"สว่างจิตต์ จัยวัฒน์"รองผู้ว่าธปท. การันตีNPLในระบบทั้งปีไม่เกิน 5% แม้ภาพรวมของเศรษฐกิจ การเมือง ค่าเงินบาท และราคาน้ำมัน ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยง ระบุหลังเลือกตั้งคาดเศรษฐกิจดีขึ้น หากรัฐบาลชุดใหม่ทำงานอย่างจริงจัง พร้อมยกบสก.เป็นองค์กรหลักดูแลและบริหารหนี้และเอ็นพีเอในระบบ คาดแนวโน้มสถาบันการเงินจะต้องเร่งลดภาระ เร่งจำหน่ายทรัพย์ออกมาตามเกณฑ์สำรองใหม่
นางสว่างจิตต์ จัยวัฒน์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะประธานกรรมการบริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ในขณะนี้ว่า หากพิจารณาจากแนวโนัมNPL ของสถาบันการเงินแล้ว หนี้ยังคงเพิ่มขึ้น เพราะเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่ตัวเลขการเพิ่มขึ้นของหนี้ระดับ 4%กว่า ก็ยังเป็นตัวเลขที่ไม่น่าห่วงมากนัก เมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่ตัวเลขหนี้สูงมาก ขณะที่ตัวเลขที่ธปท.ตั้งเป้าที่จะให้หนี้ในระบบสถาบันการเงินอยู่ระดับ 2% นั้น เป็นการตั้งสมมุติฐานในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ทั้งเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ราคาน้ำมัน และภาวะการเมืองที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ธปท.ไม่ได้คาดคิดมาก่อน
"ทางธปท.พยายามที่จะแก้ไขปัญหาหนี้เอ็นพีเอ และถือว่าเราแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่งแล้ว แต่ที่ลดได้ไม่มาก ต้องโทษความเชื่อมั่น ราคาน้ำมัน ทำให้ภาพรวมลูกหนี้ของสถาบันการเงิน อาจะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกันการแข่งค่าของเงินบาทอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทำให้ภาพการลงทุนของบริษัทเอกชนชะลอตัวลงตามไปด้วย แต่เราคิดว่าหลังปี 2550 หากเลือกตั้ง และรัฐบาลชุดใหม่ทำงานอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจดีขึ้น นั่นคือสิ่งที่ทุกๆคนหวัง และธปท.ก็มองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของไทย 1-2 ปีข้างหน้ายังโตได้อยู่ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของตัวเลขหนี้ในระบบสถาบันการเงินนั้น คาดว่าตลอดทั้งปี 2550 ตัวเลขหนี้น่าจะไม่เกินระดับ 5% "นางสว่างจิตต์กล่าว
ตามข้อมูลของระบบสถาบันการเงิน ณ สิ้นเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา มียอดสินเชื่อรวม 5,734,450 ล้านบาท โดยมียอดNPLอยู่ที่ 254,510 ล้านบาท หรือคิดเป็นยอดNPL ต่อสินเชื่อรวม 4.41% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีการเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับสิ้นเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ที่มียอดสินเชื่อรวม 5,734,953 ล้านบาท มียอดNPL ระดับ 239,919 ล้านบาท คิดเป็นยอดNPLต่อสินเชื่อรวมทั้งระบบ 4.19%
นายบรรยง วิเศษมงคลชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่บสก.แสดงความเห็นถึงสาเหตุที่ตัวเลขหนี้ในระบบเพิ่มขึ้นนั้น อาจจะมีผลมาจากบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ ทางธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการกันสำรองหนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งบางกรณีอย่างเช่นของบริษัท คิงเพาเวอร์ จำกัด เป็นเรื่องของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ส่วนบริษัท ไทยเพรสซิเด้นท์ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) น่าจะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการภายใน เป็นต้น
" ลูกหนี้ของบสก.ที่กลายเป็นหนี้รอบ 2 มีสัดส่วนที่ต่ำมาก เพราะเรามุ่งปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง ไม่ใช่เพียงแค่ปรับโครงสร้างไปเท่านั้น เรามองที่ความสามารถชำระหนี้ได้จริงๆ โดยคาดว่าหนี้รอบ 2 ที่ไหลกลับมาของบสก.มาสัดส่วนแค่ 0.3% เท่านั้น "
ประธานกรรมการบสก.กล่าวถึงภาระหน้าที่ในฐานะที่เข้ามารับผิดชอบบสก.ว่า ตนค่อนข้างพอใจกับผลงาน ซึ่งตลอดที่เข้ามาทำงานอยู่ในบสก.ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน การดำเนินงานที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าบสก.สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF)ในฐานะผู้ถือหุ้นของบสก.ได้อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา จ่ายเงินปันผลให้FIDF อีก 683 ล้านบาท โดยบทบาทของบสก.จะเป็นองค์กรที่จะเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงิน ทั้งในด้านการซื้อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ และทรัพย์สินรอการขาย(เอ็นพีเอ)ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
" ตนมองว่าในระยะข้างหน้าสถาบันการเงินจะมีการเร่งขายหนี้และเอ็นพีเอ เนื่องจากด้วยกฎIAS 39 ที่เข้ม ทำให้สถาบันการเงินต้องเร่งสำรองมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้ ทางบสก.จะเข้าไปช่วยรับหนี้และเอ็นพีเอจากนโยบายลดภาระที่จะต้องเกิดขึ้น "นางสว่างจิตต์กล่าวและว่า
นโยบายของบสก.ในระยะต่อไป จะยังคงสานต่อนโยบายเดิม โดยเน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้วยระบบการจัดการที่ดี พร้อมทั้งดำเนินนโยบายในลักษณะเชิงรุก เพื่อสร้างผลประกอบที่ดีให้แก่บสก.สามารถทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้บสก.เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย และเป็นองค์กรถาวรที่อยู่คู่กับระบบสถาบันการเงินต่อไป
นายบรรยงกล่าว กล่าวถึงผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 ว่า สามารถเรียกเก็บหนี้และจำหน่ายทรัพย์ได้รวมทั้งสิ้น 4,938 ล้านบาท จากเป้าหมายทั้งปี 12,000 ล้านบาท และรับโอนทรัพย์ชำระหนี้จำนวน 1,468 ล้านบาท โดยครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิจำนวน 953.35 ล้านบาท สูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ จำนวน 834.45 ล้านบาท คิดเป็นกำไรเพิ่มขึ้น 14.25% มีอัตราผลตอบแทนต่อต้นทุนรับซื้อ 176.52% มีอัตราผลตอบแทนต่อต้นเงิน 119.17 % ขณะที่ค่าใช้จ่ายมีอัตราการขยายตัวลดลง 3.91% ขณะที่ครึ่งปีหลังตั้งเป้าเรียกเก็บเงินNPL 3,014.50 ล้านบาท และเป้าหมายเรียกเก็บNPA ประมาณ 2,985.50 ล้านบาท และเป้าหมายกำไรสุทธิอีก 800 ล้านบาท (รวมทั้งปีจะมีกำไรสุทธิประมาณ 1,600 ล้านบาท)
|