|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
- ตื่นตูมไปทั้งวงการคนใช้เน็ต หลังเกิดพ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
- แท้จริงเพียงสร้างเสือกระดาษก.ไอซีที ดันกม. "อ่อนหัด" ขู่ปลาซิวปลาสร้อย
- แฮกเกอร์ โจรคอมพ์ตัวจริงนั่งยิ้มเยาะ สาวไส้ไม่ถึงตัว
- คนวงในห่วงปฏิบัติจริงไร้ความพร้อม เจ้าหน้าที่มั่วใช้อำนาจ
- พ.ร.บ.นี้ดีจริงหรือแค่ภาพลวงตาเป็นสิ่งที่ต้องติดตาม
กระแสความตื่นตัวจากผู้ประกอบการ องค์กรธุรกิจ และประชาชนทั่วไป ต่อการประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีแพร่สะพัดกันไปในวงกว้าง เนื่องจากพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมในโลกยุคอินเทอร์เน็ตที่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนไทยไปแล้ว
ที่ผ่านมาโลกไซเบอร์ไม่เคยมีกฎระเบียบมาบังคับใช้คนที่เกี่ยวข้องในสังคมแห่งนี้ ทำให้มีเรื่องเกิดขึ้นมากมายทั้งที่เป็นข่าวคึกโครมและไม่เป็นข่าว ทั้งที่เป็นเรื่องดีและเรื่องไม่ดี นับจากนี้ไปทุกคนจะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบเดียวกันจากการเกิดขึ้นของพ.ร.บ.ฉบับนี้
วัตถุประสงค์หลักของพ.ร.บ.การกระทำผิดคอมพิวเตอร์ ถูกวางไว้เพื่อห้องกันและปราบปรามผู้ที่ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการกระทำผิด ทำให้ต้องมีการจัดระเบียบสังคมออนไลน์
สิทธิชัย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวถึงพ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการป้องกันการลักลอบนำข้อมูลการใช้งานในระบบธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ การป้องกันบุคคล ที่ตั้งใจกระทำผิดเกี่ยวกับด้านความมั่นคงและการหมิ่นประมาท การหมิ่นเบื้องสูง การเผยแพร่สิ่งลามกอนาจาร ทั้งเว็บไซต์ อีเมล ให้สามารถเอาผิดได้ จากเดิมไม่สามารถมีกระบวนการทางกฎหมายลงโทษได้
แต่เพียงให้หลังการประกาศใช้พ.ร.บ.การกระทำผิดคอมพิวเตอร์ เพียงหนึ่งวันกระทรวงไอซีทีถูกแฮกเกอร์มือดีลองของเป็นรายแรก โดยการเข้าไปเปลี่ยนพื้นหลังหน้าเว็บกระทรวงให้เป็นสีดำทั้งหมด และมีภาพของอดีตนายกรัฐมนตรีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังยิ้มโบกมือทักทายปรากฎอยู่ตรงกลางเว็บ และหน้าโฮมเพจยังปรากฎภาพแบ็กกราน์สีดำ และรูปพล.อ.สนธิ บุญยรัตกะลิน พร้อมกับข้อความโจมตีเผด็จการ
เห็นได้ชัดว่าแม้จะมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ก็ยังไม่สามารถที่จะหยุดยั้งผู้หวังดีบนโลกไซเบอร์ได้ หากพิจารณาบทลงโทษสูงสุดของกฎหมายฉบับนี้มีโทษหนักจำคุกถึง 20 ปี โดยกฎหมายฉบับนี้กำหนดบทลงโทษเบาสุด ในกรณีเข้าถึงระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ถือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท แต่ถ้าเป็นการเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ของผู้อื่นที่มีมาตรการป้องกันโดยมิชอบ เพิ่มโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท
และหากผู้ใดทำให้เกิดความเสียหาย ทำลาย แก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น โดยมิชอบตามมาตรา 9 และในมาตรา 10 ผู้ใดกระทำโดยมิชอบเพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อี่นถูกระงับหรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ถ้าการเข้าถึงคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นทันทีหรือในภายหลัง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาทและถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี
พ.ร.บ.คอมพ์ "แอ๊บแบ๊ว" ลากไส้แฮกเกอร์ไม่ได้จริง
ปรเมศวร์ มินศิริ นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ได้ประเมินพ.ร.บ.การกระทำผิดคอมพิวเตอร์ ของไทยฉบับนี้ว่ายังถือเป็นกฎระเบียบที่ถือว่าอ่อนมาก หรือเรียกได้ว่าอ่อนที่สุดหากเทียบกับกฎระเบียบของต่างประเทศ โดยมีผลสามารถใช้บังคับได้เพียงเบื้องต้นเท่านั้น
"พวกแฮกเกอร์เก่งๆ ที่สามารถเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ และทำให้เกิดความสูญเสียต่างๆ นานานั้นคงจะเตรียมทางหนีทีไรไว้เป็นอย่างดี จนทางการไทยไม่สามารถที่เข้าไปถึงกลุ่มคนเหล่านี้ได้"
