|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ลาวจวกชินแซทฯมั่วนิ่ม อ้างแจ้งให้ทางการลาวทราบแล้วกรณีขายหุ้น‘ลาวโทรคม’ให้สิงคโปร์ ยันงุบงิบขายยังไม่ได้แจ้งหวังปั่นราคาหุ้นเท่านั้น ท้าผู้บริหารชินแชทฯเผชิญหน้าเอาหลักฐานมาโชว์ อธิบดีกรมไปรษณีย์และโทรคมนาคม กระทรวงคมนาคมขนส่งและไปรษณีย์ของลาวย้ำ ผิดสัญญาชัดเจน สั่งระงับจ่ายเงินปันผลหรือเงินผลประโยชน์อื่นใดหรือทำกิจกรรมการเงินใดๆ กับบริษัทของกลุ่มชินในปีนี้
กรณีทางการลาวเปิดเผยการซื้อขายหุ้นของ บริษัทลาวโทรคมจำกัด (Laos Telecom Co)ระหว่างบริษัทชินแชทเทลไลต์จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL ให้กับกองทุนเทมาเสกของสิงคโปร์ว่ามีเจตนาซุกซ่อนและสั่งอายัดทรัพย์ในเวลาต่อมา กระทั่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทชินแชทเทลไลต์ได้แจ้งปฎิเสธข้อกล่าวหาต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น
ล่าสุด เจ้าหน้าที่ของทางการลาวได้ตอบโต้การให้สัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่บริษัทชินแชทเทลไลต์จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL ที่อ้างว่าได้แจ้งทางการลาวอย่างถูกต้องนั้น ว่าเป็นการโกหก เพื่อผลของราคาหุ้นเท่านั้นทางการลาวกำลังอยู่ในขั้นตอนแรก ให้ผู้บริหารสูงสุดของ SATTEL เข้าพบเพื่ออธิบายการงุบงิบขายหุ้น ซึ่งเป็นการกระทำผิดสัญญาร่วมทุน ก่อนจะพิจารณาขั้นตอนต่อไปซึ่งจะเป็นการดำเนินการตามกฎหมายนำไปสู่การยกเลิกสัญญา
นายปาละมี บุนยะทันสี ประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท LTC ในฐานะประธานคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจากนายกรัฐมนตรีลาว เพื่อดำเนินการกับบริษัทชินแชทเทลไลท์ ในกรณีที่ได้ขายหุ้น 50% จากหุ้นที่ถืออยู่ 49% ในวิสาหกิจผสมลาวโทรคม นายปาละมี ซึ่งมีตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมไปรษณีย์และโทรคมนาคมกระทรวงคมนาคมขนส่งและไปรษณีย์ ได้ท้าทายให้เจ้าหน้าที่ของ SATTEL ไปเผชิญหน้า ต่อหน้าฝ่ายต่างๆ เพื่อแสดงหลักฐานที่อ้างว่า ได้แจ้งต่อทางการลาวให้ทราบแล้ว
ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนหนึ่ง ได้ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้โดยอ้างการเปิดเผยของกรรมการบริหารของ SATTEL คนหนึ่ง ข้อความได้ปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันศุกร์ (31 ส.ค.) ในหนังสือพิมพ์รายวันของไทย รวมทั้งตีพิมพ์เผยแพร่บนเว็บไซต์อีกด้วย
"พวกเขาพยายามโกหกสาธารณชน นักลงทุนในประเทศไทย โกหกบริษัทเทมาเสกของสิงคโปร์ รวมทั้งโกหกรัฐบาลลาวด้วย เพียงเพื่อต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับหุ้นในตลาด" นายปาละมีกล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ทางโทรศัพท์จากนครหลวงเวียงจันทน์เมื่อวันอาทิตย์ (2 ก.ย.)
