แม้ว่าปัญหา subprime จากสหรัฐอเมริกาจะลุกลามไปทั่วโลก และประเทศไทยก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ อาการช็อกที่เกิดขึ้นทำให้สถาบันการเงินเกิดความตึงตัว แต่ในภาวะวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ ถ้ามองตลาดเงินให้รอบด้าน จะเห็นว่ายังมีการลงทุนที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและต่อเนื่อง
หน่วยธุรกิจที่โดดเด่นอยู่ในตอนนี้ก็คือ กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ FIF (Foreign Investment Funds) จากตัวเลขพบว่าตั้งแต่ ต้นปีที่ผ่านมา กองทุนนี้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) 34,251.14 ล้านบาท และคาดการณ์ว่าภายในสิ้นปีนี้จะเพิ่มอีก 34,000 ล้านบาท หรือ ทั้งปีจะมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิราว 68,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีกองทุน FIF ที่ไปลงทุนแล้วราว 48 กองทุน ภายใต้การบริหารของบริษัทหลักทรัพย์จัดกองทุนจำนวน 10 บริษัท
กองทุน FIF ยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหา subprime เพราะสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไม่อนุญาตให้กองทุนไทยเข้าไปลงทุนในตราสารอนุพันธ์ระดับ subprime ขณะเดียวกันบรรยากาศอื่นๆ ที่ช่วยส่งเสริมการลงทุน อาทิ ค่าเงินบาทที่แข็งตัวในประเทศ รวมไปจนถึงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาหุ้นไทยเริ่มนิ่ง ไม่มีความเคลื่อนไหวในเรื่องผลตอบ แทนให้กับผู้ลงทุน ประกอบกับในช่วงเวลานี้รัฐบาลได้ส่งเสริมอย่างจริงจัง และเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น จึงกลายเป็นโอกาสทางเลือกหนึ่งเพื่อกระจายการลงทุน และคาดหวังผลตอบแทน ในส่วนของผู้ลงทุน เองเริ่มมีความรู้ความเข้าใจมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา
ทำให้กองทุน FIF มีการเปิดตัวกันอย่างคึกคักและต่อเนื่อง บลจ.ไอเอ็นจีเป็นอีกบริษัทหนึ่งที่เปิดกองทุน FIF ที่เรียกว่า "กองทุนเปิดไอเอ็นจี ไทย โกลบอล วอเตอร์" เป็นการเข้าไปลงทุนในหุ้นธุรกิจ ของ 50 บริษัทที่เกี่ยวกับน้ำของ S&P Global Water Index ETF ที่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยผ่านกองทุน Claymore S&P Global Water Index ETF
มาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ไอเอ็นจีให้เหตุผลในวันเปิดตัวกองทุน พร้อมกับเปิดวิดีโอเพื่อขยายความ และฉายภาพให้เห็นความสำคัญของน้ำที่มีต่อประชากรโลกว่า ในปี 2443 ประชากรทั่วโลกมี 2,000 ล้านคน ใช้น้ำ 350,000 ลิตรต่อคนต่อปี ส่วนในปี 2543 ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านคน ใช้น้ำ 642,000 ลิตร และในปี 2568 คาดการณ์จะมีประชากรเพิ่มขึ้น 8,000 ล้านคน จึงมีความมั่นใจว่า การใช้น้ำนับวันจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว บลจ. ไอเอ็นจี เห็นว่าความต้องการน้ำไม่มีวันจบสิ้น จึงสนใจลงทุนธุรกิจนี้ อีกส่วนหนึ่งถือได้ว่าเป็นการเกาะกระแสเรื่องภาวะโลกร้อนที่ทุกประเทศ กำลังให้ความสำคัญบวกกับภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ ไม่เพียงเท่านั้น ยังชี้ให้เห็นว่า 98% ของโลกเป็นน้ำทะเล มีเพียง 2.5% เท่านั้นที่เป็นน้ำจืด ไอเอ็นจีได้มองเห็นช่องทาง และตัดสินใจเป็น บลจ.รายแรกที่ลงทุนในธุรกิจดังกล่าว
นอกจากนั้นยังได้ตอกย้ำให้เห็นอีกว่าบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยว ข้องกับน้ำทั่วโลกมี 319 แห่ง มีมูลค่าตลาด 734,541 ล้านเหรียญ (2.4 ล้านล้านบาท) ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่มากธุรกิจเหล่านี้ครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาแหล่งน้ำ ขนส่ง การประปา บำบัดน้ำ ควบคุมคุณภาพ เรื่อยไปจนถึงอุปกรณ์จำหน่าย
กองทุนเปิดไอเอ็นจี ไทย โกลบอล วอเตอร์ เป็นการลงทุนในกองทุน ETF กองแรกของ บลจ.ไอเอ็นจีได้เสนอขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 16-13 สิงหาคมที่ผ่านมา ราคา 10 บาทต่อหน่วย ต้องสั่งซื้อไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท กรณีต้องการขายต้องเสียค่าธรรมเนียม 1% ไอเอ็นจีได้คาดการณ์ว่าน่าจะขายได้ 1,000 ล้านบาท หลังจากที่เสนอขายครั้งแรกไปแล้ว จะเปิดขายอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2550 ผ่านตัวแทนจำหน่ายอีก 25 ราย ส่วนเงื่อนไขต้องซื้อไม่ต่ำกว่า 2,000 บาทเหมือนเดิม แต่ถ้าต้องการขายจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเป็น 1.5%
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดไอเอ็นจีเพิ่มเติมว่า กองทุนตัวนี้ไม่หวือหวาเหมือนกองทุนหุ้นทั่วไป เงินปันผลน้อยกว่าตลาดอื่นๆ และแนะนำให้ถือกองทุนไม่ต่ำกว่า 6 เดือนขึ้นไป พร้อม กับแนะนำว่าเงินที่ใช้นำมาลงทุนควรเป็นเงินเย็น แยกส่วนหนึ่งเป็นเก็บฝากธนาคาร อีกส่วนหนึ่งลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ และส่วนที่ เหลือ 1 ใน 3 ลงทุนในต่างประเทศ ส่วนภาวะความเสี่ยงนั้นมีแน่นอน เพราะหุ้นในกองทุนน้ำมีการซื้อขายในตลาดจริงทุกวัน ฉะนั้นอาจมีความผันผวน
|