ปรเมศวร์ ได้อธิบายว่าอย่างขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องของอำนาจหน้าที่ และหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง ก็ต้องรอการของอนุมัติหมายศาลก่อน จึงจะสามารถลงมือทำอะไรต่อไป ซึ่งในความเป็นจริงโลกเทคโนโลยีทุกวันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หากขั้นตอนปฏิบัติเป็นเช่นนี้ผู้ที่จงใจกระทำความผิดก็จะลอยนวลต่อไป แต่หากให้อำนาจหน้าที่กับเจ้าหน้าที่มากเกินไป ก็จะส่งผลเสียต่อการใช้อำนาจที่ให้มาล้นฟ้าในทางที่ผิดได้เช่นกัน
ที่ผ่านมาประเทศไทยนับได้ว่าเป็นประเทศที่บรรดาแฮกเกอร์และคนที่ไม่ประสงค์ดีเข้ามาใช้เป็นแหล่งในการโจมตีคอมพิวเตอร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงมีการผลิตสื่อลามกอนาจร อาทิรูปลามกของเด็กๆ จะมีแหล่งผลิตอยู่ที่เมืองพัทยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศ เข้ามาดำเนินการ
"คนต่างชาติเห็นว่าไทยไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์จริงเข้ามาใช้ไทยเป็นฐาน แต่แม้ว่าจะมีกฎหมายแล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ยังอาจเห็นว่าโทษต่างๆ และขั้นตอนวิธีการปฏิบัติยังเบาและไม่ชัดเจน ก็จะกระทำผิดอยู่ต่อไป"
อย่างในประเทศปากีสถานยังมีการประกาศให้ร้านอินเทอร์เน็ตตรวจสอบบัตรประชาชนหรือพาสสปอร์ตของผู้ที่เข้ามาใช้งานทุกครั้ง หรือในประเทศญี่ปุ่นแม้ว่างทางการจะไม่มีการกำหนดอายุผู้ที่เข้าไปเล่นอินเทอร์เน็ต จนมีภาพของเด็กที่เข้าไปเล่นอินเทอร์เน็ตแบบค้างคืน แต่เด็กเหล่านั้นจะถูกเช็คบัตร และมีการบันทึกการใช้งานของพวกเขา จึงไม่มีปัญหาเรื่องการใช้งานที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น
เช่นเดียวกัน กนกวรรณ ว่องวัฒนะสิน ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์เนต โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ จำกัดหรือไอเอสเอสพี กล่าวว่ากฎหมายไอซีทีเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ของไทยที่ออกมานั้นยังไม่สุดสุดเหมือนกับในบางประเทศ และยังไม่แน่ใจว่าในทางปฏิบัติแล้วจะเกิดปัญหาหรือไม่ เนื่องจากจะต้องให้เกิดเหตุการณ์ที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นและค่อยแก้ไขเป็นเคสตัวอย่างที่จะใช้เป็นบรรทัดฐานต่อไป
การที่ไทยเตรียมจัดตั้งเจ้าหน้าที่ทำงานด้านนี้เพียง 20-30 คน นั้นอาจจะไม่เพียงพอกับการเข้ามาดูแลเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพราะอย่างในต่างประเทศจะมีการจัดคนที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะเข้ามาดูแล นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและเหล่าแฮกเกอร์ที่เป็นฝ่ายดีในการช่วยยับยั้งกลุ่มคนที่ไม่ดีด้วย
"เราจะต้องสร้างและส่งเสริมให้เกิดการใช้งานอินเทอร์เน็ตในแนวทางที่ดี เนื่องจากกฎระเบียบที่วางไว้ไม่ทันกับเหตุการณ์ในโลกไซเบอร์ที่เกิดขึ้น"
ตัวอย่างหนึ่งที่ กนกวรรณ ยกขึ้นมาคือหากมีคนที่สร้างคอนเทนต์ของตัวเอง อาจจะเป็นเว็บไซต์ส่วนตัว ซึ่งก็อาจจะถูกหรือผิด มีความเหมาะสมหรือไม่ ใครจะเข้ามาเป็นผู้ตัดสิน และหากวิดีโอคลิปของไทยที่ไปฝากไว้ในเว็บต่างชาติ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม กระทบต่อความมั่นคง ทางการไทยจะมีความร่วมมือกับกฎหมายต่างชาติหรือไม่ ทั้งหมดเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยกฎหมายต้องพร้อมที่จะปรับปรุงตลอดเวลา
ความไม่ชัดเจนปัญหาใหญ่
ปรเมศวร์ มองว่าขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเกิดขึ้นของพ.ร.บ.ฉบับนี้กำลังรอความชัดเจนใน 2 เรื่องใหญ่ คือ 1.เรื่องของเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามพ.ร.บ.การกระทำผิดคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะการยึดและอายัด จับกุมต้องมีความชัดเจนในเรื่อง ส่วนเรื่องที่ 2 คือการจัดเก็บข้อมูลจราจร ที่ผู้ประกอบการยังไม่รู้ว่ากฎที่ออกมาจะระบุอย่างไรบ้าง จะได้มีการเตรียมตัว
ที่สำคัญหน่วยงานที่ดูแลยังไม่ได้มีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้เกิดความกระจ่าง อาจสร้างความตื่นตระหนกต่อการใช้งานในกลุ่มของผู้ใช้งานทั่วไปได้ เนื่องจากคนที่ท่องอินเทอร์เน็ตต้องระมัดระวังในการฟอร์เวิร์ดเมลภาพโป๊ ภาพตัดต่อ หรือข้อมูลอันเป็นเท็จที่สร้างความเสียหายแก่ผู้อื่น เข้าข่ายเป็นผู้กระทำผิดตามกฎหมายฉบับนี้ โดยมาตรา 14(5) กำหนดว่าผู้ใดที่เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลอันเป็นเท็จที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น และเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ รวมถึงภาพลามก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิด 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
