Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2546








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2546
ยักษ์สีฟ้าตื่นทวงบัลลังก์แชมป์             
 

   
related stories

iron lady
New Model
Rising Star
Blue Team
ใครบอกว่าช้างตัวอ้วนเต้นรำไม่เป็น

   
www resources

IBM Homepage
โฮมเพจ ไอบีเอ็ม (ประเทศไทย)

   
search resources

ไอบีเอ็ม ประเทศไทย, บจก.
Samuel J. Palmisano
Computer
IBM




Sam Palmisano หัวเรือใหญ่คนใหม่ของ IBM หมายมั่นปั้นมือจะฟื้นความยิ่งใหญ่ของยักษ์สีฟ้าอีกครั้ง

ยังไม่ทันที่เหล่ากรรมการบริษัท IBM จะหย่อนก้นลงนั่งเรียบร้อยดี ในการประชุมคณะกรรมการบริษัทนัดแรกในรอบปีนี้ เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา Samuel J. Palmisano CEO คนใหม่ก็ทิ้งระเบิดตูมลงกลางที่ประชุม เมื่อเขาขอให้กรรมการทุกคนเฉือนโบนัสประจำปี 2003 ของแต่ละคนออกมาส่วนหนึ่ง เพื่อรวบรวมตั้งเป็นเงินกองกลางสำหรับเป็นรางวัลแก่ผู้บริหารระดับสูงสุดทั้งหมดที่มีอยู่ราว 20 คน ตามระดับความสามารถในการทำงาน เป็นทีมของพวกเขา แม้ Palmisano จะไม่เปิดเผยว่า ตัวเขาเองเฉือนโบนัสของตัวเองไปกี่มากน้อย แต่คนวงในแอบกระซิบว่า ไม่ต่ำกว่า 3 หรือ 5 ล้านดอลลาร์ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของโบนัสประจำปีนี้ของเขาเลยทีเดียว

ก่อนหน้านี้เพียง 5 วันในวันที่ 23 มกราคม Palmisano ก็เพิ่งจะสั่งยุบเลิกคณะผู้บริหารระดับสูง (executive management committee) ของ IBM ที่มีอายุยืนนานมาถึง 92 ปี และเป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือการกำหนดยุทธศาสตร์และการริเริ่มสิ่งต่างๆ ทั้งปวงใน IBM เป็น ศูนย์อำนาจบัญชาการ IBM ที่ผู้บริหารทุกคนของยักษ์สีฟ้าใฝ่ฝันที่จะได้มีโอกาสเข้าเป็นหนึ่งในสมาชิกจำนวน 12 คนขององค์กรดังกล่าว Palmisano ส่ง eMail ถึง ผู้จัดการระดับอาวุโสทั้งหมด 300 คน ประกาศการตัดสินใจดังกล่าว พร้อมชี้แจง ว่า executive management committee เป็นกลไกที่ใช้การไม่ได้แล้ว การประชุมเพียงเดือนละครั้งขององค์กรดังกล่าวมีแต่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างล่าช้า และต่อไปนี้เขาจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับทีมบริหาร 3 ทีมที่เขาได้ตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อปีกลาย ซึ่งแต่ละทีมประกอบด้วยพนักงานที่มาจากทุกส่วนของบริษัท ซึ่ง สามารถเสนอความคิดใหม่ๆ ที่ดีที่สุดมาสู่ที่ประชุมได้ตลอดเวลา

