|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2550
|
|
แม้ Bulldog จะเป็นชื่อของพันธุ์สุนัข ซึ่งเป็นที่รู้จักดีของผู้คนทั่วโลก
แต่สำหรับ Bull-Dog Sauce Co. ชื่อเสียงและความเป็นไปของบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรุงรสอาหารจากญี่ปุ่นรายนี้ คงจำกัดอยู่เฉพาะแวดวงธุรกิจญี่ปุ่นและกลุ่มคนผู้หลงใหลในข้าวหน้าหมูทอด Tonkatsu แบบญี่ปุ่นเท่านั้น
กระทั่ง Steel Partners Japan Strategic Fund (Offshore) L.P. กองทุนที่จดทะเบียนบนหมู่เกาะ Cayman และเป็นหนึ่งในกองทุนของ Warren G. Lichtenstein นักบริหารกองทุนที่มีบทบาทสูงจากสหรัฐอเมริกา เข้าทยอยลงทุนซื้อหุ้นของ Bull-Dog Sauce อย่างต่อเนื่อง และมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในสัดส่วน 10.52%
พร้อมกับประกาศเจตจำนงที่จะครอบกิจการของ Bull-Dog Sauce ด้วยการเสนอขอทำ tender offer ที่มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 260 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านเยน เพื่อครอบงำบริษัทผู้ผลิตเครื่องปรุงรสอาหารแห่งนี้อย่างเบ็ดเสร็จเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม
กรณีดังกล่าวส่งผลให้ชื่อเสียงของ Bull-Dog Sauce เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงธุรกิจการเงินและการลงทุน
ขณะที่ราคาหุ้นของ Bull-Dog ในตลาดโตเกียวพุ่งทะยานสู่ระดับสูงสุดที่ราคาหุ้นละ 1,776 เยนอีกด้วย
ความเป็นไปของ Bull-Dog Sauce คล้ายคลึงกับสิ่งที่ Steel Partners พยายามดำเนินการในกรณีการเข้าซื้อหุ้นจำนวนมากใน Myojo Foods ผู้ผลิตเส้นบะหมี่และอาหารเมื่อปี 2006
รวมถึงการเสนอขอซื้อหุ้นใน Sapporo Holdings บริษัทผู้ผลิตเบียร์จำนวน 66.66% ซึ่งมีมูลค่ารวมมากถึง 1.5 แสนล้านเยนในช่วงต้นปี 2007 ที่ผ่านมา
ประเด็นสำคัญของปรากฏการณ์ดังกล่าว อยู่ที่ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ในบริษัทที่ตกเป็นเป้าการครอบกิจการจาก Steel Partners ต่างมีท่าทีเป็นปฏิปักษ์และต่างพยายามดิ้นรน เพื่อกีดกันไม่ให้ Steel Partners สามารถครอบครองหุ้นในสัดส่วนที่สามารถครอบงำการบริหารตามที่ Steel Partners ต้องการได้
กระนั้นก็ดี กรณีของ Bull-Dog ได้เพิ่มทวีความพิเศษยิ่งขึ้น และกำลังกลายเป็นปฐมบทของมาตรการป้องกันการถูกครอบกิจการใหม่ๆ ที่ภาคธุรกิจเอกชนญี่ปุ่นพยายามแสวงหาขึ้นมา เพื่อป้องกันตัวเองจากการรุกคืบของการบริหารจัดการและทุนจากโลกตะวันตก
หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทที่ตกเป็นเป้าการถูกครอบกิจการจะใช้วิธีร่วมมือกับบริษัทพันธมิตร ด้วยการถือหุ้นไขว้กันหรือประกาศผนวกเป็นพันธมิตรทางธุรกิจ
โดยในกรณีของ Myojo Foods ได้รับความช่วยเหลือจาก Nissin Food ในการซื้อคืนหุ้นจาก Steel Partners ซึ่งกลายเป็นกรณีที่สร้างผลกำไรให้กับ Steel Partners อย่างเป็นกอบเป็นกำ
ขณะที่ Sapporo Holdings ได้รับความช่วยเหลือจาก Asahi Breweries ในการผนวกการบริหารจัดการทางธุรกิจเพื่อต่อต้านการถูกครอบกิจการ
ผู้บริหารของ Bull-Dog ตอบโต้ความพยายามของ Steel Partners ด้วยการประกาศจัดสรร equity warrant จำหน่ายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมทุกรายรวมถึงส่วนที่ถือครองโดย Steel Partners ด้วยในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 3 warrant
