การเป็นลูกชายคนเล็กของเพียงใจ หาญพาณิชย์ หรือ การเป็นน้องชายของ อนันต์
อัศวโภคิน อาจจะมีส่วนทำให้ เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ สามารถรอดพ้นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งแรกมาได้
แต่กาวต่อจากนี้ไป อนุพงษ์ อัศวโภคิน จะต้องพยายามสร้าง "จุดแข็ง" ที่ "แตกต่าง"
ด้วยตัวของเขาเอง
ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2536 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจกำลัง เฟื่องฟู จะพบว่าในช่วงเวลานั้นได้เกิดบริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์
ขึ้นมาอย่างมากมาย การที่เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ บริษัทพัฒนาที่ดินเล็กๆ
บริษัทหนึ่งเกิดขึ้นมาในช่วงเวลานั้น จึงไม่เป็นที่น่าสนใจเลย แม้ว่าประธานกรรมการของบริษัทนั้นจะเป็นลูกชายคนเล็กที่มีอายุเพียง
32 ปีของเพียงใจ หาญพาณิชย์ และเป็น "อาตี๋" น้องชายคนเล็กของอนันต์ อัศวโภคิน
ประธานกรรมการ บริหารของบริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ก็ตาม
ดังนั้น ไม่ว่าการเกิดขึ้นของโครงการปทุมวัน รีสอร์ต ที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่
ย่านปทุมวัน, โครงการบ้านจัดสรรที่ถนนพระราม 9, สุขุมวิท หรืออ่อนนุช ก็ไม่ได้สร้างให้แบรนด์นี้เป็นที่สนใจเพียงพอ
จนกระทั่งการเกิดขึ้นของโครงการบ้านกลางกรุงในสไตล์ British-Town ในซอยทองหล่อ
เมื่อประมาณกลางปี 2544 ที่ผ่าน มา ซึ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรรราคาแพงใจกลางเมืองโครงการแรกๆ
ที่กล้าออกมาขายในช่วงนั้น ประกอบกับงานเปิดตัวที่หรูหรา ได้จุดกระแสความสนใจให้เกิดขึ้นในสังคม
และถูกตอกย้ำไปเต็มๆ อีกครั้งกับการเปิดตัวที่ยิ่งใหญ่ของโครงการ บ้านกลางกรุง
สาทร-ถนนจันทน์ เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ภายใต้ชื่อ "AP CITI SMART"
ที่เปรียบเสมือนตราสินค้าของ เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ นั้นหมายถึงว่าโครงการต่อไปของเขาจะดำเนินไปภายใต้ชื่อนี้
หากยังจำกันได้ ในช่วงธุรกิจบูมสุดขีดเมื่อราว 10 ปีที่ผ่านมานั้น ราคาที่ดินในเมืองส่วนหนึ่งถูกปั่นราคาสูงเพิ่มขึ้นจนเกินกว่าจะซื้อมาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยในลักษณะแนวราบได้
ตัวเลขความต้องการซื้อบ้านของคนในเมืองจึงถูกซ่อนไว้อย่างมากมาย
สงครามบ้านจัดสรรรอบใหม่ที่กำลังเกิดนี้ จะเป็นการแข่งขันระหว่างดีเวลลอปเปอร์ผู้เข้มแข็งที่อยู่รอด
ซึ่งมีอยู่ทั้งในและ นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่าที่มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องประมาณ
