Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน16 สิงหาคม 2550
ฝรั่งทิ้งหุ้นไทย12วันรูด121จุดมาร์เกตแคปหายวับ8.4แสนล้าน             
 


   
search resources

Stock Exchange




ต่างชาติฉวยจังหวะซับไพรม์พ่นพิษ 12 วัน ทิ้งหุ้นไทยแล้ว 3 หมื่นล้าน ฉุดดัชนีดิ่งกว่า 121 จุด จากจุดสูงสุด 895.63 จุด เหลือแค่ 773.92 จุด มาร์เกตแคปหาย 8.4 แสนล้าน หลุดต่ำกว่า 6 ล้านล้านบาท "ภัทรียา" เตือนนักลงทุนอย่าตระหนก เชื่อปัญหาจะคลี่คลายไปในทางที่ดี ด้านผู้ว่าแบงก์ชาติ เผยต่างชาติปรับพอร์ตทิ้งหุ้นไทย 50% ขณะที่โบรกเกอร์เชื่อหุ้นยังมีโอกาสผันผวนต่อ เชื่อผลลงคะแนนประชามติ 19 ส.ค.นี้มีผลต่อจิตวิทยาการลงทุน

ภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (15 ส.ค.) ยังประสบปัญหาเรื่องหนี้ด้อยคุณภาพภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (ซับไพรม์) ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศใช้เป็นเหตุผลในการปรับพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก กดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมาปิดที่ 773.92 จุด ลดลง 19.90 จุด หรือ 2.51% ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดในรอบ 12 วัน ตั้งแต่ปัญหาเรื่องซับไพรม์เริ่มประทุขึ้น มูลค่าการซื้อขายรวม 16,489.42 ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นการปรับตัวลดลงของดัชนีเพียง 12 วันทำการถึง 121.71 จุด หรือ 13.58% จากจุดสูงสุดของปีในช่วงวันที่ 26 ก.ค.ซึ่งปรับตัวสูงสุดที่ 895.63 จุด ส่งผลทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) เมื่อเทียบกับดัชนีเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ซึ่งอยู่ที่ 884.16 จุด มาร์เกตแคปอยู่ที่ 6.816 ล้านล้านบาท โดยมาร์เกตแคปลดลงมาแล้วถึง 8.39 แสนล้านบาทมาอยู่ที่ 5.977 ล้านล้านบาท

ด้านนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเพิ่มอีก 5,212.09 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 1,082.31 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 4,129.78 ล้านบาท โดยจากวันที่ 1 ส.ค.ถึง 15 ส.ค.นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิแล้ว 28,214.32 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 5,113.88 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 23,100.44 ล้านบาท

นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงตามตลาดหุ้นต่างประเทศจากปัญหาเรื่องซับไพรม์ ทำให้ตลาดหุ้นดาวโจนส์มีการปรับตัวลดลง ซึ่งนักลงทุนไทยไม่ควรที่จะตกใจมากกับเรื่องดังกล่าวมากนัก เพราะเชื่อว่าปัญหาดังกล่าวน่าจะคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นมีการปรับตัวลดลงนั้นเป็นโอกาสที่ดีที่นักลงทุนจะเข้าไปลงทุนในกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) ที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และต้องการให้นักลงทุนมีการพิจารณาเรื่องในเรื่องปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน

ต่างชาติปรับพอร์ตหุ้นไทยกว่าครึ่ง

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐฯ ได้สร้างข้อกังวลให้แก่ตลาดหุ้นทั่วโลก ทำให้ผู้ลงทุนสถาบันพยายามนำเงินลงทุนกลับไปประเทศตัวเอง เพื่อให้มีระบบมีสภาพคล่องมากขึ้น เหมือนกับตลาดหุ้นไทยที่ต่างชาติได้เทขายหุ้นออกไปแล้วครึ่งหนึ่งของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ขายหุ้นจากตลาดที่กำลังพัฒนาและกลับไปยังตลาดที่พัฒนาแล้ว ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของผู้ลงทุนและความเชื่อมั่นด้วย

