Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2543








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2543
ล่ำซำกับฝรั่งใน 1 ศตวรรษ             
โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
 

   
related stories

เบื้องลึกความคิดบัณฑูร ล่ำซำ "ธนาคารเป็นเรื่องสากล"
ธนาคารไทยยุคก่อนล่มสลาย (2505-2540)

   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารกสิกรไทย

   
search resources

ธนาคารกสิกรไทย, บมจ.
บัญชา ล่ำซำ
โชติ ล่ำซำ
ชัชนี จาติกวณิช
Banking and Finance




2444 ก่อตั้ง "ก้วงโกหลง"

"อึ้งเมี่ยวเหงียน (2397-2456) เดินทางสู่สยามในต้นรัชกาลที่ 5 ..คุณชวดโดยสารเรือเดินทะเลจากเมืองจีนมายังบางกอก คุณชวดก็น่าจะตั้งต้นจากเมืองซัวเถา ซึ่งรุ่งเรืองและเป็นแหล่งอพยพของชาวจีนแคะ และแต้จิ๋วมากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าวผ่านฮ่องกงแล้ว จึงมาเทียบตรงที่กรุงเทพฯ ระยะแรกท่านได้เข้าทำงานในร้านขายเหล้าของชาวจีนแคะผู้หนึ่ง ซึ่งมีกิจการค้าไม้สักอยู่ด้วย ..ยามว่างงานประจำก็เข้าไปช่วยดูแลในร้านขายไม้ ท่านจึงฝึกจนเชี่ยวชาญเรื่องไม้อย่างดี และหวังว่าจะได้ยึดอาชีพค้าไม้นี้ตั้งตัว ในที่สุดคุณชวดก็สามารถมีธุรกิจของตนเอง เปิดร้ายขายไม้สักติดกับลำน้ำเจ้าพระยาที่ตำบลจักรวรรดิ อำเภอสัมพันธวงศ์ ชื่อ "ก้วงโกหลง" (2444) และทำสัมปทานป่าไม้อยู่แถวจังหวัดนครสวรรค์ กับแพร่"

หนังสือ "ดั่งสายลมที่พัดผ่าน" ของคุณหญิงชัชนี จาติกวณิช สมาชิกคนสำคัญในรุ่นที่ 4 ของตระกูลล่ำซำ กล่าวถึงต้นตระกูลล่ำซำเอาไว้

ในช่วงเวลานั้น (2480-2475) สัมปทานไม้สัก กิจการโรงเลื่อยและการส่งออกไม้สักถูกครอบงำโดยกิจการจากยุโรปทั้งสิ้น อาทิ The Bombay Burmah, Borneo, East Asiatic Louis T.Leonowens Anglo-Siam ขณะพ่อค้าชาวจีนโพ้นทะเลเป็นพียงรายเล็กๆ อยู่ภายใต้การครอบงำของฝรั่งโดยตรงและโดยอ้อม อิทธิพลของฝรั่งต่อเนื่องยาวนานแม้ว่า จะเผชิญวิกฤติการณ์เศรษฐกิจก็ยังคงอยู่จนถึงการเปลี่ยนการปกครองของไทยปี 2475

นับเป็นครั้งแรกของล่ำซำเรียนรู้ "ความรู้" จากฝรั่ง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีของเครื่องจักรในกิจการโรงเลื่อย และการค้าขายไม้ภายใต้การครอบงำของฝรั่ง

อึ้งยุกหลง (2422-2482) คือผู้นำรุ่นที่ 2 ของล่ำซำในไทย ได้หันเหมาสู่การค้าข้าว โดยมีเครือข่ายกว้างขวาง จีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง สิงคโปร์ จนถึงอังกฤษ

การค้าข้าวของชาวจีนสามารถต่อกรกับชาวยุโรปได้มากกว่าการค้าไม้สัก โดยอาศัยเครือข่ายการค้าย่านเอเชียเป็นหลัก ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของชาวจีนโพ้นทะเล รวมทั้งการลงทุนเครื่องจักรสำหรับโรงสีไม่สูงมากนัก