"เราขอยืนยันอีกครั้งว่าแชทเทลไม่เคยแจ้งให้ฝ่ายลาวทราบเกี่ยวกับการขายหุ้นในลาวโทรคมไม่ว่าจะเป็นโดยการพูดจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้าหากผู้ให้สัมภาษณ์มีหลักฐานก็ให้นำมาเปิดเผยกัน"นายปาละมีกล่าว
ประธานคณะกรรมการบริการของ LTC ยังยืนยันข้อมูลที่เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายวัน" เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า รัฐบาลลาวไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าใด เกี่ยวกับการที่ SATTEL ขายหุ้นในบริษัท Shengington ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่มชินคอร์ปอเรชัน (Shin Corp) ตั้งขึ้นมาถือหุ้น 49% ใน LTC ร่วมกับทางการลาว
รัฐบาลลาวโดยกระทรวงการคลัง ได้ "อายัด" เงินผลประโยชน์ของ SATTEL ในลาวโทรคมมาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. หลังจากทราบว่า ได้มีการแอบงุบงิบขายหุ้นให้แก่บริษัทเอเชียโมบาย (Asia Mobile) ซึ่งเป็นบริษัทที่เทมาเส็คเองถือหุ้นใหญ่และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์
"จะไม่มีการจ่ายเงินปันผลหรือเงินผลประโยชน์อื่นใด หรือ ทำกิจกรรมการเงินใดๆ กับบริษัทของกลุ่มชินในปีนี้ จนกว่าเรื่องนี้จะได้รับการแก้ไข" นายปาละมีกล่าว
ปัจจุบันคณะกรรมการที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม กระทรวงแผนการและการลงทุน และกระทรวงยุติธรรม กำลังรอคำอธิบายจากผู้บริหารระดับสูงสุดของ SATTEL ทางการลาวยังระบุให้ผู้บริหารของ SATTEL ต้องขอโทษต่อรัฐบาลลาว ที่ได้กระทำการผิดสัญญาฉบับแม่ที่ลงนามกันในเดือน ต.ค.2537 ในการร่วมก่อตั้งวิสาหกิจผสมลาวโทรคม
"เราถือเป็นการหยามหมิ่น ไม่ให้เกียรติ เรากำลังดูท่าทีจาก ดร.ดำรง (เกษมเศรษฐ์) ผู้บริหารของ SATTEL ที่เป็นตัวแทนผู้ถือหุ้นฝ่ายชินในลาวโทรคม ก่อนจะดำเนินการขั้นต่อไป เขาจะต้องมาอธิบายเรื่องราวต่างๆ ด้วยตนเอง" นายปาละมีกล่าว
ตามข้อมูลที่ให้กับ "ผู้จัดการรายวัน" เมื่อวันพฤหัสบดี (30 ส.ค.) นายดำรง ได้ทำหนังสือถึง นายกรัฐมนตรีลาวนายบัวสอน บุบผาวัน ลงวันที่ 15 มิ.ย. และทางไปรษณีย์ด่วนซึ่งฝ่ายลาวได้รับในอีก 2 วันต่อมา
หนังสือดังกล่าวยังได้แจ้งให้ฝ่ายลาวทราบว่า SATTEL ได้ขายหุ้นในเชงนิงตัน แก่เอเชียโมบายไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เดือนเดียวกัน
นายปาละมีกล่าวว่า มาตรา 3 ข้อ 3.1 ในสัญญาแม่ (Master Agreement) ในการร่วมทุนก่อตั้งวิสาหกิจผสมลาวโทรคม ระหว่างบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์และคอมมูนิเคชั่น (Shinawatra Computer & Communication) จำกัด (มหาชน) ในอดีต ระบุชัดเจนว่า ถ้าหากฝ่ายหนึ่งจะขายหุ้น จะต้องแจ้งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ และ หากไม่มีการทักท้วงหรือดำเนินการใดๆ ภายในเวลา 60 วัน จึงจะสามารถจำหน่ายให้แก่ฝ่ายที่สามได้ในราคาเดียวกัน
"นี่คือการกระทำผิดสัญญาอย่างชัดเจน และ ถ้าหากนำขึ้นฟ้องร้องศาลลาว ก็จะนำไปสู่การยกเลิกสัญญา" เจ้าหน้าที่ทางการลาวกล่าว
ที่ผ่านมาได้มีการการนัดหมายกับผู้บริหารระดับสูงของ SATTEL มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง แต่ถูกบ่ายเบี่ยงมาตลอด การพบปะกันครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ดร.ดำรงเป็นผู้นัดหมายเอง แต่ก็บ่ายเบี่ยงอีกครั้ง โดยส่งกรรมการบริหารของบริษัทไปพบกับฝ่ายลาวจำนวน 2 นาย
