ปี พ.ศ.2456-2546 นับรวมได้ 90 ปีเต็มของบริษัทปูน ซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
ถือเป็นหนึ่ง ในปฐมบริษัทไทยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งที่ยังไม่เคยย้ายสำนักงานใหญ่ไปจากพื้นที่เดิม
150 ไร่ ซึ่งเคยเป็นที่ดินของเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว.เย็น อิศรเสนาฯ)
มาก่อน
โรงงานปูนใหญ่แห่งนี้เกิดจากการมองการณ์ไกลของคณะกรรมการบริษัทฯ ในสมัยนั้นที่เห็นว่าเป็นทำเลใกล้ทางรถไฟบางซื่อ
ที่สะดวกต่อการขนส่ง วัตถุดิบและจัดจำหน่ายไปสู่ตลาดผ่านการขนส่งทางคลองเปรมประชากรเป็นสำคัญ
จากเดิมที่เคยเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ แห่งแรกของประเทศไทย ที่ประเดิมด้วยการผลิตปูนซีเมนต์ชนิดปอร์ตแลนด์
ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกด้วยกำลังผลิตเพียงปีละ 20,000 ตัน
ปัจจุบัน โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ กระจายตั้งอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ
คือ ลำปาง สระบุรี และ นครศรีธรรมราช มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 23 ล้านตัน
และไม่เพียงแต่ผลิตปูนซีเมนต์เท่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยว เนื่องในการก่อสร้างทั้งหลายอีกมากมาย
ที่ถูกผลิตออกมาจำหน่ายต่อเนื่องรุ่นแล้ว รุ่นเล่าตลอดเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา
อาจถือได้ว่าเป็นวิวัฒนาการความก้าวหน้าของเครือซิเมนต์ไทยที่ไม่ต้องพูดถึงกันอีกต่อไปแล้ว
เพราะเป็นเรื่องที่เขียนได้อย่างไม่รู้จบนั่นเอง
แต่สิ่งหนึ่งที่มีมานานพร้อมกับสำนักงานที่ก่อตั้งอาคารโรงปูนนั้น คือผืนดินอันอุดมด้วยพันธุ์ไม้ใหญ่อายุมากและหายาก
ที่ทำให้ผืนดินแห่งนี้ร่มรื่น ร่มเย็น ช่วยลดมลพิษจากโรงงานมานานมาก แม้เมื่อโรงงานถูกย้ายไปนอกเมือง
ผืนดินแห่งนี้ถูกปรับเปลี่ยนเป็นอาคารสำนักงานใหญ่ เป็นกองบัญชาการของการบริหารงานปูนทั่วประเทศ
ผืนดินแห่งนี้ยังคงถูกอนุรักษ์ให้มีความเขียวสดของต้นไม้นานาชนิดๆ ตลอดมา
มีคำบอกเล่าให้ฟังว่า ผู้บริหารทุกยุคของปูนฯ ที่ผ่านมาล้วนรักและหวงแหนต้นไม้ใหญ่น้อยในสำนักงาน
แต่ละครั้งที่ต้องตัดกิ่งไม้หรือย้ายต้นเพื่อปลูกในที่ใหม่ต้องรายงานกันเป็นเรื่องเป็นราวทุกครั้งไป
นั่นอาจเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งทีเดียว ที่ทำให้สำนักงานปูนใหญ่ยังคงบรรยากาศเขียวสดใสไว้ได้ตลอดมา
ด้วยงบประมาณแต่ละปีล้านกว่าบาท
