หุ้นไทยฟื้นรับผลรับร่างประชามติฯ “เฟด” ลดดอกเบี้ยบรรเทาปัญหา “ซับไพรม์” บวก 33 จุด หรือ 4.4 เปอร์เซ็นต์ นักลงทุนสถาบันพร้อมใจชอปปิ้งหุ้นถูก “ภัทรียา” เตือนระวังเงินนอกไหลเข้า-ออกเร็ว โบรกฯ ลุ้น “เฟด” ลดดอกเบี้ยหลักตาม เชื่อมีโอกาสลดก่อนการประชุม 18 ก.ย.หากปัญหา “ซับไพรม์” ไม่ยุติ ชี้แนวต้านที่ 800 จุดสำคัญหากทะลุได้รอบนี้แตะ 840 จุดแน่ ขณะที่ “หุ้นเอเชีย” พุ่งทะยาน ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกส่งสัญญาณโล่งใจหลัง “เฟด” ขึ้นดอกเบี้ย
ภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวานนี้ (20 ก.ค.) ดัชนีเปิดปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงสอดรับข่าวดีเรื่องผลการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ประกอบกับการคลายความกังวลของนักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) หลังธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ยอมรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าว ส่งผลทำให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ไปปิดที่ 792.02 จุด เพิ่มขึ้น 33.60 จุด หรือ 4.43 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของวัน ขณะที่จุดต่ำสุดอยู่ที่ 765.31 จุด มูลค่าการซื้อขาย 23,146.67 ล้านบาท ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 635.45 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 2,510.22 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยขายสุทธิ 3,145.67 ล้านบาท
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีตลาดหุ้นไทยเป็นเพราะได้รับแรงหนุนจากปัจจัยบวกทั้งในประเทศเรื่องผลมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันการฟื้นตัวของตลาดหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียจากการคลายความกังวลปัญหาซับไพรม์ก็เป็นประเด็นบวกที่เข้ามาหนุนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน
ทั้งนี้ การไหลเข้าออกของเงินทุนจากต่างประเทศยังเป็นเรื่องที่นักลงทุนจะต้องระมัดระวัง เพราะเงินทุนที่ไหลเข้ามาอาจจะออกไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าปัญหาซับไพรม์จะทำให้นักลงทุนคลายความกังวลไปบ้างแล้วก็ตาม
“ระวังเงินทุนที่ไหลเข้ามาจะออกเร็ว นักลงทุนจะต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน”นางภัทรียา กล่าว
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.นครหลวงไทย กล่าวว่า หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาจะส่งผลทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) อาจจะพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยหลักตามมาในการประชุมวันที่ 18 ก.ย.นี้ หรืออาจจะต้องมีการพิจารณาปรับลดก่อนการประชุมหากสถานการณ์ปัญหาซับไพรม์ยังไม่คลี่คลายไปในทางที่ดี
ทั้งนี้ คาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดยังเป็นประเด็นบวกต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังได้รับอานิสงส์จากผลการลงคะแนนประชามติเข้ามาหนุนอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งน่าจะทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาซื้อสุทธิส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวหลังจากที่ดัชนีปรับลดลงไปประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์
ลุ้นดัชนีรอบนี้แตะ 840 จุด
นักวิเคราะห์ บล.กรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า บริษัทได้มีการปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นเป็น 60 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 40 เปอร์เซ็นต์ โดยเชื่อว่านักลงทุนต่างประเทศจะมีการชะลอการขายหุ้นออกมาซึ่งทำให้มีโอกาสที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ถึง 840 จุด แต่ขึ้นอยู่กับปัญหาซับไพรม์จะกลับมามีผลกระทบรุนแรงอีกหรือไม่
