Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มิถุนายน 2535








 
นิตยสารผู้จัดการ มิถุนายน 2535
"เปิดเสรีรถแท็กซี่ ยุติระบบเจ็กดาวน์ลาวผ่อน?!"             
 


   
search resources

ประวุฒิ พิพิธสุขสันต์
Transportation




วันนี้ป้ายแท็กซี่ราคาเท่าไร? จากนโยบายแท็กซี่เสรี ราคาป้ายเหลืองของรถแท็กซี่ที่เคยปั่นราคาซื้อขายกันด้วยราคาไม่ต่ำกว่าครึ่งล้าน ก็มีอันหล่นวูบลงเหว เพราะเพียงแค่เสียค่าธรรมเนียมในการกรอกแบบฟอร์ม 5 บาท และใช้เวลารอคอยขั้นตอนของกรมการขนส่งทางบกในการพิจารณาคำร้องและตรวจสอบสภาพรถแท็กซี่อีก 90 วัน ฝันของคนธรรมดาคนหนึ่งก็เป็นจริงได้…ถ้ามีเงิน!

วงจรธุรกิจแบบ "เจ๊กดาวน์ลาวผ่อน" จะยุติได้จริงหรือ? ยังเป็นข้อสงสัย แม้ว่าต้นทุนทำธุรกิจแท็กซี่ในปัจจุบันนี้จะไม่มีราคาค่าป้ายทะเบียน 500,000-600,000 บาทก็ตามที แต่ชีวิตคนหาเช้ากินค่ำเฉกเช่นคนขับแท็กซี่ที่ต้องเสียค่าเช่ารถหนึ่งกะ (12 ชม.) เฉลี่ย 320-450 บาท น้อยคนจะมีเงินนับแสนพอจะดาวน์รถยนต์ใหม่ขนาด 1500 ซีซี ซึ่งมีราคาประมาณ 450,000 บาท หรือรถมือสองที่ใช้งานมาไม่เกินสองปีหรือไม่เกิน 20,000 กม. ซึ่งตกประมาณ 300,000-350,000 บาท

"ผมเชื่อว่ารัฐบาลมีนโยบายเพิ่มรถหรือเปิดป้ายเสรีจะทำให้ป้ายลดลงจริงและราคาค่าโดยสารก็จะลดลง แต่นั่นเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น เพราะปัจจุบันคนขับรถมีรายได้อยู่ระหว่าง 6,000-10,000 บาทต่อเดือน ใครจะยอมเสียรายได้ส่วนนี้ไปโดยที่เขาไม่ต้องลงทุนอะไรเลย แต่ถ้าเขาจะลงทุนซื้อรถเองผมก็คิดว่ายากที่จะอยู่ได้ เพราะค่าใช้จ่ายสูงโดยเฉพาะในเรื่องการบำรุงรักษา และที่สำคัญพวกเขาเชื่อว่า ท้ายที่สุดรถแท็กซี่ที่ออกมาใหม่กับนโยบายใหม่นี้ก็จะต้องตกไปอยู่ในอุ้งมือของผู้ประกอบการรายใหญ่อีก" ประวุฒิ พิพิธสุขสันต์ ทายาทคนสำคัญของเสี่ยสมชัยแห่งนครชัยแท็กซี่ ซึ่งเป็นเจ้าของแท็กซี่รายใหญ่ย่านท่าพระ ฝั่งธนให้ความเห็น

ตามระเบียบใหม่ว่าด้วยการรับจดทะเบียนรถแท็กซี่นี้ ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีลักษณะเป็นนิติบุคคล ไม่ว่าจะจดทะเบียนเป็นรูปบริษัท หจก. หรือสหกรณ์ก็ตาม จะใช้เวลานานกว่าประเภทบุคคลธรรมดาถึง 180 วัน และป้ายทะเบียนแท็กซี่ของนิติบุคคลจะใช้ 6 ท. - ขณะที่ 5 ท. - เป็นของบุคคลธรรมดา

ลักษณะของรถแท็กซี่เสรีนี้จะต้องเป็นรถที่มีกำลังเครื่องยนต์ไม่ต่ำกว่า 1500 ซีซี ซึ่งมีขายอยู่ไม่ต่ำกว่า 10 ยี่ห้อ สีของรถจะมีสองสีคือส่วนหลังคาถึงที่เปิดประตูเป็นสีเหลือง และส่วนตัวรถเป็นสีเขียว มีเครื่องหมายแท็กซี่ติดมิเตอร์บนหลังคารถ