"ต้องสร้างความเข้าใจในการใช้งานของประชาชนทั่วไป ไม่ว่าหากเขาไม่ได้ตั้งใจกระทำความผิดและต้องถูกจับด้วย"
ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ผู้เชี่ยวชาญกฎกมายอินเทอร์เน็ตและหนึ่งในคณะกรรมการร่วมกฎและประกาศกระทรวงไอซีที กล่าวว่าขณะนี้การส่งอีเมลหรือสแมเมล ที่ปกปิดที่มาของข้อมูล ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเผยแพร่จากคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่รวมถึงการส่งผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย ต่อไปนี้ผู้นิยมการฟอร์เวิร์ดเมลหรือคลิปวิดีโอต่างๆ จะต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะอาจกลายเป็นผู้เผยแพร่เนื้อหาที่มีความผิดตามกฎหมายได้ อย่างพวกคลิปหลุด คลิปภาพโป๊ ภาพตัดต่อ เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.นี้
ปรเมศวร์ กล่าวถึงความไม่ชัดเจนด้านอื่นๆ ว่า ในส่วนของผู้ให้บริการที่จะต้องมีการเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ 90 วัน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผู้ประกอบการรายเล็ก และเจ้าของเว็บไซต์ต่างๆ อาจจะไม่สามารถอยู่รอดได้หากจะต้องมีการลงทุนเพื่อหาอุปกรณ์มาใช้ในการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์
รวมถึงความพร้อมของเจ้าหน้าที่ เพราะเมื่อมีการเริ่มต้นใช้กฎหมายภายใต้พ.ร.บ.นี้ จะเกิดการร้องเรียนอย่างมากมาย โดยเฉพาะคดีหมิ่นประมาท และเรื่องของเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมทั้งหลาย ความพร้อมในการจัดการของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างไรยังไม่มีใครสามารถรับรู้ได้
ด้าน กนกวรรณ กล่าวว่าการมีพ.ร.บ.ฉบับนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่อยากให้ดียิ่งไปกว่านั้นคือความชัดเจน เพราะทุกคนยังไม่แน่ใจวิธีการปฏิบัติจริงจะทำได้มากน้อยเพียงไร อย่างการจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ หลายคนยังกังวล ผู้ประกอบการต่างๆ ก็มีความกังวล เพราะขณะนี้ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ครอบคลุมไปทุกภาคส่วนที่กว้างมาก
ปัญหาจากการเกิดขึ้นของพ.ร.บ.นี้ ทางลูกค้าของไอเอสเอสพีสอบถามมายังบริษัทค่อนข้างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับพ.ร.บ.นี้ จนทางไอเอสเอสพี เตรียมที่จะเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มลูกค้าของบริษัท โดยรอความชัดเจนในกฎกระทรวงต่างๆ ให้เรียบร้อยก่อน
กนกวรรณ กล่าวว่าทางไอเอสเอสพีมีแนวความคิดที่จะช่วยเหลือลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร โดยอาจจะมีการติดตั้งเซิร์ฟเวอร์เพิ่มเพื่อที่จะเป็นแหล่งเก็บข้อมูลตามข้อกำหนดภายใต้พ.ร.บ.ฉบับนี้ และเชื่อแน่ว่าผู้ประกอบการรายอื่นๆ ก็มีแนวความคิดเช่นนี้เหมือนกัน แต่รอดูความชัดเจนในขั้นสุดท้ายก่อน
ห่วงผู้ประกอบการไม่รอด ติดบ่วงพ.ร.บ.คอมพ์
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด เจ้าของเว็บไซต์ thaisecondhand.com กล่าวว่าสิ่งที่ผู้ประกอบห่วงที่สุดคือรายละเอียดของการจัดเก็บข้อมูล ซึ่งร่างประกาศเดิมกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องเก็บข้อมูลเลขบัตรประชาชนของผู้ใช้บริการด้วย ซึ่งทางผู้ประกอบการได้มีการหารือและให้ข้อมูลกับทางคณะกรรมการร่างว่าถ้าให้จัดเก็บข้อมูลดังกล่าวจะเป็นปัญหาและภาระทั้งสำหรับผู้ให้บริการเว็บไซต์และผู้ใช้บริการ อาจถึงขั้นทำให้เว็บไซต์เล็กต้องปิดตัว
อย่างไรก็ตามเรื่องของการจัดเก็บข้อมูลเลขบัตรประชาชนนั้น คณะกรรมการร่างได้มีการยกเลิกในส่วนนี้แล้ว ในความเป็นจริงของการให้บริการนั้นจะมีการจัดเก็บข้อมูลไอพีแอดเดรส เบอร์โทรศัพท์และเวลา ข้อมูลต่างๆ ก็สามารถระบุตัวตนของผู้ใช้บริการได้แล้ว โดยข้อมูลในส่วนนี้ระบบจะจัดเก็บอัตโนมัติ
แต่สิ่งที่ภาวุธ เป็นห่วงคือเรื่องของเจ้าหน้าที่ที่จะปฏิบัติตามกฎหมายว่าจะมาจากไหน เพราะผู้ที่จะมาทำหน้าที่ตรงนี้จะต้องมีความเชี่ยวชาญ ทั้งในส่วนของผู้ให้บริการเว็บไซต์รายใหญ่ๆ ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะส่วนใหญ่จะมีระบบจัดเก็บข้อมูลล็อกไฟล์อยู่แล้วเพียงแต่การกำหนดว่าจะต้องมีการจัดเก็บอย่างน้อย 90 วัน อาจจะทำให้ต้องมีการลงทุนเพิ่มต่อไป
