เรื่องการใช้เครื่องมือใหม่ ๆ ในการระดมเงินออมกำลังเป็นที่สนใจของแบงก์พาณิชย์
หลายแห่งกำลังพูดถึงการออกตราสารชนิดใหม่ชื่อย่อว่า NCD ไม่ว่าจะเป็นแบงก์กสิกรไทย
ทหารไทย ซึ่งเป็นแบงก์ขนาดใหญ่และกลาง แต่ไม่มีแบงก์เล็กแห่งไหนเลยที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ยกเว้นแบงก์ไทยทนุที่กล้าบอกกับใคร
ๆ ว่าพร้อมแล้ว 100% และดูเหมือนว่าความพร้อมของแบงก์เล็กแห่งนี้อาจจะพร้อมมากกว่าแบงก์ใหญ่บางแห่งเสียด้วย
ธนาคารไทยทนุ แบงก์อันดับ 12 (นับจากสินทรัพย์) เป็นแบงก์ที่มีลักษณะอนุรักษ์สูง
ไม่ค่อยจะนิยมทำธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากนัก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ปกรณ์
ทวีสิน กรรมการผู้จัดการเคยประกาศว่าแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อเรียลเอสเตทเลยไม่ว่าในช่วง
3-4 ปีที่ผ่านมา สินเชื่อประเภทดังกล่าวจะมีคนใช้บริการมากแค่ไหนก็ตาม
นับแต่ปี 2533 แบงก์ไทยทนุได้หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบภายในอย่างจริงจัง
มีการเตรียมแผนเพื่อปรับปรุงคุณภาพบุคลากร ระบบบัญชีภายในและระบบบริหาร ขณะเดียวกันก็เปิดทางให้
พรสนอง ตู้จินดา ทายาทสนอง ตู้จินดาผู้ถือหุ้นใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการมาบริหารแบบสไตล์คนรุ่นใหม่ไฟแรง
เมื่อเขาอยู่ได้ไม่ถึงปีก็ดึงเพื่อนคนหนุ่มจากซิตี้แบงก์มาร่วมงานด้วยความหวังว่าจะช่วยกันสร้างธุรกิจใหม่
ๆ ให้กับแบงก์ได้
นิติกร ตันติธรรมคือคนที่พรสนองชวนมาอยู่ไทยทนุ เขาจบปริญญาโทจากอเมริกาและใช้เวลาช่วงหนึ่งทำงานในหน้าที่บริหารเงิน
ซื้อขายเงินตราและเป็นอันเดอร์ไรเตอร์ที่นั่น ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ฝ่ายบริหารเงินซิตี้แบงก์ประมาณ
3 ปี จึงได้ตามพรสนองมารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักบริหารเงินของไทยทนุ
ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งมาปีกว่าเขาได้เตรียมตัวศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารเงินอย่างจริงจัง
หนึ่งในตัวอย่างก็คือการศึกษาเพื่อออกตราสารต่าง ๆ ในการระดมเงินฝากรวมทั้งการสร้างตลาดรองรับการซื้อขายตราสารด้วย
NCDs (NEGOTIABLE CERTIFICATE DEPOSIT) หรือที่เรียกตามภาษาไทยว่าบัตรเงินฝากซึ่งเขาบอกว่าความหมายไม่ค่อยจะตรงกันนักจึงถูกเตรียมมานานและพร้อมที่จะออกขายทันที
ถ้าแบงก์ชาติประกาศรายละเอียดที่ต้องปฏิบัติเพราะที่นี่พร้อมถึงขนาดพิมพ์แบบบัตรเงินฝากเรียบร้อยแล้ว
แม้ว่า NCDs จะไม่ใช่ของใหม่สำหรับนักการเงิน แต่ประชาชนไทยและพนักงานแบงก์เองก็ยังไม่คุ้นเคยกับ
NCDs เพราะตลอดเวลาตราสารเหล่านี้ถูกจำกัดด้วยข้อกฎหมายของรัฐ แบงก์ไทยทนุจึงได้แบ่งการเตรียมความพร้อมเป็น
