เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมอันเป็นช่วงที่เกมการเมืองของไทยกำลังคุกรุ่นไปด้วยปัญหาโครงสร้างของรัฐบาล
ที่มติของประชาชนส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า น่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นสำคัญให้นายกฯ
จะต้องมาจาก ส.ส. นั้น ในบริษัทโอสถสภา (เต๊กเฮงหยู) ก็เกิดเหตุการณ์ปรับโครงสร้างการบริหารกันใหม่บ้างเหมือนกัน
แม้เบื้องหน้าจะสร้างฉากสวยหรูในการปรับตำแหน่งบุคลากรครั้งใหม่โดยยกตำแหน่งสูง
ๆ ให้ลูกหม้อรับผิดชอบ ดูราวกับว่าเป็นการปูนบำเหน็จให้คนเก่าแก่ก่อนเกษียณอายุก็ตาม
แต่เบื้องหลังกลับมีคำกล่าวกันว่าการแต่งตั้งโยกย้ายปรับโครงสร้างครั้งใหญ่นี้มีที่มาที่ไปอย่างฉุกละหุกเลยทีเดียว
แม้ในวันเปิดแถลงข่าวดูเหมือนว่า "สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์" ก็ยังคงวุ่นวายอยู่กับการเช็กข่าวความมีเสถียรภาพของรัฐบาลยังคงอยู่หรือไม่
เล่นเอาต้องเลื่อนเวลาในการแถลงข่าวซึ่งนัดหมายในช่วงเช้าไปเป็นบ่ายโมง
ปัจจุบันสุรัตน์ยังคงรักษาสถานภาพการเป็นสมาชิกพรรคกิจสังคมอย่างไม่เสื่อมคลาย
แม้ว่าจะเป็นคนละสายกับหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันก็ตาม แต่เขาก็ยังให้การสนับสนุนพรรคตลอดอย่างไม่ขาดสาย
โดยเฉพาะในเวลานี้ที่พรรคกิจสังคมได้เข้าร่วมรัฐบาลบริหารประเทศชาติด้วย
และที่สำคัญผู้ที่นั่งคุมกระทรวงสาธารณสุขก็เป็นคนของพรรคกิจสังคมอีกด้วย
แม้การเมืองจะเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรแน่นอน แต่ในชั่วขณะหนึ่งสุรัตน์ก็อาจจะได้อะไรจากความไม่แน่นอนของการเมืองเหมือนที่เขาเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สมัยพลเอกเปรม
เบื้องหลังความฉุกละหุกดังกล่าวนี้จึงกลายเป็นที่มาของปุจฉาที่ว่า สุรัตน์จะทำอะไรและเขาหวังอะไรจากการปรับโครงสร้างนี้?
ประเด็นที่น่าจับตามองในการเคลื่อนไหวของโอสถสภาฯ ในขณะนี้ก็คือ การปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหารทั้งคนเก่าแก่
ก้นหม้อและคนหนุ่มไฟแรง
ในกรณีของการเลื่อนชั้นปรับตำแหน่งใหญ่โตให้กับคนเก่าแก่ขึ้นสู่ที่สูงของโอสถสภาฯ
นั้น ต่างเป็นที่รู้กันดีว่า นั่นคือโบนัสที่สุรัตน์ปูนบำเหน็จเป็นรางวัลแห่งความเหนื่อยยากที่คนอย่าง
"ถนอม สุหฤดำรง" ก้นกุฏิของโอสถสภาฯ มอบใจถวายชีวิตในการทำงานให้กับโอสถสภาฯ
อย่างซื่อสัตย์มาตลอดตั้งแต่ยังรุ่นหนุ่มจนใกล้ปลดระวาง
ถนอมได้ขึ้นมาถึงชั้นรองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาดต่างประเทศ นับว่าเป็นตำแหน่งผู้บริหารที่สูงเป็นอันดับรองจากสุรัตน์เลยทีเดียวก็ว่าได้