"ที่ผ่านมา ดร.ดำรงพยาบาลติดต่อขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีของลาวมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้ง แต่ไม่ได้เข้าพบเพราะไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด ทั้งนี้เป็นเจตนาเพื่อหลบเลี่ยงการเผชิญหน้ากับคณะกรรมการผู้ถือหุ้นฝ่ายลาว" นายปาละมีกล่าว
“เราสามารถจัดให้พบรัฐมนตรีก่อสร้างฯ รัฐมนตรีกระทรวงแผนการ-การลงทุน ได้ แต่นี่วิ่งเต้นข้ามขั้นเพื่อหลบเลี่ยงการอธิบายอย่างเป็นทางการ” นายปาละมีกล่าว
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงก่อสร้างฯ กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังลาว ได้ประชุมหารือกันในวันที่ 12 มิ.ย.และลงความเห็นว่า SATTEL ได้กระทำผิดสัญญาร่วมทุน โดยไม่มีการแจ้งเกี่ยวกับการจำหน่ายหุ้น Shengington ให้แก่ เอเชียโมบาย ให้ฝ่ายลาวทราบเป็นการล่วงหน้า 60 วันตามสัญญาหลัก ผู้ถือหุ้นของฝ่ายลาวได้ทราบความเคลื่อนไหวของ SATTEL ผ่านทางข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ไทย และ ที่มีการเผยแพร่บนเว็บไซต์แห่งต่างๆ ในเวลาต่อมาจาก เจ้าหน้าที่ของทางการลาวกล่าว
จากนั้นหน่วยงานของทางการลาวที่เกี่ยวข้องได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาในส่วนของตน ขณะที่สำนักนายกรัฐมนตรีลาวได้มีคำสั่งถึง 2 ฉบับ จัดตั้งคณะกรรมการชุดที่มีนายปาละมีเป็นประธาน ขึ้นเจรจากับผู้ถือหุ้นจากประเทศไทย ยังไม่มีผู้ใดทราบเจตนาอันแท้จริงว่า เพราะเหตุใดจึงมีการขายหุ้นของ SATTEL ซึ่งเป็นบริษัทในเครือชินคอร์ป ให้แก่เอเชียโมบาย ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์และถือหุ้นใหญ่โดยเทมาเส็ค บริษัทลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์
พร้อมๆ กันนั้น SATTEL ซึ่งถือหุ้นใหญ่ใน Shengington ยังได้ขายหุ้นอีก 24% ในบริษัทชินวัตรกัมพูชา หรือ Camshin อีกด้วย ซึ่งเป็นการเปิดทางให้บริษัทจากสิงคโปร์เข้าสู่ธุรกิจโทรคมนาคมในเขมร กลุ่มชินวัตรที่เคยเป็นบริษัทธุรกิจในครอบรัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยมีประวัติอันยาวนานในการเข้าทำธุรกิจโทรคมนาคมในลาว
การเจรจาเรื่องนี้กับฝ่ายลาวมีขึ้นในช่วงปี 2535-2536 โดยมีนายดำรงรู้เห็นมาทุกขั้นตอน ซึ่งในชั้นแรกทำให้กลุ่มชินวัตรได้รับสิทธิ์ผูกขาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และจำหน่ายเครื่องลูกข่ายในลาวเป็นเวลา 5 ปี โดยบริษัทจากประเทศไทยเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ในบริษัทที่จัดตั้งขึ้น
แต่ต่อมาได้มีการเจรจากันใหม่ เพื่อก่อตั้งวิสาหกิจผสมลาวโทรคม โดยชินวัตรลดการถือหุ้นลงเหลือเพียง 49% และฝ่ายลาวถือหุ้นใหญ่ 51% แลกกับสัญญาที่ยาวนานออกไป
สัญญาหลักเกี่ยวกับการร่วมทุนก่อตั้ง LTC ที่ลงนามกันในวันที่ 8 ต.ค.2537 นั้น ทำกันระหว่างบริษัท SC&C ซึ่งไม่ได้ดำรงอยู่อีกต่อไปแล้ว โดยมีการถ่ายหุ้นไปให้แก่ชินวัตรอินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งเป็นบริษัทลูกอีกแห่งหนึ่งของกลุ่มชิน
“แต่ยังไม่เคยมีการแก้ไขสัญญา ตลอดจนคำจำกัดความต่างๆ เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นแม้แต่ครั้งเดียว” นายปาละมีกล่าว
ในปี 2540 เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ค่าเงินบาท กลุ่มชินได้จัดตั้งบริษัทเชงนิงตัน ขึ้นในสิงคโปร์ โดยชินวัตรอินเตอร์ฯ ถือหุ้น 100% เพื่อเข้าถือหุ้นใน LTC และ Camshin ในกัมพูชา
