|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2550
|
|
ไม่บ่อยครั้งนักที่พายุไต้ฝุ่นจะบิดเกลียวอ้อมจากทะเลญี่ปุ่นวกเข้าสู่ทางเหนือของเกาะฮอนชูในช่วงต้นเดือนสิงหาคม หากไม่ใช่เพราะความแปรปรวนของภูมิอากาศที่เกิดจากสภาวะเรือนกระจกแล้ว คงเป็นเหตุบังเอิญโดยแท้ที่พายุไต้ฝุ่นหมายเลข 4 ของปีนี้จะเคลื่อนผ่านมาขวางงานเทศกาล Nebuta ซึ่งไม่เคยมีไต้ฝุ่นปรากฏมาก่อนตลอดช่วงเวลากว่าสองศตวรรษ
กระนั้นก็ตาม ท่ามกลางเมฆดำของพายุก็ยังพอมีความโชคดีอยู่บ้างตรงที่ลักษณะเด่นของไต้ฝุ่นลูกนี้ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Usagi (ที่แปลว่ากระต่าย) นั้นได้เคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วผ่านจังหวัด Aomori ในช่วงเช้าของวันเสาร์ที่ 4 เบิกฟ้าให้ประเพณีท้องถิ่นที่ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในสามงานเทศกาลฤดูร้อนที่สำคัญที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ได้สืบสานอย่างต่อเนื่องในเย็นย่ำของวันเดียวกันนั้น ซึ่งเป็นวันที่แน่นขนัดที่สุดในงาน
เมื่อเสียงกลองดังขึ้นท่วงทำนอง "Rassera Rassera Rasse Rasse Rassera" ของบรรดาชาวพื้นเมือง Aomori ในขบวนซึ่งเรียกว่า Haneto ก็เริ่มดังตอบรับอันเป็นสัญญาณเริ่มขบวนแห่โคมไฟ Nebuta บนรถลากที่ขับเคลื่อนด้วยพละกำลังของชายฉกรรจ์ที่อยู่ข้างใต้
ผู้คนที่เข้าร่วมในริ้วขบวนแห่ล้วนแต่งกายในชุดยูกาตะที่มีผ้าสีสดคาดรั้งแขนเสื้อขึ้นไปที่เรียกว่า Tasuki เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนไหวกับผ้า Okoshi ที่นุ่งอยู่ใต้ชุดยูกาตะราวกับเป็นกางเกงไปในตัว นอกจากนี้ยังมีผ้า Shigoki ซึ่งเป็นผ้าอีกผืนหนึ่งสำหรับคาดเอวและผูกกระติกน้ำ ส่วนบนหมวก Hanagasa ประดับประดาด้วยดอกไม้และกระพรวนหลากสีตามแบบแผนประเพณีโบราณ
สีสันที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเทศกาล Nebuta อีกอย่างหนึ่งคือปฏิสัมพันธ์กับผู้คนสองข้างทางที่เดินทางมาชมงานเทศกาลโดยมีกระพรวนหลากสีเป็นสื่อที่ Haneto จะมอบให้โดยเฉพาะกับเด็กๆ นอกจากนี้กระพรวนดังกล่าวยังกลายเป็นของที่ระลึกชิ้นหนึ่งของเทศกาลนี้ที่ซื้อหาได้ทั่วไปในเมือง
ในขณะเดียวกันจังหวะประกอบกับท่าเต้นและกระโดดอย่างสนุกสนานของ Haneto ยังสอดรับกับแดนซ์ของวัยรุ่นทำให้ Rassera เป็นเสมือนแดนซ์ที่ไม่เคยล้าสมัยและนี่กระมัง ที่เป็นคำตอบว่า ทำไม Haneto ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 15-25 ปี ด้วยเหตุนี้ Nebuta จึงได้ชื่อว่าเป็นเทศกาลที่ปลูกฝังคุณค่าและสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิดที่มีเยาวชนท้องถิ่นเข้าร่วมงานมากที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น
ความโดดเด่นของเทศกาล Nebuta มิได้จำกัดอยู่เพียงเท่านี้ ประติมากรรมโคมไฟ Nebuta ขนาดใหญ่ 3 มิติ (โดยเฉลี่ยมีขนาด ความกว้าง 7 เมตร ยาว 9 เมตร สูง 5 เมตร) ที่ขึ้นโครงด้วยไม้ไผ่และลวดดัดปิดทับด้วยกระดาษสาญี่ปุ่นที่มีคุณสมบัติเหนียวทนทานแต่โปร่งแสงจากหลอดไฟที่ติดตั้งอยู่ภายในโคมขนาดมหึมานั้นเป็นตัวชูโรงสำคัญที่ดึงดูด ผู้คนนับล้านตลอดช่วงเทศกาลซึ่งทยอยเดินทางมาจากทั่วญี่ปุ่น
ถึงแม้ว่าเทศกาล Nebuta ของ Aomori จะนับสืบย้อนกลับไปได้ราว 280 ปี เมื่อเทียบกับเทศกาล Neputa ของ Hirosaki ที่มีประวัติยาวนานถึง 400 กว่าปี นอกจากนี้ สถานที่ของงานเทศกาลทั้ง 2 จะอยู่ไม่ไกลจากกันแล้วยังจัดในช่วงเวลาเดียวกันอีกก็ตาม ในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าความนิยมของ Nebuta มีสูงกว่าเนื่องด้วยความสวยงามอลังการของโคม Nebuta ที่ดึงดูดสายตาผู้คนได้มากกว่าโคมในแบบ 2 มิติของ Neputa