ต่อบุญ พ่วงมหา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเว็บ ผู้ให้บริการเว็บไซต์ สนุกดอทคอม กล่าวว่าพ.ร.บ.นี้อาจะมีบางมาตราที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของภาคเอกชน อาทิ การต้องจัดเก็บข้อมูลการใช้งานคอมพิวเตอร์ ถือเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของบริษัท โดยต้องลงทุนเพิ่มอุปกรณ์การจัดเก็บและสำรองข้อมูล
ไม่เพียงเท่านั้นไทยอาจสูญเสียโอกาสการแข่งขันกับเว็บไซต์ของต่างประเทศที่แข็งแกร่งและยังมีความเสรีมากกว่ามาก ในขณะที่ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงต่อการปฏิบัติงานและการให้บริการ ผู้ประกอบการบางรายอาจถึงขั้นปิดเว็บไซต์ และจะมีผู้ใช้คนไทยหันไปใช้งานผู้ใช้งานเว็บไซต์ต่างชาติมากยิ่งขึ้น
หยุด "ทักษิณ" บนเน็ต
หากมองถึงประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้นอยู่ในทุกวันนี้ และมีการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเว็บไซต์ วิดีโอคลิป และอื่นๆ เข้ามาเพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมาย อาจจะมีผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคง ซึ่งในประเด็นดังกล่าวหากปรากฎขึ้นและทางกระทรวงไอซีทีสามารถที่จะอาศัยพ.ร.บ.นี้ในการสกัดกั้นเพื่อไม่ให้กลุ่มการเมืองเก่าสามารถดำเนินการได้อย่างสะดวกเหมือนเช่นอดีตที่ผ่านมา
"การที่อดีตนายกฯทักษิณ จะมากล่าวถึงประเด็นต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต หากมีผลกระทบต่อความมั่นคง เราก็พร้อมที่จะจัดการดำเนินคดีทันที เพราะขณะนี้มีกฎหมายที่มารองรับการกระทำผิดตรงนี้แล้ว" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีทีกล่าว
ธุรกิจ "เบญจรงคกุล" ส้มหล่นจากพ.ร.บ.คอมพ์
กลุ่มเบญจจินดาของตระกูล "เบญจรงคกุล" เตรียมอ้าแขนรับส้นหล่นใส่ธุรกิจ หลังจากการเกิดขึ้นของพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการร่วมพันธมิตรกับ "เอซิส ไอ-ซีเคียว" รุกธุรกิจบริการให้คำปรึกษาและเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์
จากนโยบายภาครัฐและกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงการประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ประกอบกับกระแสการตื่นตัวเรื่องการคุกคามและการโจรกรรมข้อมูลของบุคคลอื่น ทำให้ทุกคนหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้น
ปัจจัยดังกล่าวกำลังส่งผลให้ธุรกิจของตระกูล "เบญจรงคกุล" ภายใต้กลุ่มเบญจจินดา ได้รับผลประโยชน์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
"เรากำลังได้รับผลประโยชน์จากนโยบายรัฐ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกระแสตื่นตัวของไอซีที"
เป็นคำกล่าววิชัย เบญจรงคกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบญจจินดา โฮลดิ้ง จำกัด ในโอกาสที่กลุ่มเบญจจินดาได้ร่วมพันธมิตรทางธุรกิจกับ บริษัท เอซิส ไอ-ซีเคียว จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางด้านการเฝ้าระวังและป้องกันความเสี่ยงจากภัยด้านความปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ ทั้งที่มาจากการใช้อินเทอร์เน็ตและภัยคุยคามทางอาชญากรรมคอมพิวเตอร์
วิชัย กล่าวว่าทางกลุ่มได้เห็นเล็งถึงสถานการณ์ในธุรกิจที่เกี่ยวกับความปลอดภัยบนอินเทอร์เน็ตเป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจอย่างมาก มีแนวโน้มการเติบโอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปีหน้าจะมีอัตราการเติบโตมากกว่า 100%
"ลองคิดดูว่าหากอุตสาหกรรมโทรคมไทยลงทุนเรื่องของความปลอดภัย 5% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด ย่อมเป็นจำนวนเงินมหาศาล"
และความร่วมมือทางธุรกิจครั้งนี้ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจให้กับกลุ่มเบญจจินดาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจเกี่ยวกับบรอดแบนด์
พงษ์ ตระกูลทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอซิส ไอ-ซีเคียว จำกัด กล่าวว่าปัจจุบันกระแสการตื่นตัวเรื่องการคุกคามและการโจรกรรมข้อมูลขอบุคคลอื่น ซึ่งมีผลทำให้หน่วยงานต่างๆ ได้รับความเสียหายอย่างมาก ทางบริษัทตระหนักถึงการจัดหาวิธีป้องกัน รวมถึงการเฝ้าระวังข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์สารสนเทศมาใช้งาน ซึ่งทุกองค์กรจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลภายในองค์กรเป็นอย่างมาก