ตามข้อมูลของฝ่ายลาว กลุ่มชินวัตรได้แจ้งการเปลี่ยนโอนถ่ายหุ้นไปยังShengington ให้ทราบในปี 2545 กลุ่มชินได้แจ้งให้ทางการลาวทราบเกี่ยวกับการที่ครอบครัวชินวัตรได้ขายหุ้น 51% ให้ชินคอร์ป ให้แก่กลุ่มเทมาเสคในเดือน ม.ค.ปีที่แล้ว
“แต่ไม่เคยมีการแจ้งใดๆ ล่วงหน้าในการขายหุ้นแอลทีซีให้แก่เอเชียโมบาย” นายปาละมีกล่าว
รัฐวิสาหกิจผสมลาวโทรคมจัดตั้งขึ้นด้วยเงินทุนจดทะเบียน 96 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ปัจจุบันประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบจีเอสเอ็ม และระบบซีดีเอ็มเอ 450 โทรศัพท์ตามบ้านเรือน โทรศัพท์ในชนบทจากความช่วยเหลือของรัฐบาลเยอรมนีโดยได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เข้าไปดูแลลาวโทรคมยังเป็นผู้ให้บริการ VOIP ส่วนหนึ่ง และมีฐานะเป็นเกตเวย์ (Gateway) ให้บริการลีสไลน์ ทั้งในและต่างประเทศ
เมื่อสิ้นเดือน ธ.ค.2548 วิสาหกิจแห่งนี้มีกำไรสุทธิ 19 ล้านดอลลาร์ ในนั้นนำไปปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นเป็นจำนวน 6 ล้านดอลลาร์ในสิ้นปี 2549 ที่ผ่านมาลาวโทรคมมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 22 ล้านดอลลาร์ ในนั้นจำนวน 8 ล้านดอลลาร์ถูกนำไปแบ่งปันผลประโยชน์
ชินแซทโต้
ก่อนหน้านี้ นายดำรง เกษมเศรษฐ์ กรรมการ บริษัท ชินแซทเทลไลท์ ได้ทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัมปทานกิจการโทรคมนาคมในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว แจ้งไปยังกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมาว่าตามที่ได้มีข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับว่าการขายหุ้น 49% ในบริษัท เชนนิงตั้น อินเวสท์เมนต์ ไพรเวท ลิมิเต็ท (Shenington) ให้บริษัท เอเชีย โมบายล์ โฮลดิ้ง ไพรเวท ลิมิเต็ด (AMH) ของบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จะเป็นการขัดต่อสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคมที่ Shenington ได้รับจากรัฐบาลลาวนั้น
บริษัท ชินแซทเทลไลท์ ขอชี้แจงว่าตามสัญญาสัมปทานกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2539 กำหนดว่าหากผู้ถือหุ้นในบริษัทลาวโทรคมนาคม จำกัด (LTC) คือ รัฐบาลลาว และ Shenington ประสงค์จะขายหุ้นที่ตนถืออยู่ใน LTC ก็จะต้องขอความยินยอมจากผู้ถือหุ้นอีกฝ่ายหนึ่งก่อนการขายหุ้น 49% ใน Shenington ให้ AMH จึงไม่เป็นการขัดต่อสัญญาสัมปทานแต่อย่างใด ในเรื่องนี้ บริษัทได้ทำการชี้แจงและได้ส่งผู้บริหารไปชี้แจงกับรัฐบาลลาวแล้วว่า Shenington ยังถือหุ้น 49% อยู่ใน LTC โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง และบริษัทขอเรียนว่าการขายหุ้น 49% ใน Shenington ให้กับ AMH เมื่อเดือนมิถุนายน 2550 ที่1ผ่านมาจะไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด
ด้านแหล่งข่าวในบริษัท ชินแซทแทลไลท์กล่าวว่าในหลายปีที่ผ่านมาชินแซทเป็นผู้ถือหุ้น 100% ของบริษัทเชนนิงตั้น ซึ่งถือหุ้นCAMSHIN 100% (ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ในเขมร) และถือหุ้น LTC 49% (อีก 51% ถือโดยรัฐบาลลาว) และเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ชินแซทได้ขายหุ้นเชนนิงตั้น จำนวน 49% ให้แก่บริษัท Asia Mobile (ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Qatar Telecom จาก ประเทศกาตาร์ กับ ST Telemedia จากประเทศสิงคโปร์) โดยที่ชินแซทยังเป็นผู้บริหารเชนนิงตั้นเหมือนเดิมในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ 51 % และได้แจ้งผู้ถือหุ้น LTC ฝั่งรัฐบาลลาวให้รับทราบ