“ปัจจัยเฟดลดอัตราดอกเบี้ย และผลประชามติครั้งนี้ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับเพิ่มขึ้น 4.43 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตลาดต่างประเทศก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นระดับเดียวกัน และประเทศที่ปรับตัวสูงสุดอยู่ที่ 6 เปอร์เซ็นต์”นักวิเคราะห์ บล.กรุงศรีอยุธยา กล่าว
สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นในวันนี้คาดว่าดัชนีจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อีกแต่อาจจะไม่รุนแรงเหมือนกับในวานนี้โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 778 จุดแนวต้านที่ระดับ 800-805 จุด
มั่นใจไม่ถึงวิกฤตเศรษฐกิจ
นายเอกพิทยา เอี่ยมคงเอก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.บีฟิท กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าปัญหาซับไพรม์ไม่น่าจะลุกลามกลายเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เนื่องจากแนวโน้มความพยายามในการแก้ไขปัญหาของหน่วยงานต่างๆที่เข้ามาดูแลและเพิ่มความรวดเร็วในการจัดการมากขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของนักลงทุนต่างชาตินั้น คงต้องดูผลที่เกิดจากการที่เฟดปรับลดดอกเบี้ยอีกระยะหนึ่ง จึงจะกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้งหนึ่ง
ในส่วนของผลการลงประชามติที่ผลออกมาค่อนข้างจะก้ำกึ่งกันระหว่างรับกับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ไม่น่าจะส่งผลต่อตลาดหุ้นมากนัก เพราะปัจจัยสำคัญของนักลงทุนอยู่ที่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นมากกว่า โดยคาดว่าหลังจากนี้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์น่าจะกลับไปเป็นขาขึ้นอีกครั้ง ส่วนในระยะสั้นดัชนีหุ้นน่าจะรีบาวนด์ และมีโอกาสที่จะกลับไปถึงระดับ 800 จุดได้ แต่คงจะไม่สามารถรักษาระดับดังกล่าวได้
800 จุดแนวต้านสำคัญ
นายกวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยจะแกว่งตัวและยังคงปรับตัวผันต่อก่อนที่จะมีการปรับฐานในระยะสั้น เนื่องจากปัญหาเรื่องซับไพร์มของสหรัฐฯยังไม่จบ ขณะที่ในระยะสั้นนี้คาดว่าดัชนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้นทดสอบที่ระดับ 800 จุดได้ ซึ่งเป็นแนวต้านทางจิตวิทยาที่สำคัญที่มีความแข็งแกร่งพอสมควร เนื่องจากเมื่อพิจารณาในช่วงที่ดัชนีปรับตัวลงต่ำกว่า 800 จุดนั้น เป็นช่วงนั้นมีการรีบาวน์หลายรอบกว่าจะหลุดแนวรับดังกล่าวไป
ทั้งนี้ ข่าวดีที่นักลงทุนจะต้องติดตามคือการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น BOJ ที่จะมีขึ้นกลางสัปดาห์นี้ ว่าจะมีการปรับเพิ่มดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่จะต้องติดตามการประชุมของ ธปท.ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยอาร์พี 1 วันหรือไม่
หุ้นเอเชียพุ่งทะยาน
ทางด้านตลาดการเงินโลก วานนี้ (20 ส.ค.) บรรดานักลงทุนต่างกลับเข้าซื้อหุ้น รวมทั้งกลับเข้าถือทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นด้วย เมื่อความหวาดกลัวเฉพาะหน้าเกี่ยวกับภาวะสินเชื่อตึงตัวได้ผ่อนคลายลง ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เคลื่อนไหวลดดอกเบี้ยดิสเคาต์เรตในวันศุกร์ (17) ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นกลับฟื้นขึ้นมาใหม่
บรรดาตลาดแถบเอเชียซึ่งไม่ทันขบวนรถด่วนสายเฟดที่ประกาศลดดอกเบี้ยในวันศุกร์ วานนี้ต่างพากันพุ่งลิ่วแรงจัดเป็นการชดเชย โดยดัชนีหุ้นนิกเกอิของตลาดโตเกียวไต่ขึ้น 458.80 จุด หรือ 3.0 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นการดีดขึ้นภายใน 1 วันสูงที่สุดนับแต่เดือนมิถุนายน 2006 เป็นต้นมา