20 รายเท่านั้น และที่สำคัญทุกบริษัทโฟกัสไปที่กลุ่มลูกค้าย่านใจกลางเมืองแทบทั้งสิ้น
ดังนั้น ความคิดที่ตกผลึกของอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเอเชี่ยน
พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ก็คือ การรีบสร้างจุดแข็งที่แตกต่าง
รวมทั้งสร้าง ความชัดเจนของแบรนด์ AP CITY SMART ที่สะท้อนเอกลักษณ์ เฉพาะตัวขององค์กร
คือการสร้างที่อยู่อาศัยเฉพาะพื้นที่ในเมือง เท่านั้น ในขณะที่ผู้ประกอบการอีกหลายรายยังไม่มีนโยบายชัดเจน
คงสร้างโครงการทั้งในเมืองและนอกเมืองกระจัดกระจายทั่วไป
"ผมมีความคิดว่าหากจะสร้างชื่อเราเอง เราจะต้องเป็นเจ้าในตลาดนั้น ถ้าเราไปขายแข่งกับแลนด์
แอนด์ เฮ้าส์ หรือกับเจ้าใหญ่รายอื่นๆ เราไม่สามารถสร้างชื่อได้เลย ตลอดระยะเวลา
1-2 ปีที่ผ่านมา ผมเลยพยายามหาซื้อที่ดินเก็บไว้ตลอด ที่ดินชานเมืองสวยๆ
ผ่านเรามาเยอะ ก็กัดฟันทน ไม่เอา ไม่ซื้อ เก็บเงินไว้สร้างโครงการในเมืองอย่างเดียว
และไม่ยอมเสียเวลาไปมองดู หรือลังเลกับความสำเร็จของบ้านจัดสรรค่ายอื่นๆ
ในย่านชานเมือง"
เพื่อให้นโยบายการสร้างแบรนด์ประสบความสำเร็จ อนุพงษ์ได้ว่าจ้างบริษัท
"ณรงค์ แอนด์ กอสล่าร์" จำกัด ซึ่งเป็น บริษัทของ ณรงค์ จิวังกูร อดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทโกดักส์
และ Alex Goslar ผู้มีประสบการณ์การสร้างแบรนด์จากเยอรมนี มาช่วยวางแผน
บ้านกลางกรุง สาทร-ถนนจันทน์ จึงเป็นความตั้งใจของอนุพงษ์ และทีมงาน ที่ต้องการให้งานเปิดตัวโครงการเป็นที่พูด
ถึงและกล่าวขวัญไปอีกนาน
ไฮไลต์ของงานในวันนั้นคือ การเชิญแขก วีไอพีประมาณ 50 คน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์จากโรงแรมเพนนินซูล่า
ไปยังไซด์โครงการเพื่อให้ลูกค้าได้ชม ชัดๆ จากมุมสูงว่า เป็นบ้านที่อยู่กลางกรุงจริงๆ
ในขณะที่ตัวโครงการนั้นถูกห่อเป็นของขวัญด้วยผ้าขาวผูกด้วยริบบิ้นสีแดง และเมื่อถึงเวลาเปิดตัว
สตั๊นแมนก็จะโรยตัวลงมาแกะกล่องของขวัญ
บุรณี รัชไชยบุญ ถูกฟาร์อีสท์แอดเวอร์ไทซิ่ง ดึงมาช่วยรับผิดชอบคอนเซ็ปต์นี้
ในขณะที่ "จีน่า" สนิทพิมพ์ เอกชัย คอลัมนิสต์ข่าวสังคมชื่อดัง เป็นผู้รับผิดชอบในการประชาสัมพันธ์งาน
"เราเคยทำงานกับฝ่ายประชาสัมพันธ์ด้านงานบ้านจัดสรรและที่ดิน แต่ผมว่าพีอาร์ที่จะทำให้คนรู้จักมากที่สุดคือ
พีอาร์ด้านข่าวสังคม ทำอย่างไรให้การเปิดตัวเป็นที่ยอมรับ ก็ต้อง บอกว่ารูปแบบต้องประมาณว่าบ้าไปเลย
เพราะถ้าไม่บ้าไปเลยก็ไม่สามารถออกโซเชียลเซ็กชั่นได้"
ดูเหมือนว่าเม็ดเงินเกือบ 10 ล้านบาท ที่หว่านออกมาใน วันนั้นสามารถผลิดอกออกผลได้อย่างน่าประทับใจ
