ตอนแรกผมกะว่าจะเขียนเรื่อง Whisky ตอน จบ แต่บังเอิญสงครามอิรักเริ่มขึ้นมาพอดี
จึงขออภัยท่านผู้อ่านยกยอด Whisky 3 เป็นฉบับต่อไปก็แล้วกันนะครับ
ผมคงจะไม่วิเคราะห์เหตุการณ์มากมาย เนื่อง จากนักวิชาการผู้มีคุณวุฒิทั้งหลายคงจะวิเคราะห์ไปแล้ว
และก็คงจะวิเคราะห์ดีกว่าผมซึ่งไม่ใช่ผู้รู้โดยตรง สิ่งที่ผมจะเขียนต่อไปนี้เป็นการแสดงทัศนคติส่วนตัว
รวมถึงการถ่ายทอดทัศนคติบางส่วนของคนใน UK ที่ผมรู้จัก
กระแสคัดค้านต่อต้านสงครามมีมากมายทั่วมุมโลก ที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วสหราชอาณาจักรมีการประท้วงเป็นประจำ
รวมถึงเมืองผมด้วย นักศึกษาส่วนมากให้ความสนใจ ประชาชนทุกเพศทุกวัยร่วมกันเดินขบวนต่อต้านสงคราม
แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของ Bush และ Blair ก็ขนาด UN ยังไม่มีผลอะไรเลย
ก็ขอยอมรับในความเด็ดเดี่ยวก็ แล้วกันนะครับ จะถูกหรือผิดก็อีกเรื่องหนึ่ง
(หัวดื้อ อันธพาล หรือแน่วแน่ในนโยบายก็คิดกันเอาเองนะครับ)
ขณะที่เขียนอยู่ สงครามเริ่มมาอาทิตย์กว่าๆ แล้ว คนส่วนใหญ่ที่ผมรู้จักก็ต่อต้านสงครามกันทั้งนั้น
ความเห็นของเพื่อนๆ ผม ส่วนมากค่อนข้างจะคล้ายๆ กันอยู่จุดๆ หนึ่ง สงครามนี้เป็นสงครามผลประโยชน์กับสงครามนี้ทำให้รู้ว่าสื่อนั้นเชื่อถือไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
ไม่มีใครรู้ว่าอะไรคือจริงหรือไม่จริง ทุกอย่างเป็นจิตวิทยาสื่อมวลชนที่พยายามดึงผู้คนให้มาสนับสนุนตนเอง
James Roony เพื่อนของผมคนหนึ่งให้ความเห็นที่น่าฟังว่า ทุกอย่างมันทำให้เกินจริงหมด
(exaggerate) ทั้งการพยายามพูดแบบเป็นฮีโร่ของบุช การเสนอข่าวด้านเดียวทั่วไปของอเมริกาและอังกฤษ
แต่ในขณะเดียวกัน จะเชื่อข่าวสถานีอิรักได้หรือเปล่า เขาอาจจะทำให้น่าสงสารเกินจริงก็ได้
อะไรคือจริง อะไรคือลวง คนแยกกันไม่ออกแล้ว รู้แต่ว่าสงครามต้องมี ผู้แพ้
ผู้ชนะ มีความสูญเสีย เขาไม่อยากให้เกิดขึ้นเพราะการตัดสินใจส่วนตัวของคนกลุ่มหนึ่งครับ
นี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของความเห็นของเด็กหนุ่มชาวอังกฤษคนหนึ่งที่ไปเดินประท้วง
เท่าที่ผมสังเกตนักข่าวบางคนยังใช้คำสรรพนาม "we" เมื่อพูดถึงกองทัพอังกฤษกับอเมริกันที่บุกนครแบกแดดอยู่
ตัวอย่างก็ MSNBC ที่ใช้คำว่า "Our hearts go with them" ควบคู่ไปกับรูปของกองทัพอเมริกันในทะเลทราย
สื่อมวลชนอเมริกันนั้นแทบจะไม่เสนอภาพของทหารหรือประชาชนอิรักที่บาดเจ็บเลย
แต่คงโทษเขาไม่ได้ล่ะครับ ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าบุชนั้นดึงเอา ABC, NBC
และ CBS ออกมาจากแบกแดดเองแล้วก็ CNN โดนอิรักไล่ออกมา ผลลัพธ์คือ สื่ออเมริกันเสนอข่าวด้วยรูปของนาวิกโยธินวิ่งไปวิ่งมาในทะเลทราย
ประธานาธิบดีบุชกล่าวสุนทรพจน์ชมกองทัพของตัวเองบอกว่า อเมริกากับอังกฤษเป็นฮีโร่ที่ต้องการจะปลดปล่อยประชาชนชาวอิรักจากเผด็จการนายซัดดัม
สื่ออเมริกันนั้นด้านเดียวจริงๆ ต้องทำให้คนในประเทศเชื่อเราให้ได้ครับ ถ้าไม่เชื่อจะเป็นปัญหาที่สำคัญคนอเมริกันส่วนใหญ่รู้ตัวหรือเปล่า
พูดถึงสื่ออเมริกันมามากแล้ว พูดถึงเรื่องใกล้ตัวอย่างสื่ออังกฤษกันดีกว่า
สำหรับหนังสือพิมพ์แล้วยังแบ่งเป็นซ้ายกับขวาอยู่เหมือนปกติ ฝั่งซ้ายอย่าง
The Guardian นั้นยังไงก็ต่อต้านสงคราม ในขณะที่ Daily Telegraph, The Times