ตลาดเอเชีย-แปซิฟิกอื่นๆ หลายแห่งยิ่งบินสูงกว่าโตเกียวเสียอีก อาทิ ฮ่องกงเพิ่ม 5.9%, สิงคโปร์ 6.12 เปอร์เซ็นต์, โซล 5.7 เปอร์เซ็นต์, ซิดนีย์ 4.6 เปอร์เซ็นต์, จาการ์ตา 7.0 เปอร์เซ็นต์, เซี่ยงไฮ้ 5.33 เปอร์เซ็นต์, และมุมไบ 2.02 เปอร์เซ็นต์
ทางด้านตลาดหลักทรัพย์แถบยุโรปช่วงซื้อขายไปได้ราวครึ่งวันวานนี้ สามารถเพิ่มขึ้นไปอีกราว 1 เปอร์เซ็นต์ หลังจากทะยานถึง 2.3 เปอร์เซ็นต์ แล้วในวันศุกร์
สำหรับวอลล์สตรีทเปิดตลาดวานนี้ได้ราว 15 นาที ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์บวกต่ออีก 15.69 จุด หรือ 0.12 เปอร์เซ็นต์ และดัชนีคอมโพสิตของตลาดแนสแดคก็บวก 0.04 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้ดัชนีเอสแอนด์พี 500 จะติดลบ 0.11 เปอร์เซ็นต์
ในส่วนของตลาดการเงินอื่นๆ ส่วนต่าง (สเปรด) ระหว่างอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ กับของพันธบัตร และตั๋วเงินกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ปรากฏว่าได้หดแคบลง เช่นเดียวกับเงินเยนก็มีค่าอ่อนตัวลง ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้เป็นสัญญาณแสดงว่าเพลเยอร์ในตลาดกล้าที่จะเข้าถือการลงทุนที่มีความเสี่ยงกันมากขึ้น
บรรดานักวิเคราะห์ เช่น เดวิด โจนส์ หัวหน้านักวิเคราะห์ตลาดแห่ง ซีเอ็มซี แคปิตอล มาร์เก็ตส์ ชี้ว่า สิ่งที่ปรากฏออกมาถือเป็นการเริ่มต้นในทางบวกสำหรับสัปดาห์นี้ แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่าสามารถฟันฝ่าพ้นพงหนามมาได้แล้ว ถึงแม้ยังมีเสียงเตือนว่า สิ่งที่เฟดกระทำในวันศุกร์ที่แล้ว ก็คือการย้ำสร้างความมั่นใจว่า ธนาคารกลางจะผลักดันไม่ให้สภาพคล่องในระบบการเงินการธนาคารเหือดแห้งไปได้ โดยที่ยังไม่ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยพื้นฐาน คือ เฟดฟันด์เรต แต่ก็ทำให้นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองล่วงหน้าไปแล้วว่า เฟดคงจะมีการลดดอกเบี้ยสำคัญที่สุดของตนตัวนี้ในเวลาต่อไป
ดังนั้น แม้ปัญหาวิกฤตยังไม่ได้หายไปไหน ทว่านักลงทุนบางรายก็เริ่มมองหาของถูกกันแล้ว ตัวอย่างเช่น ฟิเดลิตี อินเตอร์เนชั่นแนล แถลงตั้งแต่วันศุกร์ว่า กำลังใช้ความได้เปรียบจากภาวะผันผวนของตลาดในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มการเข้าไปครอบครองตราสารหนี้ภาคบรรษัทซึ่งได้อันดับความน่าเชื่อถือระดับสามารถลงทุนได้ ตลอดจนตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่
ผู้วางนโยบายทั่วโลกโล่งใจ
สำหรับบรรดาผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก ต่างก็ส่งสัญญาณแห่งความโล่งใจ ภายหลังมาตรการขึ้นดิสเคาต์เรตของเฟด ทำให้ตลาดดูจะสงบหายตื่นกลัว
รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศส คริสทีน ลาการ์ด พูดทางวิทยุบีเอฟเอ็มว่า เธอเชื่อว่าระยะเลวร้ายที่สุดของความปั่นป่วนทางสินเชื่อรอบนี้ได้
ผ่านพ้นไปแล้ว ถึงแม้ยังอาจมีกองทุนบางราย โดยเฉพาะในอเมริกา ยังต้องประสบปัญหาอยู่ก็ตามที เช่นเดียวกับ บุนเดสแบงก์ ธนาคารกลางของเยอรมนี ซึ่งแถลงว่า ทิศทางอนาคตสำหรับเศรษฐกิจโลกยังคงเป็นไปในทางบวก แม้จะเกิดความตึงเครียดในตลาดการเงินระยะหลังๆ นี้ ซึ่งต้องถือว่าเป็น “กระบวนการกลับคืนสู่ภาวะปกติที่พึงต้องยินดีต้อนรับ” แม้จะเป็นกระบวนการซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลันฉุกละหุกก็ตามที
“กระนั้นก็ตาม ความเสี่ยงสำคัญเศรษฐกิจโลกย่อมเพิ่มพูนขึ้นตามขบวนการปรับฐานในตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ”บุนเดสแบงก์ เตือน
ด้าน กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) โรดริโก ราโต กล่าวเช่นกันว่า แม้วิกฤตที่เกิดขึ้นคราวนี้ย่อมต้องมีผลกระทบบ้าง แต่ไอเอ็มเอฟยังเชื่อว่าทิศทางอนาคตของเศรษฐกิจโลกยังดีอยู่
|