ขณะเดียวกัน Palmisano กำลังวางแผนการใหญ่ในการผลักดันให้ IBM กลับมายิ่งใหญ่อยู่บนจุดสูงสุดของเทคโนโลยีเหมือนในอดีตอีกครั้ง วันที่ 5 สิงหาคมปีกลาย ในการประชุมระดับยุทธศาสตร์ครั้งหนึ่ง Palmisano ได้ขอให้ทีมงานระดมสมองคิดโครงการที่ยิ่งใหญ่ถึงขั้นเปลี่ยนยุคเปลี่ยนสมัยในระดับเดียวกับที่เครื่องคอมพิวเตอร์แบบ mainframe ของ IBM เคยประกาศศักดามาแล้วเมื่อ 40 ปีก่อน ผลของการประชุมครั้งนั้นได้วิสัยทัศน์ใหม่คือ IBM จะเป็นผู้ผลิต "พลังงานคอมพิวเตอร์" (computing power) ทำนองเดียวกับพลังงานไฟฟ้าหรือน้ำประปา แต่ส่วนวิธีการที่จะผลักดัน IBM ให้ไปถึงจุดนั้นได้อย่างไรนั้น ทีมงานยอมรับว่ายังคิดไม่ออกว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร สร้างความผิดหวังให้แก่ Palmisano อย่างยิ่ง เขาสั่งเลิกประชุมทันที และให้เวลาทีมงาน 90 วันไปคิดอภิมหาโปรเจ็กต์ดังกล่าวให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างให้ได้ 3 เดือนผ่านไป Palmisano ก็สามารถเผยโฉมโครงการที่มีชื่อว่า "eBusiness on demand" ได้ ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า IBM จะนำพาโลกก้าวไปสู่ยุคใหม่ของคอมพิวเตอร์ และสามารถจะทวงตำแหน่งผู้นำผู้กำหนดวาระสำคัญของอุตสาหกรรมกลับคืนมาได้สำเร็จ

เกือบตลอดศตวรรษที่ 20 ภายใต้การนำของ Thomas J. Watson และบุตรชายของเขา Thomas Jr. IBM ไม่เพียงทรงอิทธิพลอย่างสูงในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ และ เป็นต้นแบบให้แก่บริษัทข้ามชาติของอเมริกันเท่านั้น หากแต่ IBM ยังเป็นประดุจมาตรฐาน ทองคำให้แก่บริษัททั้งหลายในหลายๆ ด้าน นับตั้งแต่ยุค tabulating machine ซึ่งเป็นเครื่องประมวลผลข้อมูลรุ่นแรกสุดที่ IBM คิดค้นขึ้น เรื่อยมาจนถึงยุคบุกเบิกอวกาศ ซึ่งเป็นยุคที่เครื่อง mainframe ของ IBM มีบทบาทอย่างสูงในการกำหนดเส้นทางเดินทางไปเหยียบดวงจันทร์ของสหรัฐฯ IBM คือเพชรน้ำหนึ่งทั้งในด้านอำนาจบารมีและการมีสายตาที่ยาวไกล IBM เป็นเอกทั้งในด้านเทคโนโลยี และการเปิดโอกาสให้แก่สตรีและชนกลุ่มน้อยในสังคมได้ทำงานที่มีรายได้งาม ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มวัฒนธรรมการทำงานแบบภักดีกับบริษัทไปตลอดชีวิต

เพื่อผลักดันให้ IBM หวนคืนสู่ความยิ่งใหญ่อย่างในอดีต CEO วัย 51 ปีผู้นี้ กำลัง เปลี่ยนแปลง IBM อย่างถึงราก Palmisano เป็นลูกหม้อเก่าตัวจริงของ IBM คนแรก ที่ได้ขึ้นกุมบังเหียนยักษ์สีฟ้า นับตั้งแต่ที่ IBM ร่วงตกจากบัลลังก์แชมป์เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม เขาทำในสิ่งที่ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงกับ Lou Gerstner CEO คนก่อนหน้าเขา ในขณะที่ Gerstner มีรายได้มหาศาลในฐานะ CEO Palmisano กลับลดโบนัสของตัวเอง เพื่อนำมาแจกจ่ายแบ่งปัน ให้แก่ทีมงาน Gerstner ปกครอง IBM แบบราชาปกครองไพร่ฟ้า แต่ Palmisano เชื่อในความเสมอภาค การปฏิวัติบริษัทของ Palmisano คือการสิ้นสุดของยุคแห่งการมี CEO ที่ทำตัวเหมือนจักรพรรดิ Palmisano กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรขนาดใหญ่หาได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวหรือจาก CEO ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง หากแต่จะเกิดขึ้นในสถานที่ที่มีการปฏิบัติงานจริง ไม่ว่าจะในห้องทดลองหรือแผนกวิจัยและพัฒนา ที่บริษัทของลูกค้า หรือในโรงงานผลิต