2479 ก่อตั้งล็อกซเล่ย์ไรซ์

หุ้นส่วน W.R. Loxley แห่งลอนดอน (แอนดรูว์ บีตตี้) สำนักงานฮ่องกงจะนำเข้าไม้สักจากประเทศไทย ได้รับการแนะนำให้รู้จักอึ้งยุกหลง แห่งห้างก้วงโกหลง โดยธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ คาดกันว่าหลังปี 2456

ความสัมพันธ์ระหว่างล่ำซำกับบีตตี้ดำเนินไปด้วยดี จุลินทร์ ล่ำซำ บุตรชายคนที่ 2 ของอึ้งยุกหลง ก็เดินทางไปฝึกงานที่ W.R. Loxley ที่ลอนดอนและวิลเลียม บีตตี้ก็มาเมืองไทยบ่อยๆ วิลเลียมนี่เองมีส่วนสำคัญในการรวมกิจการระหว่าง Loxley กับก้วงโกหลง เข้าด้วยกันใช้ชื่อว่า Loxley Rice เมื่อปี 2479 ต่อมาแยกกิจการระหว่างลอนดอนกับกรุงเทพฯ จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ล็อกซเล่ย์ไรซ์ (กรุงเทพฯ) โดยถือหุ้นฝ่ายละ 50% โดยบีตตี้เป็นผู้จัดการ

นี่คือประวัติศาสตร์อีกตอนหนึ่งของ "ล่ำซำ" ในการยอมเป็นเครือข่ายของฝรั่งเพื่อสร้างความมั่งคั่งของตนเองขึ้นมา ด้วยการรวมกิจการไทยกับฝรั่งครั้งแรกๆ ในประเทศไทยก็ว่าได้ โดยใช้ชื่อฝรั่งเพื่อประโยชน์ของการค้าขาย ที่กว้างขึ้นจากย่านพี่น้องชาวจีนโพ้นทะเลไปสู่ตลาดยุโรป และยอมรับให้ตระกูลบีตตี้บริหารกิจการภายใต้มาตรการของยุโรปอย่างเต็มที่

ตระกูลล่ำซำได้แสดงให้หุ้นส่วนชาวยุโรปเข้าใจ "บุญคุณน้ำมิตร" อันผูกพันกันมายาวนานถึง 40 ปีเต็มในเวลาต่อมา

2475 เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบรัฐธรรมนูญโดยคณะราษฎร มาพร้อมกับแนวคิดชาตินิยมสกัดกั้นอิทธิพลทางเศรษฐกิจของชาวจีนและฝรั่ง โดยตั้งกิจการของรัฐคุมธุรกิจการค้าส่วนใหญ่ไว้

บริษัทข้าวไทยกำเนิดขึ้น (2481) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง อันเป็นข้อต่อการเปลี่ยนการส่งออกข้าวแต่เดิมอยู่ในมือของเอกชน มาอยู่ในอำนาจเด็ดขาดของรัฐ โดยอ้างความจำเป็นของสถานการณ์ที่ไทยจะต้องขายข้าวให้ญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดใหญ่มาก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างร้ายแรง แต่ชาวจีนในไทยซึ่งคุมการค้าข้าวแอนตี้ญี่ปุ่น บริษัทข้าวไทยที่ดำเนินการผูกขาดค้าข้าวตั้งแต่เดิมเป็นของคนจีน และส่วนหนึ่งเป็นของชาวยุโรปที่ถอนตัวออกไปเมื่อสงครามระเบิดขึ้น

ขณะเดียวกันตั้งบริษัทไทยนิยมพาณิชย์ในปี 2482 ผูกขาดการค้าสินค้าอุปโภคบริโภคมีเครือข่ายทั่วประเทศ โดยมีจุลินทร์ ล่ำซำ (2450-2508) ลูกชายคนที่สองของอึ้งยุกหลงเป็นผู้จัดการ

การรวมกิจการกับฝรั่งจึงถือเป็นยุทธศาสตร์จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ทำให้ล่ำซำมีข้อจำกัดน้อยกว่าชาวจีนโพ้นทะเลทั่วไป ขณะเดียวกันเขาก็ยังใช้กลยุทธ์เดียวกับชาวจีนด้วยการเข้าหาผู้มีอำนาจ โดยอาศัยความรู้ด้านการค้าเพื่อแสวงหาประโยชน์ จากอำนาจทางการเมืองที่ต้องการควบคุมการค้าไว้ในกำมือ

โมเดลธุรกิจแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับยุคสมัยนั้นอย่างยิ่ง ที่สำคัญทำให้ล่ำซำดำรงอยู่ได้ในภาวะไม่ปกติ

อึ้งยุกหลง เสียชีวิตด้วยการถูกฆาตกรรมในปี 2482 โชติ ล่ำซำ (2447-2494) ลูกชายคนโต ดูแลกิจการต่อไป

เมื่อญี่ปุ่นบุกไทย ชาวยุโรปในประเทศต้องหลบหนีออกนอกประเทศ
กันจ้าละหวั่น รวมทั้งหุ้นส่วนของ Loxley ด้วย

"เมื่อพ.ศ.2484 ปีที่อีเอ็มน้องชายวิลเลียม เข้ามาสมทบกับพี่ชายของเขา แล้วต้องหนีภัยสงครามโลกครั้งที่สองทั้งคู่ ล็อกซเล่ย์ไรซ์ คัมปะนี กลับรอดพ้นมาด้วยความชาญฉลาดของผู้บริหาร ที่ย้ายเงินสดส่วนใหญ่ไปไว้ที่สิงคโปร์ล่วงหน้า ทำให้ไม่ต้องขาดทุนย่อยยับจากการลดค่าเงินบาทของไทยโดยญี่ปุ่น"

"ทหารญี่ปุ่นได้กวาดต้อนชาวยุโรปเป็นแรงงานสร้างทางจากกาญจนบุรี มุ่งสู่พม่า" นายเตี่ย (โชติ) กับคุณอาจุลินทร์ ท่านทราบว่าภัยนี้จะต้องมาถึงผู้ร่วมงานชาวอังกฤษของท่าน จึงรีบหาทางนำทั้งสองลักลอบออกจากไทยไปโดยด่วน ด้วยการให้คนในโกดังพาลงเรือไปขึ้นท่าที่เมืองกาญจนบุรี จากนั้นค่อยเดินทางไปออกที่พม่า หลังจากทั้งสองบีตตี้ไป นายเตี่ยก็เก็บทรัพย์สมบัติทั้งหมดของพวกเขาไว้ แล้วชะลอธุรกิจลง ค้าขายเล็กน้อยเฉพาะในประเทศ เพื่อเลี้ยงคนในบริษัทเท่านั้น เรียกว่าแทบจะหยุดกิจการ 100% ทีเดียว"

"หลังสงครามเลิก แรกๆ เราต้องเผชิญปัญหาหนักหน่วง ไม่แพ้ช่วงสงคราม สาเหตุแรก คือเราขาดทุนทรัพย์ในการฟื้นฟูกิจการ เพราะทรัพย์สินในสิงคโปร์ถูกอังกฤษยึดไว้หลายปี เนื่องจากอังกฤษถือว่าไทยเป็นฝ่ายอักษะ เข้าร่วมกับญี่ปุ่น สาเหตุที่สอง รัฐบาลไทยต้องการการผูกขาดการค้าและการส่งออกข้าวในนามบริษัทข้าวไทย จำกัด ล็อกซเล่ย์ไรซ์ คัมปะนี กับเอกชนรายอื่นถูกกีดกันออกไป" (จากหนังสือ "ดั่งสายลมที่พัดผ่าน")

หลังสงครามตระกูลบีตตี้ก็กลับมาบริหารงาน Loxley อีกครั้งหนึ่ง

จากนั้น Loxley ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกครั้ง ในการส่งออกสินค้าเกษตรและนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมจากยุโรปมากขึ้น ตามยุคสมัยของการเปิดประเทศ และมีการลงทุนจากต่างประเทศมากมายตั้งแต่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา

2518 ชัชนี จาติกวณิช ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัท ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกที่คนไทยบริหารอย่างแท้จริงพร้อมกับที่ตระกูลล่ำซำ ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นข้างมากของล็อกซเล่ย์ด้วย