เงื่อนไขอื่น ๆ ก็ยังมีคือจะต้องทำประกันภัยบุคคลที่สามซึ่งมีวงเงินชดใช้ค่าเสียหายคนละไม่ต่ำกว่า 25,000 บาทต่อครั้ง และความเสียหายต่อทรัพย์สินวงเงินไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อครั้ง

นอกจากนี้ผู้ขอจดทะเบียนรถแท็กซี่จะทำได้เพียงคนละหนึ่งคัน และไม่สามารถจะจำหน่าย จ่าย โอนให้แก่บุคคลอื่น ๆ ได้ เว้นแต่การโอนให้ทายาทเท่านั้น

สำหรับอัตราค่าโดยสารที่ทางการกำหนดไว้ตามมิเตอร์ที่จะต้องติดกับรถแท็กซี่คือ ระยะทาง 2 กม. แรกจะเก็บ 35 บาท กิโลเมตรที่ 2-5 คิดเป็น กม. ละ 4.50 บาท ส่วนกิโลเมตรที่ 5-7 ขึ้นไป กม. ละ 4 บาทและกิโลเมตรที่ 7 ขึ้นไป กม. ละ 3.50 บาท กรณีที่รถติดเกินกว่า 6 กม. ต่อ ชม. คิดค่าโดยสารนาทีละ 1 บาท

"นิสัยคนไทยเราไม่ค่อยสนใจจะคิดราคาตามมิเตอร์หรอก ถึงเวลารีบ ๆ ก็ใช้วิธีต่อรองราคาชนิดเหมากันไปเลย ผมคิดว่าคงจะใช้ผสมกันไประหว่างวิธีเหมากับคิดตามมิเตอร์ไม่งั้นไม่ไหว" คนขับแท็กซี่รายหนึ่งให้ความเห็น

ก่อนหน้านี้นโยบายแท็กซี่เสรีจะเปิด มีรถแท็กซี่ป้ายเหลืองที่วิ่งบนถนนอยู่ 13,417 คัน โดยมีกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีอู่แท็กซี่ใหญ่อยู่ 5-6 กลุ่ม กระจายอยู่ตามย่านสำคัญดังนี้

กลุ่มสวนหลวง ซึ่งมีแกนนำเป็นเถ้าแก่รถแท็กซี่ชื่อดังที่รู้จักกันดีในหมู่คนขับแท็กซี่ว่า เฮียปุ๊ย เฮียกวง เฮียติ่ง และเฮียจั๊วะ

กลุ่มตรอกจันทน์ เถ้าแก่ที่คุมอู่แท็กซี่ใหญ่ ๆ ได้แก่ เฮียหงอก เฮียเส เฮียเล็ก และเสี่ยวี่

กลุ่มคลองเตย บริเวณซอยงามดูพลี ใต้ทางด่วน อู่แท็กซี่ใหญ่ ๆ ของเสี่ยติ่งและเจ๊สุนีย์ก็เป็นที่รู้จักกันดี

กลุ่มธนบุรี เถ้าแก่อู่แท็กซี่รายใหญ่ที่สุดก็คือ เสี่ยสมชัยหรือเสี่ยชัย ที่เริ่มต้นจากเช่าแท็กซี่ขับจนมีรถออสตินคันแรกจากเงินกู้ ในวันนี้มีรถแท็กซี่ในมือถึง 275 คัน กิจการอู่รถ ปั๊มน้ำมัน และปั๊มแก๊ส ที่ดินที่เคยใช้เป็นอู่ก็พัฒนาเป็นอพาร์ตเม้นต์และโรงแรม "เวสต์อิน โฮเต็ล" และล่าสุดขึ้นโครงการคอนโดมิเนียมที่รามคำแหง 65 มูลค่ากว่า 200 ล้านบาท

กลุ่มห้วยขวาง มีแกนนำคือ เฮียชาติ หรือเสี่ยสุชาติ ซึ่งเข้ามาในวงการแท็กซี่ไม่กี่ปีก็สามารถมีอาคารราคาเป็นร้อยล้านได้