หนังสือพิมพ์ หลายฉบับประโคมข่าวนี้กลายเป็นทอล์คออฟเดอะทาวน์อยู่หลายวัน
สำหรับโครงการที่จะตอกย้ำแบรนด์ AP CITY SMART โครงการอื่นๆ ที่กำหนดไว้ในปีนี้
มีทั้งหมด 7 โครงการ โดยแบ่ง ออกเป็น "บ้านกลางเมือง" ที่อยู่อาศัยราคาประมาณ
3 ล้านบาท และ "บ้านกลางกรุง" ราคา 7 ล้านบาทขึ้นไป
ไตรมาสแรกมีการเปิดตัว 3 โครงการ คือ บ้านกลางเมือง พระราม 9 ศรีนครินทร์
เนื้อที่โครงการ 22 ไร่ทั้งหมด 216 ยูนิต เป็นทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น ราคายูนิตละ
2.85 ล้านบาท
2. โครงการบ้านกลางกรุง สาทร-ถนนจันทน์ 13.4 ไร่ จำนวน 100 ยูนิต เป็นทาวน์เฮาส์สูง
4 ชั้น 27 ตารางวา ราคา 7.69 ล้านบาท
3. บ้านกลางเมืองลาดพร้าว พื้นที่โครงการ 21 ไร่ 222 ยูนิต เป็นทาวน์เฮาส์
3 ชั้น 21 ตารางวา
ในไตรมาส 2 มีแผนเปิดอีก 3 โครงการคือ 1. บ้านกลางเมืองลาดพร้าวโชคชัย
4 เนื้อที่ 16 ไร่ จำนวน 175 ยูนิต เป็นทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น 21 ตารางวา
2. โครงการบ้านกลางกรุงแยกรัชดา เนื้อที่ 25 ไร่ จำนวน 154 ยูนิตเป็นทาวน์เฮาส์
3 ชั้นและ 4 ชั้น ขนาด 23 ตร.ว.
3. โครงการซิตี้สมาร์ท คอนโด บนถนนสุขุมวิท 18 เนื้อที่ 3 ไร่ เป็นคอนโดสูง
18 ชั้น 200 ยูนิต
นอกจากนี้ยังมีโครงการบ้านกลางกรุง สาทร-นราธิวาส เนื้อที่ 21 ไร่ ที่อยู่ระหว่างการออกแบบอีกโครงการ
ทั้งหมดคือแผนการที่อนุพงษ์และทีมงานกำหนดไว้ ซึ่งมูลค่าโครงการทั้งหมดประมาณ
6.5 พันล้านบาทนั้น คาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นขายหมดภายในระยะเวลาประมาณ 3 ปี
การเป็นบริษัทเล็กๆ ที่มีแนวทางเดินชัดเจน เป็นความคิด ที่ได้มาจากประสบการณ์ในการเข้ามาทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ครบรอบปีที่ 10 ของเขา
เพราะในอดีตเพียงก้าวแรกของการลงมาเดินบนถนนสาย เรียลเอสเตท เขาก็ได้รับบทเรียนราคาแพงจากการทำโครงการแรก
"ปทุมวัน รีสอร์ท"
"เป็นบริษัทเล็กที่หาญกล้าไปทำโครงการใหญ่ ตั้งแต่แรก เริ่ม" นั่นคือสิ่งที่อนุพงษ์กล่าวโทษตนเอง
นอกจากไม่ประสบความสำเร็จแล้ว ยังสร้างหนี้กว่า 1,000 ล้านบาท ถ้าไม่ได้แม่
และอนันต์ พี่ชายลงมาปกป้องช่วยเหลือในตอนนั้น เขายอมรับ กับ "ผู้จัดการ"
ว่า "ผมคงล้มละลายไปแล้ว"
พี่ชายกับแม่อาจช่วยได้บ้างด้านเม็ดเงิน แต่ในเรื่องการดิ้นรนแก้ไขปัญหาทุกอย่างไม่ยอมท้อถอย
จนทุกอย่างลุล่วง คือความสามารถของเขาจริงๆ
"พี่ตึ๋ง" เอาเงินส่วนตัวมาช่วยผม ทั้งๆ ที่ตอนนั้นตัวเองก็แย่เหมือนกัน
แต่การแก้ปัญหาในบริษัทของเขากับผม ซึ่งเป็นเพียงบริษัทเล็กๆ ย่อมมีวิธีการไม่เหมือนกัน
ดังนั้นความคิดเห็น ของเขากับผมในเรื่องนี้ไม่ตรงกันนัก"