"แม้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เกิดจากปัจจัยภายนอก ซึ่งเหนือการควบคุม อย่างไรก็ตามเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นจะไม่สร้างปัญหามากนัก ส่วนไทยเป็นเพียงประเทศเล็กๆ เมื่อมีเหตุการณ์อะไรเปลี่ยนแปลงก็มีผลต่อค่าเงินบาทให้อ่อนตัวด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศทั่วโลกมีการเชื่อมโยงกัน จึงจำเป็นที่ทั้งภาครัฐและเอกชนควรมีการติดตามเหตุการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้รับผลกระทบน้อยจากปัญหาซับไพร์ม เพราะธนาคารพาณิชย์ที่ไปลงทุนมีไม่มากนัก ทำให้ตอนนี้ธปท.ยังคงไม่มีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติม แม้ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศมีการอัดฉีดเงินเข้าระบบตลาดการเงินของตัวเองก็ตาม"

โบรกเกอร์เชื่อหุ้นไทยซึมต่อ

นางศศิกร เจริญสุวรรณ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ปัญหาเรื่องซับไพรม์ในสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยที่คอยฉุดความมั่นใจนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ออกมาเพื่อสกัดกั้นค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

"ตอนนี้ความกังวลของนักลงทุนต่างชาติยังติดอยู่ที่ปัญหาเรื่องซับไพร์ม ซึ่งอาจจะกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ทำให้สิ่งที่เห็นตอนนี้ต่างชาติยังขายสุทธิอย่างต่อเนื่องมาหลายวัน ซึ่งจะหยุดขายเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้"นางศศิกรกล่าว

สำหรับแนวโน้มในระยะสั้นนี้คาดว่ายังมียังมีโอกาสที่จะปรับตัวลดลงต่อได้ จากที่นักลงทุนยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาเรื่องซับไพรม์ ขณะที่นักลงทุนภายในประเทศกังวลเกี่ยวกับการชุมนุมก่อนที่จะมีการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 สิงหาคมนี้ แต่ในระยะยาวยังคงมองภาวะเศรษฐกิจเติบโตดี จึงแนะนำทยอยซื้อสะสมหุ้นที่ผลประกอบการดี และมีการจ่ายเงินปันผล โดยประเมินแนวรับที่ 765-770 จุดและแนวต้านที่ 782-785 จุด

นางวิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า แรงขายจากนักลงทุนต่างชาติที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากประเด็นกรณีเรื่องซับไพร์มอาจจะมีผลเชื่อมโยงไปถึงการปล่อยสินเชื่อประเภทอื่น ทำให้มีแรงเทขายทำกำไรในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงทั่วโลก และส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องถึง 3 สัปดาห์

"ในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยยังคงปรับตัวผันผวนเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นภูมิภาค ที่ได้รับปัจจัยกดดันในเรื่องซับไพร์ม และวันนี้คาดดัชนีตลาดหุ้นจะมีแนวโน้มการแกว่งตัวในทิศทางที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง แต่คงจะไม่มากกว่าช่วงก่อนหน้านี้ที่ดัชนีได้ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง และยังคงต้องติดตามเรื่องการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่19 ส.ค.นี้ ซึ่งจะมีผลต่อจิตวิทยาการลงทุนตลาดหุ้นไทย โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 770 จุด และแนวต้านที่ 785 จุด"

ลุ้นเฟดลดดอกเบี้ย

นางสาวปาวีณา เดชอิทธิกุล รองผู้อำนวยการอาวุโส บล.บีที กล่าวว่า ในระยะสั้นตลาดหุ้นน่าจะยังคงผันผวนต่อเนื่อง จนกว่าทางสหรัฐฯ จะมีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาซับไพรม์ แต่คาดว่าทางธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด คงไม่ปรับลดดอกเบี้ยในระยะสั้นนี้

