|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
นักเศรษฐศาสตร์หวั่นตัวเลขส่งออกพุ่ง จนหลายหน่วยงานปรับเป้าเศรษฐกิจโตเพิ่ม อาจเป็นของเทียม หลังตัวเลขสำคัญเริ่มสะท้อนภาพตรงข้าม กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นต่างชาติแค่ใช้ฐานผลิตที่ไทย ขณะที่กลุ่มเกษตรยังแย่ แนะพิจารณาให้รอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุนหรือใช้จ่าย
หลังจากตัวเลขเศรษฐกิจครึ่งแรกของปี 2550 ที่ประกาศออกมา ยอดส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 18.1% ส่งผลให้หลายหน่วยงานได้ออกมาปรับเป้าหมายกันยกใหญ่ เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวถือว่าดีเกินคาด หลังจากประเทศไทยต้องประสบปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว ทำให้คาดกันว่าการส่งออกของไทยน่าจะเติบโตได้น้อย
ตัวเลขส่งออกที่เติบโตสวนทิศทางค่าเงินบาท ทำให้กระทรวงพาณิชย์ปรับเป้าการส่งออกทั้งปี 2550 จากเดิม 12.5% เป็น 15% ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ปรับประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้จาก 3.8% เป็น 4.1% ตามมาด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยปรับเพิ่มการขยายตัวจาก 3.8-4.8% เป็น 4-5% รวมถึงโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ออกมาย้ำว่าเศรษฐกิจปี 2550 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4%หลังจากสัญญาณหลายตัวเริ่มดีขึ้น
เกษตรแย่
นักเศรษฐศาสตร์รายหนึ่งกล่าวว่า ถ้าพิจารณาจากตัวเลขการส่งออกที่โตขึ้นถึง 18% นั้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าลงลึกก็จะพบว่าตัวเลขส่งออกที่เพิ่มขึ้นท่ามกลางค่าเงินบาทที่แข็งนั้น เป็นสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ที่เจ้าของธุรกิจนี้ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติที่มาตั้งฐานผลิตที่ประเทศไทย หรือหมวดเครื่องหนังที่มีคำสั่งซื้อพิเศษมาจากสหรัฐ ถือว่าไม่ถาวร และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผลิตเครื่องรับโทรทัศน์เนื่องจากผู้ผลิตเร่งผลิตสินค้ารุ่นใหม่แทนของเดิมเพื่อจำหน่ายในต่างประเทศ
สินค้าส่งออกทั้ง 3 กลุ่ม มีเพียงกลุ่มเครื่องหนังเท่านั้นที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง แต่คงเป็นเพียงชั่วคราวตามยอดคำสั่งซื้อในช่วงนี้เท่านั้น ส่วนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่เป็นของต่างชาติ สุดท้ายกำไรก็จะไหลออกนอกประเทศ
ขณะที่สินค้าส่งออกที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศไทยอย่างแท้จริงคือกลุ่มเกษตร แต่จากค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นทำให้เกษตกรมีรายได้ลดลง
"หากสังเกตุให้ดีจะพบว่าสินค้าออกของเราจะเน้นที่ตัวปริมาณเป็นหลัก ขณะที่ราคาต่อหน่วยของเราลดลงทั้งในรูปของสกุลดอลลาร์และเงินบาท นี่คือเรื่องที่น่าเป็นห่วง"
ว่างงานน้อย-ปิดโรงงานเพิ่ม
เขากล่าวต่อไปว่า ภาครัฐพยายามอย่างเต็มที่ที่จะชี้นำว่าเศรษฐกิจของไทยจะเติบโตขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนในประเทศ เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานว่า ในเดือนมิถุนายน 2550 มีจำนวนประชากรว่างงาน 5.2 แสนคน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4 หมื่นคน ส่วนผู้มีงานทำในเดือนมิถุนายน 2550 มีจำนวน 36.65 ล้านคน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.8 แสนคน
พร้อมทั้งให้เหตุผลว่าแม้ว่าจะมีปัญหาค่าเงินบาทที่ทำให้โรงงานปิดกิจการในบางพื้นที่จะไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้การว่างงานเพิ่มขึ้น เพราะแม้โรงงานบางแห่งจะปิดจริง แต่ก็มีรายใหม่เปิดกิจการและจ้างคนงานเข้ามาทดแทน
สวนทางกับการปิดโรงงานบริษัท ไทยศิลป์ อาคเนย์ อิมปอร์ต เอ็กซปอร์ต จำกัด ที่ต้องเลิกจ้างพนักงานราว 5 พันคน และการประกาศปิดกิจการบริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด (มหาชน) กับพนักงานราว 4 พันคน และมีอีกหลายบริษัทที่เริ่มออกอาการแต่ยังมีถึงขั้นปิดกิจการ
