ไอ-โมบาย เจิดจรัสเล่นพระเอกตัวจริง ฐานพลังหลักอาณาจักร "สามารถ" พลิกแผนปรับโมเดลธุรกิจ ปรับโครงสร้างองค์กร โฟกัสธุรกิจนี้เป็นพิเศษเหนือธุรกิจหลักตัวอื่น
ในห้วงที่ที่สถานการณ์ของเศรษฐกิจและการเมืองยังไม่เข้าที่เข้าทางนัก ภาคเอกชนเจ้าของธุรกิจของใหญ่ต้องมีการเฝ้าจับตามองถึงโอกาสทางธุรกิจที่จะสามารถกอบโกยได้ในภาวะไม่ปกติ และนำไปสู่การปรับตัวให้เข้ากับถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งหนึ่งในบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่างกลุ่มสามารถ คอร์ปอเรชั่นได้มีการปรับโมเดลธุรกิจให้เข้ากับสถานการณ์ตลาดอยู่ตลอดเวลา
ภาพดังกล่าวสะท้อนให้เห็นจากผลประกอบการของกลุ่มสามารถ โดยภาพรวมของผลประกอบการของกลุ่มสามารถในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา กลุ่มสามารถฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 4,493 ล้านบาท ลดลง 50% มีกำไรสุทธิจากการดำเนินธุรกิจ 122 ล้านบาท ลดลง 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งบริษัทฯ มีเงินคืนจากการปรับปรุงการกลับรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 60 ล้านบาท
ขณะที่รายได้รวมในครึ่งปีแรกมีทั้งสิ้น 10,762 ล้านบาท กำไรสุทธิ 266 ล้านบาท จากปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ครึ่งปีรวม 17,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,633 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม กำไรของเมื่อปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการขายหุ้นสามารถไอโมบายให้กับเทเลคอมมาเลเซีย
"หากไม่นับรวมกำไรที่ได้จากการขายหุ้น เรามีกำไรในการดำเนินธุรกิจจริง ๆ ลดลง 10% สาเหตุมาจากการที่บริษัท สามารถ เทลคอม จำกัด (มหาชน) มีรายได้น้อยกว่าที่คาด เนื่องจากไม่มีโครงการจัดซื้อจากภาครัฐ จากเดิมคาดว่ารายได้จะลด 20% แต่กลับลดเกือบ 50%อย่างไรก็ตาม คาดว่าสถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลังจะดีขึ้น ทั้งในแง่รายได้และกำไร คาดว่าในครึ่งปีหลังเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองมีความชัดเจน เราจะสามารถพลิกและสร้างรายได้กลับคืนมา" วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ขยายความถึงภาพการดำเนินงานของกลุ่ม
ปัจจุบัน บริษัท สามารถ เทลคอม จำกัด (มหาชน) มีโครงการประมูลอยู่ในมือแล้วรวมมูลค่ากว่า 5,200 ล้านบาท เช่น อินเทอร์เน็ตโรงเรียนและโครงการ เอเอ็มอาร์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นต้น ทั้งยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างประมูลเพิ่มเติมในครึ่งปีหลังนี้มูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท
สถานการณ์ในปีนี้ทำให้กลุ่มสามารถต้องปรับลดเป้าหมายรายได้ลงเหลือ 25,000-26,000 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ที่ 35,000 ล้านบาท เนื่องจากโครงการภาครัฐชะลอตัวอยู่แล้ว นอกจากนี้ยอดขายของบริษัท สามารถ ไอโมบาย จำกัด (มหาชน) ลดลงเช่นกัน