ประติมากรผู้สร้างสรรค์โคม Nebuta จะเริ่มออกแบบโคมใหม่ตั้งแต่งานเทศกาลของปีนั้นจบสิ้นลง ซึ่งกว่าจะวางคอนเซ็ปต์ สร้างอาคารชั่วคราวเพื่อขึ้นโครงและประดับหลอดไฟจากภายใน แปะกระดาษสาญี่ปุ่นและลงสี จนกระทั่งยกขึ้นรถลากที่มีความสูง 2 เมตร ในขั้นตอนสุดท้ายนั้นกินเวลาราว 1 ปีพอดี
อาจกล่าวได้ว่าประติมากรของโคมไฟ Nebuta เป็นอาชีพหนึ่งที่ต้องการทักษะทั้งด้านศิลปะ การออกแบบงานโครงสร้าง และความรู้ด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นอย่างดี
ประมาณการกันว่ามูลค่าการก่อสร้างโคม Nebuta ชิ้นหนึ่งเฉลี่ยประมาณ 4 ล้านเยน (100 เยน ประมาณเท่ากับ 30 บาท) ซึ่งทีมงานประติมากรที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะผลงานซึ่งได้รับรางวัลจากปีก่อนๆ เป็นเครื่องรับประกันนั้นอาจมีรายได้สูงถึง 20-30 ล้านเยนต่อปี จากบริษัทใหญ่ๆ ที่เป็นสปอนเซอร์ในงานเทศกาล Nebuta
ขบวนโคมไฟ Nebuta บนรถลากจะแห่แหนไปรอบเมือง Aomori ในช่วงเย็นตั้งแต่วันที่ 2-6 สิงหาคม เพื่อทำการเก็บคะแนนและประกาศผลโคมไฟที่ชนะเลิศในวันที่ 7 ซึ่งจะจัดขบวนฉลองในช่วงกลางวันก่อนนำไปลงเรือล่องในแม่น้ำหรือออกสู่ทะเลแทนการลอยโคม Nebuta จริงๆ อย่างเช่นในอดีต นอกจากนี้ในช่วงกลางคืนวันสุดท้ายยังแถมพกส่งท้ายด้วยงานจุดดอกไม้ไฟประจำปี
หลังจากนั้นโคม Nebuta อาจถูกแยกส่วนไปประดับตามสถานที่สำคัญในเมืองหรือส่งไปจัดแสดงยังพิพิธภัณฑ์ในต่างประเทศ เช่นที่ British Museum ในมหานครลอนดอน หรือนำไปแห่ยังประเทศต่างๆ ตามแต่จะได้รับเชิญ ยกตัวอย่างปี 2007 ที่ ลอสแองเจลิส
เรื่องราวความเป็นมาของเทศกาล Nebuta นั้นไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรที่แน่ชัด แต่เชื่อกันว่าได้รับแนวคิดมาจากเทศกาล Tourou Nagashi ซึ่งเป็นต้นกำเนิดเทศกาลอื่นๆ ในญี่ปุ่นอย่างเช่นเทศกาล Tanabata* ใน Sendai
แต่เดิมนั้นเป็นเพียงการนำโคมไฟหรือตุ๊กตาที่ทำจากกระดาษ ซึ่งจุดเทียนไขไว้ภายในแล้วนำไปลอยในแม่น้ำเพื่อขับไล่วิญญาณและสิ่งชั่วร้ายออกไปพร้อมกับนำสิริมงคลมาสู่ตนเองและครอบครัว คล้ายกับเทศกาลลอยกระทงของไทย
อีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่า Nebuta ถือกำเนิดจากความคิดของแม่ทัพ Tamuramaro ในช่วงปี 800 ซึ่งสร้างหุ่นจำลองนักรบขนาดใหญ่ที่เรียกว่า Nebuta สำหรับใช้ออกศึกสงครามและน่าจะเป็นที่มาของรูปแบบโคม Nebuta ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังมีอีกข้อสันนิษฐานหนึ่งที่เชื่อว่าเทศกาล Nebuta ได้รับอิทธิพลความคิดมาจาก Hirosaki แล้วนำมาประยุกต์สร้างเป็นโคม 3 มิติตามจินตนาการของนักรบในอดีต ซามูไร หรือเรื่องราวของนิยายพื้นบ้าน ซึ่งมีการเพิ่มเติมรายละเอียดและขนาดของโคมไฟ Nebuta มีประกวดประขันกันเรื่อยมาจนกลายเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่นิยมมานานถึงทุกวันนี้
แม้จะไม่มีหลักฐานระบุความเป็นมาที่ชัดเจนก็ตาม ในปัจจุบันเทศกาล Nebuta เป็นตัวแทนวัฒนธรรมพื้นบ้านที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สามารถสัมผัสได้อย่างใกล้ชิดในต้นเดือนสิงหาคมของทุกปี Rassera Rassera Rasse Rasse Rassera
*เทศกาล Tanabata สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในนิตยสารผู้จัดการคอลัมน์ Japan walker เดือนกรกฎาคม 2547
|
|
|
|
|