"ภายหลังซีพี บีตตี้ เกษียณและจากล็อกซเล่ย์ไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่โมร็อกโกกับภรรยา ดิฉันก้าวสู่ตำแหน่งประธานกรรมการ ควบกรรมการผู้จัดการ จึงได้ถือโอกาสทำดังใจปรารถนาไว้ นั่นคือปลดฝรั่งออก คนไหนหมดสัญญาก็ไม่ต่อ คนไหนทำงานไม่ดีก็ให้ออกไป เพียงไม่กี่ปีคนไทยรุ่นใหม่ๆ ก็เข้ามาแทนที่ฝรั่ง" (ชัชนี จาติกวณิช)

2488 ธนาคารกสิกรไทย

ความจริงธนาคารของตระกูลล่ำซำเคยเกิดครั้งแรกในปี 2475

อึ้งยุกหลง ก่อตั้งบริษัทกวางอันหลงประกันภัยและธนาคารก้วงโกหลงขึ้น กิจการประกันภัยทำหน้าที่ดูแลและป้องกันวินาศภัยของการขนส่งสินค้า ส่วนธนาคารเป็นเพียงร้านแลกเปลี่ยนเงินตราเพื่อสะดวกในการโอนเงินระหว่างประเทศ ต่อมาธนาคารต้องปิดตัวลงเพราะนโยบายของคณะราษฎร ส่วนกิจการประกันภัยก็พัฒนาเปลี่ยนเป็นล่ำซำประกันภัยในเวลาต่อมา

"บริษัทประกันภัยของตระกูล
ล่ำซำ นั่นคือบริษัทล่ำซำประกันภัยและคลังสินค้า อยู่ในสภาพขาดทุนมีภาระหนี้สินต่อเนื่อง ซึ่งทางครอบครัวมีความ เห็นว่าสมควรจะปิดตัวลง เพราะมีบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต (ก่อตั้งปี 2496 โดยจุลินทร์ ล่ำซำ) อยู่แล้ว แต่บัญชาไม่เห็นด้วย และได้ขอร้องผู้ใหญ่ขอให้มีโอกาสได้แก้ไขปัญหาของบริษัท เพื่อให้บริษัทดำเนินการต่อไปได้ ในช่วงก่อนพ.ศ.2500 บริษัทมีสภาพหนี้กว่าสองล้านบาท นับว่าเป็นจำนวนมากในสมัยนั้น บัญชาได้เสนอขอความเห็นชอบที่จะกอบกู้บริษัทโดยขอเงินทุนในการนี้ 400,000 บาท" (จากหนังสือพระราชทานเพลิงศพ บัญชา ล่ำซำ 2535)

ด้วยความพยายามของบัญชา ล่ำซำ (2467-2535) บุตรชายคนโตของโชติ ล่ำซำ ซึ่งขณะนั้นบริหารเมืองไทยประกันชีวิต ก็แก้ไขปัญหากิจการสำเร็จ มีกำไรและเข้าตลาดทรัพย์ฯ ในเวลาต่อมา ซึ่งเป็นผลงานที่เขาภาคภูมิใจมากที่ไม่ทำให้บริษัท "ล่ำซำ" ต้องปิดกิจการไป ต่อมาบริษัทก็เปลี่ยนชื่อเป็นภัทรประกันภัย

แนวคิดสำคัญของบัญชาในการบริหารเมืองไทยประกันชีวิต และแก้ไขวิกฤติล่ำซำประกันภัยก็คือการใช้มาตร-ฐานการบริหารแบบฝรั่ง พร้อมๆ กับการใช้เครือข่ายของกิจการประกันต่างประเทศให้เป็นประโยชน์ เช่น ริเริ่มการประกันต่อ (reinsurance) ให้กับล่ำซำประภันภัยไปยังกิจการประกันภัยในต่างประเทศ ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของธุรกิจ เป็นหนึ่งในแผนฟื้นฟูกิจการ

ธนาคารกสิกรไทยก่อตั้งขึ้นในปี 2488 โดยโชติ ล่ำซำ เป็นกรรมการผู้จัดการอยู่เพียง 3 ปี (2488-2491 ก็เสียชีวิต จากนั้นเกษม ล่ำซำ ก็เข้าดำรงตำแหน่งแทน (2491-2505) จนประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตจากเครื่องบินตก