3 ระดับ คือเตรียมการภายในด้านเอกสาร ศึกษาลู่ทางตลาดและข้อกฎหมาย เตรียมทำความเข้าใจกับบุคลากร
สุดท้ายคือเตรียมทำความเข้าใจกับประชาชน
งานด้านเอกสารก็มีตั้งแต่จัดเตรียมสัญญาซื้อขาย โอน ออกแบบและจัดพิมพ์
NCDs ฯลฯ เตรียมทำความเข้าใจกับบุคลากรโดยการให้ความรู้เกี่ยวกับ NCDs การซื้อขาย
รับจำนำ การรับเรื่องความเสียหายเช่น ลักขโมย บัตรหายเป็นต้น วิธีการลงบัญชีก็ต้องรอบคอบเพราะเป็นตราสารชนิดนี้สามารถเปลี่ยนมือได้และขึ้นเงินที่ไหนก็ได้ด้วย
ในส่วนของการเตรียมทำความเข้าใจกับประชาชนนั้น มีการพิมพ์แผ่นพับแจก ซึ่งนอกจากนี้เนื้อหาย่อ
ๆ เกี่ยวกับ NCDs แล้วก็จะบอกด้วยว่าคนสนใจที่จะซื้อหรือขายต้องพกบัตรประชาชนมาด้วย
นิติกร บอกว่าแบงก์ต้องการให้ทั้งสำนักงานใหญ่และสาขา สามารถออก NCDs ขายและรับซื้อได้เหมือนกัน
แต่ยังมีปัญหาอยู่ที่บุคลากรยังไม่เข้าใจ อาทิ ถ้ามีคนนำ NCDs ที่ออกโดยแบงก์อื่นมาขายให้แบงก์ไทยทนุ
พนักงานก็ยังคงไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะรับซื้อในราคาเท่าไร ตรงนี้เองที่ยังหนักใจ
NCDs หรือบัตรเงินฝากจะเป็นเครื่องมืออีกชนิดหนึ่งของสถาบันการเงินในการระดมเงินฝากในระยะสั้นประเภท
3-6 เดือนที่น่าสนใจเพราะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยของแบงก์คงที่มากขึ้น ผู้ซื้อจะได้อัตราดอกเบี้ยจะสูงกว่าเงินฝากประจำของธนาคารพาณิชย์และที่สำคัญสามารถนำ
NCDs ไปขายต่อได้รวมทั้งจำนำได้ด้วย
ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารเงินกล่าวว่า เหตุผลที่แบงก์ไทยทนุต้องการรุกตลาด
NCDs เพราะต้องการร่วมพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนโดยวางเป้าหมายไว้ 4 ประการคือประการแรกต้องการเสริม
PRODUCT ให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้นในการลงทุน ประการที่ 2 สร้างความคุ้นเคยกับการซื้อขายตราสารเปลี่ยนมือ
ประการที่ 3 คือต้องการสร้างตลาดรองขึ้นมาเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการหมุนเวียนเงินในระบบ
ประการสุดท้ายต้องการเป็นอันเดอร์ไรเตอร์ตราสารหนี้ภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ
ในอนาคตคาดหวังถึงตราสารภาคเอกชนด้วยรวมทั้งสร้างตลาดรองของตราสารหนี้เหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นจริงด้วย
อย่างไรก็ตามทั้งหมดที่หวังนั้นจะต้องได้รับความร่วมมือกันระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันจึงจะสำเร็จ
ปัญหาของตลาดตราสารยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเก่า ๆ ก็คือปัญหาภาษีที่แม้รัฐบาลอานันท์
