ธปท.เผยภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 2 ไม่กระเตื้อง ขณะที่ผู้ประกอบการหวังกระตุ้นตลาดแข่งขันผ่านราคาจนกระทบผลประกอบการลด รับกังวลอาคารชุดในพื้นที่ห่างไกลเส้นทางขนส่งมวลชนกดดันราคาค่าเช่าห้องพักลดลง ส่วนแบงก์หันให้กู้ผู้ประกอบการในประเภทสินเชื่อพัฒนาอาคารชุด-อพาร์ตเมนต์-อาคารสำนักงานให้เช่ามากขึ้น แต่สินเชื่อส่วนบุคคลที่ผู้ซื้อบ้านยังชะลอตัวอยู่
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า จากรายงานเศรษฐกิจและการเงินประจำเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงชะลอตัวอย่างต่อเนื่องทั้งจากความกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจและการเมือง แต่มีการปรับตัวดีขึ้นบ้างในบางช่วงจาการจัดโปรโมชันของผู้ประกอบการ เพื่อระบายสต็อกบ้านแนวราบ นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้ประกอบการทั้งด้านราคาและการตลาด ส่งผลให้ผลประกอบการลดลง
ส่วนอาคารชุดระดับราคาต่ำและปานกลางยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และเป็นที่น่ากังวลว่าอาจเกิดอุปทานส่วนเกินได้ในบางทำเลที่ห่างไกลเส้นทางขนส่งมวลชน ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อค่าเช่าห้องพักในระยะต่อไป ขณะที่ในไตรมาสนี้ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวและดัชนีราคาทาวน์เฮาส์ลดลง 3.5%และ 0.7% จากระยะเดียวกันปีก่อนตามลำดับ เนื่องจากมีการแข่งขันด้านราคามากขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการลดต้นทุนการก่อสร้างโดยหันไปใช้วัสดุตกแต่งที่มีราคาถูกลง ขณะที่ดัชนีราคาที่ดินขยายตัวเพิ่มขึ้น2.7% ชะลอตัวจากไตรมาสก่อน ทำให้ดัชนีราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดินและดัชนีราคาทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงเป็น 0.2% และ1.3%ตามลำดับ
สำหรับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เฉพาะธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่ออสังหาริมทรัพย์ชะลอลงอยู่ที่ระดับ 12.4% จากไตรมาสก่อนที่ 14.0% ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบกับที่ติดลบ 1.5%ในไตรมาสก่อน โดยเพิ่มขึ้นในส่วนของสินเชื่อเพื่อการพัฒนาอาคารชุดเพื่อขาย และอพาร์ตเมนต์และอาคารสำนักงานให้เช่า
ทั้งนี้ หากพิจารณาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ล่าสุดเฉพาะในเดือนมิถุนายน 2550 พบว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากงานมหกรรมบ้านและคอนโดเมื่อวันที่ 17-20 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยลูกค้าตัดสินใจซื้อจะใช้ระยะเวลาในการขออนุมัติสินเชื่อ จึงมีการซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์ในเดือนนี้ สะท้อนมายังมูลค่าการซื้อขายที่ดินมีจำนวนทั้งสิ้น 56,284 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.7% จากเดือนก่อนที่เคยติดลบ 5.8% นอกจากนี้จำนวนรายการก็เพิ่มขึ้นเป็น 76,353 รายการ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.6% จากเดือนก่อนที่ติดลบ 4.9%
อย่างไรก็ตาม ภาวการณ์ก่อสร้างโดยทั่วไปยังคงชะลอตัว โดยเครื่องชี้อสังหาริมทรัพย์หลายรายการที่ยังหดตัวอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลทั้งประเทศ 1,338 พันตารางเมตร หรือลดลง 6.3% ขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ยังหดตัว 5.2% หรือคิดเป็น 2,312 พันตัน ซึ่งเป็นการหดตัวติดต่อกันตั้งแต่ต้นปี 2550
นอกจากนี้ เครื่องชี้จากที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จมีการจดทะเบียนเพิ่มในพื้นที่กรุงเทพและปริมาณมณฑลขยายตัวลดลงต่อเนื่องเช่นกันถึง 29.1% หรือมีจำนวนทั้งสิ้น 5,865 หน่วย แบ่งเป็นบ้านจัดสรรมากที่สุด 3,251 หน่วย รองลงมาเป็นบ้านสร้างเอง 2,266 หน่วย และแฟลตหรืออาคารชุด 348 หน่วย
|