ที่ดินแปลงแรกในการทำธุรกิจนั้นเป็นของเพียงใจ ที่เอามาให้ลูกชายคนเล็กลองพัฒนาตึกสูง
ในช่วงเศรษฐกิจเฟื่องฟู เมื่อปี 2536 โดยมีทำเลที่ดีตรงย่านปทุมวันเป็นการันตี
และตัวเอง เป็นคนค้ำประกันการกู้ยืมเงินทุกอย่าง ในยุคที่การปล่อยสินเชื่อ
ทำกันได้ง่ายๆ โครงการแรกจึงป็นคอนโดที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ ว่ากันว่า เมื่อกู้ง่ายสัดส่วนหนี้สินต่อทุนก็บานเพิ่มขึ้นทุกวันๆ
ใน ช่วง 2 ปีแรก (ปี 2536-2538) ก็ขายกันอย่างสนุกสนาน ก่อนเหตุการณ์ฟองสบู่แตก
ยอดขายโครงการในกระดาษสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์
ทุกอย่างเกือบพังพินาศ ในปี 2539 เงินสดหมุนเวียนในบริษัทเริ่มติดขัด แต่ปทุมวันก็สร้างเสร็จจนได้ในเดือนเมษายน
2540 แต่เมื่อเกิดวิกฤติทางการเงินลูกค้ายกเลิกสัญญาทีเดียวครึ่งตึก จำนวนห้องชุดทั้งหมดประมาณ
690 ยูนิต โอนไปได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในขณะเดียวกันโครงการบ้านทาวน์เฮาส์ที่บางบัวทอง
ซึ่งพัฒนาพร้อมๆ กัน ก็ถูกลูกค้ายกเลิกสัญญาเกือบหมด สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนั้นบังคับให้เขาต้องนำสินค้าทุกอย่างในมือมาลดราคา
ยอมขาดทุนในแง่บัญชี ขอเพียง ให้มีกระแสเงินสดไหลเข้ามาสูบฉีดองค์กรบ้าง
"จนกระทั่งปี 2542 ของที่เหลือเกือบหมด เหลือแต่ที่ดินโครงการบ้านจัดสรร
ก็มานั่งดูว่า ถ้าเราใส่ค่าก่อสร้างลงไปแล้วขายได้เงินสดกลับมาบ้าง อย่างที่โครงการไม้ร่มเงาไม้ตอนนั้นสร้างเสร็จไปแล้ว
400 แปลง เหลือ 400 แปลง ที่ยังไม่ได้สร้าง เรามีเงินสดเหลืออยู่ประมาณ 70-80
ล้านบาท ใช้หนี้ไม่หมด เพราะตอนนั้นหนี้เป็นพันล้าน แต่ถ้าเราจ่ายดอกเบี้ยอย่างเดียว
ก็นั่งรอความตายเหมือนกัน เงินหมดแน่ปีเดียว เลยเอาเงินจำนวนนี้ไปสร้างบ้านขายต่อ
แล้วลุยโฆษณาขาย"
บทเรียนราคาแพงในครั้งนั้น ทำให้อนุพงษ์ต้องทำงานด้วยความสุขุมรอบคอบมากขึ้น
ต่อมาเขาได้รู้จักกับพิเชษฐ วิภวศุภกร กรรมการผู้จัดการบริษัทเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้
ดีเวล ลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) คนปัจจุบัน ผ่านทางอนันต์ อัศวโภคิน เขาเคยทำงานอยู่ที่
บล.เอกธำรง ก่อนที่จะมาทำโครงการ บ้านจัดสรรของตนเอง ในย่านอำเภอบางบัวทอง
พิเชษฐคือผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างบริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ในยุคแรก
และยังเป็นกำลังสำคัญของ AP CITY SMART ในปัจจุบัน
การลงมาลุยงานอย่างจริงจังของอนุพงษ์ พิเชษฐ และทีมงานซีเนียร์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ
7-8 คน ทำให้พวกเขาสามารถ รู้ความเคลื่อนไหวของภาวะการตลาดด้วยตัวเองอย่างชัดเจนที่สุด
ข้อมูลของลูกค้าแต่ละคนชอบไม่ชอบบ้านแบบไหน ถูกบันทึกไว้ในความจำ เงินที่เข้ามาถูกถมลงไปในงานก่อสร้าง
ด้วยรูปแบบ ที่ลูกค้าต้องมั่นใจ และทีมงานเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด
ข้อมูลอย่างหนึ่งที่เขาได้รับรู้เองในช่วงลงมาเต็มที่กับการทำงานก็คือ
ความต้องการบ้านในเมืองของลูกค้ามีสูงมาก ดังนั้นการหาซื้อที่ดินในเมืองเก็บไว้เพื่อพัฒนาโครงการจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
วิธีการซื้อที่ดินของกลุ่มนี้ก็คือ การซื้อที่ดินเปล่า พื้นที่ 20-30 ไร่
ทำโครงการประมาณ 200-300 ยูนิตต่อโครงการ ใช้เวลาการขาย 1-2 ปี และที่สำคัญต้องเป็นที่ดินในเมือง
ในปี 2543 บริษัทเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ได้เข้าไปซื้อหุ้นในบริษัท พีซีเอ็ม
จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทแผ่นพื้นสำเร็จรูป ที่ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท
แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) มากกว่า 60 ล้านหุ้น และด้วยวิธีการ Backdoor
นี้ นอกจากจะทำให้บริษัทเอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ได้เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
แล้ว ยังช่วยลดภาวะการขาดทุนสะสมของพีซีเอ็ม ซึ่ง มีอยู่ 500 ล้านบาทได้ด้วย
การช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่าง เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ กับแลนด์
แอนด์ เฮ้าส์ อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในเวลาต่อไป แต่เค้กก้อนใหญ่ของธุรกิจนี้
ทั้ง 2 บริษัท แบ่งกันอย่างชัดเจน ในขณะที่แลนด์ฯ จับตลาดลูกค้าปานกลางถึงสูงย่านชานเมือง
แต่เอเชี่ยนฯ พุ่งเป้าไปยังกลุ่มลูกค้าในเมืองอย่างเดียวชัดเจน
สำหรับผลประกอบการในปี 2545 ที่ผ่านมานั้น บริษัทมีรายได้รวม 2,701 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 688 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปี 2544 ที่มีรายได้เพียง 1,281 ล้านบาท
กำไรสุทธิ 265 ล้าน บาท สำหรับปี 2546 นี้ตั้งเป้าเติบโตเพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์
โดยเตรียมเงินส่วนหนึ่งไว้อีก 2,000 ล้านบาทเพื่อความพร้อมในการขยายตัวในปี
2547
แผนการสวยหรูทั้งหมด กำลังรอเวลาท้าทายความสามารถของอนุพงษ์และทีมงานอีกครั้งว่า
เขาจะสามารถสร้างฐานที่แน่นหนาพอ เพื่อการต่อยอดเป็นบริษัทพัฒนาที่ดินที่
เข้มแข็งต่อไปได้หรือไม่ในวันหน้า เฉกเช่นเดียวกับที่มารดาและพี่ชายของเขาเคยทำสำเร็จมาแล้ว