การทุบโครงสร้างการปกครององค์กรแบบมีชนชั้นของ IBM ให้แบนลง การลดค่าตอบแทนของ CEO และการเน้นความสำคัญของการทำงานเป็นทีม เหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของแผนการรณรงค์ของ Palmisano เพื่อให้ IBM คืนกลับไปสู่สิ่งที่เป็นแก่นรากของตน เขาเชื่อว่า มีเพียงการหวนกลับไปสู่คุณค่าหลักที่เคยส่งให้ IBM ยิ่งใหญ่ในอดีตเท่านั้น ที่จะช่วยให้ IBM สามารถจะกลับมาผงาดได้อีกครั้ง และทวงตำแหน่งผู้นำของตนทั้งในอเมริกาและในโลกกลับคืนมาได้สำเร็จ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ตลาดกำลังตกต่ำ อย่างหนัก และบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งกำลังอื้อฉาวด้วยพฤติกรรมฉ้อฉลอย่างในยุคนี้

หัวใจของแผนการหวนคืนสู่ความยิ่งใหญ่ของ Palmisano คือ eBusiness on demand อภิมหาโครงการที่เขมือบงบวิจัย และพัฒนามูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ของ IBM ไปแล้วถึงหนึ่งในสาม โครงการนี้จะส่งให้ยักษ์สีฟ้ากลายเป็นหัวหอกในการพลิกโฉมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ครั้งสำคัญ โครงการดังกล่าวจะเริ่มต้นด้วยการ ที่ IBM จะเข้าไปช่วยบริษัทลูกค้าวางระบบ คอมพิวเตอร์ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ด้วย เทคโนโลยีระดับสูงที่ IBM จะพัฒนาขึ้น

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของ IBM มิได้หยุดอยู่แค่เพียงความเป็นเอกในด้านเทคโน โลยีเท่านั้น หากแต่เป้าหมายสุดท้ายของ IBM คือ หลังจากวางระบบคอมพิวเตอร์ให้แก่บริษัทลูกค้าเรียบร้อยแล้ว IBM จะเป็นผู้ป้อนความรู้ความชำนาญที่ลึกซึ้งในด้านคอมพิวเตอร์ ลงไปในระบบเหล่านั้น กล่าวคือ IBM จะไม่เป็นเพียงเครื่องคำนวณตัวเลขและเครื่องส่ง eMail แต่จะเป็นผู้ที่สามารถมอบเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ลูกค้าสามารถแก้ปัญหาทางเทคนิค ที่ยุ่งยากได้ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบวิจัยยาตัวใหม่ๆ ของบริษัทยา จนถึงการจำลองสถานการณ์รถชนของบริษัทผลิตรถยนต์

อุปสรรคที่ Palmisano ต้องเผชิญนั้นมหาศาล เริ่มจากด้านเทคโนโลยี วิสัยทัศน์ของ IBM ที่ต้องการทำให้คอมพิวเตอร์เป็นบริการสาธารณูปโภคเหมือนกับไฟฟ้าและน้ำประปา นั้น นับว่าเป็นก้าวที่กล้ามาก เพราะหมายถึงการเสนอให้เชื่อมประสานเครื่องคอมพิวเตอร์ รวมถึงซอฟต์แวร์ทั้งหมดนับพันนับหมื่นที่อยู่ในบริษัทต่างๆ โดยทำให้ทุกเครื่องและทุกโปรแกรมสามารถทำงานเชื่อมโยงกันได้อย่างราบรื่นและประสานสอดคล้องกัน ไม่เฉพาะ เพียงภายในบริษัทเดียวกันเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบริษัทคู่ค้าและบริษัทลูกค้าของบริษัทนั้นอีกด้วย