"แม้จะมีการเปิดกิจการใหม่เข้ามาทดแทน แต่ต้องดูว่ากิจการที่เปิดใหม่นั้นมีมูลค่าทดแทนกิจการเดิมที่ปิดไปได้หรือไม่ เพราะบางกิจการไม่ได้เน้นส่งออก มูลค่าและขนาดของกิจการก็เล็กกว่ากิจการเดิมที่ปิดตัวลงไป"
บริโภคหด
นอกจากนี้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 39 และต่ำที่สุดในรอบ 66 เดือน นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 41 และมีค่าต่ำสุดในรอบ 60 เดือน นับแต่เดือนสิงหาคม 2545 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจในอนาคต หรือ 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 38 และมีค่าต่ำสุดในรอบ 103 เดือน นับแต่เดือนมกราคม 2542
ตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวสะท้อนถึงทิศทางเศรษฐกิจของไทยยังไม่สดใสนัก เช่น ยอดจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ยังไม่ดีขึ้น แม้ว่าจะกระเตื้องขึ้นบ้างยอดจำหน่ายยังลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
รวมถึงตัวเลขการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในเดือนมิถุนายน 2550 โดยช่วงครึ่งปีแรกแม้จะมีจำนวนบัตรเครดิตเพิ่มขึ้น 3.54 แสนบัตรหรือเพิ่มขึ้น 3.25% แต่ยอดการใช้จ่ายรวมกลับลดลง 8,970 ล้านบาทหรือลดลง 12.22% ยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าลดลง 2,356 ล้านบาทหรือลดลง 13% ยอดการใช้จ่ายในประเทศลดลง 6,929 ล้านบาทหรือลดลง 13.04% ยอดสินเชื่อคงค้างช่วง 6 เดือนลดลง 1,989 ล้านบาทหรือลดลง 1.16%
แต่หากเทียบเฉพาะยอดคงค้างช่วง 3 เดือนที่ผ่านมากลับพบว่ามียอดคงค้างเพิ่มขึ้น 2,634 ล้านบาท เนื่องจากในเดือนเมษายน 2550 ผู้ผ่อนชำระบัตรเครดิต(บัตรเก่า)ต้องชำระขั้นต่ำที่ 10% เมื่อคำนวณเฉลี่ยต่อบัตรแล้วในช่วง 6 เดือนแรกของปีผู้ใช้บัตรใช้จ่ายลดลงประมาณ 1 พันบาทต่อบัตรและพยายามเบิกเงินสดล่วงหน้าให้น้อยลง แต่จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้มีคนไทยจำนวนหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น
รอบคอบก่อนตัดสินใจ
จะเห็นได้ว่าตัวเลขที่ออกมาค่อนข้างสวนทางกับภาพรวมที่มองกันว่าเศรษฐกิจไทยจะโตขึ้น ดังนั้นภาคธุรกิจหรือภาคประชาชนจะต้องพิจารณาตัวเลขสำคัญเหล่านี้ให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะหากผิดพลาดไปอาจจะเจ็บตัวได้
ลำพังแค่ตัวเลขการส่งออกโตคงไม่สามารถกระตุ้นให้เศรษฐกิจของไทยปรับตัวขึ้นได้ แต่ต้องดูจากกำลังซื้อของคนในประเทศด้วย ต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมาคนไทยระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น เงินออมของพวกเขายังมี ขาดแต่เรื่องความเชื่อมั่นเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลก็พยายามสร้างความเชื่อมั่น แต่ตัวเลขเท่าที่แสดงมายังไม่จูงใจพอให้ผู้คนมีความมั่นใจกลับมาเหมือนเดิม
แม้ว่าสถานการณ์ในขณะนี้ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงมาแตะระดับ 34 บาท หลังเงินที่ไหลเข้ามาในประเทศได้เริ่มไหลออก จากวิกฤติด้านสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ ซึ่งสถานการณ์นี้ก็ไม่ใช่เรื่องดีสำหรับประเทศไทย หลายฝ่ายออกมากล่าวว่าไม่กระทบประเทศไทย แต่ต้องไม่ลืมว่าคู่ค้าสำคัญของไทยคือสหรัฐ
หากสหรัฐเกิดวิกฤติอำนาจซื้อของพวกเขาก็จะหายไป แน่นอนว่าสินค้าที่ส่งออกบางกลุ่มอาจจะมีปัญหา โดยเฉพาะกลุ่มสิ่งทอที่มีปัญหาในเรื่องต้นทุนการผลิตที่ค่าแรงของไทยสูงกว่าเวียดนามและจีน ซึ่งมาตรการหรือแนวทางในการแก้ปัญหายังไม่มีความชัดเจนที่จะสนับสนุนให้ธุรกิจด้านนี้ของไทยย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนามและจีนเพื่อลดต้นทุน
นาทีนี้นักธุรกิจและภาคประชาชนจะต้องพิจารณาข้อมูลต่าง ๆ ให้ละเอียด หลายหน่วยงานเห็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่ดีเหมือนที่หลายฝ่ายคาด ดังนั้นการระมัดระวังตัวในเรื่องการลงทุนหรือระมัดระวังในเรื่องการใช้จ่ายยังคงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับสถานการณ์ในขณะนี้
|
|
|
|
|