เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ บริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ วานนี้ (2) แถลงผลประกอบการประจำปีการเงิน เม.ย.2006 - มี.ค.2007 ระบุว่ากำไรสุทธิตกฮวบลงถึง 29% โดยส่วนหนึ่งเพราะความเสียหายจากการลงทุนในบริษัทชินคอร์ป ที่ซื้อจากครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะที่มูลค่าหุ้นกลุ่มชินคอร์ปที่เทมาเส็กถืออยู่ในตลาดหุ้นไทยรวม 5 แห่ง ลดเหลือ 1.66 แสนล้านบาท หายไปแล้วกว่า 1.32 แสนล้าน หรือลดลงกว่า 44%
เทมาเส็กแถลงว่า ในรอบปีการเงินดังกล่าว กำไรสุทธิของบริษัทอยู่ในระดับ 9,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ต่ำลงจาก 12,800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งทำได้ในปีการเงินก่อนหน้านั้น ขณะที่รายรับก็หล่นลงมาเหลือ 74,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จากที่ได้ 79,800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในปีการเงิน เม.ย.2005-มี.ค.2006
ประธานเทมาเส็ก เอส. ธนาบาลัน อธิบายในคำแถลงว่า สาเหตุที่ผลประกอบการในปีการเงินนี้ย่ำแย่ลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการขายกิจการที่ได้ไปลงทุนไว้ ต่ำลงมากว่าปีก่อนหน้านั้นมาก นั่นคือเพียง 5,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งเท่ากับลดลงเกือบสองในสามจากการขายกิจการที่ได้ไปลงทุนไว้ถึง 13,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในปีก่อนหน้านั้น
สำหรับสาเหตุอีกส่วนหนึ่งของผลประกอบการย่ำแย่ลงนั้น ประธานเทมาเส็กระบุว่า "เนื่องจากความเสียหายของการลงทุนของเราในชินคอร์ป" แต่ไม่ได้เปิดเผยขนาดมูลค่าของความเสียหายนี้
เทมาเส็กได้ซื้อหุ้นชินคอร์ปจำนวน 49% ในเดือนมกราคมปีที่แล้ว ด้วยราคาเกือบ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯโดยไม่ต้องเสียภาษี จากครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยในเวลานั้น แต่การซื้อขายรายนี้กลายเป็นกรณีอื้อฉาวซึ่งจุดชนวนให้คนไทยจำนวนมากประท้วงต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ จนในที่สุดนำไปสู่การทำรัฐประหารโค่นล้มเขาในเดือนกันยายน 2006
อย่างไรก็ดี เทมาเส็กแถลงในคราวนี้ว่า ยังคงมองการณ์แง่ดีเกี่ยวกับทิศทางอนาคตของชินคอร์ปที่เทมาเส็กถือหุ้นอยู่
"เรามีความมั่นใจในธุรกิจที่เป็นพื้นฐานของชินคอร์ป" เป็นคำกล่าวของ อึ้งยัตชุง กรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารพอร์ตของเทมาเส็ก
หลังจากซื้อหุ้น 49% จากครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ กลุ่มนักลงทุนที่นำโดยเทมาเส็ก ได้ทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จนมีหุ้นชินคอร์ปอยู่ในมือ 96%
ภายหลังรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกโค่นล้ม ข้อตกลงซื้อขายชินคอร์ป ได้กลายเป็นกรณีที่มีการสอบสวนดำเนินคดีอาญากันในประเทศไทย รวมทั้งทำให้เกิดความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสิงคโปร์ด้วย
ถึงแม้ในปีการเงินนี้ กำไรสุทธิของเทมาเส็กจะลดน้อยลง แต่มูลค่าพอร์ตสุทธิของบริษัท ก็ยังคงเติบโตขึ้น 27% เป็น 164,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ นับเป็นปีแรกที่ขึ้นมาเลยระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ คำแถลงของเทมาเส็กระบุ