กลุ่มบริษัทนี้ได้มีการเสริมทัพบุคลากรและพัฒนาศักยภาพทางด้านเครือข่าย โดยมุ่งเน้นบริการด้านการให้ปรึกษาและเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยระบบเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างครบวงจร โดยผู้ใช้บริการไม่ต้องกังวลเรื่องการลงทุนด้านบุคลากรหรือการดูแลรักษาระบบ
และเพื่อเป็นขยายตัวและรองรับการเติบโตในธุรกิจบริการด้านการให้คำปรึกษาและเฝ้าระวังความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ เอซิส ไอ-ซีเคียว จึงมอบหมายให้ บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด หนึ่งในกลุ่มเบญจจินดา ที่ให้บริการระบบวงจรสื่อสัญญาณความเร็วสูงกับกลุ่มลูกค้าองค์กรและหน่วยงานราชการ เป็นผู้ดูแลทางด้านการตลาดเพื่อนำเสนอบริการให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่สนใจใช้บริการ
เปิดสเปกหน่วยล่าสังหารโลกไซเบอร์ไทย
เปิดคุณสมบัติเจ้าหน้าที่ปฏิบัตงานตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดคอมพ์ เฟ้นหาคนจาก 6 หน่วยงานหลักเข้าทำหน้าที่หน่วยล่าสังหารโลกไซเบอร์ อำนาจเต็มที่ปฏิบัติงานภายใต้กฎระเบียบใหม่
หลังจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีผลบังคับใช้ ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างเฝ้าดูว่าหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานเป็นทีมไล่ล่าผู้ที่กระทำผิดจะเป็นใครและมาจากหน่วยงานใดบ้าง โดยคาดว่าทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอทีซี) จะมีการประกาศออกมาในเร็วๆ นี้
ทีมงานเจ้าหน้าที่ที่จะเข้ามาปฏิบัติงานให้เป็นไปตามพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นี้ จะมีประมาณ 20-30 คน จาก 6 หน่วยงานหลัก ประกอบด้วย กระทรวงไอซีที กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงยุติธรรม กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานข่าวกรองแห่งชาติ
สำหรับสเปกหรือคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าเป็นเจ้าหน้าที่ตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้นั้น ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการไม่น้อยกว่า 2 ปี ในตำแหน่งเจ้าที่ตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเข้าราชการพลเรือนสามัญระดับ 6
นอกจากนี้ยังต้องจบปริญญาตรี มีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 4 ปี หรือระดับปริญญาโท หรือสอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตตามหลักสูตรของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา หากเป็นสาขานิติศาสตร์ และมีประสบการณ์ที่เหมาะกับพ.ร.บ.ไม่น้อยกว่า 3 ปี ปริญญาเอก หรือมีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 2 ปี และเป็นบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ การตรวจพิสูจน์หลักฐานทางคอมพิวเตอร์ หรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 2 ปี
อำนาจเต็มพิกัดศาลสั่งลุยได้ทันที
เจ้าหน้าที่ที่ถูกคัดสรรให้เข้ามาปฏิบัติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ถูกจับตามองว่าจะเป็นกลุ่มที่มีอำนาจอย่างมากมายตามกฎหมาย กฎกระทรวงที่จะออกมารองรับการปฏิบัติงานทั้งหมด
อย่างการที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงเทคไอซีที ว่าด้วยการยึดและอายัดระบบคอมพิวเตอร์ ที่ออกมารองรับพ.ร.บ.นี้ ร่างกฎกระทรวงนี้มีการระบุถึงอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงาน หลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาว่าให้เข้ายึดและอายัดระบบคอมพิวเตอร์แล้ว รวมถึงวิธีการทำงานของเจ้าพนักงาน
ทั้งนี้เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ยึดและอายัดระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ก่อนทำการยึดและอายัด ให้เจ้าหน้าที่แสดงบัตรประจำตัวและส่งสำเนาบันทึกเหตุอันควรที่จะเชื่อว่าจะต้องใช้อำนาจในการยึดหรืออายัด และมอบให้กับเจ้าของและผู้ครอบครองระบบคอมพิวเตอร์ไว้เป็นหลักฐาน
ในการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ดำเนินการยึดและอายัดระบบคอมพิวเตอร์ทำได้ทุกวันในเวลาระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก ยกเว้นกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากไม่ดำเนินการทันทีระบบคอมพิวเตอร์นั้นจะสูญหายหรือถูกยักย้าย ให้มีอำนาจดำเนินการยึดหรืออายัดในเวลาอื่นก็ได้ และให้เจ้าหน้าที่ที่เป็นหัวหน้าในการดำเนินยึดและอายัดส่งสำเนาบันทึกรายละเอียดการดำเนินการและเหตุผลแห่งการดำเนินการให้ศาลที่มีเขตอำนาจภายใจ 48 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลาลงมือดำเนินการเพื่อเป็นหลักฐาน
ภายใต้กฎกระทรวงนี้ยังมีการระบุให้พนักงานที่ดำเนินการยึดและอายัดทำบัญชีแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ที่ตรวจยึดและอายัด เช่นประเภทอุปกรณ์ ชนิด รุ่น หมายเลขเครื่อง เอสเอ็น จำนวน โดยกรอกข้อมูลในแบบตามที่กฎกระทรวงแบท้ายไว้ โดยจะมีตัวอย่างของหนังสือที่แสดงการยึดและอายัดระบบคอมพิวเตอร์ที่จะต้องแสดงให้กับผู้ที่ถูกยึดอายัดและมีบัญชีแสดงราละเอียด และมีบันทึกรายละเอียดของระบบคอมพิวเตอร์นั้นๆ ไว้ด้วย
ตรวจแถวคนต้องปฏิบัติตามพ.ร.บ.คอมพ์
ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น ย่อมเกี่ยวข้องกับบุคคลมากมายเพื่อให้ครอบคลุมในเชิงปฏิบัติมากที่สุด ซึ่งหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ คุณก็มีหน้าที่ที่จะต้องปฎิบัติตามพ.ร.บ.ฉบับนี้
ทั้งนี้บุคคลที่ต้องมีหน้าที่ตามพ.ร.บ.เกี่ยวกับความผิดคอมพ์ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ผู้ให้บรการแก่บุคคลทั่วไปในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต และผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อผู้อื่น เช่นผู้ให้บริการข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่านแอปพลิเคชั่น โดยแต่ละประเภทจะมีการแยกกลุ่มย่อย เพื่อกำหนดข้อมูลที่ต้องจัดเก็บไว้ 90 วันเพื่อให้พนักงานเรียกดูได้และมีระยะเวลาที่ได้รับการผ่อนผันในการเริ่มเก็บข้อมูลที่แตกต่างกันไป
ผู้ให้บริการในการเข้าสู่อินเทอร์เน็ต แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1.ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายภาพและเสียง ครอบคลุมผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน โทรศัพท์เคลื่อนที่ ผู้ให้บริการวงจรสื่อสารและผู้ให้บริการดาวเทียม รวมถึงผู้ให้บริการสื่อสารไร้สาย
ในการเก็บข้อมูลนั้น จะต้องสามารถระบุและติดตามถึงแหล่งกำเนิด ต้นทาง ปลายทาง และทางผ่านของการติดต่อสื่อสารของระบบคอมพิวเตอร์ อาทิ ข้อมูลระบบชุมสายโทรศัพท์ หมายเลขโทรศัพท์ เลขวงจร หมายเลขที่ได้มีการโอนสาย ชื่อที่อยู่ของผู้ใช้บริการที่ได้ลงทะเบียนไว้ ข้อมูลเกี่ยวกับวันที่ เวลาในการเริ่มต้นและสิ้นสุดการใช้งาน
สำหรับผู้ให้บริการกลุ่มนี้ต้องเริ่มจัดเก็บข้อมูลหลังจากมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน
กลุ่มที่ 2 ผู้ให้บริการเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทั้งเครือข่ายสาธารณะที่มีสายและไร้สาย ผู้ประกอบการที่ให้บริการในห้องพัก ห้องเช่า โรงแรม หรือร้านอาหาร และผู้ให้บริการระดับองค์กร ตั้งแต่องค์กรธุรกิจ หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา ที่มีอินเทอร์เน็ต อินทราเน็ตให้ลูกค้า พนักงานใช้
ข้อมูลที่ผู้ให้บริการในกลุ่มนี้ต้องจัดเก็บ ได้แก่ข้อมูลล็อกไฟล์ ที่มีการบันทึกไว้เมื่อมีการเข้าถึงระบบ ซึ่งระบุตัวตนและสิทธิในการเข้าถึงเครือข่าย วันเวลา หมายเลขสายที่เรียกเข้ามา และเครื่องที่เข้ามาใช้บริการ ชื่อที่ระบุตัวตนผู้ใช้ ไอพีแอดเดสก์ ข้อมูลอินเทอร์เน็ตบนเครื่องผู้ให้บริการ อาทิ หมายเลขของข้อความที่ระบุในอีเมล ชี่อที่อยู่ผู้ส่ง ผู้รับ ข้อมูลอินเทอร์เน็ตที่เกิดจากการโอนแฟ้มข้อมูลบนเครื่องให้บริการโอนแฟ้มข้อมูล
รวมทั้งข้อมูลบนเครื่องผู้ให้บริการเว็บ ชนิดของข้อมูลบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อาทิ หมายเลขพอร์ตที่ใช้งาน ชื่อเครื่องที่ให้บริการ ข้อมูลหมายเลขลำดับข้อความที่ได้ถูกส่งไปแล้ว รวมถึงข้อมูลการใช้โปรแกรมแชตต่างๆ
ผู้ที่เกี่ยวข้องในกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก จึงมีการให้ระยะเวลาในการเริ่มจัดเก็บเมื่อพ้น 180 วันจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนในสถานศึกษา ร้านอาหาร หรือองค์กรธุรกิจ มีการผ่อนผนัเวลาเริ่มต้นเก็บข้อมูลหลังมีประกาศ 1 ปี
