|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ตลาดหุ้นไทยยังอึมครึม แม้ประชาชนโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ เหตุเรื่อง "ซับไพรม์" ยังเป็นปัญหาใหญ่ จับตานักลงทุนต่างชาติกับยอดซื้อหุ้นสุทธิในปีนี้อีก 8.7 หมื่นล้านจะอยู่หรือไป "ก้องเกียรติ" เชื่อฝรั่งขายยาวถึงสิ้นเดือน โบรกเกอร์ชี้สถิติวิกฤตตลาดหุ้นไทย 10 ครั้งที่ผ่านมาร่วงเฉลี่ย 11% ต่างชาติขายสิทธิเฉลี่ย 1.9 หมื่นล้าบาท แต่รอบนี้วูบไปแล้ว 14% ต่างชาติทิ้งของ 4.4 หมื่นล้านบาท ระบุเริ่มมีความกังวลปัญหาอาจลามใหญ่เหมือนเหตุการณ์"แบล็คมันเดย์" ด้าน "โฆสิต" ตีปี๊บรับร่างฯ ฟื้นความเชื่อมั่น ขณะที่รมว.คลังเน้นสร้าง
บรรยากาศการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนขิงแก่ส่งไม้ต่อให้รัฐบาลใหม่บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ยังคงมีทิศทางที่ไม่ชัดเจนมากนัก แม้จะผ่านพ้นการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ไปเรียบร้อยแล้ว เพราะทุกฝ่ายมองว่าเป็นเพียงผลทางจิตวิทยาเท่านั้น ขณะที่กันประเด็นสำคัญที่ยังต้องติดตามคือปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการปล่อยสินเชื่อคุณภาพต่ำในภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์)
การประทุขึ้นของปัญหาซับไพรม์ ในสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันช่วงที่ผ่านมาจะยังไม่มีทีท่าว่าทางออกหรือผลกระทบจะจบลงได้ในเร็ววัน เพราะปัญหาได้ขยายวงกว้างมากขึ้นจนส่งผลกระทบลามไปยังกองทุนประเภทอื่น ทั้งกองทุนหุ้น กองทุนตราสารหนี้ นอกเหนือจากกองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
แม้ภายหลังการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในอัตรา 0.50% ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยที่เฟดปล่อยกู้ให้ธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ แต่ยังคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง เฟด ฟันด์ เรท อยู่ที่ระดับ 5.25% จะถือว่าเป็นข่าวดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ
ทั้งนี้ การคาดการณ์ของผู้ที่มีความใกล้ชิดกับตลาดทุน ตลาดเงิน ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่จบยังต้องรอความชัดเจนของเฟดอีกครั้งว่าจะมีท่าทีกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร เพื่อยุติหรือบรรเทาปัญหาให้ถาวรและไม่ให้ล่ามไปกระทบภาคธุรกิจอื่นๆ รวมถึงการลงทุนทั่วโลกเหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายจับตากระแสการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติว่าจะเกิดขึ้นอีกนานหรือไม่ โดยจากต้นปีถึงวันก่อนเกิดปัญหาซับไพรม์ (26 ก.ค.) นักลงต่างชาติซื้อสุทธิ 132,354.71 ล้านบาท ขณะที่หลังปัญหาซับไพรม์ปะทุขึ้นนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้ว 44,741 ล้านบาท เหลือยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในปีนี้อยู่ที่ 87, 613 ล้านบาท
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ ASP กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นในช่วงสัปดาห์นี้ต่างชาติอาจจะยังขายสุทธิต่อเนื่อง เพราะยังวิตกกังวลต่อปัญหาเรื่องซับไพรม์ ประกอบกับในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปีผู้บริหารกองทุนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงที่พักร้อนการตัดสินใจซื้อขายหุ้นจึงอาจจะยังไม่ชัดเจนมาก
"ดัชนีตลาดหุ้นที่ผันผวนอย่างรุนแรงในสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการสะท้อนได้อย่างหนึ่งว่า ตอนนี้นักลงทุนยังคงหาแนวรับที่จะเข้ามาลงทุน และนักลงทุนต่างชาติจะยังคงขายสุทธิต่อหากดัชนียังคงผันผวน แต่ถ้ามีสัญญาณว่าการเคลื่อนไหวของดัชนีในแต่ละวันแคบลง อาจจะเป็นสัญญาณว่านักลงทุนต่างชาติเริ่มจะหันกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งคาดว่าหุ้นไทยน่าจะผันผวนแบบนี้จนถึงสิ้นเดือนน่า ก่อนจะมีแรงซื้อเข้ามาอีกครั้งในช่วงเดือนหน้า"นายก้องเกียรติ กล่าว
หวั่นซ้ำรอยแบล็คมันเดย์
นายอดิพงษ์ ภัทรวิกรม ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปัญหาซับไพรม์เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกไปแล้วประมาณ 20% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบประมาณ 12% ทำให้ความน่าสนใจในการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในต่างประเทศลดลง
"ปัจจัยในประเทศได้เข้ามาช่วยสนับสนุนไม่ให้ตลาดหุ้นไทยลงไปแรงเท่ากับตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะความมั่นใจเรื่องการโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้มีแรงซื้อเข้ามาเก็งกำไรจนหุ้นสามารถปิดในแดนบวกช่วงสุดสัปดาห์"
