Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2535
"โฟนพ้อยต์เจ๊งไม่ว่า แต่ขอให้ทำงานร่วมกันได้"             
 


   
search resources

ยูไนเต็ด คอมมูนิเกชั่น อินดัสตรีส์, บมจ.
ภูษณ ปรีย์มาโนช
Mobile Phone




หลังจากที่ชินวัตรไม่ประสบความสำเร็จในการทำตลาดโฟนพ้อยต์เมื่อปีที่แล้ว ภายใต้สโลแกน "ให้คุณพูด เมื่ออยากพูด" พบว่ามีปัจจัยเงื่อนไข 3 ประการคือ หนึ่ง-ไม่สามารถสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจในตัวสินค้า สอง-ความไม่แพร่กระจายของสถานีฐาน (BASE STATION) ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจและสามมหกรรมสงครามราคาของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายผู้ใช้เกิดความลังเล

ยกแรกของโฟนพ้อยต์จึงยุติลง เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมในปีที่แล้ว ด้วยยอดขาดทุนประมาณ 30 ล้านบาท

เป็นบทพิสูจน์ฝีมือของชินวัตร ยูคอม และซีพี ที่ใช้เวลาเพียง 2 เดือน หลังจากเปิดธุรกิจเมื่อเดือนสิงหาคม

กุมภาพันธ์ปีนี้ โฟนพ้อยต์ก็ถูกแจ้งเกิดอีกครั้งภายใต้การทำตลาดของยูคอม (บริษัทยูไนเต็ด คอมมิวนิเคชัน) ที่โอนมาจากชินวัตร

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารและยุบคณะกรรมการบริหารเป็นสิ่งแรกที่ยูคอมทำ จากแต่เดิมที่มีคณะกรรมการ 3 คนช่วยกันดูแลคือ อารักษ์ ชลธาร์นนท์ บรรณพจน์ ดามาพงศ์ (ซึ่งเป็นคนจากชินวัตร) และภูษณะ ปรีย์มาโนช (คนจากยูคอม) โดยมีศิริพงษ์ อุ่นทรพันธ์ เป็นผู้จัดการทั่วไป

เป็นว่าแต่งตั้งให้ภูษณะเป็นกรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหาร โดยยังคงศิริพงษ์ ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปอยู่ โดยให้เหตุผลว่าศิริพงษ์ไม่สันทัดในเรื่องการตลาด

จากนั้นก็เป็นเรื่องของการตลาด กลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้ก็คือการแก้ไขให้ตรงจุดที่ผิดพลาดที่ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มจำนวนของสถานีฐานจากเดิมที่มีอยู่เพียง 500 แห่ง และให้ได้ 2,000 แห่ง ภายในเดือนเมษายนและ 3,000 แห่งภายในสิ้นปีนี้

การประกาศลดราคาเครื่องลงมาเหลือเพียง 9,900 บาท พร้อมทั้งเพิ่มบริการเสริม "เมลล์บ๊อกซ์" เพื่อเพิ่มกลุ่มเป้าหมายที่ไม่มีวิทยุติดตามตัว โดยสามารถใช้บริการสอบถามข้อความจากทางศูนย์บริการแทน อันเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ที่จะฟื้นธุรกิจของโฟนพ้อยต์

และที่ฮือฮาที่สุดเห็นจะได้แก่นโยบาย "หนึ่งเลขหมายต่อโฟนพ้อยต์ 1 เครื่อง" ที่สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ค้าเครือข่ายเวิลด์โฟนอย่างกว้างขวาง เพราะกรณีนี้กลุ่มผู้ค้าถือว่าเป็นการมัดมือชกที่มีบางรายถึงกับประกาศเลิกค้าไปเลยก็มี

ผลของมันหลังจากการปรับเปลี่ยนก็มิได้เป็นการส่งผลดีต่อยอดขายให้กระเตื้องขึ้นแต่อย่างใด

ภูษณะตัดสินใจปรับแผนการตลาดอีกครั้งโดยใช้กลวิธีเหมาจ่ายรายเดือน ที่ไม่ว่าจะใช้บริการกี่ครั้งก็จ่ายประมาณ 700 บาท และหากซื้อผ่านดีลเลอร์จะไม่ต้องจ่ายค่ามัดจำและค่าลงทะเบียน แล้วยังมีนโยบายให้ทดลองใช้ฟรีก่อน 1 เดือนเพื่อหวังกระตุ้นยอดขาย