ภาพรวมการดำเนินงานในรอบครึ่งปีแรก 2550 สามารถ ไอ-โมบายจำหน่ายมือถือไปแล้วรวมกว่า 2 ล้านเครื่อง คิดเป็นยอดขายเฮาส์แบรนด์ 1,300,000 เครื่อง สามารถเพิ่มยอดขายภายในประเทศขึ้นเกือบ 50% โดยเฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่แบรนด์ไอ-โมบายที่สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 2 ด้วยส่วนแบ่งตลาด 28% หรือ 670,000 เครื่อง จากตลาดรวม 2,400,000 เครื่อง ทั้งยังได้เร่งขยายเครือข่ายร้านค้าและให้บริการ ล่าสุดมีเอาท์เล็ททั้งสิ้นรวม 436 แห่ง แบ่งเป็นภายในประเทศ 395 แห่ง ต่างประเทศ 41 แห่ง
ขณะที่รายได้จากกลุ่มคอนเทนต์มีสถิติการเติบโตสูงสุดนั้นตั้งแต่เปิดให้บริการ ไม่ว่าจะเป้นบริการ บัก1113, 1900 และ บักทูโมบาย รวมถึงบริการใหม่เช่น ไอ-ลิงก์ที่มีปริมาณการใช้สูงกว่า 1 ล้านครั้งในปัจจุบัน นอกจากนี้ ในครึ่งปีแรก ไอ-โมบายยังได้ขยายเข้าสู่ตลาดต่างประเทศใหม่ๆ เช่น อินเดีย และบังคลาเทศ รวมทั้งลาว ซึ่งบริษัทฯ มียอดขายเป็นอันดับสอง คือ 42% ของมูลค่าตลาดมือถือ สรุปรายได้รวมไตรมาส 2 เท่ากับ 3,597 ล้านบาท กำไรสุทธิ 133 ล้านบาท จ่ายปันผลหุ้นละ 18 สตางค์
ถึงแม้ว่าสามาร ไอ-โมบายโดยภาพรวมแล้วดูมีสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างจากบริษัทอื่นในเครือ แต่สามารถ ไอ-โมบายยังมีความแน่นอนของการรับรู้รายได้ที่ดีกว่า ทำให้ทางทีมผู้บริหารของกลุ่มสามารถเลือกที่จะโฟกัสการทำรายได้ในครึ่งปีหลังนี้มาที่สามารถ ไอ-โมบายเป็นพิเศษ
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มสามารถจึงมีการปรับโครงสร้างธุรกิจภายในของสามารถ ไอ-โมบายใหม่ ซึ่งวัฒน์ชัย ได้ให้ทิศทางการขยายธุรกิจในครึ่งปีหลังว่า ทางกลุ่มมีแผนปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) ใหม่ ด้วยการแยกบริษัทและทีมงานที่ดูแลธุรกิจในกลุ่มอย่างชัดเจน ประกอบด้วย ธุรกิจมือถือเฮาส์แบรนด์ "ไอ-โมบาย" ที่ให้ทางบริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดูแลการทำตลาด และปรับบริษัท สามารถเซอร์วิส จำกัด ให้มาดูแลการทำตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่อินเตอร์แบรนด์แทน
"เดิมที่เรามีทีมการตลาดดูแลโทรศัพท์ทุกแบรนด์ร่วมกัน แต่หลังจากนี้ไปเราจะปรับให้มีทีมเฉพาะที่ดูแลตลาดแบรนด์ ไอ-โมบายโดยเฉพาะ และอินเตอร์แบรนด์แยกจากกัน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำตลาดมากขึ้น ซึ่งเป็นการปรับการดูแลสินค้าทางด้านผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจนขึ้น"
ส่วนช่องทางจัดจำหน่ายยังคงเหมือนเดิม คือ กระจายสินค้าผ่านช่องทางอย่างร้านไอ-โมบาย ผ่านดีลเลอร์ต่างๆ เหมือนเดิม แต่ยอดรายได้จะกระจายไปตามบริษัทที่รับผิดชอบการทำตลาดในแต่ละแบรนด์
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวครั้งนี้ก็เพื่อรองรับการเติบโตสู่ตลาดโลก และจะเน้นการพัฒนาสินค้าในเชิงลึกและการสร้างกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นอกเหนือจากมือถือภายใต้แบรนด์ ไอ-โมบาย ให้เป็นที่รู้จักทั้งตลาดในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้แบรนด์ ไอ-โมบาย ในประเทศจาก 28% เป็น 34% ภายในสิ้นปีนี้
|