|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
เริ่มจากต้นตอ คำสั่งยุติการขาย "ธนสินประกันภัย" เมื่อต้นปีของกรมการประกันภัย ข้ามมาถึง การเข้าควบคุม "สหประกันชีวิต" ขุมทรัพย์ของบรรดากลุ่มสหกรณ์ จนผ่านมาถึง การสั่งหยุดขายชั่วคราวของ "สัมพันธ์ประกันภัย" ในช่วงเวลาเพียง 4 เดือน หลังจากนั้น ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิตทั้งระบบก็ถูกสั่นคลอนฐานราก เพราะผลจากการขาดความเชื่อมั่น....
คนในแวดวงประกันภัยมักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า คำสั่งปิดการขายชั่วคราว "สัมพันธ์ประกันภัย" น่าจะเกิดมาตั้งนานแล้ว และไม่ควรที่ต้นสังกัด กรมการประกันภัย จะปล่อยให้บาดแผลเหวอะหวะติดเชื้อ ลุกลามไปถึงลูกค้า และอู่ จนยากจะเยียวยารักษา
สัมพันธ์ฯถูกสั่งหยุดขาย หลัง "ธนสินประกันภัย" เพียง 4 เดือน กลายเป็น "นักโทษ" ถูกจองจำในทันที หลังถูกพิพากษาโดยกรมการประกันภัย โดยมีความผิด โทษฐานจากเงินกองทุนติดลบ ขาดสภาพคล่อง จนสร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ทั้งลูกค้า และอู่
ทั้ง 2 ฝ่ายตกเป็น "นักโทษ" ในเวลาไล่เลี่ยกัน จะต่างกันก็ตรงที่ ธนสินฯชะตาขาด ในช่วงที่บรรยากาศรายรอบยังคงเงียบกริบ กระทั่งถูกยืดอายุไปเรื่อยๆ หลังฝั่งนายทุนกลุ่มใหม่ได้ทยอยจ่ายสินไหม ให้กับผู้ร้องเรียนเข้ามาร่วม 1,054 ราย
แต่ถึงอย่างนั้นเรื่องราว ด้านมืดของธนสินฯและสัมพันธ์ฯ ก็ทำท่าจะไม่จบลงง่ายๆเหมือนกับที่เคยเกิดกับ "รัตนโกสินทร์ประกันภัย และพาณิชย์การประกันภัย "นักโทษประหาร" ก่อนหน้านี้...
ฝ่ายสัมพันธ์ฯ ภายหลังตกเป็น "ผู้ต้องหา" และถูกพิพากษาจากสังคม และถูกสั่งหยุดขายเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2550 ภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ก็ยิ่งดู"อัปลักษณ์" มากกว่าเดิม
เงินกองทุนที่ขาดร่วม เกือบพันล้านบาท มีสภาพคล่องแค่ 22% จากที่ทางการกำหนด 100% มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ก็ยังไม่หนักหนาเท่า การเป็นตัวการสร้างบรรยากาศอึมครึมให้กับอุตสาหกรรมทั้งระบบ
เพราะเนื้อในลึกๆของธุรกิจประกันภัยที่ถูกขึ้นบัญชีดำส่วนใหญ่มักจะปรากฎมีความไม่ชอบมาพากลภายในอยู่เป็นทุนเดิม กว่าเรื่องจะแดง และสังคมได้รับรู้ สภาพของสัมพันธ์ฯก็เริ่มส่งกลิ่นเน่าบูด จนแม้แต่นายทุนจากกาตาร์ต้องถอนสมอแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย
ถึงแม้จะมีการพยายามฟื้นความเชื่อมั่นกลับคืนมา โดยการขึ้นป้ายรายชื่อผู้สนใจหน้าใหม่อีก 3-4 ราย จากทั่วทุกมุมโลก จนมองคลับคล้ายว่า สัมพันธ์ฯยังพอมีขุมทรัพย์ให้ขุดค้นอยู่อีกมากก็ตาม
แต่ดูเหมือน นายทุนรายใหม่ที่ถูกยกขึ้นมาช่วยผ่อนคลายบรรยากาศตรึงเครียด ก็ยังไม่ใช่คำตอบที่จะแก้ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมนี้