กลุ่มที่ 3 ผู้ให้บริการเช่าระบบคอมพิวเตอร์ เช่น ผู้ให้บริการเช่าเว็บโฮสติ้ง เว็บเซิร์ฟเวอร์ ศูนย์รับฝากข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต กลุ่มนี้ได้รับการผ่อนผันให้เริ่มต้นเก็บข้อมูลเมื่อพ้น 1 ปี
และกลุ่มที่ 4 ผู้ให้บริการร้านอินเทอร์เน็ต ทั้งอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ และเกมออนไลน์ ได้รับการผ่อนผันในการจัดเก็บข้อมูลเป็นเวลา 1 ปี โดยข้อมูลที่ต้องจัดเก็บ ได้แก่ ข้อมูลที่สามารถระบุตัวบุคคล เวลาของการเข้าใช้และเลิกใช้บริการ หมายเลขเครื่องที่ใช้ไอพีแอดเดสก์
ส่วนผู้ให้บริการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อผู้อื่น เช่นผู้ให้บริการข้อมูลคอมพิวเตอร์ผ่านแอปพลิเคชั่น ผู้ให้บริการเว็บบอร์ด บล็อก อินเทอร์เน็ตแบงกิ้ง อีเปย์เมนต์ เว็บเซอร์วิส และอีคอมเมิร์ซ ให้เริ่มเก็บข้อมูลหลังจาก 1 ปี นับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยให้จัดเก็บรหัสประจำตัวผู้ใช้ หรืออีเมล หรือข้อมูลที่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ของผู้ขายสินค้าและบริการ บันทึกข้อมูลการเข้าใช้บริการ กรณีผู้ให้บริการเว็บบอร์ดหรือบล็อก ให้เก็บข้อมูลของผู้ประกาศข้อมูลด้วย
ทั้งนี้ข้อมูลต่างๆ ที่ผู้ให้บริการแต่ละประเภทต้องเก็บนั้น กฎหมายให้เก็บเฉพาะในส่วนที่เกิดจากที่เกี่ยวข้องกับบริการของตนเท่านั้น ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าเช่าระบบของคนอื่นมาให้บริการแล้วจะเก็บได้อย่างไร และเพื่อให้การจัดเก็บข้อมูลที่ถูกต้อง ได้มีคำแนะนำสำหรับผู้ให้บริการประเภทต่างๆ ว่าให้ดูแลจัดการเซตเวลาเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ตรงกับเน็ตเวิร์กไทม์โปรโตคอล ไทม์เซิร์ฟเวอร์ที่เปิดให้บริการสาธารณะและต้องเก็บข้อมูลโดยกำหนดชั้นความลับในการเข้าถึงข้อมูล เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ดูแลระบบแก้ไขได้ รวมถึงอย่างลืมจัดให้มีผู้ประสานในการให้ข้อมูลกับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายไว้ด้วย เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ดันสื่อออนไลน์ทะลุหลักพันล้าน
โลกของการออนไลน์ นอกเหนือจากเป็นศูนย์รวมแหล่งข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ เป็นสังคมของชุมชนชาวไซเบอร์ที่มีสมาชิกเข้าออกอยู่ราว 8 ล้านคน และมีแนวโน้มเติบโตไปถึงหลัก 10 ล้านคนภายใน 2-3 ปีนี้แล้ว บทบาทของการทำหน้าที่สื่อออนไลน์ ก็ได้รับความสนใจจากเจ้าของสินค้า และบริการ แบ่งงบการสื่อสารการตลาดจากสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ วิทยุ มาใช้ปีละกว่า 700 ล้านบาท
ดร.กนกวรรณ ว่องวัฒนสิน ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์เนต โซลูชั่น แอนด์ เซอร์วิส โพรวายเดอร์ จำกัด (ISSP) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมาคนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 7 ล้านคน โดยในแต่ละวันมีผู้เข้าชมเว็บไซต์ต่าง ๆ มากถึง 2 ล้านคนต่อวัน คิดเป็น 54 ล้านเพจวิวต่อเดือน จึงถือเป็นโอกาสที่ดีของเจ้าของธุรกิจที่จะใช้สื่อออนไลน์ในการสื่อสารข้อมูลทางการตลาดสู่กลุ่มเป้าหมาย
แต่ที่ผ่านมาสื่อออนไลน์ยังไม่สามารถเติบโตไปตามแนวทางที่ควรเป็นได้ เนื่องจากความไม่เป็นระเบียบของคนในสังคมไซเบอร์ ที่ขาดกฎหมายควบคุม มีการกระทำผิด คำหยาบ การใส่ร้าย โกหก โจมตี จนเจ้าของสินค้า หรือบริการส่วนใหญ่ ไม่สนใจจะเลือกใช้สื่อออนไลน์ในการทำการสื่อสารการตลาดให้กับสินค้าหรือบริการของตน ด้วยเกรงว่า ภาพพจน์ของสินค้า จนถึงตัวองค์กร จะเสียไปกับความไร้ระเบียบของสังคมในสื่อที่ตนใช้อยู่
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จึงน่าจะเป็นกฎหมายที่จะเข้ามาทลายกำแพงกั้นขวางการเติบโตของสื่อออนไลน์
ปฐม อินทโรดม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ.อาร์.อินฟอร์เมชั่น แอนด์ พลับลิเคชั่น จำกัด เจ้าของนิตยสารไอทีชั้นนำ และผู้บริหารเว็บไซต์ Thaimail.com กล่าวว่า หากมองในระยะสั้นผู้ใช้สื่อออนไลน์อาจมองว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จะเข้ามาจับผิด กลัวการละเมิดสิทธิ์ หมิ่นประมาท กลัวติดคุก แต่หากศึกษาให้ดี จะเห็นว่าความจริงแล้ว พ.ร.บ.นี้มีการคุ้มครองการละเมิดสิทธิที่ดีมากพอสมควรจะสามารถสร้างสื่อออนไลน์ให้เป็นสื่อคุณภาพ มีมาตรฐานทัดเทียมสื่อหลักได้
