เทคโนโลยีดิจิตอลได้แทรกซึมเข้าสู่ชีวิตคนเรา ด้วยความ เก่งกล้าสามารถเป็นทวีคูณ
(ตามกฎของมัวร์) เทคโนโลยีมักจะเปลี่ยนวิถีให้ชีวิตเดิมๆ ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันก็สร้างสิ่งใหม่ๆ
ให้ ยากและซับซ้อนขึ้นด้วย สุดท้ายจะกำไรหรือขาดทุนก็ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ ผมเคยเขียนถึงเรื่องของกล้องถ่ายภาพดิจิตอลมากาลครั้งหนึ่งพักใหญ่ๆ
คราวนี้ผมถือโอกาส Update ข้อมูลและเพิ่มเติมในเรื่องของการทำร้านถ่ายรูปส่วนตัวที่บ้าน
ผมสนใจการถ่ายรูปมานานตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนขาสั้น และเคยคิดจะหัดล้างรูปขยายรูปมาก็หลายครั้งแต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จ
สุดท้ายก็ขอเอาดีแค่ถ่ายก็พอ ก่อนหน้านี้เวลา ผมมีโอกาสเดินทางท่องเที่ยว
โดยเฉพาะการเที่ยวชมธรรมชาติผมจะพกพากล้องถ่ายรูป (ฟิล์ม) 2 ตัว กล้องหนึ่งใส่ฟิล์ม
Negative สำหรับถ่ายเล่น (Nikon FE2 + Zoom 28-70 mm) และอีกกล้องใส่ฟิล์ม
Slide (Minolta Dynax700si + Zoom 35-200 mm, 20 mm super wide) สำหรับถ่ายจริง
รวมทั้งขาตั้งกล้อง Manfrotto หนักๆ (คิดจะเปลี่ยนอยู่หลายครั้งแต่ยังสองจิตสองใจอยู่)
กลับมาก็จะได้ Album ภาพจากฟิล์ม Negative 2-3 เล่ม (เลือกรูปสวยๆ แล้ว)
และ Slide 35 mm อีกตั้งหนึ่งซึ่งผมมักจะดูผ่าน Viewer ใส่ถ่านเล็กๆ รอบสองรอบแล้ว
เก็บเข้าตู้ โดยนึกในใจว่าสักวันจะรวบรวมแล้ว Scan คุณภาพสูงเก็บเข้าซีดี
ถึงวันนี้โครงการ Scan เข้าซีดี ยังไม่บรรลุ แต่คาดว่าอีกไม่นาน (ถึงวันนั้น
ผมจะเล่าต่อ) ส่วนวันนี้ผมได้พัฒนามาขั้นหนึ่งโดยการหันมาใช้กล้องดิจิตอลแทนกล้องถ่ายเล่น
ไม่นานนักผมได้ซื้อกล้องดิจิตอลชนิด Compact แต่มี Feature ครบครัน Canon
S45 (ตอนนี้เป็น S50 แล้ว) ก่อนซื้อผมใช้เวลา ศึกษาอยู่พักใหญ่ๆ โดยเฉพาะจาก
Web ความจริงก็มีกล้องหลาย ยี่ห้อที่คุณภาพไม่แพ้กันเช่น Minolta, Olympus,
Fujifilm, Nikon และ Sony เป็นต้น แต่ผมเลือก Canon เพราะเรื่องของคุณภาพ
ของภาพและ Manual Control ที่ครบครัน และที่พิเศษคือ Time Lapse ซึ่งเป็น
Feature ที่มีอยู่ในกล้องระดับอาชีพเท่านั้น ลองใช้งานดูก็รู้สึกประทับใจในเรื่องของคุณภาพของภาพโดยเฉพาะเรื่องสีที่เป็นธรรมชาติ
ส่วนข้อติที่รู้สึกได้ชัดเจนคือ ปุ่มกด ห้าทิศทางที่ใช้ยากไม่แม่นยำ และ
Manual Focus ที่ต้องใช้ 2 มือ เพื่อใช้งาน แต่อย่างที่กล่าว ผมจะเน้นใช้ถ่ายเล่นจึงยังไม่ซีเรียส
มาก ถ้าจะเอาจริงกว่านี้คงต้องใช้กล้อง SLR เช่น Nikon D100, Canon D60 หรือ