บรรดากลุ่มผลประโยชน์เหล่านี้ต่างก็ได้รับผลกระทบกระเทือนอย่างหนักจากการเปิดนโยบายแท็กซี่เสรีของรัฐบาล และมีความพยายามที่จะล็อบบี้ให้นโยบายนี้ล้มเลิกไป เหมือนที่เคยกระทำได้ผลในอดีต แต่ครั้งนี้ อดีต รมว. คมนาคมคือ นุกูล ประจวบเหมาะ นโยบายนี้จึงทำได้สำเร็จ และเพิ่งมาประกาศบังคับใช้ระเบียบใหม่ในสมัยบรรหาร ศิลปอาชาเป็น รมว. คมนาคม

ธุรกิจการเมืองที่ปรากฏในวงการแท็กซี่เมืองไทยยุคเปิดเสรีนี้ จึงสร้างโอกาสและความร่ำรวยให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่รุกก้าวเข้ามาแสวงหาโดยอาศัยสายสัมพันธ์ในลักษณะสหกรณ์รายใหม่ ๆ ตลอดจนกลุ่มผู้ที่สะสมทุนจากธุรกิจเรียลเอสเตท

โดยเฉพาะที่น่าจับตาคือ กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจเต็นท์รถรายใหญ่ เช่น กลุ่มมหานคร ซึ่งหาทางสร้างมูลค่าเพิ่มกับรถยนต์มือสองที่มีขนาด 1500 ซีซี นอกจากนี้กลุ่มดีลเลอร์รถยนต์ของสิบกว่าค่ายซึ่งมีฐานธุรกิจรถยนต์อันมั่งคั่งแล้ว ก็อาจจะแตกตัวธุรกิจไปทำด้านนี้อย่างครบวงจรยิ่งขึ้น

ดังนั้นกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่เตรียมแจ้งเกิดจากนโยบายเปิดเสรีแท็กซี่นี้จึงมีไม่น้อยกว่า 10-12 กลุ่ม แต่ละกลุ่มก็เตรียมระดมทุนเพื่อโครงการยักษ์ใหญ่นี้

และแน่นอนกลุ่มของนายหน้าประเภทจับเสือมือเปล่าที่มีตั้งแต่รายย่อยจนถึงรายใหญ่ย่อมเกิดขึ้นจำนวนไม่น้อย !!

แต่งานนี้สถาบันการเงินใหญ่อย่างธนาคารกสิกรไทย ประภัศร์ ศรีสัตยากุล รองกรรมการผู้จัดการธนาคาร ได้กล่าวว่าไม่เสี่ยงที่จะปล่อยกู้แท็กซี่เสรี ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน ทั้งนี้โดยอ้างว่า นโยบายอำนวยสินเชื่อด้านนี้ยังไม่ได้มีการเตรียมการหรือหากมีผู้กู้รายใดยื่นขอมาก็จะพิจารณาว่ามีหลักประกันดีหรือไม่ ดังนั้นการขอสินเชื่อประเภทดังกล่าวหากเป็นรายบุคคลที่ไม่มีหลักค้ำประกันให้กับธนาคาร ธนาคารก็อาจไม่อนุมัติเงินกู้ได้

"ขณะนี้ยังไม่มีกลุ่มสหกรณ์หรือบริษัทไหนมาติดต่อขอกู้ แต่ก่อนหน้านี้ได้มีนักการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ท่านหนึ่งได้มาติดต่อขอกู้เงิน 500 ล้านบาทเพื่อให้แก่ผู้ขับขี่แท็กซี่ แต่หลังจากไม่ได้รับเลือกตั้ง เรื่องก็เงียบหายไป ไม่ได้ติดต่อธนาคารอีกเลย" ประภัศร์เล่าให้ฟัง

เมื่อธนาคารไม่สามารถให้กู้ได้ แหล่งเงินกู้นอกระบบหรือเงินกู้ดอกเบี้ยแพงจึงเป็นที่พึ่งของคนขับแท็กซี่ที่ตั้งใจจะมีรถสักคัน แต่จะกัดฟันสู้ได้นานสักเพียงไหนกับต้นทุนดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายมากมาย ขณะที่รายรับถูกกำหนดโดยเพดานค่าโดยสาร

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us