|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
พบสปาไทยทั่วประเทศปิดตัวกว่า 30 % เหตุนักท่องเที่ยวใช้บริการน้อยและแข่งกันตัดราคากันเอง สสว.จับมือ สพว.ยกระดับมาตรฐานสปาไทย พร้อมสร้างแบรนด์แข่งขันกับตลาดเพื่อนบ้าน แทนการแข่งกันเอง
นายธนันธน์ อภิวันทนาพร ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาโครงการ สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) กล่าวถึงความร่วมมือของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ร่วมกับ สพว.ในการพัฒนาและยกระดับสปาผู้ประกอบการและผู้จัดการของสปาในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้ ว่า
ที่ผ่านมาสสว.ร่วมมือกับสพว.จัดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการให้แก่ผู้ประกอบการสปาในจังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ และสุราษฎร์ธานี เพื่อยกระดับธุรกิจสปาในจังหวัดท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคใต้ ให้มีความเข้มแข็งทั้งทางด้านการบริหารจัดการ การตลาด การพัฒนาบุคลากรในสปา ตลอดจนการสร้างพันธมิตรระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจสปาด้วยกัน และที่สำคัญ คือ "Promoting Phuket in the eye of foreign tourist as a major spa paradise" ซึ่งเป็นการระดมความคิดเพื่อผลักดันภูเก็ตให้เป็น Spa Paradise
สำหรับธุรกิจสปาในแง่ของการแข่งขันในตลาดโลก ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีขีดความสามารถค่อนข้างสูง ซึ่งถือเป็นจุดแข็ง เนื่องจากสปาเน้นเรื่องของการบริการ เป็นเรื่องของการนำภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมมาเป็นจุดขาย รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่มาสนับสนุน เนื่องจากสปาเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับภาคการท่องเที่ยวเฉพาะประเทศไทย เพราะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเป็นลูกค้าหลัก 80-90 %
นายธนันธน์ ยังได้กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจสปามีความเติบโตสูงสุดเมื่อประมาณ 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากในช่วงดังกล่าวมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก และมีสปาเปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันพบว่าทั่วประเทศมีการปิดตัวไปเป็นจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 30% ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ลดน้อยลง ส่งผลให้เกิดการแย่งชิงนักท่องเที่ยว มีการลดราคาและอื่นๆ เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้มีผู้เข้ามาใช้บริการ ทำให้การประกอบการประสบกับปัญหาขาดทุน มีการลดคุณภาพหรือบางรายถึงขั้นปิดกิจการ
"ปัญหาดังกล่าวไม่ได้กระทบเฉพาะการประกอบการแต่ละรายเท่านั้น แต่กระทบในภาพรวมของประเทศ ดังนั้น จึงต้องหาแนวทางในการแก้ปัญหา มิเช่นนั้นเมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้บริการแล้ว ไม่เป็นไปตามที่มีการประชาสัมพันธ์เอาไว้ ขณะเดียวกันประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เป็นต้น ก็มีการลงทุนทางด้านนี้ค่อนข้างมาก รวมทั้งรัฐบาลของเขาก็ให้ความสำคัญเช่นกัน ซึ่งหากปล่อยไว้เช่นนี้ สปาที่เคยบอกว่าเป็น Capital of Asia ก็จะไม่เหลืออยู่ในเมืองไทย"
นายธนันธน์ กล่าวต่อว่า จากภาวการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการไม่มีทางออก จึงได้มีแนวคิดในการจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาและยกระดับสปาไทยขึ้น เพราะปัญหาที่เกิดนั้นไม่ใช่เฉพาะภูเก็ตเท่านั้นแต่เกิดทั้งประเทศ โดยทำใน 3 ด้านหลัก คือ ลดต้นทุน มองโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มยอดขาย และประสิทธิภาพองค์กร และได้มีการพูดกับสมาคมสปาภูเก็ตและสาธารณสุขจังหวัด ในการวางยุทธศาสตร์เพื่อสร้างแบรนด์ให้แก่ภูเก็ตในตลาดโลก เพื่อจะได้มีการส่งเสริมการทำตลาดที่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม นายธนันธน์ ยังกล่าวด้วย ปัจจุบันการมาใช้บริการสปาของนักท่องเที่ยวไม่ได้มุ่งหวังเฉพาะการผ่อนคลายเท่านั้น แต่ยังมองว่าเมื่อออกไปแล้วจะมีการเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งเรื่องอาหาร วิธีคิดและการดูแลด้านจิตใจ ดังนั้น สปาในวันนี้จึงต้องมีความรู้ ส่งเสริมและยกระดับทั้งแนวคิดธุรกิจ และในแง่ของผู้ให้บริการ ไม่ใช่เรื่องของการนวดไทยเพียงอย่างเดียว
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้หากประสบความสำเร็จ ก็จะนำไปใช้ในส่วนของจังหวัดอื่นๆ ที่มีปัญหาต่อไป ทั้งเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ซึ่งหากไม่แก้ไขก็จะกลายเป็นแข่งกันตาย จึงต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่าให้ขายเป็นพื้นที่ เช่นเดียวกับกรณีของการซื้อทองต้องไปเยาวราช ซื้อเสื้อผ้าต้องไปโบ๊เบ๊ เป็นต้น ซึ่งเราบอกว่าเมื่อพูดถึงสปาแล้วต้องมาภูเก็ต เมื่อสามารถสร้างภาพลักษณ์ได้แล้ว ในส่วนของผู้ประกอบการก็ต้องพัฒนาให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อเป็นการพลิกฟื้นธุรกิจให้เดินหน้าไปได้
ทั้งนี้ นายธนันธน์ กล่าวตอนท้ายว่า เหตุที่ต้องหวงแหนธุรกิจสปาไว้ เนื่องจากในธุรกิจอื่นเราจะแข่งขันลำบาก แต่อุตสาหกรรมสปานั้นสามารถสร้างมูลค่าได้ตั้งแต่เกษตรกรผู้ปลูกพืชสมุนไพร ค่าจ้างแรงงานดี ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ตกแต่งสถานที่ก็มาจากผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือโอทอป เจ้าของเป็นคนไทย เมื่อพิจารณาแล้วเรามีแต่ได้กับได้ เพราะฉะนั้นคงปล่อยทิ้งไม่ได้
|
|
|
|
|