Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2535
"7 เซียนซามูไรของนักลงทุน"             
โดย ศิริมา จินดาทองดี อมรรัตน์ ยงพาณิชย์ ประภาพร นิลสุวรรณโฆษิต
 

 
Charts & Figures

รายชื่อผู้ถือหุ้น 7 บลจ.
ตารางเปรียบเทียบรายละเอียดกองทุนของ 7 บลจ.


   
search resources

กิตติรัตน์ ณ ระนอง
ดัยนา บุนนาค
ผกาแก้ว บุญเลี้ยง
Stock Exchange




"ผู้จัดการกองทุนของบริษัทจัดการกองทุนเปรียบเสมือนยอดซามูไรที่ชี้ชะตาความสำเร็จหรือล้มเหลวในธุรกิจนี้ โดยมีเครื่องวัดมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเป็นตัวตัดสิน"

สภาพเดิมของการลงทุนในหน่วยลงทุน (UNIT TRUST) ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าเป็น "ภาวะของเด็กแคระแกร็น" ที่เกิดมาแล้วไม่ยอมโตด้วยความเชื่อที่ว่าผลตอบแทนของการถือหน่วยลงทุนไม่สามารถตอบสนองต่อนักลงทุนได้มากเท่ากับการลงทุนด้วยตนเอง สภาพคล่องในตลาดน้อยมาก ส่งผลให้ภาวะราคาของหน่วยลงทุน DISCOUNT TO NAV มาโดยตลอด ทั้งที่จริง ๆ แล้วบางหน่วยลงทุนให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหุ้นบางตัวในตลาดถึง 20-30%

การเกิดใหม่ของบริษัทจัดการกองทุนรวม (บลจ.) ทั้ง 7 บริษัท ภายหลังการอนุมัติใบอนุญาตอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 19 มีนาคมปีนี้จึงถือเป็นปรากฏการณ์ที่นักลงทุนควรจับตามองอย่างยิ่งว่าโฉมหน้าของการลงทุนในหน่วยลงทุนจะเปลี่ยนไปหรือไม่ บลจ. ทั้ง 7 บริษัทจะสามารถลบล้างความเชื่อเก่า ๆ และกระตุ้นพฤติกรรมการลงทุนที่ทิ้งร้างมานานได้มากน้อยเพียงใด!

บลจ. ที่เกิดขึ้นใหม่ 7 แห่ง ซึ่งช่วยสลายการผูกขาดโดยบริษัทหลักทรัพย์กองทุนรวมเพียงแห่งเดียวนั้น ได้แก่ บลจ. วรรณอินเวสเมนท์ ออมสิน บัวหลวง กสิกรไทย บริหารทุนไทย ไทยพาณิชย์ และไทยเอเซีย

แต่ละกองทุนเมื่อได้รับอนุญาตให้สามารถจัดการกองทุนได้ ก็ต้องรีบเตรียมการเพื่อก่อรูปร่าง บลจ. ของตนขึ้นภายในระยะเวลาที่จำกัด ให้ได้ข้อเสนออันจะเป็นทางเลือกแก่นักลงทุนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยที่ทางเลือกเหล่านั้นในแต่ละ บลจ. อาจจะดูเหมือน หรือ ผิดแผกกันไป จุดนี้จึงถือได้ว่าเป็นโอกาสที่เปิดกว้างอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่สนใจ

ในแง่ของบุคคล หรือ กลุ่มบุคคลทั่วไป การจะพิจารณาเพื่อตัดสินใจว่าเป็นการสมควรหรือไม่ที่จะเข้าไปใช้โอกาสลงทุนในกองทุนซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นในอีกประมาณ 1-2 เดือนข้างหน้านี้

คำตอบสำหรับประเด็นนี้ สามารถหาได้โดยอาศัยการศึกษาองค์ประกอบที่สำคัญ ๆ ของแต่ละกองทุนแล้วนำมาประมวลเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อนการตัดสินใจเลือกได้

นั่นคือ การพิจารณาถึงโครงสร้างผู้ถือหุ้น ลักษณะกองทุนที่ออกนโยบายการลงทุน ผู้จัดการกองทุน (FUND MANAGER) กลยุทธ์ทางการตลาด และผลตอบแทนที่จะได้รับจากการถือหน่วยลงทุนนั้น ๆ

สำหรับคุณสมบัติของผู้ถือหุ้นใน บลจ. ตามประกาศกฎกระทรวงของกระทรวงการคลังนั้นได้ระบุว่าจะต้องประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ บริษัทจากต่างประเทศซึ่งเชี่ยวชาญการจัดการกองทุนและสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งการรวมตัวของกลุ่มผู้ถือหุ้นเหล่านี้โดยพื้นฐานแล้วต้องสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้ (ดูตารางรายชื่อผู้ถือหุ้นของ 7 บลง.)

