|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ปกรณ์" มาวินนั่งตำแหน่งประธานตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามโผ หนุนไอเดียแปรรูปตลท.เต็มที่ เดินหน้าเร่งศึกษาหวั่นหากไม่ทำอะไรตลาดหุ้นไทยจะโดดเดี่ยว ยันคดี EXIM BANK ปล่อยกู้ 4 พันล้านจบแล้ว ขณะที่ไขก๊อกลาออกจาก "IRPC-PRO" เพื่อขจัดปัญหา เปิดนโยบายเชิงรุก เล็งถกบีโอไอหวังดันบริษัทที่ได้รับสิทธิจดทะเบียน พร้อมหารือก.ล.ต.เร่งกระบวนการ IPO ให้เร็วขึ้น เตรียมคุยสมาคมประกันฯ หวังดึงเงินที่พร้อมลงทุนเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบัน
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังได้รับเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า การเชื่อมโยงตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นในภูมิภาคให้เป็นเครือข่ายเดียวกันรวมทั้งการแปรรูปตลาดหุ้นไทยให้เป็นเอกชน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเป็นเรื่องที่คณะกรรมการและฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งดำเนินการ โดยจะต้องศึกษาในเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดเพื่อประโยชน์ที่สูงสุด
ทั้งนี้ นโยบายเบื้องต้นได้มีการกำหนดเพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุนไทยปี 2549-2553 รวมถึงแผนกลยุทธ์ปี 2550-2552 ของตลาดหลักทรัพย์ โดยเรื่องที่จะต้องเน้นเข้าไปดูเป็นพิเศษได้แก่ การเพิ่มทางเลือกในการลงทุนเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงในการลงทุน โดยเฉพาะแผนในเชิงรุกเพิ่มจำนวนบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai
นอกจากนี้ จะมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังในเรื่องอัตราการเสียภาษีของบริษัทจดทะเบียน หารือร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยอาจจะเสนอให้บริษัทที่ได้รับ BOI ต้องเข้าจดทะเบียน รวมทั้งจะมีการหารือกับก.ล.ต.เพื่อหารือเกี่ยวกับกระบวนการในการทำ IPO ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
"ถ้าไม่อยากเห็นตลาดหุ้นไทยต้องตกอยู่ในสภาวะที่โดดเดี่ยว เพราะปัจจุบันตลาดหุ้นจำนวนมากได้มีการแปรรูปการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ แต่ประเด็นที่สำคัญจะต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด"นายปกรณ์กล่าว
สำหรับนโยบายในด้านอุปสงค์ เชื่อว่าหากหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนอยู่มีคุณภาพและมีความหลากหลายมากขึ้น จำนวนนักลงทุนก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย โดยแผนในเชิงรุกเกี่ยวกับการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนสถาบันที่ปัจจุบันมีสัดส่วนแค่ 12% เช่น การเจาะสมาคมบริษัทประกันชีวิตซึ่งปัจจุบันมีวงเงินที่สามารถลงทุนในตลาดหุ้นที่ยังไม่ได้ลงทุนอีกจำนวนค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม การสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้มีความสมบูรณ์ คล่องตัว มีประสิทธิภาพและมีต้นทุนที่ต่ำเพื่อเป็นการรองรับการไหลเข้าออกของเงินทุนจากต่างประเทศที่มีจำนวนมาก ซึ่งโครงสร้างในปัจจุบันยังมีจุดอ่อนที่ต้องเร่งปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขณะที่การดูแลนักลงทุนจะเน้นเกี่ยวกับการให้ข้อเท็จจริงที่รวมเร็วและถูกต้อง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจให้มากที่สุด รวมถึงการยกระดับมาตรฐานบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน
"ปัจจุบันตนเองดำรงตำแหน่งประธานสมาคมตลาดตราสารหนี้ เมื่อได้เป็นประธานตลาดหลักทรัพย์ซึ่งดูแลในเรื่องตลาดทุน การเชื่อมโยงเพื่อพัฒนาตลาดทั้ง 2 ประเภทจะทำได้สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยจะเน้นการพัฒนาที่คู่กันเพื่อสร้างให้ทั้ง 2 ตลาดเป็นเสาหลักที่สำคัญทางเศรษฐกิจต่อไป" ประธานคณะกรรมการตลท.คนใหม่กล่าว
นายปกรณ์ กล่าวถึงความไม่สบายใจของหลายฝ่ายเกี่ยวกับปัญหาการปล่อยกู้ 4 พันล้านบาทในช่วงที่เป็นประธานกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK ให้รัฐบาลพม่าซื้อ "ไอพีสตาร์" ซึ่งเป็นบริษัทในเครือชินคอร์ป ว่า การตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีข้อสรุปว่าคณะกรรมการธนาคารไม่มีความผิดในกรณีดังกล่าว กระทรวงการคลังจึงได้มีการเสนอให้ตนเองเข้ามารับตำแหน่งประธานตลท.ในส่วนของตัวแทนจากก.ล.ต.
นอกจากนี้ เพื่อการขจัดความไม่สบายใจในเรื่องการทำงานจึงได้ลาออกจากการเป็นประธานกรรมการบมจ.โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) หรือ PRO และรองประธานกรรมการบมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC ขณะเดียวกันตนเองจะเข้าไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในบริษัทลูกของตลาดหลักทรัพย์อีก 2 บริษัท คือ บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TSD และบริษัทตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ TFEX ขณะที่อีก 2 บริษัท คือ บริษัท เช็ทเทรด ดอทคอม จำกัด และบริษัทแฟมมิลี่ โนฮาว จำกัด จะให้กรรมการทั้ง 2 บริษัทเลือกผู้ที่เหมาะสมขึ้นมาทำหน้าที่ประธานกรรมการแทน
สำหรับสาเหตุที่เลือกเป็นประธานกรรมการเพียง 2 บริษัทเนื่องจาก TSD ถือว่ามีความสำคัญค่อนข้ามากที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการเตรียมความพร้อมในเรื่องของระบบถือว่าเป็นเรื่องสำคัญเพื่อที่จะไม่ให้มีข้อบกพร่อง ขณะเดียวกัน TFEX ถือว่าเป็นทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงในการลงทุนและค่อนข้างมีความสำคัญ
"การพัฒนาการของตลาดหุ้นไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ส่วนตัวในฐานะที่เป็น 1 ในคณะทำงานโครงการพัฒนาตลาดทุนของแบงก์ชาติตั้งแต่ปี 2512 และเป็นเลขานุการคณะทำงานจัดตั้งตลาดหุ้นในยุคแรก ถือว่าพอใจการเติบโตของตลาดหุ้นในระดับหนึ่งเท่านั้น"นายปกรณ์กล่าว
|
|
|
|
|