งานนี้นอกจาก IBM จะต้องเค้นสติปัญญาพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการนี้ให้ได้แล้ว ยังต้องอาศัยโชคช่วยอีกด้วย เจ้าหน้าที่ของ IBM เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวว่า ขณะนี้ IBM เพิ่งพัฒนาเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับที่จะต้องใช้กับระบบ eBusiness on demand ไปได้เพียง 10% เท่านั้น และเทคโนโลยีสำคัญๆ อีกหลายอย่างเช่น ซอฟต์แวร์ที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ ยังคงอยู่ในขั้นทดสอบขั้นพื้นฐานอยู่ในห้องแล็บของ IBM เท่านั้น

งานที่หนักหนาสาหัสไม่แพ้กันที่ Palmisano ต้องเผชิญคือ เขาจะต้องเปลี่ยน แปลง IBM เอง ให้กลายเป็นบริษัท on-demand computing เสียก่อน เพื่อให้เป็นต้นแบบสำหรับลูกค้าดูเป็นตัวอย่าง นั่นหมายถึง เขาจะต้องรื้อผังเส้นทางการไหลเวียนของข่าวสารข้อมูลภายในบริษัทเพื่อวางผังใหม่ทั้งหมด ซึ่งมิได้หมายถึงเพียง การเปลี่ยนแปลงระบบคอมพิวเตอร์แบบยก กระบิเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการกำหนดรายละเอียดของงานในหน้าที่ของเกือบทุกคนในบริษัทใหม่ทั้งหมดด้วย

และถ้าหาก IBM เผชิญการต่อต้าน การเปลี่ยนแปลงจากพนักงานแม้แต่เพียงนิดเดียว ก็อาจส่งผลให้โครงการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพื่อรองรับ eBusiness on demand สะดุดหยุดชะงักได้ หากเป็นเช่นนั้น ก็จะกระทบกระเทือนถึงแผนรณรงค์ การตลาดของ eBusiness on demand มูลค่า 800 ล้านดอลลาร์ และทำให้ลูกค้าหายหน้าไปหมด ความล้มเหลวถ้าหากเกิด ขึ้นย่อมสร้างความเสียหายทางการเงินให้แก่ IBM อย่างเจ็บปวด และย่อมจะผลักดันให้ IBM จำต้องถอยหลังกลับไปยังตลาด ซึ่งมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเช่นตลาดเซิร์ฟ เวอร์และชิป นักวิเคราะห์จาก Gartner ชี้ ว่า ธุรกิจหลักที่สำคัญที่สุดของ IBM ขณะนี้ อันได้แก่ ธุรกิจให้บริการคอมพิวเตอร์และธุรกิจซอฟต์แวร์ ล้วนแต่ผูกติดอยู่กับยุทธศาสตร์ on-demand นี้ทั้งสิ้น

นอกจากนี้ Palmisano ยังต้องเผชิญกับคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างฮิวเลตต์-แพคการ์ด และไมโครซอฟท์ ซึ่งต่างก็กำลังวิจัย พัฒนาระบบคอมพิวเตอร์สำหรับยุคหน้ากันอยู่อย่างขะมักเขม้น ซึ่งคงจะสามารถต่อกรกับ IBM ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ IBM จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการที่ Palmisano ต้องชนะศึกอันใหญ่หลวงครั้งนี้

ถึงแม้ว่ายักษ์สีฟ้าจะดูเหมือนอยู่ในฐานะที่เป็นต่อศัตรู เพราะมีบริการที่ครอบคลุม กว่า แต่ Irving Wladawsky-Berger ผู้จัดการใหญ่รับผิดชอบ eBusiness on demand ของ IBM ชี้ว่า IBM จะประมาทไม่ได้แม้แต่นิดเดียว เพราะในปี 1996 IBM ถูกมองข้ามไม่ได้อยู่ในสายตาของคู่แข่งที่เป็นยักษ์ใหญ่ด้านซอฟต์แวร์อยู่ก่อนแล้ว แต่มาขณะนี้บรรดา ศัตรูต่างจับตามอง IBM ตาไม่กะพริบ ถ้าเผลอเมื่อไรเป็นถูกแซงหน้าทันที