พยายามให้เหตุผลว่าสงครามนั้นเป็นทางเดียวที่จำเป็น แต่ที่เคืองผมมากคือนิตยสาร
Economists ที่สนับสนุนอเมริกากับอังกฤษ สุดๆ ให้เหตุผลไปในทางเดียวจริงๆ
สื่อยังประโคมข่าวถึงทหารกล้าชาวอังกฤษที่เสียชีวิตไปได้กลับมาบ้านอย่างสมเกียรติ
ความรู้สึกเศร้าใจของคนในครอบครัว พร้อมรูปประกอบในหน้าหนึ่งด้วย อย่างไรสื่ออังกฤษก็เป็นกลางกว่าอเมริกันครับ
ยังให้ข่าวจากทางสื่อตะวัน ออกกลางมาเสริมตลอด Iraq TV นั้นเอามาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แสดงภาพของสงครามว่าช่างโหดร้ายเหลือเกิน BBC, ITN และ Channel 5 ไม่สามารถทำให้ผู้สื่อข่าวของตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์
ได้เลย ผมอ่านคอลัมน์ของคุณ Jainne di Giovanni ใน The Guardian เมื่อวันก่อนถึงได้รู้ว่ารัฐบาลได้ส่งคนไปควบคุมข่าวจากนักข่าวที่นั่น
นอกจากนั้นแล้ว การจะไปอยู่กลางทะเลทรายนั้นเพื่อจะได้รู้ว่ารบที่ไหนอย่างไรนั้น
แทบจะเป็นไปไม่ได้ ข่าวทางสำนักข่าวของ อาหรับนั้นจึงเป็นสิ่งที่ช่วยได้อย่างมาก
ที่ผมว่าค่อนข้างดีคือให้ประชาชนมาร่วมให้ความเห็นในรายการต่างๆ ทางโทรทัศน์
ที่สำคัญมีทั้งสองฝ่ายครับ ฝ่าย Pro-War กับฝ่ายต่อต้าน
ผมเริ่มกลับไปคิดถึงเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมา บางทีที่เราตกอยู่ใต้อิทธิพลของชาวตะวันตกรวมถึงวัฒนธรรมของเขาถึงขนาดนี้
อาจจะเป็นเพราะสื่อ ก็ได้ ถึงจะไม่เป็นแบบเมื่อก่อนที่ชาว Dutch สอนให้คนอินโดนีเซียคิดว่าอินโดนีเซียนั้นเล็กมาก
แล้วฮอลแลนด์นั้นใหญ่เหลือเกิน ก็เป็นแบบที่ชาติมหา อำนาจตะวันตกให้ชาติอื่นคิดว่าต่ำต้อยกว่า
คำว่า Third World นั้นใครเล่าบัญญัติขึ้นมา กฎ กติกา มารยาทต่างๆ ก็เป็นพวกเขาทำให้เกิดขึ้น
เราไปเชื่อเขาเองจะทำอย่างไรได้ ที่สำคัญสื่อของรัฐบาลเขาประสบความสำเร็จที่ทำให้คนของเขารู้สึกว่าเขาเหนือกว่าจริงๆ
จึงมีความมั่นใจและทำให้คิดว่าทำในสิ่งที่ถูก อีกฝ่ายก็ตามทางเขา โดนกดอยู่ในกติกาของเขา
ตามเขา เรียนจากเขา จึงโดนทำนายได้ว่าจะทำอะไรต่อไป ทุกอย่างอยู่ในความควบคุมวัฒนธรรมก็ต้องโอนอ่อนไปทางนั้น
จริงๆ เป็นเช่นนั้นหรือ หรือแตกต่าง ไม่ได้หมายความว่าต่ำต้อย ความสำคัญของแต่ละวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน
บางทีความกลัวทำให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ครับ ความกลัวของตะวันตกทำให้เขาเติบใหญ่
สงครามอิรักที่เกิดขึ้นก็มิใช่มีพื้นฐานจากความกลัวหรอกหรือ กลัวน้ำมันหมด?
กลัวว่าซัดดัมจะทำร้ายก่อน? จึงต้อง ไปทำร้ายเขาก่อน กลัวจะไม่สามารถควบคุมบ่อน้ำมันได้?
กลัวเศรษฐกิจจะตกต่ำ? ไม่ว่าจะเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ ก็มาจากความกลัวทั้งนั้น
สงครามก็ดำเนินต่อไป ชีวิตคนก็ดำเนินต่อไป ตราบใดที่มีความกลัว ชีวิตคนก็ไม่สงบสุข
ดิ้นรนต่อไป ทุกวันนี้มิใช่เราทำสงครามกันเป็นประจำทุกวันหรือ แก่งแย่งงาน?
กลัวไม่มีจะกิน? กลัวตาย? กลัวไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง? ครับ แม้แต่ภายในจิตใจของเราเองบางทีก็ต้องต่อสู้กัน
สงครามคงจะหยุดถ้าปราศจากความกลัวกลับมาเป็นความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ผมจะรอวันนั้น
วันที่ทุกคนไว้ใจกัน วันที่สื่อมีแต่สิ่งดีๆ และเป็นกลาง (แล้วก็หวังว่าจะขายได้นะครับ)