ปันยารชุน จะแก้ไปรอบหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ได้ทำให้อย่างหมดจด เดิมนั้นก่อนรัฐบาลอานันท์จะแก้ประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีใหม่
ตราสารทั้งหลายอยู่ในสภาพที่ซื้อขายครั้งใดต้องถูกเก็บภาษีทบต้นโดยคำนวณรวมทั้งต้นทุนและดอกเบี้ยทุกครั้งไปทำให้เกิดการเสียภาษีซ้ำซ้อน
คนจึงไม่เป็นที่นิยม สำหรับ NCDs นอกจากติดปัญหาภาษีแล้วยังไม่สามารถโอนเปลี่ยนมือได้
คนที่ซื้อไปต้องกลับมาขายคืนที่เดิมและต้องโอนสลักหลังร่วมกัน ณ ที่ทำการออกบัตรเพราะ
พ.ร.บ. ธนาคารพาณิชย์ไม่เปิดโอกาสให้เนื่องจากต้องการแยกวิธีระดมเงินระหว่างไฟแนนซ์กับแบงก์ออกจากกันอย่างชัดเจน
แบงก์กสิกรไทยซึ่งเคยออก NCDs จึงไม่ประสบผลสำเร็จ
เมื่อรัฐบาลอานันท์แก้กฎหมายแล้ว แต่ผู้ซื้อมือสองขึ้นไปก็ยังต้องแบกรับภาระภาษีที่เกิดจากมูลค่าส่วนเกินเพิ่มขึ้นอย่างซ้ำซ้อนเช่นกัน
เพราะจะต้องเสียภาษีส่วนเกินทุกครั้งที่มีการขาย 15% จากหน้าตั๋ว ซึ่งอาจจะมีผลทำให้
NCDs หมุนเวียนในตลาดไม่คล่องตัว
วิธีการเก็บภาษีเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เขาคาดว่าจะสร้างปัญหาให้นิติบุคคลคือ
ด้วยความเชื่อของทางราชการว่านิติบุคคลเป็นองค์กรจดทะเบียนตามกฎหมาย ฉะนั้นการที่จะหลีกเลี่ยงภาษีจึงมีน้อย
แม้จะกระทำก็สามารถตรวจสอบได้ด้วยจึงกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่าถ้าเป็นบุคคลธรรมดาขาย
NCDs ให้กับบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลขายให้กับบุคคลธรรมดาก็ไม่ต้องหักภาษี
ณ ที่จ่าย ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาขายให้กับนิติบุคคล ให้นิติบุคคลทำหน้าที่หักภาษีผู้ขายนำส่งกรมสรรพากร
เรื่องนี้จะทำให้การขายยุ่งยากยิ่งขึ้น ทั้งนี้อัตราการเก็บภาษีก็แตกต่างกันถ้าบุคคลธรรมดาเสียในอัตรา
15% มูลนิธิ 10% นิติบุคคล 1%
"ใจจริงแล้ว ผมไม่อยากให้มีการเก็บภาษีในรูปแบบเดิมควรจะเก็บแบบค่าธรรมเนียมการซื้อขายทำนองเดียวกับโบรกเกอร์ซื้อขายหุ้น
อาจจะเก็บ 0.1% ของจำนวนเงินทั้งหมดที่มีการซื้อขายแต่ละครั้ง น่าจะยุติธรรมกว่าเพราะเราจะไม่รู้เลยว่าการขายแต่ละครั้งมี
CAPITAL GIAN เท่าไร"
รูปแบบบัตรเงินฝากของแบงก์ไทยทนุมีหน้าคล้ายกับตั๋วสัญญาใช้เงินของไฟแนนซ์ทั่ว
ๆ ไป นิติกร เล่าให้ฟังว่าบนหน้าบัตรมีเลขที่ เลขรหัส แต่ก็ยังเป็นห่วงเรื่องการปลอมแปลงเพราะบัตรเครดิตยังมีคนสามารถปลอมแปลงได้เลย
บัตรเงินฝากของไทยทนุคาดว่าจะเริ่มที่วงเงิน 5 แสนบาท กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มเดียวกับที่ฝากแบงก์
ไฟแนนซ์อยู่แล้ว แต่บัตรเงินฝากจะคัดเฉพาะลูกค้าระดับสูงของไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะกำหนดให้สูงกว่าเงินฝากประจำ
