหน้าที่โบรกเกอร์
นอกจากนั้น เมื่อเทียบกับ การลงทุนผ่านกองทุนรวม ก็ใกล้เคียงกับกองทุนประเภทคุ้มครองเงินต้น แต่อาจจะเสียเปรียบ กองทุนประเภท กองทุนหุ้นระยะยาว(แอลทีเอฟ) และกองทุนรวมเพื่อเกษียณอายุ (อาร์เอ็มเอฟ)ที่ได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสูงสุด 3 แสนบาท หรือแม้แต่ ยูแอล ที่ได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษี 50,000 บาท เมื่อจ่ายเบี้ยกรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป
แต่ทั้งกองทุนแอลทีเอฟ และอาร์เอ็มเอฟ ก็มีข้อด้อยนั่นคือ รายแรกลูกค้าต้องรับความเสี่ยงเองทั้ง 100% ส่วนรายหลัง ต้องใช้เวลาลงทุนนานจึงจะได้รับสิทธิ์ประโยชน์จากภาษี
" วันนี้เราอาจจะเปลี่ยนคาแรคเตอร์ใหม่หมด ทั้งลูกค้า สินค้าและตัวแทนที่จะทำหน้าที่แนะนำสินค้าให้กับลูกค้า และเป็นการเรียนรู้ที่จะแตะการลงทุนเล็กๆ เพื่อนำร่องสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น"
ปราโมทย์ บอกว่า ปัจจัยพื้นฐานที่ดีของสังคมและเศรษฐกิจไทย คือเหตุผลหลักที่เลือกจะเปิดตัวสินค้าเพื่อให้ความรู้กับลูกค้าไปด้วยในตัว ขณะที่ดัชนีฮั่งเสง หรือแม้แต่ดัชนีดาวโจนส์ยังมองเป็นเรื่องไกลตัว สำหรับลูกค้าที่ยังไม่เข้าใจเรื่องการลงทุนที่ซับซ้อนอย่างลึกซึ้ง
" คาแรคเตอร์ลูกค้าแบงก์ ก็จะมีความรู้เรื่องการเงินดี ก็เป็นอีกโลกหนึ่ง ส่วนการขายผ่านตัวแทนจะอยู่บนความสัมพันธ์และความเชื่อใจ ไว้วางใจกันระหว่างลูกค้าและตัวแทน"
กรมธรรม์สะสมทรัพย์ อิงดัชนี SET50 จึงเป็นทั้งเรื่องใหม่ ในมุมการเรียนรู้เรื่องการลงทุน นอกเหนือจากการโฟกัสไปที่การคุ้มครองชีวิต ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องเก่าสำหรับลูกค้า ที่มักจะไว้วางใจตัวแทน จนเงินหายจากกระเป๋าไปแบบไร้ร่องรอย
ปราโมทย์แนะนำว่า การเซ็นเช็คทุกครั้ง สำหรับการจ่ายเบี้ยก้อนโต ลูกค้าควรที่จะเรียกรับใบเสร็จรับเงินชั่วคราวจากตัวแทน เพื่อเป็นเกราะคุ้มกันตัวเองด้วย ในขณะที่บริษัทก็ต้องเรคคอร์ดทุกครั้ง ที่ตัวแทนเบิกใบเสร็จรับเงินชั่วคราวเพื่อไปเรียกเก็บเงินจากลูกค้า
เพราะทุกครั้งที่มีผลประโยชน์หรือเบี้ยก้อนโตเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็มักจะนำมาซึ่งปัญหาการฉ้อโกง หรือ มิจฉาชีพ ในร่างของ "ตัวแทน" ไม่รู้จักหยุดหย่อน....
|
|
|
|
|