Palmisano ยังถือโอกาสใช้ยุทธศาสตร์ใหม่คือ eBusiness on demand นี้ เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนทิศทางของบริษัท การปฏิรูปของ Gerstner อดีต CEO คนก่อนหน้าเขา เป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเปลี่ยนแปลง IBM ในครั้งนี้ เมื่อเขาเปลี่ยนเข็มมุ่ง ของ IBM ไปสู่ธุรกิจซอฟต์แวร์และบริการ แต่ eBusiness on demand ของ Palmisano ก้าวไปไกลยิ่งกว่าที่ Gerstner ได้เริ่มต้นไว้อีกมากนัก ยุทธศาสตร์ใหม่นี้ชอนไชไปทุกซอกทุกมุมของ IBM ตั้งแต่ทัพนักขายและที่ปรึกษาระบบ ไปจนถึงบรรดามันสมองทั้งหลายในห้องทดลองวิจัยและพัฒนา

ยุทธศาสตร์ใหม่ยังจะนำกำไรอันงดงามมาสู่บริษัท ปีที่แล้ว รายได้ของ IBM ตกลง ไป 2% เหลือ 81.2 พันล้าน และกำไรสุทธิร่วงลงไปถึง 54% เหลือ 3.6 พันล้าน แต่ปีนี้ Palmisano เชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่า eBusiness on demand จะกระตุ้นให้ยอดขายของ IBM เติบโตอย่างร้อนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1995 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า รายได้ของ IBM จะเติบโต 9% ในปีนี้ ส่วน Palmasino คาดว่า 40% ของรายได้หรือเท่ากับ 3 พันล้านดอลลาร์ จะมาจากผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในระบบ eBusiness on demand เช่น เซิร์ฟเวอร์ที่รันระบบปฏิบัติการ Linux ซึ่งไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ และรัน grid software ซึ่งทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เชื่อมต่อกันในเครือข่าย สามารถรวมพลังกันจนกลายเป็นเสมือนเครื่อง supercomputer เครื่องเดียว

eBusiness on demand ทำให้ Palmisano สามารถอพยพ IBM ลี้ภัยไปจากโลกของธุรกิจฮาร์ดแวร์ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด เข้าสู่ธุรกิจซอฟต์แวร์และบริการที่ทำกำไรงามได้ ทั้งนี้ ข้อมูลจากฝ่ายวิจัยภายใน IBM เองชี้ว่า ภายในปี 2005 60% ของผลกำไรที่ได้จากธุรกิจไฮเทคที่มีมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ จะได้มาจากธุรกิจซอฟต์แวร์และบริการ จากที่อยู่ในระดับเพียง 45% เท่านั้นในปี 2002

นอกจากจะพา IBM มุ่งหน้าสู่ทิศทางใหม่ๆ แล้ว Palmisano ยังมีวิธีเป็นผู้นำที่ IBM ไม่เคยเจอมาก่อนใน CEO คนใด หนึ่งปีก่อนหน้าที่เขาจะสั่งยุบเลิก Executive Management Committee Palmisano ได้จัดตั้งทีมบริหารใหม่ 3 ทีม ที่จะนำพาบริษัทไปสู่อนาคต ทั้ง 3 ทีมได้แก่ ทีมยุทธศาสตร์ ทีมปฏิบัติการและทีมเทคโนโลยี และแทนที่จะคัดเลือกเพียงผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมทีม Palmisano กลับเลือกผู้จัด การและวิศวกรที่คลุกคลีและรู้งานในด้านนั้นๆ ของแต่ละทีมเป็นอย่างดี

