แบงก์ชาติเผยช่วงวิกฤตซับไพรม์ 2 สัปดาห์สุดท้ายเดือนก.ค. ต่างชาติเทขายหุ้นมีเงินไหลออกจากไทยกว่า 8 พันล้าน ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี มีเงินทุนจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย 1.16 แสนล้านบาท สูงเป็นอันดับ 3 ของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเชีย และมีแนวโน้มเงินทุนเริ่มไหลเข้าอีกระลอกหลังหลังรัฐธรรมนูญผ่าน ทำให้ทิศทางเงินบาทยังแข็งค่าต่อ
รายงานข่าวจากสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)แจ้งยอดเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชีย ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2550 โดยเอกสารระบุว่า ตั้งแต่ต้นปี 2550 จนถึงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ได้มีเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้รวมถึงประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ค่าเงินภูมิภาคและค่าเงินบาทของไทยปรับตัวแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากกลางเดือนกรกฎาคมได้เกิดเหตุการณ์ที่กระทบกับความเชื่อมั่นในความมั่นคงของตราสารหนี้ที่มีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพหนุนหลัง(ซับไพร์ม)ในสหรัฐ ประกอบกับดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการเทขายหุ้นในตลาดหุ้นภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีเงินเริ่มไหลออกจากภูมิภาคนี้ จากการนำเงินออกเสริมสภาพคล่องให้กับบางกองทุนที่ขาดทุนจากสภาวะดังกล่าว
สำหรับ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม หรือ 7 เดือนแรกของปี มีเงินไหลเข้าสุทธิในกลุ่มเอเชียเกิดใหม่ 6 ประเทศ ได้แก่ ไต้หวัน,เกาหลี,อินโดนีเซีย,ฟิลิปปินส์,อินเดีย และไทย(เอเชีย-6) จำนวนทั้งสิ้น 15,537.2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศไทยมีเงินไหลเข้ามากเป็นอันดับที่ 3 ของกลุ่มจำนวน 3,428 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 116,552 ล้านบาท (ใช้อัตราแลกเปลี่ยน 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ขณะที่ประเทศอินเดียมีเงินไหลเข้าสูงสุดในภูมิภาคจำนวน 9,188.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามมาด้วยไต้หวันจำนวน 5,998 ล้านเหรียญสหรัฐ ฟิลิปปินส์จำนวน 1,883.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และอินโดนิเชียจำนวน 1,758.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เกาหลีใต้เป็นยอดเงินไหลออกทั้งสิ้น 7,073 ล้านเหรียญสหรัฐ
และหากพิจารณาเงินไหลเข้าตั้งแต่ต้นปี 2550 จนถึงครึ่งแรกของเดือนกรกฎาคมมีเงินทุนไหลเข้าเอเชีย-6 รวมทั้งสิ้น 25,174 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไต้หวันเป็นประเทศที่มีเงินทุนไหลเข้ามากที่สุด 10,521 ล้านเหรียญสหรัฐ อันดับ 2 ประเทศอินเดีย 7,675.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนประเทศไทยเป็นอันดับ 3 มีเงินไหลเข้าจำนวน 3,677.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 125,028.2 ล้านบาท ฟิลิปปินส์ 1,823.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และอินโดนิเชีย 1,619.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เกาหลีใต้มีเงินไหลออก 497 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม ซึ่งมีการเทขายหุ้นในภูมิภาคนี้เป็นจำนวนมาก ได้ส่งผลให้มีเงินไหลออกทั้งสิ้น 9,636.8 ล้านเหรียญ โดยมีเงินไหลออกจากประเทศเกาหลีใต้มากที่สุด 6,576 ล้านเหรียญสหรัฐ มีเงินไหลออกจากไต้หวัน 45,230 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ประเทศไทยมีเงินไหลออก 49.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 8,476.2 ล้านบาท แต่ในส่วนของอินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดียยังเป็นเงินไหลเข้า 138.2 ล้านเหรียญสหรัฐ 60 ล้านเหรียญสหรัฐและ 1,513.2 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ
นอกจากนี้ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า สภาวะที่มีเงินไหลออกจากไทยดังกล่าว ถือว่าเป็นปัจจัยระยะสั้นและจะไม่กดให้ค่าเงินบาทอ่อนลงได้มากนัก ซึ่งเท่าที่ติดตามจะเห็นได้ว่า หลังจากประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมาได้มีเงินไหลเข้าจากต่างประเทศอีกครั้ง โดยค่าเงินบาทล่าสุดที่ประกาศโดย ธปท.วานนี้อยู่ที่ระดับ 34.33 บาทต่อดอลลาร์นั้น อ่อนค่าลง 1.49% เทียบกับสิ้นเดือนกรกฎาคม แต่แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย 0.03% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า
|