ตรงกันข้าม ธุรกิจทั้งประกันภัยและประกันชีวิตที่เริ่มจะเห็นบาดแผล มีรอยเลือดไหลเป็นทางยาว ก็กำลังถูกจับจ้องจากสังคม และเหมือนจะตกเป็นผู้ต้องสงสัยไปโดยปริยาย โดยเฉพาะในรายของฟินันซ่าประกันชีวิต ที่ถูกพ่วงเป็นหางเลขไปด้วย ทั้งที่เงินกองทุนพร่องเพียงเล็กน้อย
หากนับตั้งแต่ ภายหลัง "สหประกันชีวิต" ไลเซ่นส์ของกลุ่มสหกรณ์ ถูกควบคุมจากทางการอย่างเบ็ดเสร็จ ก่อนลุกลามต่อมาที่ สัมพันธ์ฯเป็นรายล่าสุด ทั่วทั้งอุตสาหกรรมก็ตกเป็น "จำเลยสังคม" โดยไม่ได้นัดหมาย
ธุรกิจประกันภัยราว 74 ราย และประกันชีวิตอีก 25 ราย ทั้งที่แข็งแกร่งและอ่อนแอ ขี้โรค จึงถูกเหมารวมอยู่ใน "ตระกร้า" เดียวกันจนแยกไม่ออก โดยมี สัมพันธ์ฯเป็นแหล่งเพาะพันธ์เชื้อโรคให้ลุกลาม
ว่ากันว่า รายของสัมพันธ์ และธนสินฯ การใส่เงินใหม่เข้ามาอาจแค่ช่วยยืดอายุธุรกิจได้ชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท้ายที่สุดก็คงไม่ช่วยให้ธุรกิจถูกลบภาพลักษณ์ด้านมืดให้หมดจดไร้รอยมลทินไปได้ ตราบใดที่ธุรกิจยังคงเล่นกลกับเกมการเงิน ยักยอก ถ่ายเทผลประโยชน์อยู่ตลอดเวลา
จึงเลี่ยงไม่ได้ที่ผู้ตกเป็นเหยื่อ มักจะกลายเป็นลูกค้า หรือ ประชาชนทั่วไป ที่ไม่รู้ที่มาที่ไปและ เรื่องเน่าเหม็นจากการบริหารงานภายใน ที่ไซฟ่อนกันอย่างสนุกสนาน
กว่าจะรู้ตัวอีกครั้ง ธุรกิจก็กลวงโบ๋ ไม่มีแม้แต่เงินสักแดงจะนำไปจ่ายอู่และสินไหมให้กับลูกค้าที่ทำประกันเอาไว้ โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ ที่เป็นเป้าหมายใหญ่ที่สุด
อย่างไรก็ตาม การรอคำสั่งพิพากษาสุดท้ายสำหรับธนสินฯและสัมพันธ์ฯ ที่ในวันนี้มีสภาพไม่ต่างจากการถูกควบคุมตัวอยู่ใน "เรือนจำ" อาจจะไม่จบลงเพียงการรอเม็ดเงินใหม่จากนายทุนต่างชาติ ที่เสนอตัวเข้ามาครอบครองบริษัท
เพราะฉากจบกำลังจะกลายเป็น "ซีรีส์ชุดยาว" ธุรกิจล้ม จึงไม่ได้หมายความว่าธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้น คือเชื้อของความเลวร้าย แต่จะน่ารังเกียจมากกว่านั้นก็คือ ความไม่โปร่งใสของหัวขบวนหรือผู้บริหาร ที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง
ดังนั้นฉากสุดท้ายของเคสนี้ก็อาจจะไปจบลงที่ การตรวจจับพฤติกรรมผู้บริหาร ผ่านเครื่องมือเฉพาะทาง คือ กฎหมายฟอกเงิน แทนที่จะปล่อยให้เรื่องราวจบลงโดยการเปลี่ยนมือนายทุนใหม่แล้ว ผู้ถือหุ้นหน้าเก่าๆก็รอดตัวไปได้ทุกครั้ง
ถ้าผ่านฉากนี้ไปได้ ธุรกิจประกันภัยก็อาจจะสามารถผลิตวัคซีนเป็นภูมิคุ้มกันโรคที่เกือบจะระบาดไปทั่วทั้งวงการได้บ้าง
ในยุคที่ผู้คนอยากรู้ อยากเห็นข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น ธุรกิจประกันภัย ประกันชีวิต ที่โฟกัสไปที่ความคุ้มครอง และหลายคนมองจะเป็นที่ฝากผีฝากไข้ได้บ้าง การห้ามเลือดให้หยุดไหล ก็ยังไม่สำคัญเท่ากับ การหยุดพฤติกรรมด้านลบของเหล่าผู้บริหาร
เพราะส่วนใหญ่พอมีปัญหาก็มักจะลอยนวล หายเข้ากลีบเมฆ แต่จะปล่อยให้ลูกค้าตกเป็นเหยื่ออยู่ฝ่ายเดียว มาตลอดทุกยุคทุกสมัย....
|
|
 |
|
|