10 โมงเช้า วันพฤหัสบดีที่ 20 มีนาคม ตามเวลาในประเทศไทย ขณะที่ โปรแกรมปกติซึ่งกำลังออกอากาศอยู่ใน
CNN สถานีเคเบิลทีวีใหญ่ที่สุดของสหรัฐ อเมริกา เป็นช่วงรายการ Larry King
Live จรวดโทมาฮอร์คลูกแรก ได้ถูกยิงขึ้นจาก เรือรบของสหรัฐฯ ที่กำลังลอยลำอยู่ในอ่าวเปอร์เซีย
โดยมีเป้าหมายอยู่ที่แหล่งกบดานของประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น บริเวณชานกรุงแบกแดด
ถือเป็นการเปิดฉากแรกของสงครามรุกรานประเทศอิรัก จากมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา
และอังกฤษ
และถือเป็นการเปิดฉากการแสดงบทบาทสถานีข่าวที่รายงานสดสงครามอิรักรอบใหม่
ของ CNN จากเครือข่ายผู้สื่อข่าวที่กระจายกันอยู่ในจุดต่างๆ ในอ่าวเปอร์เซีย
โดยมีสายตาผู้ดูจากแทบทุกพื้นที่ทั่วโลก ต่างจับจ้อง และติดตาม
ในวันเดียวกับที่สงครามเริ่มเปิดฉาก เป็นวันที่ผู้บริหารระดับสูงของ AOL
Time Warner เจ้าของเครือข่าย CNN กำลัง มีภารกิจสำคัญอยู่ในประเทศไทย เพราะเป็นวันที่คณะกรรมการอำนวยการจัดการประชุม
APEC CEO Summit 2003 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ได้จัดพิธีเซ็นสัญญาให้ AOL
Time Warner เป็นผู้สนับสนุนหลักทางด้านการประชาสัมพันธ์การจัดการประชุมครั้งนี้
APEC CEO Summit เป็นการประชุมผู้นำระดับสูงของภาคเอกชนที่อยู่ในกลุ่มประเทศ
APEC ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำ ทุกปี ควบคู่ไปกับการจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ
APEC ที่จะมีการสับเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ ระหว่างประเทศในทวีปเอเชีย และอเมริกา
ในปีนี้ ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC
การจัด APEC CEO Summit 2003 จึงถูกกำหนดให้จัดขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่
18-21 ตุลาคม โดยมีการคาดหมายว่า จะมีผู้นำองค์กรเอกชนระดับโลก อาทิ ประธาน
Unocal, Citicorp., General Motors, New York Life Insurance, Mitsubishi,
Fuji Xerox ฯลฯ เข้าร่วมประชุมด้วย
การประชาสัมพันธ์การจัดงาน จึงจำเป็นต้องจ้างสื่อที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วโลก
เป็นผู้รับผิดชอบ
ในพิธีเซ็นสัญญา ผู้บริหารระดับสูงของ AOL Time Warner ที่มาร่วมงาน ประกอบด้วย
Stephen J. Marcopoto President และ Managing Director ของ Turner Broadcasting
System Asia Pacific Inc. Andrew Butcher President และ Publisher ของนิตยสาร
TIME และ FORTUNE และ Anthony Sharma Managing Director ของ Time Inc. และ
CNN ประเทศไทย
ส่วนตัวแทนฝ่ายไทยคือ กร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรี โดยมี พ.ต.ท.ทักษิณ
ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาร่วมเป็นสักขีพยาน
บรรยากาศการเซ็นสัญญา ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมคอนราด ถนนวิทยุ เป็นไปด้วยความชื่นมื่น
ในวันนั้นยังไม่นึกถึงผลของสงครามว่าจะยืดเยื้อต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ทุกคนยังคิดในแง่ดีว่า สงครามครั้งนี้จะจบลงในเร็ววัน และการที่ CNN เป็นสถานีที่เกาะติดข่าวสงคราม
ทำให้คนติดตามดูรายการจาก CNN มากขึ้น จะส่งผลต่อข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม
APEC CEO Summit 2003 ที่ประเทศไทย ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะมีการรายงานผ่านทางสถานี
CNN อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้การจัดงานครั้งนี้ดูมีความยิ่งใหญ่มากขึ้น
"การที่เราได้ AOL Time Warner มาเป็น Partnership ทำให้หลังจากนี้ไป CNN
จะต้อง carry ข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง คนที่ดูข่าวสงคราม ก็จะได้เห็นข่าวของประเทศ
ไทยไปด้วยเช่นกัน" กร ทัพพะรังสี พูดถึงความคาดหวัง บนเวที แถลงข่าวก่อนพิธีเซ็นสัญญาจะเริ่ม
วัชระ พรรณเชษฐ์ ในฐานะประธานอำนวยการจัดการประชุม ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ว่าสงครามที่เกิดขึ้นไม่น่าจะมีผลต่อการจัดการประชุม
โดยยกตัวอย่างในปี 2544 ที่จีนเป็น เจ้าภาพจัดการประชุมขึ้นที่นครเซี่ยงไฮ้
และได้เกิดเหตุการณ์ 11 กันยายนขึ้นมาก่อน แต่ก็ไม่ได้ทำให้การประชุมสะดุด
ทุกคนล้วนมองโลกในแง่ดีไปเสียทั้งหมด
แต่สิ่งที่ทุกคนหวัง มิได้เป็นไปตามคาดมากนัก เพราะตั้งแต่วันที่มีพิธีเซ็นสัญญาเป็นต้นมา
สงครามยังคงยืดเยื้อ ทำให้ CNN และสถานีโทรทัศน์ที่มีเครือข่ายทั่วโลกทุกช่อง
ต่างทุ่มเวลาไปกับการรายงานข่าวสงครามแทบจะเต็ม 100% ข่าวเหตุการณ์อื่นๆ
ที่เกิดขึ้นในอีกหลายส่วนของโรค อย่างเช่น ไวรัสหวัดมรณะ เพิ่งจะมีโอกาสปรากฏเป็นข่าวออกไปบ้าง
ก็ต่อเมื่อสงครามก้าวเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3
และหากสงครามยังไม่จบ หรือยืดเยื้อต่อไปอีกนาน ก็ไม่แน่ว่าข่าวการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม
APEC CEO Summit 2003 ในประเทศไทย จะได้มีโอกาสปรากฏออกทางหน้าจอ CNN ดังที่ทุกๆ
คนตั้งความหวังกันไว้หรือไม่