.25% ปกติบัตรเงินฝากจะมีวงเงินสูงกว่านี้เช่นที่สิงคโปร์ วงเงินเริ่มต้นประมาณ
10 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นสถาบันการเงิน บริษัทข้ามชาติใหญ่
ๆ แต่ไทยทนุเริ่มแค่ 5 แสนบาทเพราะต้องการให้ฐานกระจายไปสู่กลุ่มลูกค้าชั้นกลางด้วย
ในเบื้องต้นคงต้องทำการตลาดแบบ RETAIL BANKING เพื่อให้บัตรเงินฝากมีฐานกว้างสามารถหมุนเวียนได้คล่องตัวขึ้นก่อน
คาดว่าอีก 3 ปีจึงไต่ระดับขึ้นสู่ลูกค้ารายใหญ่ได้อย่างแท้จริง
NCDs ในต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นตราสารระยะยาวมีอายุครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ
1-2 ปี แต่ไทยทนุจะออกบัตรเงินฝากที่มีอายุ 3-6 เดือนก่อน เพราะเป็นระยะเวลาที่สะดวกสำหรับคนซื้อ
ถ้าต้องการใช้เงินก็ถอนได้ภายใน 3-6 เดือนหรือถ้าไม่ต้องรอให้ครบกำหนดก็สามารถขายก่อนได้เลย
และถ้าพิจารณาจากนิสัยคนไทยจะพบว่าไม่มีนิสัยการออมเงินแบบระยะยาวอยู่แล้ว
ถ้าออกบัตรเงินฝากอายุยาวถึง 2 ปีก็เสมือนหนึ่งเปลี่ยนนิสัยการออมซึ่งจะยากต่อการขาย
การกำหนดอัตราดอกเบี้ยหน้าบัตรเงินฝากสามารถทำได้ 2 กรณี คือแบงก์กำหนดเองเหมือนที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในปัจจุบัน
กับการเปิดกลไกตลาดเป็นตัวกำหนด ทั้งสองวิธีจะมีความแตกต่างทางธุรกิจ วิธีแรกแบงก์จะได้เปรียบเพราะมูลค่าของบัตรเงินฝากจะขึ้นอยู่กับภาวะดอกเบี้ยในตลาด
ซึ่งถ้าแบงก์มีบทบาทมากก็จะควบคุมทิศทางดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่ตนเองต้องการได้
วิธีที่สองให้สถาบันการเงินมาเสนออัตราแข่งกันเอง เช่นเดียวกับที่ซิตี้แบงก์เคยทำเมื่อครั้งออก
CITI NOTE คือเปิดให้แต่ละสถาบันเสนออัตราดอกเบี้ยเข้ามา ซิตี้แบงก์จะเลือกอัตราที่ต่ำสุดแล้วจึงออก
CITI NOTE ในอัตราอ้างอิงตามที่ได้มาแบบนี้เรียกว่า REFERENCE RATE หรือ
BENCHMARK RATE ถ้าทำตามวิธีนี้อัตราดอกเบี้ยก็จะสะท้อนภาวะตลาดที่เป็นจริง
อัตราดอกเบี้ยที่สะท้อนภาวะตลาดนี้สามารถบ่งบอกนัยสำคัญของสภาพคล่องในตลาด
ตัวอย่างเช่น ถ้าอัตราดอกเบี้ยของ CITI NOTE ต่ำมาก (กรณีที่ดอกเบี้ย CITI
NOTE มาจากการเสนอของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง) แต่อัตราดอกเบี้ยในตลาดสูงแสดงว่าจริง
ๆ แล้ว สภาพคล่องในตลาดมีมาก อัตราดอกเบี้ยควรลดลงอีก
ผู้บริหารคนใหม่ของแบงก์ไทยทนุ นามนิติกร เล่าให้ฟังต่อว่า แบงก์ชาติเองฝันที่จะเห็นตลาด
NCDs พัฒนาถึงขนาดต้องการให้แบงก์ทำคัสโตเดียนเพื่อเก็บรักษาบัตรเงินฝาก
ด้วยความคิดที่ว่าบัตรก็มีสถานภาพเหมือนใบหุ้นซึ่งไม่ควรมีการเบิกเข้าออกแล้วไปเก็บไว้บ้านเพราะสะดวก
จึงควรเก็บไว้ในคัสโตเดียนของแบงก์ เมื่อใครจะขายให้ใครก็มาแจ้งแบงก์เพื่อโอนชื่อและผลประโยชน์กันเท่านั้น