ขยายตัว

2505 บัญชา ล่ำซำ เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ นับเป็นช่วง ของการขยายตัวของธนาคารอย่างมาก เพิ่มทุนครั้งแรกในรอบ 16 ปี ตั้งแต่ตั้งกิจการจาก 5 ล้านบาทเป็น 20 ล้านบาท (2505) จนถึงการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (2518) ซึ่งมีทุนจดทะเบียนถึง 300 ล้านบาทแล้ว

2508 เริ่มต้นขยายสาขาอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว บางปีขยายสาขาถึง 26 สาขา จนปี 2519 มีจำนวนสาขามากเป็นอันดับ 2 ของทุกธนาคารในประเทศไทย

2510 เปิดสาขาต่างประเทศที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร ตามมาด้วยแฮมเบิร์ก และนิวยอร์ก

ร่วมทุนฝรั่ง

จากกรณีบริษัทประกันภัยและประกันชีวิตที่พยายามใช้ "ความรู้" และ "เครือข่าย" จากฝรั่งอย่างต่อเนื่องจากรุ่น 2 สู่รุ่น 3 ของล่ำซำนั้นเป็นพัฒนาการที่ต่อเนื่องมาถึงผู้นำรุ่นที่ 4 (บัญชา ล่ำซำ) ในฐานะผู้ผ่านการศึกษาจากสหรัฐฯ

ในช่วงที่เศรษฐกิจไทยต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ นักลงทุนจากซีกตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับตระกูลล่ำซำมากที่สุด โดยเฉพาะธนาคารกสิกรไทย แม้จะถือตามกฎหมายได้เพียง 10% แต่ก็คือลูกค้าสำคัญกลุ่มใหม่ที่ดีของธนาคารกสิกรไทยในเวลาต่อมา

Firestone (2505), Dole (2509), Armitage Shanks (2512), Castrol (2515) คือตัวอย่างกิจการตะวันตกที่เข้ามาลงทุนโดยตรง เพื่อผลิตสินค้าทดแทนการนำเข้าในยุคการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ ที่เข้าร่วมทุนกับธนาคารกสิกรไทยและตระกูลล่ำซำ

2512 ร่วมทุนกับ Banker Trust แห่งสหรัฐฯ ก่อตั้งกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ขึ้นในประเทศไทย ความภูมิใจเรื่องนี้ของบัญชา ล่ำซำ ไม่ใช่อยู่ที่การสร้างเครือข่ายการเงิน หากอยู่ที่การร่วมสร้างองค์กรธุรกิจที่มีคุณภาพเกิดขึ้น และเป็นต้นแบบให้ตระกูลล่ำซำ ในการสร้างบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจใน 3 ปีต่อมา

สายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับฝรั่งนี้กลายเป็นบุคลิกพิเศษของตระกูลล่ำซำยุคใหม่เสมอมา

จากการครอบงำ การต่อสู้ การใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ อาศัยเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวาง สร้างให้กลุ่มธุรกิจเก่าแก่นี้เจริญเติบโตและรักษาความมั่นคงเอาไว้ในช่วงเกือบๆ 100 ปีที่ผ่านมานั้น ที่สำคัญที่สุด และแตกต่างจากกลุ่มธุรกิจในลักษณะครอบครัวทั่วไป ก็คือ ตระกูลล่ำซำเรียนรู้การใช้มาตรฐานฝรั่งในการจัดการ แม้จะเริ่มจากสภาพจำยอม แต่ในที่สุดพวกเขาก็ได้ประโยชน์ ตรงที่เป็นองค์กรธุรกิจที่มีการบริหารที่ดี มีประสิทธิภาพ

สุดท้าย ก็คือเครือข่ายของธุรกิจครอบครัว ที่ขยายความสัมพันธ์ทางธุรกิจแบบซับซ้อน จนยากจะแยกกันออกระหว่างธุรกิจกับการใช้เงินในครอบครัวของชาวเอเชียนั้น จึงไม่ใคร่จะเป็นบุคลิกหรือโมเดลธุรกิจของตระกูลล่ำซำ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us