ขณะเดียวกันตำแหน่งด้านการตลาดต่างประเทศในโอสถสภาฯ นี้เป็นหน่วยงานที่คนในโอสถสภาฯ
มักจะกล่าวกันว่าเป็นหน่วยงานอันไม่พึงประสงค์กับพนักงานที่ได้รับมอบหมายให้เข้ามาอยู่ในส่วนนี้เท่าไรนัก
แม้จะเป็นหน่วยงานที่สุรัตน์เฝ้าผลักดันให้เติบโต
ถึงขนาดลงทุนลงแรงเปิดสาขาและตัวแทนจำหน่ายที่พม่า 1 แห่ง สิงคโปร์ 2 แห่งและอยู่ระหว่างการจัดตั้งที่อินโดนีเซียก็ตาม
การบุกขยายรุกตลาดต่างประเทศของสุรัตน์กลับไม่เป็นผลไปตามคาดหวังของผู้นำโอสถสภาฯ
เท่าที่ควร
เพราะอุปสรรคเพียงตัวเดียวเท่านั้นคือ บุคลากรไม่มีความมั่นใจในเสถียรภาพของตนเองเกี่ยวกับงานด้านต่างประเทศว่า
เมื่อเขาทิ้งตำแหน่งในบริษัทแม่ไปเพื่อบุกลุยตลาดต่างประเทศให้กับโอสถสภาฯ
แล้ว หากเขาจะหวนกลับเข้ามาใหม่จะหลงเหลืออะไรไว้เป็นตัวรองรับการกลับมาของเขาหรือไม่
ประวัติศาสตร์มักจะเป็นบทเรียนที่ควรค่าแห่งการจดจำ ประวัติศาสตร์ได้เกิดขึ้นซ้ำครั้งกับบุคลากรของโอสถสภาฯ
จนหน่วยงานต่างประเทศกลายเป็นที่เข็ดขยาดกลัวของพนักงานทั่วไป
เช่นนี้แล้วการสานต่อธุรกิจต่างประเทศของโอสถสภาฯ จึงเป็นไปในลักษณะขาดตอนไม่ต่อเนื่อง
จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่า เมื่อถนอมมาอยู่ในตำแหน่งนี้เขาจะทำอะไรได้บ้างกับเวลาที่เหลืออยู่
สุรัตน์กล่าวว่า การปรับโครงสร้างขององค์กรในครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ในตำนานการบริหารงานด้วยระบบครอบครัวโอสภานุเคราะห์
แรงเกื้อหนุนให้เกิดเช่นนี้เพราะโอสถสภาฯ ขาดมันสมองมืออาชีพอย่างมากมายจนเกิดช่องว่างระหว่างช่วง
ขณะเดียวกันลูกหลานของโอสถานุเคราะห์ก็ยังคงต้องเรียนรู้งานในโอสถสภาฯ อีกมากมาย
หากสังเกตให้ดีการปรับโครงสร้างแต่ละครั้งของโอสถสภาฯ จะเป็นในลักษณะของการหมุนเวียนตำแหน่งต่าง
ๆ ให้กับลูกหลานเพื่อได้เรียนรู้ก่อนการขึ้นมาเป็นใหญ่ในบริษัท
ธนา ไชยประสิทธิ์ ซึ่งเป็นลูกพี่สาวของสุรัตน์ (มีฐานะเป็นหลานของสุรัตน์)
ก่อนหน้านี้ได้ถูกระบุให้เป็นผู้อำนวยการประจำสำนักงานกรรมการผู้จัดการ ก็ได้โยกย้ายไปดูแลด้านการพัฒนาธุรกิจ
การจัดส่งสินค้าและการประชาสัมพันธ์เช่นเดียวกับประธาน ไชยประสิทธิ์ดูแลการตลาด
2 สินค้าเครื่องดื่ม ก็ได้ย้ายไปรับผิดชอบงานด้านการผลิต ในขณะที่วันทนีย์
เบญจกาญจน์ หลานสาวของสุรัตน์อีกคนหนึ่งมาควบคุมด้านการเงิน การบัญชีและกิจกรรมพิเศษ
อย่างไรก็ตามการโยกย้ายบุคลากรของบริษัทสู่ตำแหน่งที่ผลักดันให้สูงขึ้นนี้
