รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.ได้ประกาศยอดคงค้างการให้บริการบัตรเครดิตแยกตามประเภทบัตรเครดิตล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน หรือไตรมาส 2 ของปีนี้ พบว่า แม้ปริมาณและยอดสินเชื่อคงค้างของบัตรเครดิตจะเพิ่มขึ้นตามโปรโมชัน ที่ผู้ประกอบการพยายามกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายผ่านบัตรมากขึ้น แต่เนื่องด้วยเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลให้ปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมลดลงอย่างชัดเจน ซึ่งลดลงเกือบทุกประเภทในการใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งปริมาณการใช้จ่ายในประเทศ การเบิกเงินสดล่วงหน้า ยกเว้นเพียงปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศ ที่แม้จะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ก็ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทแข็งค่า ทำให้คนไทยหันไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ ส่วนต่างค่าเงินบาทในตลาดออฟชอร์กับออนชอร์ช่วงที่ผ่านมาสูงถึง 4 บาท โดยไตรมาส 2 ของปีนี้ในระบบเศรษฐกิจไทยมีจำนวนบัตรเครดิตทั้งสิ้น 11,254,587 ใบ หรือเพิ่มขึ้น 167,244 ใบ คิดเป็น 1.58% จากไตรมาสก่อน โดยแบ่งเป็นบัตรเครดิตในส่วนของธนาคารพาณิชย์ 4,492,614 ใบ สาขาธนาคารต่างชาติ 1,246,920 ใบ และอีก 5,515,053 ใบของบริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีปริมาณบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบเศรษฐกิจไทยถึง 102,052 ใบเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน รองลงมาธนาคารพาณิชย์ 51,523 ใบและสาขาธนาคารต่างชาติ 13,669 ใบ
ส่วนยอดคงค้างสินเชื่อทั้งสิ้น 169,016.56 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 2,633.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.58%ของสินเชื่อรวมโดยแบ่งเป็นยอดสินเชื่อคงค้างของธนาคารพาณิชย์ 57,011.38 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนมากที่สุดในระบบ คือ 1,189.56 ล้านบาท ขณะที่สาขาธนาคารต่างชาติมียอดสินเชื่อคงค้างในไตรมาสนี้ 34,356.44 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 668.51 ล้านบาท และนอนแบงก์ 77,648.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 775.71 ล้านบาท
ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมมีจำนวนทั้งสิ้น 64,455.36 ล้านบาท หรือลดลง 5,921.93 ล้านบาท หรือลดลง 8.41%ของสินเชื่อรวม โดยแบ่งเป็นในส่วนของธนาคารพาณิชย์ 34,113.99 ล้านบาท หรือลดลง 6,012,77 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.98% ซึ่งลดลงมากที่สุดของระบบสถาบันการเงินในไตรมาสนี้เทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนสาขาธนาคารต่างประเทศจากไตรมาสนี้มีจำนวนทั้งสิ้น 9,257.65 ล้านบาท หรือลดลง 285.94 ล้านบาท คิดเป็น 3.19% และในส่วนของนอนแบงก์มีปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมทั้งสิ้น 21,083.72 ล้านบาท หรือลดลง 195.10 ล้านบาท ลดลง 0.92%ของสินเชื่อรวม
โดยในไตรมาส 2 ของปีนี้ ปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมที่มีอยู่ 64,455.36 ล้านบาท แบ่งเป็นปริมาณการใช้จ่ายในประเทศ 46,188.67 ล้านบาท หรือลดลง 3,924.53 ล้านบาท ลดลง 7.83% ส่วนการเบิกเงินสดล่วงหน้ามีจำนวนทั้งสิ้น 15,768.73 ล้านบาท หรือลดลง 2,090.59 ล้านบาท ลดลง 11.71% และปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศที่มีจำนวน 2,497.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 93.19 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.88%
ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะปริมาณการใช้จ่ายในประเทศที่มีจำนวน 46,188.67 ล้านบาทเป็นส่วนของปริมาณการใช้จ่ายในประเทศที่เกิดจากธนาคารพาณิชย์ทั้งสิ้น 22,386.48 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนถึง 3,770.35 ล้านบาท หรือลดลง 14.41% นอนแบงก์มีจำนวน 16,197.24 ล้านบาท ลดลง 336.12 ล้านบาท หรือลดลง 2.03%และสาขาธนาคารต่างชาติมีจำนวน 7,604.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียง 181.94 ล้านบาทเท่านั้น หรือเพิ่มขึ้น 2.45%
|