นายกมลชัย พลอินทวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บล.ทรีนี้ตี้ กล่าวว่า ตามเทคนิคแล้วในสัปดาห์นี้ดัชนีจะเกิดการปรับฐานต่อเนื่อง โดยมีแนวรับที่ 760-775 จุด และสัปดาห์หน้าดัชนีน่าจะดีดกลับขึ้นไปอีกครั้งในระดับประมาณ 800 จุด และดัชนีจะทำการปรับตัวลดลงอีกครั้งลงไปที่ระดับประมาณ 730-750 จุด

"เชื่อว่าต่างชาติน่าจะเทขายได้สูงสุดอีกไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท จากที่ขายมาแล้วประมาณ 3 หมื่นล้านบาท"นายกมลชัยกล่าว

ธอส.ยันซับไพรม์ไม่ลามถึงไทย

นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบกับไทย 2 ด้าน กล่าวคือ เมื่อเกิดปัญหากับผู้ซื้อบ้านที่เป็นซับไพรม์หรือลูกค้าซื้อบ้านที่มีตำหนิในเรื่องคุณของคุณบัติผู้กู้ เนื่องจากภาวะซบเซาของธุรกิจอสังหาฯในสหรัฐฯทำให้ราคาบ้านตกลง และเกิดเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มากขึ้น กองทุนเฮจฟันด์ที่เข้ามาลงทุนซื้อสินเชื่อซับไพรม์ผ่านการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซิเคียวริไทเซชั่น) โดยส่วนใหญ่จะการใช้เงินกู้จากธนาคาร เมื่อคุณภาพหลักประกันลดลง ทำให้ธนาคารเรียกหลักประกันเพิ่มจากกองทุนดังกล่าว

ดังนั้น กองทุนเฮจฟันด์จำเป็นต้องระดุมเงินตั้งสำรองเพิ่ม อย่างไรก็ตามกองทุนดังกล่าวส่วนใหญ่จะนำเงินไปลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก เมื่อต้องการเงินเพิ่ม ทำให้มีการถอนเงินที่ลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกกลับไปสำรองหลักประกันที่ถูกธนาคารเรียกเพิ่ม ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกร่วมถึงในตลาดหุ้นในประเทศไทยตกลง

นอกจาก การถอนเงินลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว กองทุนเฮจฟันด์ยังต้องการใช้กู้เงินจากธนาคารอีกส่วนหนึ่งเอาไปสำรองหลักประกันที่ถูกเรียกเพิ่ม ซึ่งจะทำให้ความต้องการดอลลาร์สูงขึ้น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งขึ้น และทำให้เงินบาทไทยอ่อนตัวลง ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกรวมถึงสินค้าเกษตรของไทยดีขึ้น ผลกระทบจากซับไพรม์ จึงมีทั้งในแง่บวกคือทำให้เงินบาทอ่อนลง แต่แง่ลบคือ การลงทุนในตลาดหุ้นจะลดลง

สำหรับการปล่อยสินเชื่อในประเทศไทย ยังไม่มีปัญหาในลักษณะเดียวกับสินเชื่อซับไพรม์ในสหรัฐฯ เนื่องจากลูกค้าสินเชื่อของไทยส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้าสินเชื่อชั้นดี ส่วนลูกค้าที่มีตำหนิ เช่น ลูกค้าที่ติดเครดิตบูโร ธนาคารจะให้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวแก้ปัญหาหนี้ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนปล่อยกู้ จึงไม่เป็นการปล่อยกู้ให้แก่ลูกค้าที่มีตำหนิเหมือนในสหรัฐฯ ในขณะเดียวกันธนาคารไม่มีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับซับไพรม์ จึงไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจยังทำสถาบันการเงินไทยมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และยิ่งในปัจจุบันที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจผันผวนสถาบันการเงินยิ่งเข้มงวดขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม ธอส.ได้เข้มงวดในการพิจารณาเอกสารการขอกู้เงิน เนื่องจากมีปัญหาการปลอมเอกสารและผู้ค้ำประกัน ประกอบกับปีนี้เหลือลูกค้าที่มีตำหนิเรื่องเครดิตอยู่ในระหว่างการกู้กับธนาคารค่อนข้างมาก เนื่องจากลูกค้าชั้นดีกู้ผ่านไปแล้วเมื่อ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งธนาคารจะพิจารณาเข้มงวดเฉพาะรายที่มีปัญหาจากธนาคารอื่น ส่วนปัญหาการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือผ่อนรถยนต์นั้น จะไม่นำมาเป็นเงื่อนไขพิจารณาปล่อยกู้ สำหรับการปล่อยสินเชื่อของ ธอส.ปีนี้ พบว่าชะลอลง 20% จึงตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อปีนี้ 95,000 ล้านบาท

