กระโจมสีขาว ตั้งตระหง่านท่ามกลางสนามหญ้าบริเวณหน้าสวนลุมพินี ถัดไปไม่ไกลคือ
จุดปล่อยลูกโป่งสีส้ม และทีมงานเกือบพันคนของออเร้นจ์ เป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลองในวาระพิเศษที่ทีเอ
ออเร้นจ์ เปิดให้บริการมาครบ 1 ปี
ยอดลูกค้า 1.6 ล้านราย คือ บทสรุป แรกที่ได้จากการดำเนินงานมาครบ 1 ปี
ด้วยกลยุทธ์ของการสร้าง brand ของ orange ควบคู่ไปกับการขยายเครือข่าย พร้อมๆ
กับเปิดให้บริการตามพื้นที่ต่างๆ หรือ cluster จนครบทั่วประเทศ โดยใช้ลูกค้าเครือข่ายซีพีบุกเบิกเป็นการสร้างฐานลูกค้ากลุ่มแรก
สวนลุมพินี ยังคงถูกเลือกสำหรับงานพิธีในลักษณะนี้ หลังจากที่เคยใช้มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อคราวเปิดตัว
brand เป็นครั้งแรกในช่วงปี 2545
แม้ยังรักษาคอนเซ็ปต์ของแบรนด์ ออเร้นจ์ ด้วยสีสัน และรูปลักษณ์ของการจัดงาน
เก้าอี้นั่งแถลงข่าวเป็นนวมสีดำ การปล่อยลูกโป่งสีส้ม แต่ดูเหมือนว่าครั้งนี้
ทีเอ ออเร้นจ์ไม่เคร่งครัดในเรื่องฤกษ์ยามเหมือนที่แล้วๆ มา เนื่องจากไฮไลต์ของงานอยู่ที่การขอบคุณลูกค้า
เยลลี่รูปหมี hug bear สีส้ม
ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัด การใหญ่ นั่งแถลงข่าวคู่กับอภิรักษ์ โกษะโยธิน
กรรมการผู้จัดการใหญ่ร่วม ทีเอ ออเร้นจ์ ซึ่งนั่งเก้าอี้นี้มาไม่ถึง 6 เดือนเต็ม
ทั้งสองมาในชุดกางเกงยีนส์ เสื้อยืด สีดำปกขาวปักคำว่า connect ดูกลมกลืน
กับพนักงานวัยหนุ่มสาวของทีเอ ออเร้นจ์ กว่า 1 พันคนในชุดแต่งกายเดียวกัน
เดินแจกเยลลี่ให้กับผู้คนตามย่านชุมชน ถนนสีลม ถนนพระอาทิตย์ บางลำพู มีตั้งแต่พนักงานทั่วไปจนถึงระดับผู้อำนวยการ
เป็นกิจกรรมหลักในโอกาสครบรอบ 1 ปี
เนื้อหาสาระที่ศุภชัย และอภิรักษ์ บอกกล่าวกับสื่อมวลชนในวันนั้น มี 2-3
เรื่องหลักๆ ซึ่งเป็นเป้าหมายภารกิจที่พวกเขาต้องทำในปีนี้
"ปีนี้จะเป็นปีของ customer focus การตลาดเป็นเรื่องของ event marketing
ภายใต้คอนเซ็ปต์ young growing dynamic และ innovative ที่ทำในรูปของ แคมเปญที่สนับสนุนคนรุ่นใหม่"
อภิรักษ์บอกเป้าหมายในปีนี้อย่างตั้งใจ
โครงการ orange jet ski champion ship สนับสนุนนักกีฬาไทยไปแข่งในระดับโลก
และ Orange friend สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่มุ่งไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่
อันเป็นลูกค้าเป้าหมายหลักที่ทีเอ ออเร้นจ์มุ่งเน้นมาตลอด
ดูเหมือนว่า การเข้าสู่ customer focus เป็นเป้าหมายสำคัญของทุกโอเปอ เรเตอร์
รวมทั้งทีเอ ออเร้นจ์ ที่ต้องการเปลี่ยนจากการทำตลาดระดับ mass ไปสู่การเข้าถึงกลุ่มลูกค้าแบบเฉพาะเจาะจง
"ทุกโอเปอเรเตอร์พยายามขยายขอบเขตบริการใหม่ๆ โดยเฉพาะ non-voice
อย่างดีแทคทำเรื่องของบริการ MMS แต่ทั้งหมดนี้อยู่ที่เนื้อหา และแอพพลิเคชั่น
ที่ต้องสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ ซึ่งมันเป็นศิลปะแล้ว เป็นกฎเกณฑ์ตายตัว
ถ้า โอเปอเรเตอร์ไหนคลำถูกทางจะขยายพื้นที่ได้มาก โดยเฉพาะในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีฐานลูกค้าใหญ่"
ศุภชัยสะท้อน
เพื่อเป็นการตอกย้ำให้เห็นในเรื่องของ innovative ศุภชัย และอภิรักษ์ ใช้งานครบรอบ
1 ปี บอกเล่าถึง SPV (Sound Picture Video) สมาร์ทโฟน ที่มีกำหนดวางตลาดในเดือนเมษายนนี้
"บริการ SPV จะเป็นบริการแรก ที่ตอบสนองความต้องการลูกค้านักธุรกิจ ที่ต้องการบริการที่เป็น
data อย่างแท้จริง เพราะเชื่อมโยงกับระบบปฏิบัติการ window ของไมโครซอฟท์
ซึ่งถือว่าเป็นแอพพลิเคชั่นส่วนใหญ่ที่คนใช้ในการทำงาน" อภิรักษ์บอก
แม้ว่าศุภชัยจะค่อนข้างมั่นใจกับการเพิ่มยอดลูกค้า 1 ล้านรายในปีนี้ เพราะ
เชื่อว่าตลาดรวมโทรศัพท์มือถือปีนี้จะขยายตัวถึง 5 ล้านเลขหมาย
แต่สิ่งที่เป็นกังวลสำหรับเขา ก็คือ ปัญหาหนี้เสีย ที่เกิดขึ้นมากหลังยกเลิกเก็บค่าประกันเลขหมาย
ค่าประกันเครื่อง ทำให้มีลูกค้าประเภทใช้แล้วชักดาบเพิ่มขึ้น
ทุกวันนี้ ทีเอมีหนี้เสียประมาณ 400 ล้านต่อปี ศุภชัยบอกว่า เป็นตัวเลขใกล้เคียงกับที่ทีเอ
ออเร้นจ์ประสบปัญหา เรื่องสำคัญอีกเรื่องในวันนั้นจึงเป็นการจัดตั้ง "เครดิตบูโร"
ขึ้น ระหว่างทีเอและโอเปอ เรเตอร์โทรศัพท์มือถืออื่นๆ ในลักษณะความร่วมมือ
งานในวันนั้นจบด้วยการเริ่มต้นเดินทาง ทั้งการแจกเยลลี่สีส้มและโครงการใหม่ๆ
ที่เป็นความหวัง และสีสันใหม่ของตลาดโทรศัพท์มือถือในปีที่สองของ ทีเอ ออเร้นจ์