นั่นเป็นความพยายามครั้งล่าสุดของยูคอม ที่ไม่ว่าผลของความพยายามครั้งนี้จะทำให้โฟนพ้อยต์ประสบความสำเร็จในตลาดหรือไม่-ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะนั่นมิใช่เป้าหมายที่แท้จริง

ย้อนหลังไปเมื่อแรกของการเริ่มต้นโฟนพ้อยต์ เป็นเรื่องที่รู้กันดีในแวดวงว่า ยูคอมต่างหากคือเจ้าของสัมปทานโฟนพ้อยต์ตัวจริง แต่ด้วยแนวความคิดที่ว่าต้องการปกป้องธุรกิจโทรคมนาคมของไทยไม่ให้ไปตกอยู่ในมือของชาวต่างชาติ บวกกับเหตุผลที่มากไปกว่านั้นก็คือ เรื่องพันธมิตรทางการค้า

เพราะกระแสการแข่งขันทางธุรกิจโทรคมนาคมที่มีความรุนแรงมากขึ้นตามลำดับ ยากต่อการที่ใครจะสามารถเป็นผู้นำอย่างโดดเด่น หรือแม้แต่จะสามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง

บททดลองพันธมิตรทางการค้า ว่าด้วยโฟนพ้อยต์ จึงเป็นไอเดียที่บุญชัย เบญจรงคกุล แห่งยูคอมขายให้กับชินวัตรและซีพี ในเงื่อนไขที่ว่าให้มาร่วมลงทุนและร่วมมือกันบริหารในสัดส่วนยูคอม 37% ชินวัตร 36% และซีพี 23%

รูปแบบการบริหารก็คือจะเป็นลักษณะของการร่วมมือกันบริหารระหว่างบริษัท ไม่ใช่การร่วมมือกันระหว่างผู้บริหารดังที่เคยมี ๆ มา

ตกลงกันว่าจะให้ทางชินวัตรเป็นคนทำตลาด เนื่องจากชินวัตรเกิดมานานในธุรกิจนี้ อีกทั้งยังอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เรียกว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมที่สุด ในขณะที่ยูคอมเป็นบริษัทเกิดใหม่ ถ้าหากลงมาทำอาจทำให้เกิดภาพความไม่น่าเชื่อถือ และซีพีตอนนั้นก็ยังไม่ได้ทำโทรศัพท์ 2 ล้านเลขหมาย

เท่ากับว่าในระยะแรกเป็นการเชิญคนจากทางชินวัตรเข้ามาบริหาร ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป ซึ่งก็คือศิริพงษ์ อุ่นทรพันธ์

แต่หลังจากที่ชินวัตรได้พิสูจน์ฝีมือ ในกลุ่มผู้ร่วมบริหารสรุปบทเรียนว่าผู้บริหารไม่ควรจะมาจากผู้ลงทุน แต่ควรจะเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในกลุ่มเพื่อการบริหารงานที่คล่องตัวมากขึ้น ไม่ต้องมากังวลว่าเป็นพรรคพวกใคร

ซึ่งก็คือ ภูษณะ ส่วนศิริพงษ์ก็ตัดสินใจว่าจะกลับไปที่ชินวัตรมากกว่าที่จะอยู่ที่โฟนพ้อยต์โดยขึ้นตรงกับเอ็มดีคนใหม่

มีข้อสังเกตเกิดขึ้นต่อโฟนพ้อยต์ (ที่กลายเป็นโรงเรียนฝึกฝีมือการบริหารไปแล้ว) ในประการแรกว่า ปัจจุบันความอยู่รอดของโฟนพ้อยต์อยู่ที่เรื่องสถานีฐานและราคาที่ต้องยอมทุ่มทุนสูงมาก อย่างเรื่องการติดตั้งสถานีฐาน ค่าใช้จ่ายตรงนี้มูลค่าตกประมาณ 12,000 - 15,000 บาทต่อจุด ที่ยังไม่รวมค่าเช่าสถานที่และค่าไฟ แล้วยังมีงบส่งเสริมโฆษณาใหม่ "โทรวันนี้ โทรโฟนพ้อยต์" ด้วยเงิน 20-30 ล้านบาท พร้อมกับการลดราคาเครื่องและให้ใช้ฟรีก่อนอีก

ต้นทุนตรงนี้เมื่อเทียบกับเงื่อนไขการจ่ายค่าสัมปทานให้กับ ทศท. ในอัตรา 25% ของรายได้แต่ละปี เป็นเวลา 10 ปี ซึ่งเคยประมาณกันไว้ว่าเป็นเงิน 1,500 ล้านบาทนั้น จะมีความเหมาะสมแค่ไหน

