วิกฤติการณ์ขาดแคลนแรงงานใกล้จะมาถึง
คณะผู้แต่ง Impending Crisis ระบุว่า วิกฤติการณ์ขาดแคลนแรงงานกำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้
แต่บรรดาผู้นำธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงไม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมรับมือ ทั้งนี้ผู้แต่งซึ่งเป็นนักทำนายอนาคตอ้างข้อมูลสนับสนุนที่ได้จากสำนักงานสถิติแรงงานอเมริกันซึ่งรายงานว่า
จะเกิดการขาดแคลนแรงงานมากกว่า 10 ล้านคน ภายในปี 2010 ปัญหาดังกล่าวยังถูกซ้ำเติมให้หนักขึ้นด้วยปัญหาในระบบการบริหารงานบุคคลของบริษัท
ผู้แต่งเขียนไว้ว่า ผู้บริหารระดับสูงจำนวนมาก กำลัง "ฆ่าบริษัทด้วยการยังคงสนับสนุนระบบและปรัชญาต่างๆ
ที่ขัดขวางการสร้างเสถียรภาพ การบรรลุความสำเร็จ ซึ่งเป็นการตัดอนาคตของบริษัท"
ผู้แต่งเสนอวิธีที่จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถประเมินระดับความตระหนักรู้ถึงวิกฤติการณ์แรงงานที่กำลังจะเกิด
พร้อมทั้งแผนการที่จะช่วยผู้นำรับมือกับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ดังกล่าวที่จะมีต่อองค์กร
และการเอาตัวรอดจากวิกฤติการณ์ครั้งนี้
สร้างความแข็งแกร่งแก่ทรัพยากรบุคคล
วิธีที่ผู้บริหารจะสามารถประเมินว่า องค์กรของเขามีความตระหนักรู้ในวิกฤติการณ์แรงงานในอนาคตอันใกล้นี้มากน้อยแค่ไหน
ผู้แต่งได้แบ่งระดับความเข้าใจออกเป็น 4 ระดับขั้น
ระดับขั้นที่ 1 : "ไม่รู้เลยแม้แต่น้อย" นายจ้างประมาณ 25% ปราศจากความตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวโดยสิ้นเชิง
และยังคงปฏิบัติต่อพนักงานเหมือนเป็น "หนี้สิน" หาใช่ "ทรัพย์สิน" อันมีค่าของบริษัทไม่
ระดับที่ 2 "พอรู้" 50% ของผู้นำบริษัทรู้ว่า อาจเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน
แต่ยังคงเห็นเป็นเพียงปัญหาเรื่องการสรรหาบุคลากรซึ่งเป็นปัญหาในระดับแผนก
โดยยกให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่จะต้องหาทางแก้ไขไปตามลำพัง
ระดับที่ 3 "เข้าใจความสำคัญของปัญหา" 20% ของผู้นำรู้สึกวิตกเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
จึงตระหนักถึงความสำคัญของบุคลากร และเริ่มสนใจที่จะรู้ว่า ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการที่มีอัตราการเข้าออกของพนักงานสูงนั้น
เป็นเท่าใด มีการวัดระดับคุณภาพของพนักงาน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความพึงพอใจของลูกค้าและการบริการลูกค้า
ระดับที่ 4 "เข้าใจอย่างถ่องแท้" ผู้บริหารประเภทนี้ตระหนักในความสำคัญทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของบุคลากร
และเห็นฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็น "ศูนย์กำไร" มิใช่ "ค่าใช้จ่าย" ของบริษัท
ผู้แต่งชี้ว่า ผู้นำต้องประเมินตัวเองว่าอยู่ในระดับ 4 หรือไม่ ถ้าไม่
ต้องรีบวางแผนที่จะเลื่อนไปสู่ระดับ 4 ไม่เช่นนั้น พวกเขาจะตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบในหลายๆ
ด้าน ผู้เขียนยังเตือนด้วยว่า หากองค์กรใดไม่ยอมปรับปรุงเรื่องบุคลากรให้ได้ภายในเวลา
2 ปี องค์กรนั้นอาจเสี่ยงต่อการล่มสลายของบริษัท
วิกฤติในองค์กรด้านสุขภาพ
หลังจากแจกแจงถึงอันตรายของการมีอัตราการเข้า-ออกจากงานในระดับสูง และการให้การศึกษาแก่หัวหน้างานเกี่ยวกับการรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัท
ผู้แต่งก็ระบุว่า วิกฤติการณ์ขาดแคลนแรงงานเกิดขึ้นแล้วในองค์กรด้านการรักษาพยาบาล
ซึ่งองค์กรอื่นๆ จะต้องเผชิญเช่นเดียวกันภายในเวลา 3-5 ปีข้างหน้า
ครึ่งหลังของ Impending Crisis เป็นการเสนอวิธีแก้ไขปัญหาและกลยุทธ์รับมือกับวิกฤติการณ์แรงงานให้แก่ผู้นำและผู้บริหาร
เช่น
- จงรับฟังเสียงทุกเสียงที่สะท้อนกลับมาอย่างระมัดระวังและลงมือแก้ไขไปตามสถานการณ์
หัวใจของการบริหารในยามวิกฤติคือการลงมือทำ
- รู้ว่าต้องวัดผลของอะไร วัดอย่างไร และต้องวัดความคืบหน้าถี่แค่ไหน และรู้ว่าจะนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประโยชน์
อย่างไร
- อย่าหยุดการวางแผนสำรองกำลังคน แต่ต้องเตรียมลงทุนด้านการสำรองกำลังคนไว้ให้ดี