|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“ศุภชัย พานิชภักดิ์” แนะแนวทางบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน กระจายพอร์ตเงินสกุลต่างประเทศแทนยึดติดเงินดอลลาร์เพียงสกุลเดียวป้องกันความเสี่ยง ระบุ ธปท. ควรมีมาตรการคุมเงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาเก็งกำไร ขณะนี้เครื่องมือแก้ปัญหายังมีไม่พอ สอนผู้ประกอบการไทยลงทุนเมืองนอก แทนหวังพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ชี้พลังงานทดแทนจากพืชเกษตร ทำเงินเฟ้อรุนแรงในอนาคต
นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง บทบาทของไทยในเวทีโลก ที่สมาคมผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจ วานนี้ (23 ส.ค.) ว่า การบริหารด้านการเงิน ต้องมีการดูแลให้มีเสถียรภาพในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะปัจจุบัน เรื่องของการเงินไร้ซึ่งการควบคุม ไม่เหมือนกับเรื่องของการค้าที่มีกฎระเบียบออกมาควบคุมอย่างชัดเจน โดยในส่วนของไทย ไม่ควรผูกค่าเงินบาทกับเงินดอลล่าร์สหรัฐเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีอีกหลายสกุลที่ไม่ผันผวน ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็อาจพิจารณาว่าจะสร้างสมดุลได้อย่างไร
ขณะเดียวกัน ควรจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการต้องเปิดให้สามารถเก็บเงินตราสกุลอื่นไว้ได้นานขึ้น และให้ความรู้ในการบริหารความเสี่ยงด้วย
“เห็นว่า ธปท.ก็ยังเป็นหน่วยงานหลักที่ดูแลด้านเศรษฐกิจของประเทศ และการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว มีการเข้าไปบริหารจัดการค่าเงินในช่วงที่เกิดความผันผวน ซึ่งถือว่าเหมาะสม แต่ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาภารกิจของ ธปท.มีมาก ขณะที่เครื่องไม้เครื่องมือในการแก้ปัญหายังมีไม่พอ อีกทั้งการทำความเข้าใจกับสาธารณะยังน้อยเกินไปอีกด้วย จึงทำให้การแก้ปัญหายังไม่เห็นผลมากนัก”
ส่วนบทบาทไทยในเวทีการค้าโลกนั้น นายศุภชัยกล่าวว่า อนาคตจะต้องพัฒนา และมีการออกไปลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้น นอกเหนือจากการเป็นผู้รับทุนจากต่างประเทศเข้ามา เพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจประเทศไทยในอนาคต ซึ่งขณะนี้ ถือว่าเหมาะสมมาก เพราะค่าเงินบาทแข็งค่าจึงเป็นโอกาสที่ไทยจะไปลงทุนในต่างประเทศด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ไทยต้องเตรียมรับมือ ก็คือ ในเรื่องของพลังงาน เพราะขณะนี้ทุกภูมิภาคในโลกมีการใช้พลังงานมากขึ้น โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียมีการขยายตัวด้านการใช้พลังงานสูงถึง 7-10% ทำให้พลังงานมีไม่เพียงพอใช้ และเริ่มมีการนำพลังงานทดแทนมาใช้มากขึ้น ซึ่งต้องพิจารณาว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ เพราะการนำผลผลิตด้านอาหารมาทำเป็นพลังงานทดแทน จะต้องคิดให้รอบคอบ เพราะมีผลต่อเนื่องในระยะยาว
“การนำพืชเกษตรที่เป็นอาหารมาทำพลังงานทดแทน ช่วยในเรื่องของการมีพลังงานใช้ก็จริง แต่จะส่งผลในระยะยาว คือ ทำให้พืชเกษตรซึ่งเป็นอาหารมีราคาแพงขึ้น และในที่สุดก็ไม่ได้ทำให้ต้นทุนการใช้พลังงานถูกลง แต่จะทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น”นายศุภชัยกล่าว
|
|
|
|
|