นายขรรค์ กล่าวต่อว่า ปัญหาเรื่องของซับไพรม์จะไม่มีผลต่อการออกซีเคียวริไทเซชั่นของธอส. เนื่องจากกว่าที่ธนาคารฯจะดำเนินการออกตราสารได้ ก็อีกประมาณ 10-12 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ พอร์ตของหนี้ที่จะนำมาเสนอขาย จะมีการผสมระหว่างหนี้ดีและหนี้เสีย ซึ่งจะสร้างความน่าสนใจให้แก่นักลงทุน อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่อยู่ในเกณฑ์ซับไพรม์ของธอส. ยังมีส่วนน้อย เช่น สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบ้านเอื้ออาทร เป็นต้น ปัจจุบันเอ็นพีแอลของธอส.มีมูลหนี้ประมาณ 30,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6% ของสินเชื่อรวมธอส.และมีหนี้ส่วนขาดอีก 20,000 ล้านบาท

หุ้นทั่วโลกดิ่งยังผวาพิษซับไพรม์

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า ตลาดหุ้นแถบเอเชียและยุโรปวานนี้(15) พากันหล่นฮวบลงอีกรอบ ตามหลังวอลล์สตรีทที่เซถลาในคืนวันอังคาร(14) สืบเนื่องจากนักลงทุนเกิดความหวั่นวิตกกันขึ้นมาอีก เกี่ยวกับพิษร้ายของวิกฤตสินเชื่อเคหะประเภทลูกค้าด้อยมาตรฐาน (ซับไพรม์) ในสหรัฐฯ

ที่วอลล์สตรีทวันอังคาร ดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ซึ่งเป็นมาตรวัดราคาความเคลื่อนไหวของพวกหุ้นบลูชิป ปิดตลาดโดยลดลง 207.61 จุด หรือ 1.57% ขณะที่ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี500 ซึ่งวัดความเคลื่อนไหวของหุ้นวอลล์สตรีทวงกว้างกว่า ก็ลบ 26.38 จุด หรือ 1.82% และดัชนีหุ้นคอมโพสิตของตลาดแนสแดค ซึ่งทำการซื้อขายหุ้นกลุ่มไฮเทคจำนวนมาก หดหาย 43.12 จุด หรือ 1.70%

นักวิเคราะห์บอกว่า สาเหตุใหญ่มาจากข่าวหลายข่าวซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดยังไม่มีความมั่นใจว่าใครบ้างคือผู้ที่เสียหายจากวิกฤตซับไพรม์ อีกทั้งอยู่ในอาการสินเชื่อติดขัด ถึงแม้บรรดาธนาคารกลางพากันอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบกันอย่างขนานใหญ่มาหลายวัน จนปัญหาในองค์รวม ทำท่าคลี่คลายลงแล้ว

ทั้งนี้เรื่องที่ให้ผลแรงที่สุดต่อวอลล์สตรีทวันอังคาร คือ ข่าวที่ว่าบริษัท เซนทิเนล แมเนจเมนต์ กรุ๊ป อิงก์ ซึ่งเชี่ยวชาญด้านค้าตราสารในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้า และดูแลบริหารจัดการสินทรัพย์อยู่ราว 1,600 ล้านดอลลาร์ ได้แจ้งแก่ลูกค้าว่า กำลังหามาตรการป้องกันไม่ให้ลูกค้าไถ่ถอนการลงทุน เพราะถ้ามาขอไถ่ถอนมากๆ เซนทิเนลก็ต้องขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ในราคาต่ำ อันจะยิ่งทำให้ลูกค้าขาดทุนอย่างไม่จำเป็น