ประการที่สอง ด้วยลักษณะเฉพาะของโฟนพ้อยต์ ที่ว่าเป็นเทคโนโลยีของโทรศัพท์ไร้สายในยุคที่ 2 หรือที่เรียกกันว่า CT2 (CORDLESS TELEPHONE 2) นี้นอกจากจะเป็นโทรศัพท์สาธารณะเมื่ออยู่นอกบ้านแล้ว ต่อไปหากต้องการให้เกิดเป็นบริการที่สามารถใช้ภายในบ้านก็ทำได้โดยการติดตั้งสถานีฐานไว้ที่บ้าน (HOME BASE) ก็จะกลายเป็นเครื่องที่ใช้ได้ทั้งโทร. เข้าและออก

นอกจากนี้ยังเป็นระบบที่มีศักยภาพในการพัฒนาไปสู่ระบบเซลลูลาร์ได้อีกด้วย

หากมีพัฒนาการตรงนี้เกิดขึ้น โฟนพ้อยต์จะกลายเป็นคู่แข่งของระบบเซลลูลาร์ที่หมายถึงทั้งแทคและเอไอเอสของชินวัตร และบริการโทรศัพท์ตามบ้านของซีพีหรือไม่ ซึ่งนั่นหมายความว่าเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่เราจะได้เห็นพัฒนาการดังกล่าว

บุญชัยเคยพูดทุกครั้งที่มีโอกาสและย้ำหลายครั้งหลายคราในทำนองเดียวกันตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า ความสำเร็จของโฟนพ้อยต์วัดจาก 2 ส่วนคือ เรื่องการบริหาร และเรื่องของสินค้าและบริการ

ในประเด็นความร่วมมือในการบริหารนั้น บุญชัยพอใจมากและถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะภาพทางปฏิบัติของความร่วมมือที่เกิดขึ้นก็คือ 3 บริษัท ซึ่งทำธุรกิจเหมือนกันมาจับมือกัน คนทำงานคือคนมีฝีมือที่แต่ละบริษัทส่งมา ซึ่งแต่ละคนก็มีความคิดเป็นของตัวเองสูง

แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาถึงแม้จะมากไปด้วยอุปสรรคแต่ไม่ปรากฏการทะเลาะเบาะแว้งหรือเกิดความไม่พอใจใด ๆ ขึ้นในกลุ่ม

ส่วนเรื่องของสินค้าและบริการ บุญชัยเห็นว่าโฟนพ้อยต์เป็นของใหม่ ดังนั้นยังสรุปไม่ได้ว่าไม่ประสบความสำเร็จ

ซึ่งต่อบททดลองนี้ บุญชัยยอมรับว่ายอมขาดทุนแต่จะไม่ยอมเสียความสามัคคีในหมู่พันธมิตรเป็นอันขาด

หลังจากยูคอมได้ร่วมลงทุนกับชินวัตรในการประมูลโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมายและซีพีร่วมลงทุนกับชินวัตรในโครงการคอมพ์ลิ้งแล้ว โครงการความร่วมมือในด้านโทรคมนาคมต่อ ๆ ไปก็ได้รับคำยืนยันจากบุญชัยแล้วว่ามีแน่ เพียงแต่รอดูเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามาว่ามีความเหมาะสมและตรงกับความต้องการของตลาดเพียงใด

แต่ก็ได้มีการวางแนวทางไว้แล้วว่าจะออกมาในลักษณะของเนชั่นแนลซิสเต็มส์คันทรี คือเป็นการระดมทุนระดับ 100,000 ล้านบาท เพื่อขยายระบบโทรคมนาคมภายในประเทศ โดยเน้นไปที่การลงทุนในต่างจังหวัด

อย่างไรก็ดี การที่ให้ภูษณะ ซึ่งเป็นมือขวาของบุญชัยมาดูแลโฟนพ้อยต์ในตอนนี้ น่าจะเป็นลักษณะของรักษาการชั่วคราว มากกว่าที่จะลงมาจับและทำอย่างเต็มตัว เพราะถึงแม้ว่าโฟนพ้อยต์จะหมายถึงบททดลองชิ้นแรกแห่งการทำงานร่วมกัน ก็ยังถือว่าเป็นงานที่เล็กเกินไปสำหรับภูษณะ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us