แต่ Steel Partners ไม่มีสิทธิแปลง warrant ที่ได้จัดสรรครั้งนี้เป็นหุ้นสามัญได้โดย Bull-Dog จะซื้อคืน warrant จาก Steel Partners ทั้งหมดในราคา 396 เยนต่อ warrant
ซึ่งหมายความว่า Bull-Dog ต้องจ่ายเงินให้กับ Steel Partners เพื่อการซื้อคืน warrant ดังกล่าวมากถึง 2.1 พันล้านเยน แลกกับการลดสัดส่วนการถือหุ้นของ Steel Partners ใน Bull-Dog ที่จะเหลือเพียงร้อยละ 2.86 เท่านั้น
แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ ความหวังที่จะอยู่รอดจากการคุกคามและการครอบงำของ Steel Partners
ข้อน่าสนใจประการหนึ่งอยู่ที่กองทุนการเงินภายใต้การนำของ Warren G. Lichten-stein นี้ ได้ผันเงินลงทุนกว่า 7 พันล้านเหรียญ เข้าไปในบริษัทต่างๆ รวมกว่า 300 บริษัททั่วทุกมุมของโลก พร้อมกับกดดันให้บริษัทเหล่านี้ เพิ่มอัตราผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นให้มากขึ้น
กองทุนดังกล่าวยังเกี่ยวเนื่องและมีส่วนในการต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจการบริหารในบริษัทต่างๆ มากกว่า 20 แห่ง โดยมีจำนวนไม่น้อยที่กองทุนแห่งนี้ได้อำนาจบริหารมาครอบครองแล้ว
แต่สำหรับญี่ปุ่น ซึ่งกิจกรรมของผู้ถือหุ้นดำเนินไปอย่างจำกัด ท่วงทำนองของ Warren G. Lichtenstein และกองทุนของเขาได้รับการ ประเมินจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและสื่อมวลชนท้องถิ่นว่าเป็นไปเพื่อผลกำไรระยะสั้นของกองทุนมากกว่าการพิจารณาผลประโยชน์และความเป็นไปของบริษัทในระยะยาว
Steel Partners พยายามทักท้วงและร้องเรียนต่อศาลขอให้มีคำสั่งระงับมาตรการของฝ่ายคณะผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ของ Bull-Dog พร้อมกับระบุว่าการกระทำดังกล่าวเป็นประหนึ่ง ยาพิษ (poison pill) ที่ย่อมไม่ส่งผลดีต่อทั้งธุรกิจและผู้ถือหุ้นของ Bull-Dog เลย
นอกจากนี้การเลือกปฏิบัติด้วยการเพิกถอนและจำกัดสิทธิของ Steel Partners ในการแปลง warrant เป็นหุ้นสามัญ รวมถึงการซื้อคืน warrant ตามมาตรการดังกล่าว ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
ขณะที่ในการประชุมประจำปีผู้ถือหุ้น Bull-Dog เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ผู้ถือหุ้น Bull-Dog กว่าร้อยละ 80 มีมติเห็นชอบและให้การรับรองมาตรการป้องกันการถูกครอบกิจการดังกล่าว
มติของผู้ถือหุ้นดังกล่าวนี้กลายเป็นเหตุผลให้ศาลชั้นต้นตัดสินยกคำร้องของ Steel Partners โดยระบุว่ามาตรการของ Bull-Dog เป็นสิ่งที่สามารถดำเนินการได้ เพราะเป็นผลจากมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่
พร้อมกันนี้ศาลได้วินิจฉัยว่าการเลือกปฏิบัติต่อผู้ถือหุ้นบางส่วนเป็นสิ่งที่กระทำได้หากมีเหตุผลรองรับ ซึ่งในกรณีนี้ Steel Partners มีท่าทีที่ศาลระบุว่าเป็น abusive bidder อีกด้วย
ถ้อยแถลงของศาลดังกล่าวถือเป็นวลีรุนแรงที่โถมเข้าใส่ Steel Partners เพราะในสังคมญี่ปุ่น ความสัมพันธ์และกลมกลืนถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก
กระนั้นก็ดี Steel Partners มิได้ลดละความพยายาม หากได้ดำเนินการยื่นเรื่องขออุทธรณ์ต่อศาลฎีกา คัดค้านคำตัดสินของศาลชั้นต้นอีกครั้ง