เนื่องจากสินทรัพย์ที่เซนทินัลถือครองอยู่จำนวนหนึ่ง เป็นกองทุนของผู้ค้าตราสารในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ล่วงหน้ารายอื่นๆ ตลาดจึงผวาว่า หากผู้ค้าอื่นๆ เหล่านี้ไม่ได้เงินจากเซนทินัล ก็อาจขาดเงินที่จะไปจ่ายค่ามาร์จินตามที่ตลาดซึ่งผู้ค้าเหล่านี้ทำธุรกิจอยู่กำหนด หรือไม่ก็ประสบปัญหายากลำบากในการชำระหนี้สินทางการเงินอย่างอื่นๆ

นอกจากนี้ ในวันอังคารนั้นเอง ยังมีข่าวว่าทรัสต์เพื่อการลงทุนของแคนาดาหลายแห่ง ประสบความลำบากในการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้น แฟรง สือ ผู้อำนวยฝ่ายตราสารหนี้ทั่วโลกของ ฟิแมต ให้ความเห็นว่า ปัญหาในตลาดตราสารการค้า และตลาดตราสารหนุนหลังด้วยทรัพย์สิน ยังคงอยู่มิได้สูญหายไปไหน ดังนั้น วันนี้เกิดเรื่องขึ้นที่แคนาดา แต่ประเทศอื่นๆ รวมทั้งสหรัฐฯ ก็อาจเกิดปัญหาทำนองเดียวกันขึ้นมาได้

ข้ามมาทางเอเชียวานนี้ ตลาดหลักทรัพย์ต่างตกฮวบฮาบตามวอลล์สตรีทกันทั่วหน้า โตเกียว -2.19% , ฮ่องกง -2.87%, สิงคโปร์ -3.45%, จาการ์ตาแรงที่สุดคือ -6.4%

แถบเอเชียแม้มีผู้บาดเจ็บจากวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯอยู่บ้าง เป็นต้นว่า มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป กลุ่มกิจการธนาคารใหญ่ที่สุดของโลกหากคำนวณตามสินทรัพย์ แถลงวานนี้ว่า ขาดทุนจากการลงทุนในซับไพรม์ไปราว 43 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือว่านิดเดียวเมื่อดูจากขนาดกิจการของแบงก์แห่งนี้

กระนั้น พวกดีลเลอร์อธิบายว่า สิ่งที่นักลงทุนในเอเชียหวาดกลัวกันมากกว่าก็คือ พวกกองทุนต่างประเทศจะถูกบังคับให้ขายทิ้งหุ้นเอเชีย เพื่อนำเงินไปชดเชนส่วนที่ขาดทุนไปกับซับไพรม์

"สิ่งต่างๆ กำลังสั่นคลอนเหลือเกินในสหรัฐฯ และนั่นก็กำลังขับดันให้เกิดความวิตกขึ้นมาอย่างมากมายจริงๆ ในขณะนี้" เป็นความเห็นของ ลอร์เรน ตัน รองประธานกรรมการบริหารด้านวิจัยหลักทรัพย์เอเชีย ของบริษัทสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส สาขาสิงคโปร์

"ตลาดยังไม่มีเสถียรภาพในตอนนี้ จนกว่าจะมีสัญญาณบางประการว่าสิ่งต่างๆ กำลังมีเสถียรภาพแล้วนั่นแหละ มันก็จะยังคงวูบวาบแปรปรวนอย่างเหลือเกินไปเรื่อยๆ" เธอกล่าวต่อ

สำหรับตลาดแถบยุโรปวานนี้ เมื่อถึงช่วงบ่าย ตลาดลอนดอน ลดลงไป 1.46%, ปารีสก็ดิ่งลง 1.45%, ส่วนแฟรงเฟิร์ตตกมา 0.76%   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us