กระทรวงการคลังลุยเพิ่มทุนเอสโซ่ 2.6 พันล้าน หวังผลักดันให้ตลาดหุ้นไทยคึกคักด้วยมาร์เก็ตแคปของเอสโซ่กว่า 5 หมื่นล้าน เผยจดทะเบียนเดือนกันยายน 21,000 ล้าน นำเงินที่ได้ไปชำระคืนบริษัทแม่ของเอสโซ่ หลังจากนั้นจะลดทุนเพื่อตัดขาดทุนสะสม 17,000 ล้านก่อนเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์สิ้นปี บิ๊ก สคร.มั่นใจสามารถบริหารจัดการสรรพอร์ตลงทุนหุ้นในบริษัทต่างๆ ที่กระทรวงการคลังถือไว้ได้
นายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติในวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา "อนุมัติ" ให้กระทรวงพลังงานเข้าไปดำเนินการแก้ไขสัญญาขยายและประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมของบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ESSO เพื่อ "เอื้อประโยชน์" ให้บริษัทเอสโซ่ต้องเข้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น ในส่วนของแผนการจดทะเบียนเพื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้นเอสโซ่จะต้องดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อนำไปชำระหนี้ทางการค้าจำนวน 21,000 ล้านบาทภายในเดือนกันยายนนี้นั้น ในส่วนของกระทรวงการคลังที่ถือหุ้นของเอสโซ่อยู่ประมาณ 10% จะต้องชำระเงินเพิ่มทุนใก้แก่เอสโซ่จำนวนประมาณ 2,600 ล้านบาทนั้นไม่มีปัญหาในการเพิ่มทุนแต่อย่างใด
"เงินเพิ่มทุนที่กระทรวงการคลังต้องใส่ให้เอสโซ่นั้นอยู่ในภาวะที่ สคร.สามารถบริหารจัดการได้เนื่องจาก สคร.เป็นผู้ดูแลพอร์ตการลงทุนของกระทรวงการคลังในบริษัทต่างๆ ทั้งที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และนอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเงินจำนวน 2.6 พันล้านบาท ที่ต้องใส่ให้เอสโซ่นั้นไม่มีปัญหาสำหรับกระทรวงการคลังแต่อย่างใด เงินจำนวนดังกล่าวอยู่ในแผนที่กระทรวงการคลังต้องดำเนินการอยู่แล้ว"นายอารีพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ สคร.กำลังอยู่ระหว่างการคัดเลือกกิจการ หรือบริษัทที่กระทรวงการคลังถือหุ้นไม่ถึง 50% ซึ่งไม่ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยจะพิจารณานำหุ้นออกมาขายเพื่อนำรายได้จากการจำหน่ายหุ้นเข้ามาสมทบทุนไว้ในบัญชีเพื่อการซื้อหุ้นเพิ่มทุนในกิจการต่างๆ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจำหน่ายหุ้น และการซื้อหุ้นของส่วนราชการ พ.ศ. 2535
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า กระทรวงการคลังตัดสินใจถือหุ้นเอสโซ่ เนื่องจากการเพิ่มทุนให้กับเอสโซ่ เป็นการผลักดันให้เอสโซ่สามารถเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้โดยเร็ว เพราะมูลค่าสินทรัพย์ของเอสโซ่หรือมาร์เก็ตแคปที่จะเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์นั้นมีมูลค่าสูงถึง 40,000-50,000 ล้านบาท และปริมาณหุ้นที่เอสโซ่จะเปิดขายให้กับผู้ลงทุนรายย่อยเป็นครั้งแรก (IPO) จะอยู่ที่ประมาณ 30% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
โดยแผนการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของเอสโซ่จะเริ่มจากการจดทะเบียนเพิ่มทุนในเดือนกันยายน 2550 จำนวน 21,000 ล้านบาท และในเดือนตุลาคม 2550 จะนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนไปชำระคืนเจ้าหนี้ซึ่งคือบริษัทแม่ของเอสโซ่ในต่างประเทศ หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายนจะดำเนินการลดทุนเพื่อตัดขาดทุนสะสมที่มีอยู่ประมาณ 17,000 ล้านบาทและจะประชุมคณะกรรมการและผู้ถือหุ้นเพื่อชี้แจงแผนการเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์
"หลังจากลดทุนเพื่อตัดขาดทุนสะสมแล้วทำให้เอสโซ่มีอัตราหนี้สินต่อทุน(D/E Ratio) อยู่ที่ 1 เท่า และจะยื่นไฟล์ลิ่งให้กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ภายในเดือนธันวาคม 2550 เพื่อให้สามารถโรดโชว์และไอพีโอได้ในช่วงเดือนเมษายน 2551 และทำให้ราคาจองออกมาในระดับที่เหมาะสมโดยมีบริษัทหลักทรัพย์ มอร์แกนสแตนเล่ย์และบล.ภัทร เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน” แหล่งข่าวกล่าว
การแก้ไขสัญญาขยายและประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมของบริษัทเอสโซ่ ( ประเทศไทย ) จำกัด (มหาชน) หรือESSO ประกอบไปด้วย 1)เปลี่ยนชื่อผู้อนุญาตให้บริษัทเอสโซ่ขยายการกลั่นจากกระทรวงการคลังมาเป็นกระทรวงพลังงาน และแก้ไขชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่จาก Exxon มาเป็น Exxon Mobil เพื่อให้สอดคล้องกับการที่บริษัท Exxon ควบรวมกิจการกับ Mobil Cooperation แล้วเปลี่ยนชื่อมาเป็น Exxon Mobil ในปัจจุบัน
2)เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กำหนดสัดส่วนขั้นต่ำในการกระจายหุ้นไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ดังนั้นจึงขอ "ความยืดหยุ่น" การกระจายหุ้นของเอสโซ่ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากเดิมที่กำหนดไว้ให้ Exxon ถือหุ้นร้อยละ 70 และกระทรวงการคลังถือหุ้นร้อยละ 10 เปลี่ยนมาเป็นให้เอสโซ่ออกหุ้นสามัญเพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนได้ "มากกว่า" ร้อยละ 20 เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การกระจายหุ้นขั้นต่ำของตลาดหลักทรัพย์ฯ
3)เสนอให้ Exxon สามารถดำเนินการลดการถือหุ้นลงได้ถึงร้อยละ 50 แต่ต้องเสนอขายหุ้นที่จะลดลงให้กับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 เป็นลำดับแรก หากไม่สามารถตกลงกันได้จึงจะให้สิทธิ Exxon เสนอขายผู้อื่น โดยในประเด็นนี้ วงการค้าน้ำมันตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทผู้ค้าน้ำมันภายในประเทศที่มีศักยภาพที่จะเข้าไปซื้อหุ้นของโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่ได้ในขณะนี้มีอยู่เพียงบริษัทเดียวคือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือเท่ากับเงื่อนไขข้อนี้เป็นการ "เปิดทาง" ให้ ปตท.เข้าไปถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่นั่นเอง
4)หลังจากที่บริษัทเอสโซ่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯแล้ว ให้โครงสร้างกรรมการของบริษัทเอสโซ่ รวมถึงคุณสมบัติ การเลือกตั้ง และวาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯตราบเท่าที่กระทรวงการคลังยังถือหุ้นอยู่ในบริษัทเอสโซ่ (ผู้แทนกระทรวงการคลังเป็นกรรมการ 1 คน)
5)ภายใต้สัญญาเดิมที่ทำไว้ ให้ขยายนิยามของคำว่า "ธุรกิจหลัก" เป็นไปตามที่บริษัทเอสโซ่ดำเนินธุรกิจจริงในปัจจุบัน นั่นหมายถึง ธุรกิจหลักตามสัญญาครอบคลุมถึงการผลิต/กลั่น กรรมวิธี การเก็บรักษา การตลาด การใช้/จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม/ปิโตรเคมี/เคมีภัณฑ์ ผลพลอยได้จากปิโตรเลียม/น้ำมันชีวภาพ วัตถุดิบปิโตรเลียม และกิจกรรมสนับสนุนธุรกิจหลักด้วย ในประเด็นนี้เป็นที่เข้าใจกันว่า การขยายนิยาม ธุรกิจหลักออกไปก็เพื่อป้องกันการกล่าวอ้างที่ว่า บริษัทเอสโซ่มีผลประกอบการขาดทุนจากการประกอบธุรกิจการกลั่นน้ำมันเพียงอย่างเดียว
และ 6)เสนอให้มีการแก้ไขหลักการ ในการคุ้มครองแก่ผู้ถือหุ้นฝ่ายข้างน้อยเพื่อให้สอดคล้องกับการขยายขอบเขตของธุรกิจหลัก ทั้งหมดนี้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ตั้งความหวังไว้ว่า หลังจากที่กระทรวงพลังงานเข้าไปแก้ไขสัญญาขยายและประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันเอสโซ่แล้ว บริษัทเอสโซ่จะยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (filing) ได้ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2550 และควรจะดำเนินการกระจายหุ้น (IPO) ได้ประมาณเดือนเมษายนปี 2551
อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าการขอแก้ไขสัญญาข้างต้นกับบริษัทเอสโซ่นั้น เป็น "ข้อเสนอ" ฝ่ายเดียวของกระทรวงพลังงาน การจะรับหรือไม่รับข้อเสนอนั้น ทางบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จะต้องส่งเรื่องทั้งหมดไปให้กับบริษัทแม่คือ ExxonMobil เป็นผู้ตัดสินใจในฐานะคู่สัญญา
|