ธนาคารพาณิชย์ (สัดส่วนการถือหุ้นไม่เกิน 25%) นับได้ว่าเป็นแม่แรงสำคัญยิ่งที่จะช่วยสร้างตลาดกลุ่มนักลงทุนระยะยาวจากตลาดเงินสู่ตลาดทุน โดยระดมเงินออกจากประชาชนเข้าสู่การลงทุนในหน่วยลงทุนด้วยแขนขา คือสาขาที่กระจายอยู่อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ

ความสำคัญของสาขาในการระดมทุนนี้เป็นข้อจำกัดที่สำคัญของการบริหารกองทุนสมัยก่อนของ บล. กองทุนรวมที่ทำให้ฐานลูกค้าที่เข้ามาลงทุนในหน่วยลงทุนไม่สามารถขยายฐานสู่ผู้มีเงินออมที่แท้จริงได้

สำหรับบริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ และบริษัทหลักทรัพย์ (สัดส่วนการถือหุ้นรวมกันไม่เกิน 50%) ส่วนใหญ่จะอยู่ในฐานะของผู้จัดการกองทุนหรือตัวแทนจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนเนื่องจากความเชี่ยวชาญในตลาดหุ้นมาโดยตลอด

ส่วนบริษัทต่างประเทศซึ่งเชี่ยวชาญการจัดการลงทุน (สัดส่วนการถือหุ้นรวมกันไม่เกิน 25%) จะช่วยบริหารโดยอาศัยประสบการณ์ทางด้านจัดการกองทุนซึ่งมีด้วยกันหลายวิธีคือการเข้าร่วมเป็น INVESTMENT COMMITTEE หรือการจัดสรรคนเป็น FUND MANAGER หรือถ่ายทอด KNOW HOW โดยการฝึกอบรม

จุดสำคัญที่มีผลอย่างยิ่งต่อการพิจารณาเลือกลงทุน คือทิศทางในการลงทุนของแต่ละกองทุนว่าจะเดินไปอย่างไร เพราะจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้สามารถคาดเดาถึงผลตอบแทนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

"ปีแรกต้องคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานอย่างเดียว จะทำอะไรเสี่ยงเกินไปไม่ได้เพราะ ระยะแรกภาพพจน์เป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต่อเมื่อทดสอบตลาดได้แล้วจึงค่อยเน้นหนักในหุ้นบางกลุ่ม"

ม.ล. ผกาแก้ว บุญเลี้ยง กรรมการผู้จัดการ บลจ. ออมสินให้ทัศนะเกี่ยวกับทิศทางการลงทุนซึ่งมีความแตกต่างกับกองทุนของ บลจ. วรรณอินเวสท์เมนท์ โดยกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า

"เราถือว่าเราเป็นบริษัทใหม่เพิ่งเข้ามาทำธุรกิจในนี้ ดังนั้นลักษณะของสินค้าที่จะเสนอให้กับนักลงทุนควรจะมีความแตกต่างอย่างชัดเจนจากหน่วยลงทุนที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน"

อย่างไรก็ตามจากการสังเกตนโยบายการลงทุนทั้ง 7 บริษัท (ดูตารางนโยบายลงทุน) ระยะแรกจะเป็นการลงทุนที่ยึดการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทเป็นหลัก โดยมักเป็นการลงทุนในหุ้นที่มีอัตราการขยายตัวสูง

ระยะเวลาการลงทุนก็อยู่ระหว่าง 5-10 ปี โดยที่ระยะเวลา 5 ปี เป็นข้อกำหนดขั้นต่ำที่ทางการระบุไว้

สำหรับมูลค่าของกองทุนส่วนใหญ่ในระยะเริ่มต้นนี้อยู่ในช่วงประมาณ 1,500 ล้านบาท ยกเว้นของ บลจ. กสิกรไทยที่มีมูลค่ากองทุนสูงถึง 3,000 ล้านบาท