ถ้าได้นั่งคุยกับ Palmisano สักชั่วโมง คุณจะได้ยินเขาพูดคำว่า "ทีมเวิร์ก" ไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ทั้งนี้เพราะยุทธศาสตร์ on-demand อันยิ่งใหญ่ของเขา ล้วนขึ้นอยู่กับคำคำนี้เพียงคำเดียวเท่านั้น ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น การที่ IBM ต้องการจะคิดค้นพัฒนาเทคโนโลยี on-demand ใหม่ๆ ให้ได้อย่างกว้างขวางภายในระยะเวลาอันรวดเร็วนั้น พนักงาน IBM ทั้งบริษัทจะต้องร่วมมือกันอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน นักวิจัยจะไม่เพียงทำงานร่วมกับฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์เท่านั้น หากยังต้องร่วมมือกับที่ปรึกษาหรือแม้แต่ต้องพบกับลูกค้าด้วย ด้วยการพังกำแพงที่มองไม่เห็นที่กั้นขวางระหว่างแผนกต่างๆ ในบริษัทลงให้ได้เช่นนี้เท่านั้น จึงจะสามารถทำให้ IBM ค้นพบว่า ลูกค้ามีความต้องการที่แท้จริงอย่างไร และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อตอบสนองความต้องการนั้นได้อย่างรวดเร็ว

Palmisano เลือก Wladawsky-Berger นักคอมพิวเตอร์ผู้มีชื่อเสียงเชื้อสาย Cuba ผู้เป็นคุรุทางด้าน e-biz ให้แก่ IBM มาตั้งแต่ทศวรรษ 1990 มารับภารกิจสำคัญ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ on-demand ให้ซึมซาบไปทั่วทั้งองค์กร ดังนั้นในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา Wladawsky-Berger จึงตั้งทีมงานของตนขึ้นมา ประกอบด้วยสมาชิก 28 คนที่มาจากทุกแผนกของ IBM ซึ่งเขาเรียกว่า "virtual team" สมาชิกแต่ละคนของทีมจะสำรวจตรวจตราแผนกของตนอย่างละเอียด เพื่อค้นหาว่ามีจุดใดที่สามารถจะนำมาพัฒนาเป็นเทคโนโลยี on-demand ใหม่ๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น เซิร์ฟเวอร์ใหม่ๆ ที่จะเปิดตัวต่อไปในปีนี้ จะถูกทำให้มีความสามารถในการส่งต่องานที่เกินกำลังไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นๆ ภายในเครือข่ายได้

ส่วนการเปลี่ยน IBM เองให้กลายเป็นบริษัทที่ใช้ eBusiness on demand นั้น Palmisano มอบหมายให้ Linda Sanford ผู้จัดการดาวรุ่งพุ่งแรงของ IBM จากผลงานฟื้นธุรกิจเก็บบันทึกข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์ เป็นผู้รับผิดชอบ

Sanford ซึ่งบัดนี้กินตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการอาวุโสรับผิดชอบ eBusiness on demand ภายในบริษัท IBM ต้องเผชิญกับงานที่หนักหน่วง งานแรกเธอต้องยกเครื่อง ระบบ supply chain ขนาดยักษ์ของ IBM ซึ่งหมายถึงการรวมกระบวนการจัดซื้อมูลค่ามหาศาล 44 พันล้านดอลลาร์ของ IBM เข้าเป็นระบบเดียว และนั่นหมายถึงการจะต้องผลักดันให้วิศวกรของ IBM เปลี่ยนไปทำงานร่วมกับบรรดา supplier Palmisano คาดว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากการนี้คือ ประสิทธิภาพการผลิต (productivity) ที่จะเพิ่มขึ้น 5% หรือคิดเป็นเงินถึง 2-3 พันล้านดอลลาร์ต่อปีเป็นเวลา 5-10 ปีต่อจากนี้

ขณะนี้ Sanford ยังกำลังพยายามสร้างระบบคลังความรู้ออนไลน์ภายในบริษัท โดยเธอกำลังพยายามเปลี่ยน intranet ของบริษัทให้กลายเป็นคลังแห่งความร่วมมือขนาดยักษ์ โดยมี feature หนึ่งที่เรียกว่า "expertise locator" feature นี้จะช่วยให้พนักงาน IBM สามารถค้นพบตัววิศวกรผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่ต้องการได้ เช่น วิศวกรผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาซอฟต์แวร์ฐานข้อมูลบน Linux เป็นต้น

