ทักษิณ ยันรัฐบาลไม่ปล่อยทีพีไอล้มแน่ เตรียมสั่งคลัง-ยุติธรรมช่วย ขณะที่เจ้าหนี้ท้าทายรัฐบาล
ขู่ฟ้องล้มละลายบริษัท ด้านประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เตรียมเจรจาแบงก์กรุงเทพ ขอคืนโรงงาน
เครื่องจักร 6.1 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นหลักประกันหาแหล่งเงินกู้ใหม่ ขณะที่คณะกรรมการเจ้าหนี้ตีกันประชัย
ยกเลิกปล่อยสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อม เครดิตไลน์"
ซื้อน้ำมันดิบ ยึดสินค้าคงคลัง ขณะที่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดประชุมเจ้าหนี้นัดแรก
12 พ.ค.
ทักษิณลั่นไม่ปล่อย TPI ล้ม
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลล้มละลายกลางตัดสินให้บริษัท
เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส พ้นจาก ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ว่าเมื่อศาลตัดสินแล้ว
รัฐบาล กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการคลัง คงต้องดูแลเรื่องการตั้งผู้บริหารแผนฯใหม่
โดยลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องเสนอ แต่รัฐบาลต้องดูอีกครั้ง เพื่อความเหมาะสมเพื่อให้เรื่องนี้จบ
นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หาก ลูกหนี้และเจ้าหนี้ตกลงกันได้ เรื่อง ก็จบ แต่บังเอิญลูกหนี้และเจ้าหนี้
ยืนคนละมุมมากเกินไป รัฐบาลพยายามจะทำให้อยู่ในมุมใกล้เคียง กันมากที่สุด จะไกล่เกลี่ยให้ดีที่สุด
"ขอยืนยันต่อพนักงานทีพีไอนับพันคนว่า รัฐบาลไม่ปล่อยให้บริษัทล้มแน่นอน" พ.ต.ท.
ทักษิณย้ำ
เจ้าหนี้อายัดเงินฝาก-น้ำมันทีพีไอ
นายปีเตอร์ กอธทาร์ด ผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส จำกัด (อีพีแอล)
ในเครือเฟอร์เรียร์ ฮอดจ์สัน จากออสเตรเลีย อดีตผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท
อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI) เปิดเผยหลังถูกศาลล้มละลายกลางของไทยถอดถอนจากการฟื้นฟูกิจการทีพีไอ
ว่าอีพีแอลได้รับแจ้งจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ทีพีไอว่า ระงับสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน
80 ล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว เนื่องจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ไม่ไว้ใจผู้บริหารแผนชั่วคราว
คือกลุ่มนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์
โดยเจ้าหนี้ยึดหลักประกัน เช่น เงินสด โดยอายัดบัญชีเงินฝากทีพีไอ 10 ล้านดอลลาร์
เพื่อหักกลบลบหนี้เงินกู้ทุนหมุนเวียนดังกล่าว รวมทั้งยึดหลักประกันสินค้าคงคลัง
น้ำมันดิบ ที่อยู่ระหว่างขนส่งจากซาอุดีอาระเบียมาโรงกลั่นทีพีไอที่ระยอง 1 ล้านบาร์เรล
มูลค่าประมาณ 30 ล้านดอลลาร์
"เราได้รับแจ้งจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ว่า ได้ยกเลิกเงินทุนหมุนเวียน 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รวมทั้งใช้สิทธิยึดหลักประกันทั้งหมด เพื่อ ลดความเสี่ยง เนื่องจากไม่มั่นใจต่อผู้บริหารแผนชั่วคราวในปัจจุบัน"
เขากล่าวด้วยสีหน้าเคร่งเครียด
อีพีแอลไอ้เสือถอย
การยกเลิกเงินทุนหมุนเวียนดังกล่าว เขาอ้างว่าย่อมส่งผลกระทบบริษัทในเครือทีพีไอทั้ง
6 แห่ง ที่อีพีแอลบริหารแผนฟื้นฟูกิจการด้วย ซึ่งจะกระทบเงินทุนหมุนเวียนบริหารงาน
รวมถึงเงินเดือนที่จะจ่ายพนักงานทีพีไอและบริษัทในเครือ ซึ่งจะทำให้การบริหารงานของอีพีแอล
ในฐานะผู้บริหารแผน ทำได้ยาก อีพีแอลจะถอนตัวออกจากการบริหารบริษัทในเครือทีพีไอทั้ง
6 แห่งด้วย
ทางด้านที่ปรึกษากฎหมายอีพีแอล นายกิตติพงศ์ อุรพิพัฒน์พงศ์ ยอมรับว่าอีพีแอลจำเป็นต้องถอนตัวจากการฟื้นฟูกิจการ
6 บริษัท เครือทีพีไอ เพื่อการถูกทีพีไอปลด หลังจากกลุ่ม นายประชัยบริหารแผนฟื้นฟูฯทีพีไอ