นายอดิพงษ์กล่าวว่า จากสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2547 หากมีเหตุการณ์หรือปัจจัยต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามากระทบกับตลาดหุ้นไทยรวม 10 ครั้ง พบว่า นักลงทุนต่างชาติจะขายสุทธิเฉลี่ยประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาท โดยครั้งที่มากที่สุดอยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขยอดขายสุทธิในปัจจุบัน ขณะที่ผลกระทบที่ส่งผลต่อตลาดหุ้นจาก 10 ครั้งที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 11% โดยครั้งที่รุนแรงที่สุดอยู่ที่ 17% ซึ่งเมื่อเทียบกับปัจจุบันก็อยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยน่าจะเป็นสัญญาณที่สะท้อนได้ว่าปัญหาอาจจะใกล้ยุติ
"หากปัญหาจากซับไพรม์ยังส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างที่กังวลกัน เริ่มมีเสียงความเป็นห่วงแล้วว่าผลกระทบในครั้งนี้เมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาอาจจะใกล้เคียงกับผลกระทบที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ แบล็คมันเดย์" นายอดิพงษ์กล่าว
ผ่านประชามติหนุนหุ้น
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.แอ๊ดคินซัน กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีจะขึ้นอยู่กับผลประชามติและปัจจัยต่างประเทศ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการโหวตจะทำให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ แต่คงไม่มากนัก ขณะที่เหตุผลที่นักลงทุนขายหุ้นในช่วงที่ผ่านมา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ นักลงทุนทั่วไปที่มองว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่ดี ทำให้ขายหุ้นออกมา ซึ่งการลงทุนของนักลงทุนส่วนนี้จะแปรผันตลอดเวลากับกลุ่มกองทุนที่มีการเทขายหุ้นเพื่อปรับพอร์ตการลงทุน ชดเชยการขาดทุนจากการลงทุนประเภทอื่น ซึ่งคาดว่าการเทขายของนักลงทุนกลุ่มนี้น่าจะยังคงต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง
นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.พัฒนสิน กล่าวว่า ผลการรับร่างรัฐธรรมนูญไม่มีนัยสำคัญต่อนักลงทุนมากนัก เพราะจะผ่านหรือไม่การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้น โดยคาดว่าผลที่จะเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นนั้นจะเป็นเพียงจิตวิทยาระยะสั้นเท่านั้น แต่การที่ร่างรัฐธรรมนูญผ่านได้ น่าจะส่งผลให้ดัชนีดีดกลับขึ้นมาชั่วคราว แต่สุดท้ายดัชนีจะกลับไปอยู่อิงกับปัจจัยต่างประเทศ
นางสาวมยุรี โชวิกานต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.นครหลวงไทย กล่าวว่า การผ่านร่างประชามติให้รับร่างรัฐธรรมนูญได้ น่าจะทำให้ดัชนีเกิดการรีบาวด์ในระยะสั้นช่วงต้นสัปดาห์ โดยมีแนวต้านที่ 770 จุด ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนรายย่อยและสถาบันมีการรับหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในพอร์ตจำนวนมากแล้ว ทำให้น่าจะยังคงมีแรงซื้อได้อีกในจำนวนไม่มากนัก
ตีปี๊บฟื้นความเชื่อมั่น
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า การที่ประชาชนตื่นตัวและออกมาใช้สิทธิ์รับร่างรัฐธรรมนูญกันมาก จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองจะมีความชัดเจนในเรื่องการเลือกตั้ง และจะทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ประชาชนเกิดความรู้สึกสบายใจ กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย รวมถึงนักลงทุนจะกล้ากลับมาลงทุนในไทยเช่นกัน อย่างไรก็ตามรัฐบาลคงไม่มีความจำเป็นที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในช่วงนี้อีกแล้ว
"เศรษฐกิจไทยในปีนี้ น่าจะมีอัตราการเติบโตได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 และจะเกิดการลงทุนโครงการใหม่ ๆ ตามโครงสร้างการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้เป็นต้นไป ทำให้มองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ไปจนถึงปีหน้า ยังมีแนวโน้มอัตราการเติบโตได้ดี และมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2551 น่าจะเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5" นายโฆสิต กล่าวและว่า สิ้นเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้ รัฐบาลจะนำคณะนักธุรกิจไทยไปเยือนอินเดีย เพื่อชักชวนให้นักลงทุนอินเดียเข้ามาลงทุนในไทย
ด้านนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง เชื่อว่าหลังการลงประชามติ การเมืองจะมีความราบรื่น ไม่มีความแตกแยก เวลาที่เหลือของรัฐบาลชุดนี้ จะเน้นสร้างบรรยากาศการลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ เชื่อว่าหลังจากเดือนตุลาคม เมื่อมีการปรับขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ บรรยากาศทางเศรษฐกิจจะดีขึ้น และหวังว่ารัฐบาลชุดต่อไปจะมีนโยบายที่ยึดสายกลาง
|
|
 |
|
|