ด้านฝ่ายขายของ IBM ก็กำลังจะได้ฤกษ์เปิดตัวผลิตภัณฑ์ตัวแรกของโครงการยักษ์ eBusiness on demand แล้ว โดยเซิร์ฟเวอร์ใหม่ๆ ของ IBM ที่จะเปิดตัวต่อไปในปีนี้ จะมี feature หนึ่งที่เรียกว่า "hypervisors" feature ดังกล่าวจะทำให้สามารถติดตามการทำงานของเซิร์ฟเวอร์ได้มากถึง 100 เครื่องในเวลาเดียวกัน และสามารถส่งต่องานจากเครื่องหนึ่งไปยังอีกเครื่องหนึ่งได้

ขณะเดียวกันกลุ่ม Tivoli ในสังกัด IBM ก็ได้พัฒนาซอฟต์แวร์โปรแกรมใหม่ ซึ่งมีคุณสมบัติในทำนองเดียวกับ hypervisors กล่าวคือ สามารถติดตามตรวจสอบการทำงาน ของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อค้นหาเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้หน่วยความจำจนหมด เมื่อพบแล้ว โปรแกรมดังกล่าวจะสามารถส่งต่องานที่เกินความสามารถของเซิร์ฟเวอร์เครื่องนั้น ไปยังเครื่องอื่นๆ ได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งนี่ก็คือคุณสมบัติสำคัญของเทคโนโลยี on-demand computing นั่นเอง และเป็นคุณสมบัติที่จะช่วยให้บริษัทสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้

ทั้งนี้ เมื่อระบบคอมพิวเตอร์มีความสามารถในการแจกจ่ายงานไปยังคอมพิวเตอร์ เครื่องอื่นๆ ในเครือข่ายได้ บริษัทย่อมสามารถจะใช้งานเครื่องเซิร์ฟเวอร์ของตนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพจนสุดขีดความสามารถที่มี ผลที่ได้ก็คือการประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัท นอกจากนี้ ถ้าหากปริมาณงานเพิ่มขึ้นจนเกินกว่าเครื่องทั้งหมดที่ลูกค้ามีอยู่จะรับไหว ลูกค้าก็ยังสามารถจะส่งต่องานส่วนเกินนั้นมายัง IBM ได้อีกด้วย

IBM ยังหวังมากกว่านั้นอีกว่า ในที่สุดแล้ว ลูกค้าจะเลิกทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ทั้งหมด แล้วยกมาให้ IBM ทำแทน American Express เป็นลูกค้ารายแรกที่ชอบใจความคิดนี้ของ IBM หนึ่งปีก่อนหน้านี้ AmEx ได้เซ็นสัญญาอายุ 7 ปีมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ เพื่อรับบริการจาก IBM

ดูเผินๆ เหมือนเป็นการ outsource ธรรมดา กล่าวคือ AmEx ยกงานที่เกี่ยวกับ คอมพิวเตอร์ทั้งหมดรวมทั้งพนักงานด้านเทคโนโลยี 2,000 คนให้แก่ IBM ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ไปดูแลแทน แต่สิ่งที่ไม่ธรรมดาคือเงินที่ AmEx จ่ายไปเพื่อการนี้ AmEx จ่ายเพียงค่าเทคโนโลยีที่ตนใช้ไปในแต่ละเดือนเท่านั้น อันจะทำให้ AmEx สามารถจะประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ถึงหลายร้อยล้านดอลลาร์ตลอดอายุสัญญา ประโยชน์อีกประการคือ การที่ IBM เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญเรื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้การ upgrade ระบบสามารถทำได้เร็วกว่าที่ AmEx จะทำเองถึง 5 เท่า

วิสัยทัศน์ eBusiness on demand ของ Palmisano ก้าวไปไกลกว่าเพียงความท้าทายทางเทคโนโลยี หากแต่ก้าวลึกเข้าไปถึงความรู้ข้างในสมองของมนุษย์ แผนกบริการของ IBM มีผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ตั้งแต่อุตสาหกรรม การธนาคาร เหล็กไปจนถึงรถยนต์ Palmisano ต้องการรวบรวมความรู้ต่างๆ ของพวกเขาเข้าไว้ในระบบ on-demand เขามองเห็นอนาคตว่า ในที่สุดแล้ว ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในระบบ on-demand ของ IBM จะส่งผลให้บริษัทลูกค้าถึงต้องปรับโครงสร้างกันใหม่ และส่งผลสั่นสะเทือนวงการอุตสาหกรรมทั้งหมด