D10 แต่ที่น่าสนใจ คือ Olympus 4/3 System ซึ่งกำลังจะวางขาย (ในเมืองนอก)
เป็นกล้อง SLR ที่ใช้ CCD ขนาด 4/3 นิ้ว สามารถ เปลี่ยนเลนส์ได้ และมีชุดของเลนส์มาให้เลือกชุดหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม กล้องระดับนี้ยังมีราคาสูงประมาณ 100,000 บาท ยังไม่คุ้มค่านักสำหรับมือสมัครเล่น
(อย่าง ผมคนหนึ่ง) แต่ผมเชื่อว่าไม่นานเกินรอ ผมคงต้องได้เปลี่ยนฟิล์ม Slide
เป็น Memory Chip เป็นแน่
ได้กล้องดิจิตอลมาถ่ายรูป จะพบว่าชีวิตเปลี่ยนไปคือ ถ่ายแล้วไม่ต้องล้าง
เพียงแต่โหลดเข้าคอมพิวเตอร์ แล้วดูภาพในจอคอมพิวเตอร์ แต่เกิดปัญหาคือดูแล้วดูอีกก็ยังรู้สึกขาดๆ
ถึงแม้จะเป็นจอ Flat CRT ขนาด 19 นิ้ว แล้วก็ตาม เนื่องจาก Resolution ของจอคอมพิวเตอร์ยังหยาบและสีสันก็ดูสดเกินความจริง
และ Shade สีก็หยาบ ทำให้ขาดอารมณ์ความรู้สึกและอีกข้อ เวลาที่จะโชว์ผู้คนก็ต้องติดข้อจำกัดเรื่องคอมพิวเตอร์
จะสะดวกก็เฉพาะใน Net แต่ก็อีก ขาดความรู้สึก ผมคิดว่าการได้ดูภาพจากเครื่องฉาย
Slide หรือรูปที่ Print มาจะให้ความรู้สึก เป็นตัวเป็นตนกว่าและได้อารมณ์กว่า
ทนไม่ได้ก็ต้องควักกระเป๋า หาซื้อเครื่องพิมพ์ที่เป็น Photo Printer มาเครื่องหนึ่ง
ผมมีเหตุผลที่จะต้องซื้อ Printer เครื่องใหม่เพราะ Printer ที่ใช้อยู่มีสภาพไม่ค่อยสมประกอบ
(ใช้งานมาพอสมควร) ขณะเดียวกันก็ถือโอกาสพิมพ์ภาพจากกล้องดิจิตอลด้วย ผมจึงต้องเลือกซื้อเครื่อง
Printer ที่มีความสามารถทั้งคู่ ผมค้นหาอยู่พักหนึ่งก็มาลงเอยที่ Canon i850
(ผมไม่ได้มีอะไรกับ Canon แต่ ขอให้ท่านได้ค้นคว้าทาง Web อย่างผม) เครื่องรุ่นนี้แม้จะเป็นเครื่องพิมพ์
Inkjet ชนิด 4 สีซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ในงานสำนักงาน แต่ก็สามารถพิมพ์ภาพถ่ายได้คุณภาพน่าทึ่งทีเดียว
เครื่องพิมพ์ภาพหรือ Photo Printer ในปัจจุบันจะใช้หมึก 6 สีซึ่งจะให้รายละเอียดของการไล่สีที่ละเอียดดีกว่าเครื่องพิมพ์ชนิด
4 สี ซึ่งถ้าท่านต้องการจะหาซื้อเครื่องพิมพ์สำหรับภาพถ่ายโดยเฉพาะ ผมก็ยังคงแนะนำให้ท่านเลือกเครื่องพิมพ์
6 สี จะเหมาะกว่า ส่วนจะเป็นยี่ห้อใด รุ่นใดขอให้ท่านค้นคว้าเอาเอง กลับมาที่เครื่องของผม
i850 มีข้อดีที่สำคัญคือ หมึกพิมพ์ แยกตลับ 4 สี 4 ตลับ และสีดำตลับจะใหญ่กว่าสีอื่นเพื่อการพิมพ์เอกสาร
สีไหนหมดก็เปลี่ยนตลับสีนั้น และข้อดีอีกข้อคือความเร็ว เครื่องนี้สามารถพิมพ์ภาพสีไร้ขอบเต็มแผ่น
A4 ที่โหมดคุณภาพสูงสุดได้ในเวลาไม่ถึง 4 นาที
ข้อแนะนำการพิมพ์ภาพถ่าย ท่านจะต้องใช้กระดาษชนิด Photo Glossy หรือ Photo