"จากการสำรวจทำ MARGET SURVEY 3 ครั้งต่อกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มคือ นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บุคคลทั่วไปและลูกค้าธนาคาร ผลปรากฏว่านักลงทุนในตลาดหุ้นปัจจุบันไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควรแต่ใน 2 กลุ่มหลังให้ความสนใจมากจนเรามั่นใจที่จะออกกองทุนแรกที่มีมูลค่าถึง 3 พันล้านบาท" ดัยนา บุนนาค กรรมการผู้จัดการ บลจ. กสิกรไทยกล่าวถึงเหตุผลการออกกองทุนมูลค่าสูง

การลงทุนของหน่วยกองทุนต่าง ๆ จะขึ้นกับดุลพินิจของ FUND MANAGER หรือผู้จัดการกองทุน เพราะผู้อยู่ในตำแหน่งนี้จะมีผลต่อการตัดสินใจเลือกลงทุนเนื่องจากจะเป็นผู้ที่รู้รอบ

ผู้จัดการกองทุนจะทำงานประสานงานกับคณะกรรมการดูแลการลงทุน (INVESTMENT COMMITTEE) ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยการตัดสินใจ โดยที่ FUND MANAGER จะเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดต่อการนำเสนอแนวทางที่ประเมินแล้วว่าจะก่อให้เกิดผลตอบแทนอย่างสูงสุดต่อผู้ถือหน่วยลงทุน

กิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ บลจ. วรรณอินเวสเมนท์ กล่าวสนับสนุนว่า "FUND MANAGER แต่ละคนจะมีจุดแข็งของตน ซึ่งต้องโยงกันเพื่อให้การตัดสินใจออกมาในแนวทางเดียวกัน แต่ใช่ว่าจะเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเด็ดขาดเพียงผู้เดียว ต้องอาศัยข้อคิดเห็นจาก INVESTMENT COMMITTEE เป็นสำคัญด้วย"

กลยุทธ์การบริหารกองทุนเป็นเรื่องที่มีความลับสุดยอด กิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้เปิดเผยให้ทราบในบางส่วนว่าหลักในการบริหารกองทุนของวรรณอินเวสท์เมนท์นั้น FUND MANAGER ทั้ง 3 คนในขณะนี้จะร่วมกันดูแลกองทุนด้วยการผสมผสานความสามารถที่มีอยู่เฉพาะด้านเข้าด้วยกัน

กล่าวคือคนหนึ่งมีความชำนาญทางด้านเศรษฐกิจ ภาพรวมอีกคนหนึ่งมีความชำนาญในการลงทุนในหุ้นและอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นตัวแทนจากผู้ถือหุ้นต่างประเทศมีความชำนาญด้านตลาดต่างประเทศ

การลงทุนในหน่วยลงทุน การประหยัดจากขนาดหรือ ECONOMY OF SCALE เป็นหัวใจสำคัญที่จะสะท้อนออกมาในรูปผลตอบแทนที่ดีสำหรับนักลงทุนรายย่อย เนื่องจากวงเงินกองทุนสูงย่อมต่อรองค่าใช้จ่ายในการลงทุนให้ลดน้อยได้ และช่วยกระจายความเสี่ยงเพราะสามารถลงทุนได้หลายหลักทรัพย์ในเวลาเดียวกัน

ผลตอบแทนจากการถือหน่วยลงทุนจะสะท้อนออกมาในรูปเงินปันผล และกำไรจากการซื้อขายหน่วยลงทุนโดยที่กำไรตรงนี้จะมีที่มาจากกำไรจากการเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (CAPITAL GAIN) และกำไรที่ได้รับเมื่อถึงกำหนดระยะเวลาไถ่ถอนคืนหน่วยลงทุน

จุดตัดสินใจที่สำคัญจะอยู่ที่ผลของการบริหารกองทุนแต่ละกองทุนหากบริษัทใดบริหารแล้วได้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (NAV) โดยเฉลี่ยออกมาสูงกว่ารายอื่น ๆ ก็จะทราบได้เด่นชัดถึงฝีมือการบริหาร

ประมาณเดือนมิถุนายนนี้จะมี บลจ. หลายแห่งเริ่มลงทุนในตลาดหุ้นและต้องแสดงมูลค่า NAV ของกองทุนในหน้าหนังสือพิมพ์

เวลานั้นคือ ผลการตัดสินใจสำหรับนักลงทุนที่จะดูว่าใครบริหารกองทุนได้เหนือกว่า

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us