เมื่อเริ่มก้าวแรกเข้าสำนักงานใหญ่แห่งนี้ จะพบสระน้ำกว้างขนานกับอาคารปลูกบัวหลากพันธุ์ชูดอกสะพรั่ง
หลังสระบัวเป็นสนามหญ้ามีไม้ตัดแต่งเป็นช้างแม่ลูกเดิน ตามกัน ระหว่างตึกมีทั้งไม้ดั้งเดิมอายุกว่าร้อยปีที่ปลูกเป็นไม้ยืนต้น
ตั้งแต่ต้นโพธิ์ที่แม้จะถูกขุดย้ายก็ยังได้รับการบำรุงรักษาอย่างดี ต้นไทร
และไม้ไทยโบราณตั้งแต่ประดู่ ทองหลางลายดอกขาว ซึ่งเป็นไม้หายากมาก สุพรรณิการ์ดอกเหลืองสด
ที่เพิ่มสีสันให้สำนักงานในช่วงปลายปีเมื่อดอกทยอยบาน
กลุ่มต้นตะโกดัดหน้าเรือนรับรองและพลับพลาที่ประทับคราวเสด็จ เมื่อปูนซิเมนต์ไทยครบรอบ
25 ปี หรือกลุ่มปาล์มที่ปลูกแซมไปกับ ไม้เก่าดั้งเดิมด้านหน้าอาคารสโมสรของบริษัท
ทำให้ได้เห็นความงามอย่างง่ายๆ ที่กลมกลืนให้ความรู้สึกว่าบริเวณนั้นร่มเย็น
เมื่อเดินผ่านไปมาระหว่างอาคาร
Master Plan ของสวนแห่งนี้ถูกออกแบบ โดย Design 103 มาตั้งแต่อาคารสำนักงานใหญ่สร้างขึ้น
และสวนไม้ประดับ จะถูกตกแต่งโดย น.ต.ภากร ศุภชลาศัย แต่ไม้หลักไม้เด่น ที่เรียกได้ว่าเป็น
Collection ของที่นี่กลับถูกกำหนดโดยผู้บริหารของปูนเป็นสำคัญ
สมัย พารณ อิศรเสนาฯ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้มีนโยบายที่จะให้มีการรวบรวมไม้น้ำวงศ์บัวมา
ไว้ให้มากที่สุด บัวได้ชื่อว่า เป็นดอกไม้แห่งการบูชาเป็นสัญลักษณ์ของสิ่งดีๆ
ดร.เสริมลาภ วสุวัตร ปรมาจารย์แห่งบัวประดับถูกเชิญเป็นที่ปรึกษาในการนำบัวมาปลูกประดับไว้ที่นี่
ให้มีบัวสารพัดสี ทั้งบานกลางวัน และบานกลางคืน
บัวจึงเป็นไม้ประดับที่ออกดอกบานรับแขก ณ สำนักงานแห่งนี้ มีทั้งที่ปลูกลงในสระและปลูกลง
ในภาชนะที่หล่อเป็นอ่างบัวด้วยซีเมนต์ อันแสดงถึงภูมิปัญญาของชาวปูนที่รู้จักนำผลิตภัณฑ์ที่ตนผลิตมาปรับใช้งาน
ปัจจุบัน เอกสิทธิ์ สินธุสาร กรรมการผู้จัดการ CMT (Cemen Thai Service)
ซึ่งรับผิดชอบดูแลรักษาสวน อาคารสถานที่ และงานบริการทั้งหมดของบริษัท ขณะนี้มี
Key Mission ที่ต้องทำคือ Provide Effective Working Environment ได้กล่าวเพียงสั้นๆ
ถึงหลักในการดูแลสวนที่มีอายุ 90 ปีแห่งนี้ว่า
"บริษัทพยายามรักษาสวนให้อยู่ในสภาพธรรมชาติและสะอาดให้ได้มากที่สุด เพราะต้นไม้งามนั้นบ่งบอกถึงสุขภาพขององค์กร"
ฟังแล้วอนาคตของสภาพแวดล้อมเมืองไทยจึงยังมีความหวังอยู่มาก เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง
เช่นปูนซิเมนต์ไทยให้ความสำคัญกับการรักษาพื้นที่สีเขียวของตนให้มีถึง 70%
ที่สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและช่วยเสริมพลังชีวิตการทำงานสู่เป้าหมายของความสำเร็จ