กรณีการจ้างเครือข่ายสื่อระดับโลกให้เข้ามารับผิดชอบการสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทย
ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ และเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยประสบกับวิกฤติค่าเงินบาทใหม่ๆ
เมื่อ 6 ปีก่อน
สถาพร กวิตานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
เป็นผู้รู้เรื่องดีที่สุด
สถาพร ได้ว่าจ้างให้ Time Warner ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้รวมกิจการกับ AOL
ให้เข้ามาเป็น partnership เพื่อ promote ภาพลักษณ์ของประเทศไทย ที่ขณะนั้นกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่สับสน
จับต้นชนปลายไม่ถูก
"สิ่งหนึ่งที่ต้องทำในช่วงนั้น คือการสร้าง Brand ให้กับประเทศไทย ซึ่งคนที่จะทำหน้าที่ตรงนี้ได้
ต้องเป็นองค์กรเอกชนที่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผมก็นึกถึง
Time Warner เพราะเคยเห็นผลงานที่เขาสร้าง Brand ให้กับไต้หวันจากเกาะที่ไม่มีอะไร
จนกลายเป็นประเทศชั้นนำทางอุตสาหกรรมในอีก 10 ปีต่อมา เลยต้องการให้เขามาเป็น
partnership ผมบินไปนิวยอร์กไปคุยกับเขา เขาก็ OK" สถาพรเล่า
สถาพรเป็นผู้ประสานงานให้มีการประชุม editorial ของสื่อต่างๆ ในเครือ Time
Warner ขึ้นที่สำนักงานใหญ่ของ Time Warner ในกรุงนิวยอร์ก โดยให้ชวน หลีกภัย
ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไปร่วมประชุมด้วย เพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทยกับสื่อเหล่านี้ได้รับทราบ
แต่สิ่งที่เขาทำ ก็ถูกนักการเมืองโจมตีอย่างหนักในขณะนั้น "การจัดประชุม
editorial ซึ่งมีทั้งบรรณาธิการของนิตยสาร FORTUNE หรือ TIME เข้ามานั่งรวมกันแบบ
round tabal มันไม่ใช่นัดง่ายๆ แม้ประธานาธิบดีเรแกนยังต้องไป ตึกของเขาเลย
จะเล่น international ต้องเข้าใจ international ถ้าคุณไม่รู้จัก international
คุณเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศไปก็ป่วยการ"
ผลการจัดการของสถาพรในช่วงนั้น อย่างน้อยก็มีผลให้สื่อต่างประเทศ มีความเข้าใจประเทศไทยมากขึ้น
และหลังจากสถาพรคิดโครงการนี้ขึ้นมาได้ไม่นาน ประเทศมาเลเซียก็ดำเนินการตามในแบบเดียวกัน