ธุรกรรมขายหุ้นดังกล่าวไม่ได้มีปัญหากับรัฐบาลลาวในเชิงข้อสัญญา หรือความสัมพันธ์ในการร่วมทุนใน LTC แต่อย่างใดเพราะ เป็นการขายหุ้นเชนนิงตั้น ไม่ใช่หุ้น LTC ที่เชนนิงตั้นถืออยู่ซึ่งต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นฝั่งรัฐบาลลาวก่อนตามสัญญา จึงไม่ได้กระทบกับการร่วมทุนหรือสัญญาร่วมทุนไม่เป็นประเด็นให้เลิกสัญญาหรือฟ้องร้องอะไร ก็คล้ายกับกรณีเทมาเส็กเข้าซื้อหุ้นชินคอร์ปซึ่งเป็นบริษัทแม่ของชินแซทและเป็นบริษัทแม่ของเชนนิงตั้น ก็ไม่กระทบสัญญาร่วมทุน LTC เช่นกัน
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างชินแซท กับ เชนนิงตั้น และรัฐบาลลาวในการร่วมทุนและบริหาร LTC ที่ผ่านมา เป็นไปได้ด้วยดียิ่ง เพราะ LTC ประสบความสำเร็จอย่างมากในธุรกิจ เป็นผู้นำในการให้บริการโทรคมนาคมในลาว ทั้งด้านโทรศัพท์ในและระหว่างประเทศ
โทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต ไอพีสตาร์ และกำลังดำเนินการมือถือ 3G ทำให้ประชาชนมีใช้บริการอย่างทั่วถึงในราคาถูก โดยไม่เป็นภาระในการลงทุนแก่รัฐบาลลาว มีกำไรดี ทั้งที่มีการแข่งขันสูงจากการที่รัฐบาลเปิดเสรี ทำให้ LTC จ่ายเงินภาษีรายได้และเงินปันผลจำนวนมาก จนนับได้ว่า LTC เป็นบริษัทที่สร้างรายได้จากภาษีและเงินปันผลให้แก่รัฐบาลลาวรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศลาว
ผู้บริหารชินแซทและเชนนิงตั้น ก็ทำงานใกล้ชิดกับผู้ถือหุ้นรัฐบาลลาวและทีมงาน LTC ไม่ได้มีปัญหาในการอนุมัติ การเข้าพบ การอายัดเงิน หรือความขัดแย้ง ทางชินแซทก็ได้ชี้แจงผู้ถือหุ้นรัฐบาลลาวถึงความจำเป็นในการขายหุ้น เชนนิงตั้นเพราะมีภาระการลงทุนที่ผ่านมาสูงต้องนำเงินกลับไปชำระหนี้บ้าง อันเป็นสิ่งที่เหมาะสม ซึ่งไม่ได้สร้างภาระหรือปัญหาให้กับ LTC หรือรัฐบาลลาว อีกทั้งการที่เชนนิงตั้นมีผู้ถือรายใหญ่เพิ่มขึ้นจากชินแซทก็จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินในการขยายธุรกิจของ LTC ในอนาคต ซึ่งผู้นำระดับรัฐมนตรีของรัฐบาลลาวก็เห็นด้วยและสนับสนุนดี
แหล่งข่าวกล่าวว่า การที่มีข่าวมีปัญหาออกมา น่าจะเป็นประเด็นการเปลี่ยนแปลงในฝั่งลาวมากกว่า เพราะในช่วงนี้จะมีการเปลี่ยนตำแหน่งผู้บริหารและโครงสร้างกระทรวงและกรมในรัฐบาลลาว อันอาจทำให้เกิดความสับสนในการประสานงานและการชี้แจงประเด็นต่างๆ ซึ่งเรื่องราวก็คงจะเรียบร้อยดีในระยะเวลาอันรวดเร็ว
สำหรับ LTC นั้นได้รับสิทธิดำเนินธุรกิจในลาวเป็นเวลา 25 ปีสิ้นสุดปี 2564 เพื่อให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์ระหว่างประเทศและบริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยในปัจจุบัน LTC ให้บริการประกอบด้วยบริการโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์พื้นฐานไร้สายระบบ CDMA-2001 X 450 MHz บริการโทรศัพท์มือถือระบบ GSM 900/1800 MHz บริการโทรศัพท์สาธารณะ บริการโทรศัพท์ชนบท บริการโทรคมนาคมระหว่างประเทศวอยซ์โอเว่อร์ไอพี บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่าง Flash บริการไอพีสตาร์บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Lao Internet บริการอินเทอร์เน็ตแบบ Dial-up บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ประเภท ADSL
|
|
|
|
|