ภาพกลุ่มอาคารเก่าแก่ภายในรั้วแน่นหนา ริมถนนราชสีมา ตรงข้ามหอประชุมคุรุสภา
ซึ่งถูกใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงานทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ เมื่อหลายปีก่อนเคยถูกมองว่าเป็นแดนสนธยา
กิจกรรมของสำนักงานแห่งนี้ ไม่ค่อยเป็นที่รับรู้กันในวงกว้างมากนัก ทั้งๆ
ที่เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ทั้งในสังคม และวงการธุรกิจ
แต่ภาพดังกล่าว กำลังจะถูกทำให้ลบเลือนหายไป ตั้งแต่ ปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่
15 ในการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ของจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา
การเชิญสื่อมวลชนมาร่วมฟังการแถลงนโยบาย ซึ่งจัดขึ้น เป็นครั้งแรกของสำนักงานทรัพย์สินฯ
เมื่อกลางเดือนมีนาคม เสมือนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกออกมาว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะเปิดตัวต่อสาธารณชน มากยิ่งขึ้น
สำนักงานทรัพย์สินฯ ถือเป็นองค์กรที่ถือครองที่ดินจำนวนมากในประเทศไทย
โดยเฉพาะที่ดินใจกลางกรุงเทพฯ และอีก 8 จังหวัดใหญ่ ปริมาณของที่ดินที่ถือครองอยู่นับจำนวน
ได้เป็นหมื่นๆ ไร่
รายได้หลักของสำนักงานทรัพย์สินฯ มาจากการให้เช่า ที่ดิน โดยมีสัญญาเช่ารวม
35,000 สัญญา ในจำนวนนี้เป็นสัญญาที่อยู่ในกรุงเทพฯ 22,000 สัญญา ที่เหลืออีก
13,000 สัญญา อยู่ในต่างจังหวัด
นอกจากนี้ สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังถือเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ในบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งเป็นองค์กรอุตสาหกรรมที่ใหญ่
และมีบทบาทสูงที่สุดในภาคธุรกิจ
การแถลงข่าวครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน โดยเฉพาะประเภทสิ่งพิมพ์เป็นจำนวนกว่า
50 คน ห้องประชุมเทเวศน์ ซึ่งถูกตกแต่งอย่างดี ไม่แตกต่างจากห้องประชุมของบริษัทเอกชน
มีนักข่าวและช่างภาพนั่งรับฟังการแถลงข่าวอย่างแน่นขนัด
ผู้บริหารสำนักงานทรัพย์สินฯ ต่างออกมาร่วมการแถลงข่าวอย่างพร้อมหน้า ตั้งแต่
จิรายุ, ม.ร.ว.ยงสวาสดิ์ กฤดากร รอง ผู้อำนวยการ, พล.อ.จิระศักดิ์ วัฒนาวงศ์
ผู้ช่วยผู้อำนวยการ, อารักษ์ สุนทรส หัวหน้าฝ่ายอาวุโส ฝ่ายธุรกิจอสังหาริม
ทรัพย์, สมบูรณ์ ชัยเดชสุริยะ หัวหน้าฝ่ายโครงการพิเศษ และเขมทัต วิศวโยธิน
หัวหน้ากองโครงการอนุรักษ์
เนื้อหาในการแถลงข่าว เริ่มตั้งแต่ ผลการดำเนินงาน นโยบายจัดการเกี่ยว
กับสิทธิประโยชน์ของที่ดิน นโยบายเพื่อสังคม และโครงการอนุรักษ์อาคารเก่าแก่
ที่ตั้งอยู่บนที่ดินของ สำนักงานทรัพย์สินฯ
ประเด็นที่เน้นหนักเป็นพิเศษ คือ การปรับขึ้นค่าเช่าที่ดิน ที่หน่วยราชการเป็นผู้เช่า
ซึ่งเป็นพื้นที่สวยๆ ใจกลางกรุงเทพฯ หลายแปลงด้วยกัน
ประมาณ 30-40% ของที่ดินที่สำนักงานทรัพย์สินฯ มีอยู่ เป็นที่ดินที่ให้หน่วยงานราชการ
และรัฐวิสาหกิจเช่า แต่ที่ผ่านมา สำนักงานทรัพย์สินฯ กลับมีรายได้จากที่ดินในกลุ่มนี้น้อยมาก
ทั้งนี้เพราะคิดค่าเช่าในราคาที่ถูก แต่หลังจากนี้ไป จะมีการปรับระบบการคิดค่าเช่าใหม่
โดยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าที่ดินตามราคาตลาด โดยที่ดินที่หน่วยราชการเช่าจะคิด
2% ส่วนรัฐ วิสาหกิจคิด 3% อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้เช่ากลุ่มนี้ยังติดปัญหา
เรื่องการของบประมาณ สำนักงานทรัพย์สินฯ จึงจะทยอยปรับขึ้นค่าเช่าเป็นลำดับ
ไปจนถึงปี 2549
ผลจากการเปลี่ยนนโยบายการจัดเก็บค่าเช่าสำหรับหน่วย ราชการ จะมีผลกระทบต่อที่ดินหลายแปลงในอีกไม่กี่ปีที่จะถึงนี้
อาทิ ที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริเวณสี่แยก ราชประสงค์
ที่ดินของการประปานครหลวงที่สี่แยกแม้นศรี ฯลฯ
นอกจากประเด็นนี้แล้ว ยังมีสิ่งที่ผู้บริหารสำนักงานทรัพย์สินฯ พยายามสื่อออกมาในการแถลงข่าวครั้งนี้
คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานใหม่ ให้มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับภาคเอกชนมากยิ่งขึ้น
สำนักงานทรัพย์สินฯ มีการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา 2 หน่วย ได้แก่ กองบริการลูกค้า
และกองลูกค้าสัมพันธ์ หน่วยงานแรกมีหน้าที่ให้บริการ และให้คำแนะนำแก่ลูกค้าในด้าน
ต่างๆ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องไปติดต่อหลายหน่วยงาน เช่น การทำสัญญาเช่า การชำระค่าเช่า
ค่าภาษีโรงเรือน และค่าเบี้ยประกัน
ส่วนหน่วยงานที่ 2 ตั้งขึ้นเพื่อรับเรื่องราวร้องเรียนต่างๆ ที่ลูกค้าได้รับ
รวมถึงการออกไปพบปะกับลูกค้า การจัดทำสื่อเพื่อให้การสื่อสารระหว่างลูกค้ากับสำนักงานทรัพย์สินฯ
มีความเข้าใจต่อกันมากขึ้น ซึ่งสื่อเหล่านี้ก็มีทั้งจุลสาร วารสารรายเดือน
รวมถึงเว็บไซต์
มีการวิเคราะห์กันว่า วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเมื่อ 5 ปี ก่อน เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ
ต้องปรับตัวอย่างขนานใหญ่ ผลตอบแทนที่เคยได้รับในแต่ละปี ได้ลดลงไป รวมถึงกรณีที่เกิดปัญหากับผู้เช่ารายใหญ่ๆ
อย่างเช่นโรงแรมดุสิตธานี และเวิลด์เทรด เซ็นเตอร์
การเปิดแถลงข่าวของผู้บริหาร สำนักงานทรัพย์สินฯ ครั้งนี้ จึงเป็นการประกาศความพร้อมสำหรับการดำเนินงานภายใต้สิ่งแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป
ความคล่องตัวที่เพิ่มสูงขึ้น จากรูปแบบการทำงานที่มีการปรับปรุงใหม่ กำลังจะเป็นจุดเด่นที่สำคัญของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์