สังคมออนไลน์ของประเทศไทยยังไม่พัฒนา คนไทยยังมีการละเมิดสิทธิของผู้อื่นกันอยู่เสมอ ไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ทำให้เว็บบอร์ดที่มีข้อมูลน่าสนใจหลาย ๆ เว็บต้องให้บริการเป็นเว็บปิด ที่เปิดให้บริการเฉพาะสมาชิก หรือผู้ที่ลงทะเบียน เพราะห่วงว่าหากเปิดเว็บให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ จะเกิดปัญหาการละเมิดสิทธิผู้อื่น ส่งผลให้ผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บมีจำนวนจำกัด การที่สินค้าจะไปลงโฆษณาก็ไม่มีประสิทธิภาพมากนัก
"ที่เอ.อาร์. เคยได้รับงานจากลูกค้าซึ่งเป็นเจ้าของสินค้าชนิดหนึ่ง ให้เปิดเว็บคอมมูนิตี้ ในไทยเมล์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลของกลุ่มเป้าหมายสินค้าตัวนั้น เมื่อเปิดเว็บขึ้นโดยไม่มีกฎหมายควบคุม กลับมีคนเข้ามาโพสต์ข้อความด่าสินค้าอย่างเสียหาย ไม่สามารถตามหาผู้กระทำได้ ทำให้สื่ออนไลน์ไม่เติบโตอย่างที่ควรเป็น"
ปฐมกล่าวว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นี้ถ้ามองในระยะยาวถือเป็นโอกาสของคนโฆษณาที่จะมีสื่อคุณภาพเป็นทางเลือกอีกสื่อหนึ่ง เมื่อมีกฎหมายคุ้มครอง เว็บไซต์ที่มีคุณภาพก็จะกล้าเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นมากขึ้น สินค้าที่ลงโฆษณาในเว็บนั้นก็สามารถสื่อสารไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น สร้างสื่อออนไลน์ให้มีมาตรฐานเทียบเทียบเท่าสื่อหลักอื่น ๆ ได้ ซึ่งคาดว่าการเติบโตของสื่อออนไลน์ในปีนี้ไปมีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาทตามที่คาดการณ์กัน
อย่างไรก็ตามหากเทียบสัดส่วนการใช้สื่อออนไลน์ในปัจจุบัน ยังถือว่ามีมูลค่าต่ำเพียงระดับ 1% ของอุตสาหกรรมโฆษณารวมที่มีมูลค่าราว 9 หมื่นล้านบาท ปฐม แสดงความเห็นว่า การจัดระเบียบให้กับชุมชนออนไลน์นี้ คงเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะสนับสนุนให้สื่อออนไลน์เติบโต หากแต่ปัจจัยสำคัญน่าจะอยู่ที่จำนวนคนไทยผู้มีคอมพิวเตอร์ใช้ ปัจจุบันมีเพียง 4.7 เครื่องต่อจำนวนประชาชน 100 คน ขณะที่สหรัฐอเมริกามีคอมพิวเตอร์ 74 เครื่อง ต่อคน 100 คน ดังนั้นแม้สื่อออนไลน์จะมีจุดเด่นในการสื่อสารเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายแบบตัวต่อตัว ซึ่งเป็นเทรนการสื่อสารการตลาดเข้าหากลุ่มคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน แต่เมื่อดูจากปริมาณเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานกันมีน้อยมาก การจะให้สื่อออนไลน์เติบโตทัดเทียมกับสื่อหลักอย่าง ทีวี วิทยุ หรือสิ่งพิมพ์ คงต้องใช้เวลาอีกนานไม่ต่ำกว่า 5 ปี อย่างแน่นอน
ด้านวิทวัส ชัยปาณี นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นถึงผลกระทบของพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ต่ออุตสาหกรรมโฆษณา โดยเชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบในเชิงลบกับวงการโฆษณามากนัก แต่ในทางกลับกันน่าจะส่งผลดีหากรัฐมีการออกกฎหมายออกมาควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต เพื่อให้การสื่อสารผ่านสื่อสมัยใหม่นี้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการสื่อสารบนอินเทอร์เน็ตก็จะกลายเป็นสื่อที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้นตามไปด้วย
"พ.ร.บ.ฉบับนี้คงไม่ส่งผลลบมากนัก ที่ผ่านมาเราไม่เคยมีกฎหมายมาควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ต ก็มักจะใช้งานกันอย่างไม่มีความระมัดระวัง ทั้งเรื่องถ้อยคำ ภาษาและรูปภาพ ดังนั้นเมื่อมีกฎเกณฑ์ออกมาควบคุมก็น่าจะทำให้การใช้อินเทอร์เน็ตมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น เจ้าของสินค้าหรือบริการที่เคยกลัวว่าเมื่อมีการโฆษณาบนอินเทอร์เน็ตแล้วจะมีการโพสต์เข้ามาให้ข้อมูลในเชิงลบ การใส่ร้าย โจมตี ก็ไม่ต้องกลัวอีกต่อไป เพราะหากไม่เป็นความจริงก็สามารถตามเอาผิดผู้โพสต์ได้ ต่างจากปัจจุบันที่มีการโพสต์ข้อความ การฟอร์เวิร์ดเมล์กันมากมายจนไม่สามารถเชื่อได้ว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นเป็นความจริงเพียงใด ดังนั้นโดยภาพรวมแล้วเชื่อว่ามาตรการในการควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตของภาครัฐน่าจะให้ผลบวกกับอุตสาหกรรมโฆษณามากกว่า หากกฎเกณฑ์ที่นำมาใช้ไม่ตึงจนเกินไป" นายกสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย กล่าว
|
|
|
|
|