ขณะนี้ IBM กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ on-demand สำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งหมด 17 ประเภท หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมยา เทคโนโลยีใหม่ของ IBM จะสามารถ จำลองสถานการณ์การทดสอบยาตัวใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณการทดลองทางคลินิกจริงลงได้ ผลที่จะได้รับคือ อัตราความสำเร็จในการทดสอบยาตัวใหม่ จะเพิ่มขึ้นจากระดับปัจจุบันที่ 5-10% เป็น 50% หรือดีกว่านั้น

IBM ยังเชื่อว่า จะสามารถช่วยลดระยะเวลากระบวนการนำยาตัวใหม่สู่ตลาดให้เหลือเพียง 3-5 ปีจากปัจจุบันที่ต้องใช้เวลาถึง 10-12 ปี ซึ่งจะส่งผลช่วยลดค่าใช้จ่ายในส่วนการเตรียมการก่อนนำยาออกสู่ตลาดของกระบวนการพัฒนายาใหม่ลงเหลือต่ำกว่า 200 ล้านดอลลาร์ จากระดับปัจจุบันที่ 800 ล้านดอลลาร์

หันกลับมาดูคู่แข่งของ IBM Microsoft ซึ่งล่ำซำที่สุดในบรรดาบริษัทไฮเทคด้วยเงินสดถึง 43 พันล้าน ได้พัฒนา .net Windows ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของความพยายาม ที่จะครอบครองตลาดคอมพิวเตอร์รุ่นหน้าอย่างกระตือรือร้นไม่แพ้ Palmasino

อย่างไรก็ตาม ไมโครซอฟท์ยังตามหลัง IBM ในตลาดลูกค้าบริษัทซึ่งเป็นตลาดบน ส่วน Sun Microsystems ซึ่งเคยสนับสนุนแนวคิด on-demand computing เป็นราย แรกๆ กำลังมุ่งมั่นในเส้นทางของตัวเองโดยการพัฒนาซอฟต์แวร์ชื่อ N1 ที่จะช่วยให้สามารถ จัดการกับเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ เฉพาะของ Sun เองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่เสียค่าใช้จ่ายน้อยลงเหลือเพียง 1 ใน 10 ของระดับค่าใช้จ่ายในปัจจุบันเท่านั้น

คู่แข่งที่เข้มแข็งกว่า 2 รายข้างต้นคือ ฮิวเลตต์-แพคการ์ด ซึ่งมีสินค้าและบริการครอบคลุมทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และบริการเช่นเดียวกับ IBM นักวิเคราะห์ชี้ว่า HP นำหน้า IBM ในตลาดเฉพาะกลุ่มที่สำคัญบางตลาดเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น HP มีซอฟต์แวร์ ตัวหนึ่งชื่อ Utility Data Center ซึ่งมีความสามารถส่งต่องานไปยังคอมพิวเตอร์เครื่องอื่น เครือข่ายอื่นหรืออุปกรณ์เก็บบันทึกข้อมูลทั้งหมดที่อยู่ในบริษัท

สำหรับในขณะนี้ วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและเทคโนโลยีที่ครอบคลุมหลายด้าน ทำให้ IBM ดูจะอยู่ในฐานะที่เป็นต่อคู่แข่ง แต่สิ่งที่ Palmisano กำลังทำคือ การสร้าง IBM ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นงานที่อาจต้องใช้เวลายาวนานเป็นสิบปี แต่ถ้าเขาทำได้สำเร็จ IBM ก็จะกลับมาผงาดเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีได้อีกครั้ง

แปลและเรียบเรียงจาก BusinessWeek March 17, 2003
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
linpeishan@excite.com

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us