นอกจากนั้น อึ้งแจกแจงต่อไปว่า เทมาเส็กยังคงสามารถทำอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นทบต้นโดยรวมได้ในระดับมากกว่า 18% ต่อปีนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 1974 แต่การรักษาตัวเลขนี้เอาไว้ให้ได้ "จะยังคงเป็นการท้าทายและเป้าหมายระยะยาวอันหนักหน่วงสำหรับเรา"
"มองออกไปข้างหน้า เรายังคงต้องระแวดระวังเมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจระยะกลาง ตลอดจนสัญญาณของภาวะตลาดฟองสบู่" เขากล่าว
เทมาเส็กเวลานี้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทชั้นเยี่ยมของสิงคโปร์หลายแห่ง อาทิ สิงคโปร์ แอร์ไลนส์, ชาร์เตอร์ด เซมิคอนดักเตอร์, เนปจูน โอเรียนต์ ไลน์, พีเอสเอ อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทบริหารจัดการท่าเรือ, และ สิงคโปร์ เทเลคอม
นอกจากนั้น เทมาเส็กยังเป็น 1 ใน 2 บริษัทเพื่อการลงทุน ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์มอบหมายหน้าที่ ให้นำเอาทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศ ไปลงทุนในทั่วโลก เฉพาะเทมาเส็กนั้นได้ลงทุนถือหุ้นใน พีที อินโดแซท ของอินโดนีเซีย, ดีบีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์, พีที แบงก์ ดานามอน อินโดนีเซีย ตลอดจนกิจการอื่นๆ อีก
บริษัทแถลงด้วยว่า ยังคงปรับเปลี่ยนโฉมพอร์ตลงทุนของตนเสียใหม่ ด้วยการเพิ่มการลงทุนมากขึ้นในเอเชียส่วนที่อยู่นอกสิงคโปร์และญี่ปุ่น จาก 32% ก่อนหน้านี้ กลายมาเป็น 40% ในปัจจุบัน
เทมาเส็กเจ๊งแล้ว 1.3 แสนล้าน
จากการสำรวจมูลค่าการลงทุนของกลุ่มเทมาเส็กในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN รวมทั้งสิ้น 3,076,762,064 หุ้น หรือ 96.29% คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 แสนล้านบาท โดยถือหุ้น ผ่านบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด จำนวน 1,742,407,239 หุ้น หรือสัดส่วน 54.53% และบริษัทแอสแพน โฮลดิ้ง จำกัด จำนวน 1,334,354,825 หุ้น หรือสัดส่วน 41.76%
หากเปรียบเทียบราคาหุ้น SHIN ที่เทมาเส็กตกลงซื้อในราคาหุ้นละ 49.25 บาท กับราคาปิด ณ วันปิดงวดบัญชีของเทมาเส็ก 30 มีนาคม 2550 (31 มี.ค. ตลาดหุ้นไทยหยุดทำการ) พบว่า มูลค่าหุ้น SHIN ลดเหลือเพียง 76,919.00 ล้านบาท หรือลดลง 74,611.43 ล้านบาท (ตารางประกอบข่าว)
อย่างไรก็ตาม การเข้าลงทุนครั้งนี้กลุ่มเทมาเส็กยังได้รับของแถมกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทในเครือรวม 4 แห่ง คือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC สัดส่วน 42.80% บริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) หรือ CSL 42.80% (SHIN ถือผ่านบริษัท ชิน บอรดแบนด์อินเตอร์เนต (ประเทศไทย) จำกัด) บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV 52.93% และบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL 41.34%
เมื่อเทียบราคาหุ้นระหว่างวันที่ 23 ม.ค. กับวันที่ 31 มี.ค. 50 พบว่า มูลค่าหุ้นลดลงทั้ง 4 แห่ง โดย ADVANC ลดลง 46,757.34 ล้านบาท SATTEL ลดลง 3,945.12 ล้านบาท ITV ลดลง 6,928.85 ล้านบาท และ CSL ลดลง 125.05 ล้านบาท หากรวมทั้ง 5 บริษัทมูลค่าลดลงจาก 298,554.77 ล้านบาท เหลือ 166,186.97 ล้านบาท ลดลงกว่า 132,367.80 ล้านบาท คิดเป็น 44.34%
|