Silky เพื่อให้ได้คุณภาพของรายละเอียดและสีสัน แต่ราคากระดาษชนิดนี้ค่อนข้างแพงคือมีราคา
แผ่นละ 15 ถึง 30 บาท (A4) ถ้าจะประหยัดอาจใช้ Semi Glossy หรือ Inkjet Printer
แต่จะทำให้สีจืดลง ท่านไม่ควรใช้กระดาษธรรมดาพิมพ์ภาพถ่ายเพราะภาพจะหยาบ
สีจะจืดและผิดเพี้ยนมาก และที่สำคัญไม่คุ้มค่าหมึกพิมพ์ (ค่าหมึกพิมพ์ภาพสี
A4 จะแพงกว่ากระดาษหลายเท่า) นอกจากนี้ท่านควรจะหัดปรับแต่งภาพเพื่อให้ได้สีที่พิมพ์ออกมาใกล้เคียงต้นฉบับ
การปรับแต่งภาพเบื้องต้นที่สุดคือ Brightness และ Contrast ท่านอาจต้องลงทุนหาจุดที่เหมาะสมสำหรับกระดาษแต่ละชนิดแต่ละยี่ห้อ
โดยต้องทดลองพิมพ์ออกมาแล้วเทียบสี ท่านไม่สามารถใช้จอคอมพิวเตอร์เทียบสีได้เพราะมีความคลาดเคลื่อนสูง
ในกรณีที่ต้องการปรับสีของภาพให้ละเอียดและถูกต้องยิ่งขึ้น ท่านอาจต้องปรับ
Channel Level และ Color Balance ถ้าเป็นไปได้ท่านอาจจะต้องหา Test Chart
หรือ Test Photo เพื่อใช้เป็นจุดอ้างอิงสำหรับปรับสีเพื่อการพิมพ์
ส่วนการตั้งระดับความละเอียดของภาพ โดยทั่วไปผมจะตั้งความละเอียดเวลาถ่ายภาพไว้สูงสุดเพื่อเป็นต้นฉบับที่ดี
ข้อเสียคือท่านจะต้องมี Memory สำรองไว้มากหน่อย สำหรับการถ่ายภาพเพื่อดูเล่นขนาด
3R หรือ 5 X 3.5 นิ้ว สามารถใช้ความละเอียดต่ำสุดในการถ่ายภาพคือ 1024 X
768 เวลาพิมพ์ภาพจะได้รายละเอียดของรูปประมาณ 200 DPI (Dot per inch) ความเห็นของผมรูปที่จะได้คุณภาพดีจะต้องมีความละเอียดของรูปที่เตรียมไว้สำหรับการพิมพ์ประมาณไม่น้อยกว่า
200 DPI ส่วนที่เครื่องพิมพ์ต้องตั้งความละเอียดไว้สูงสุดของเครื่องพิมพ์
(อาจต้องอดทนรอเวลาพิมพ์) ข้อระวังอีกอย่างคือ กล้องถ่ายภาพดิจิตอลจะมี Aspect
Ratio 4 : 3 (เช่นเดียวกับจอคอมพิวเตอร์) ในขณะที่กล้องถ่ายภาพ ฟิล์มจะมี
Aspect Ratio 3 : 2 ต้องระวังเรื่อง Clipping หรือ Aspect Ratio ผิดขณะทำการพิมพ์ด้วย
ถ้าท่านได้ลองจับจุดสักพัก จะสามารถทำร้านถ่ายรูปส่วนตัวที่บ้าน ซึ่งท่านสามารถจะปรับแต่งและควบคุมคุณภาพได้ตามใจชอบ
แต่จุดประสงค์ไม่ได้เพื่อความประหยัดหรือความสะดวกสบาย เพราะต้นทุนการพิมพ์ภาพเองจะแพงกว่าร้านแถมยังต้องลงไม้ลงมือให้ลำบากอีก
แต่จุดประสงค์อยู่ที่ความสนุกในการทำ ได้ลงมือสร้างสรรค์งานถ่ายภาพจากต้นทางถึงปลายทาง
ก็เหมือนช่างภาพที่ชอบถ่ายเองล้างเอง อัดขยายเอง และถ้าท่าน ติดลม ยังอาจพัฒนาผลงานโดยใช้การปรับแต่งหรือตัดต่อภาพขั้นสูงกลายเป็น
Digital Photo Artist ไปเลยก็ได้ เป็นการสานฝันวันเก่าให้เป็นจริงด้วยดิจิตอลเทคโนโลยี