"ผมไม่เห็นด้วยเพราะคนไทยยังไม่คุ้นเคยกับบัตรเงินฝาก น่าจะรอสักระยะหนึ่งประมาณ
1-2 ปี แล้วค่อยมาว่าเรื่องนี้ใหม่ ตอนนี้ต้องมาคิดกันว่าทำอย่างไรให้มีตลาด
NCDs ขึ้นมา คาดว่าตลาด NCDs ที่จะเกิดคงไม่ใหญ่นัก ตลาดใหญ่น่าจะเป็น COMMERCIAL
BOND หรือ COMMERCIAL PAPER มากกว่า ซึ่งก็ต้องมาจากวิวัฒนาการของ NCDs"
แบงก์ชาติยังไม่ประกาศรายละเอียดของ NCDs ว่าขนาดของบัตรมีความกว้างยาวเท่าไร
ทางแบงก์ไทยทนุเห็นว่าน่าจะเป็นฟอร์มเดียวกันทุกแบงก์ เนื่องจาก NCDs ยังเป็นของใหม่
ต่อไปถ้าประชาชนคุ้นเคยแล้วจะพัฒนารูปแบบอย่างไรก็ได้ ส่วนผลประโยชน์ที่จะเสนอขายประชาชนก็ทำได้
2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือการเสนอขายแบบมีอัตราดอกเบี้ยหน้าบัตร (INTEREST BEARING
INSTRUMENT) เมื่อถึงกำหนดไถ่ถอนจะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย ลักษณะที่สองเป็นแบบซื้อลดจากราคาหน้าบัตร
(DISCOUNT INSTRUMENT) โดยไม่ระบุดอกเบี้ยแต่เมื่อครบกำหนดจะได้เงินเท่าที่ระบุไว้หน้าบัตร
อย่างไรก็ตามช่วงแรกทุกแบงก์ควรจะเสนอขายในแบบเดียวกันเพื่อป้องกันความสับสน
ถ้า NCDs พัฒนามาถึงจุดหนึ่งที่คนรู้จักแล้วก็สามารถบรรจุลูกเล่นต่าง ๆ
ให้คนหันมาสนใจได้มากขึ้น เช่น มีการรับประกันดอกเบี้ยโดยไม่ต้องอิงกับภาวะตลาด
หรือการจ่ายดอกเบี้ยก่อนกำหนดไถ่ถอน เป็นต้น
เป้าหมายประการที่สองของแบงก์ไทยทนุคือการสร้างตลาดรอง โดยการจะพยายามรับซื้อ
NCDs ที่ออกโดยแบงก์อื่นให้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้เกิดผลดีอย่างน้อยที่สุดเงินที่ได้จ่าย
การขายบัตรที่ออกโดยไทยทนุก็ถือว่ายังอยู่เพียงแต่ไทยทนุเปลี่ยนสถานภาพเงินนั้นเป็นการฝากแบงก์อื่นไป
ถ้าแต่ละแบงก์ทำเช่นนี้ก็จะสามารถสร้างตลาดรองขึ้นมาได้
นิติกรกล่าวอีกว่าปัญหาตลาดรองมีอยู่ว่ายังไม่ได้กำหนดมาตรฐานของการรับซื้อบัตรเงินฝากให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เดียวกันทุกแบงก์
ฉะนั้นลูกค้าต้องพิจารณาผลประโยชน์ตนเองว่าคุ้มหรือไม่ต่อการขายในแต่ละครั้ง
ถ้าเป้าหมายสองประการแรกสำเร็จ แบงก์ไทยทนุก็ไม่ยากเลยที่จะก้าวเข้าทำธุรกิจด้านอันเดอร์ไรต์ตราสารหนี้ทั้งของภาครัฐและเอกชน
เพราะถือว่าได้ผ่านการทดลองในสนาม NCDs มาแล้ว คาดว่างานอันเดอร์ไรต์จะทำให้แบงก์มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำและไม่มีความเสี่ยงมากเท่ากับการปล่อยสินเชื่อ
เป้าหมายประการสุดท้ายของการลุยตลาด NCDs ก็คือ เรียนรู้ตลาดรองจากการซื้อขาย
NCDs เพื่อสร้างตลาดรองตราสารหนี้ให้สำเร็จและคิดว่าไม่น่าที่จะไกลเกินเอื้อม
ผู้บริหารวัยหนุ่มของแบงก์ไทยทนุกล่าวกับ "ผู้จัดการ"