เมื่อลูกหลานยังคงต้องเรียนรู้งานอีกมาก ผู้บริหารชั้นกลางได้ขึ้นสูง ตำแหน่งเดิมที่เปลี่ยนแปลงจึงมักไม่มีใครเข้าสวมรอยได้ทันที
คงยังต้องรักษาการเป็นสองขาพวาปีกไปเช่นนั้น จนกว่าจะฝึกปรือคนรุ่นใหม่ได้สำเร็จ
เช่น กรณี "สุนทร เก่งวิบูล" ผู้อำนวยการตลาด 3 สินค้าอุปโภค-บริโภค
สามารถทำยอดขายตลาด 3 พุ่งขึ้นมาอยู่ในหลักพันล้านบาทจากการใช้เวลาไม่ถึง
3 ปี
เมื่อสุนทรมีผลงานที่โดดเด่นสุรัตน์จึงตั้งสุนทรให้ขึ้นมาสูงขึ้นในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการรับผิดชอบสายงานที่ครอบคลุมทั้ง
3 ตลาดในขณะที่ตลาด 3 ที่สุนทรเคยเป็นผู้อำนวยการตลาดนี้มาก่อนก็ยังคงรักษาการอยู่
ก็เท่ากับว่าโอสถสภาฯ กำลังรอเวลาฝึกปรือลูกหม้อหรือไม่ก็รอมืออาชีพจากภายนอกเข้ามาแทนที่
แม้แต่ตัวสุรัตน์เองก็ยังต้องลงมาคุมในตำแหน่งรักษาการการตลาด 1 ซึ่งเป็นตลาดสินค้าประเภทยาและเวชภัณฑ์
อันเป็นสินค้าที่เคยมีปัญหาในยุครัฐบาลอานันท์มาแล้ว
ประเด็นนี้จึงน่าจะเป็นบทพิสูจน์อะไรได้อีกมากสำหรับทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรโอสถสภาฯ
เลยทีเดียว
การขาดแคลนบุคลากรของโอสถสภาฯ มิใช่เพียงตำแหน่งผู้บริหารเท่านั้น ทว่าตำแหน่งผู้นำองค์กรก็ขาดแคลนด้วยเช่นกัน
สุรัตน์เป็นผู้นำตลอดกาลของโอสถสภาฯ นับจากมีการแบ่งมรดกความรับผิดชอบของพี่น้องในตระกูลเมื่อ
2 ปีที่ผ่านมาแล้ว
ขณะนี้สุรัตน์อยู่ในวัย 61 ปี หากเป็นราชการก็ปลดเกษียณไปเมื่อ 2 ปีที่แล้วและคงมีคนใหม่ขึ้นแทนที่ไปแล้ว
แต่นี่เป็นกิจการของครอบครัว การจะยอมปล่อยให้หม้อข้าวหม้อแกงของตนเองไปตกอยู่ในมือคนอื่นไม่ว่าจะเป็นลูกหลานหรือใครก็ตาม
ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้อย่างยากเย็น ขณะเดียวกันบารมีของคนรุ่นหลัง ๆ จวบจนวันนี้
ว่ากันว่ายังมองไม่เห็นใครสักคนที่จะมีบารมีพอที่จะขึ้นมาแทนที่สุรัตน์ได้
จะมีก็แต่เพียงว่าคนที่จะขึ้นมาดูแลให้ทุกอย่างเกิดความเรียบร้อยได้เท่านั้น
ปัจจุบันสินค้าของโอสถสภาฯที่มีอยู่กว่า 200 ชนิดนี้สามารถทำรายได้ถึง
5,485 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้หลังจากการปรับขุนพลใหม่ ซึ่งสุรัตน์คาดว่าจะกลายมาเป็นการทำงานแบบทีมเวิร์คที่แข็งแกร่งและจะสร้างกลยุทธ์เอาชนะคู่แข่งจนสามารถขยายเป้าหมายออกได้เป็น
7,000 ล้านบาทได้โดยที่มาของรายได้ดังกล่าวนี้มาจากตลาด 1 ซึ่งเป็นสินค้าประเภทยากว่า
1,000 ล้านบาท ตลาด 2 สินค้าประเภทเครื่องดื่มชูกำลังอันเป็นที่มาของรายได้กว่า
70% ของบริษัทหรือร่วม 5,000 ล้านบาทและตลาด 3 ร่วม 1,000 ล้านบาท