ขณะเดียวกันการต่อสู้นอกบัลลังก์ศาลก็ดำเนินไปอย่างคู่ขนาน โดยฝ่ายผู้ถือหุ้นเดิมใน Bull-Dog ดำเนินการจัดสรร equity warrant ตามมติที่ประชุม
ขณะที่ข้อเสนอขอซื้อหุ้นตามประกาศ tender offer ของ Steel Partners ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 10 สิงหาคม ถูกเลื่อนออกไปเป็น 23 สิงหาคม ด้วยความหวังว่าศาลฎีกาอาจมีคำตัดสินต่างจากศาลชั้นต้น
อย่างไรก็ดี คำพิพากษาของศาลฎีกา เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่ตัดสินยืนตามคำวินิจฉัย ของศาลชั้นต้น ส่งผลให้ Steel Partners ตกอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้ตามกฎหมาย และทำให้ Bull-Dog กลายเป็นบริษัทญี่ปุ่นรายแรกที่สามารถหลีกเลี่ยงการถูกครอบกิจการด้วยการออก equity warrant เช่นนี้
Bull-Dog ซึ่งมีประวัติศาสตร์การก่อตั้งบริษัทมายาวนานถึง 105 ปี อาจป้องกันการครอบกิจการในครั้งนี้ได้ แต่ผลข้างเคียงของมาตรการที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นยาพิษ หรือ poison pill ก็รุนแรงไม่น้อย
เพราะนอกจาก Bull-Dog จะต้องใช้จ่ายเงินมากถึง 2.8 พันล้านเยน ทั้งในส่วนของการซื้อคืน warrant จาก Steel Partners รวมถึงค่าธรรมเนียมในการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและกฎหมายในการต่อสู้ครั้งนี้แล้ว Bull-Dog ยังต้องเตรียมที่จะบันทึกผลประกอบการขาดทุนมากถึง 980 ล้านเยนในงบการเงินประจำปีที่จะสิ้นสุดในเดือน มีนาคม 2008 แทนตัวเลขผลกำไรในระดับ 500 ล้านเยน ที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนพฤษภาคมด้วย
ข้อกังวลสำคัญที่เกิดขึ้นในตลาดทุนตลาดเงินญี่ปุ่น ภายหลังกรณีการต่อสู้ระหว่าง Steel Partners กับ Bull-Dog Sauce สิ้นสุดลงอยู่ที่กรณีดังกล่าวอาจส่งผลบั่นทอนภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
เพราะการป้องกันการถูกครอบกิจการในลักษณะเช่นนี้ อาจขัดขวางการเพิ่มคุณค่าของบริษัทไปโดยปริยาย
ข้อสังเกตดังกล่าวสอดรับกับข้อเท็จจริงที่ว่า การบริหารธุรกิจแบบญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ ท่ามกลางความด้อยประสิทธิภาพในการจัดทำบัญชีทางการเงิน ซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของระบบธุรกิจญี่ปุ่น
ตรรกะ วิธีคิด รวมถึงรูปแบบการดำเนินธุรกรรมของ Warren G. Lichtenstein และ Steel Partners Japan Strategic Fund (Offshore) L.P. อาจจะปรากฏเป็นภาพลักษณ์ที่น่าสะพรึงกลัวระคนน่ารังเกียจ
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเคลื่อนไหวของ Steel Partners ได้สร้างแรงกดดันที่สามารถส่งผลสั่นสะเทือนให้กับแวดวงธุรกิจญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่เป็นกลไกในการชี้ให้เห็นรอยรั่วและช่องโหว่ของทั้งมิติทางกฎหมายและในบริบทของภาคธุรกิจการเงินการลงทุนของญี่ปุ่น
ขณะที่การผนวกและควบรวมกิจการ (Merger & Acquisition : M&A) หากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว ก็เป็นเพียงกลเกมหนึ่งในข้อเท็จจริงหลากหลายในโลกเศรษฐกิจทุนนิยมใบนี้
ซึ่งหากสำนวนว่าด้วย Every dog has his day จะเป็นคำเปรียบเปรยที่ผู้คนคุ้นหูเป็นอย่างดี จะมีส่วนจริงอยู่บ้าง
ความเป็นไปของ Bull-Dog Sauce Co. นับจากนี้จะเปี่ยมด้วย glory หรือยังคงต้องดิ้นรนท่ามกลางช่วงเวลาอันยากลำบากเบื้องหน้า อนาคตกำลังรอคอยการพิสูจน์
|
|
|
|
|