ตามคำ พิพากษาศาลล้มละลายกลาง
ส่วนผลกระทบกับทีพีไอ จากการกระทำของเจ้าหนี้ จะทำให้หยุดผลิต-กลั่นน้ำมัน นาย
กอธทาร์ดกล่าวว่า คงไม่สามารถตอบแทนกลุ่มนายประชัย ในฐานะผู้บริหารแผนชั่วคราวได้
แต่เขากล่าวว่า น่าจะทำให้การดำเนินงานของบริษัทเป็นไปได้ยาก
รวมถึงความสามารถชำระดอกเบี้ยจ่าย เพราะปลาย เม.ย.นี้ ทีพีไอมีภาระค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานทั้งหมด
7,000 คน วงเงิน 5-6 ล้าน ดอลลาร์ และภาระดอกเบี้ยหนี้ชั้นที่ 1 ที่ต้องจ่ายเจ้าหนี้ทุกเดือน
8.5 ล้านดอลลาร์
นายกอธทาร์ดอ้างว่า เจตนารมณ์เจ้าหนี้ ต้องการให้ทีพีไอฟื้นฟูกิจการสำเร็จ ไม่ได้ต้อง
การให้ทีพีไอต้องปิดกิจการ แต่เจ้าหนี้ถือหลักจะไม่รับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ในการปล่อยสินเชื่อ
เงินทุนหมุนเวียนกับคนที่ไม่มั่นใจด้วย จึงยกเลิกเงินทุนหมุนเวียนดังกล่าว จนกว่าจะได้ผู้บริหารแผนรายใหม่
ที่เจ้าหนี้ยอมรับ
อีพีแอลอยู่ระหว่างหารือปรึกษากฎหมาย ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำตัดสินศาลล้มละลายกลางของไทย
เมื่อวันที่ 21 เม.ย. คาดว่าจะรู้คำตอบภายในสัปดาห์หน้า อีพีแอลจะยื่นคำร้องอุทธรณ์เอง
เจ้าหนี้ท้าทายอำนาจศาล-ทักษิณ
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
(ทีพีไอ) กล่าวว่าการประกาศของอีพีแอล ว่า เจ้าหนี้จะตัดวงเงินสินเชื่อทุนหมุนเวียน
80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือท้าทายอำนาจศาล และทำตามคำขู่ ที่อีพีแอลยื่นคำร้องต่อศาลเมื่อวันที่
21 เม.ย. ถ้าศาลถอดถอนอีพีแอลจากผู้บริหารแผนฯ เจ้าหนี้จะยกเลิกวงเงินกู้จำนวนนี้
"เจ้าหนี้ไม่ใช่เจ้าของทุกอย่างของทีพีไอ การดำเนินการดังกล่าว จะทำให้กิจการของทีพีไอเดินต่อไปไม่ได้
และเกิดผลเสียหายกับทีพีไอ รวมทั้งเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง" เขากล่าว
ส่วนการอายัดเงินสดที่ทีพีไอฝากธนาคารเจ้าหนี้ต่างๆ เขากล่าวว่า จะทำให้เกิดปัญหาจ่าย
เงินเดือนพนักงานทีพีไอ เจ้าหนี้ต้องคุยกับ พนักงาน 4-5 พันครอบครัว ว่าจะทำอย่างไรกับพวกเขา
ซึ่งตามกฎหมายเจ้าหนี้ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่ปล่อยเหตุการณ์ดังกล่าวแน่นอน
เพราะถือเป็นการท้าทายนโยบายเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย
ปีนี้ขยายตัว 6% เนื่องจากธุรกิจทีพีไอมีผลกระทบภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศ
นายประชัยกล่าวต่อว่า การดำเนินการ ดังกล่าวของคณะกรรมการเจ้าหนี้ครั้งนี้ ผู้อยู่เบื้องหลังคือธนาคารกรุงเทพ
ในฐานะเจ้าหนี้ราย ใหญ่สุด ซึ่งกองทุนรัฐบาลสิงคโปร์ (จีไอซี) ถือหุ้นใหญ่เกือบ
30% จีไอซีเป็นผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมันในสิงคโปร์ คู่แข่งทีพีไอเขาเชื่อว่า
การดำเนินการดังกล่าว ต้องการทำลายทีพีไอ เพื่อไม่ให้ผลิตน้ำมันได้
ขอเครื่องจักร-โรงงาน 6.1 หมื่นล้านคืน
แนวทางการบริหารงานทีพีไอภายใต้การเป็นผู้บริหารแผนชั่วคราวของนายประชัยเขากล่าวว่า
ภายในสัปดาห์นี้ทีพีไอจะเจรจากับ เจ้าหนี้ คือ ธนาคารกรุงเทพ เพื่อให้คืนหลักทรัพย์ค้ำประกัน
ซึ่งประกอบด้วย เครื่องจักร และโรงงาน มูลค่า 6.1 หมื่นล้านบาท เพื่อบริษัทจะนำหลักทรัพย์ดังกล่าว
ค้ำประกันเงินกู้จากแหล่งอื่นให้ได้ 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพิ่มกำลังผลิตน้ำมันให้ได้
1.25 แสนบาร์เรล/วัน
หลักทรัพย์ดังกล่าว ทีพีไอเคยค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งธนาคารกรุงเทพอนุมัติให้กู้เพียง
80 ล้านดอลลาร์ เพราะเห็นว่าหลักทรัพย์ค้ำประกันดังกล่าว มูลค่าเกินวงเงินกู้
ขู่ฟ้องล้มละลายทีพีไอ
ทางด้านนายกิติพงษ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ทนายความฝ่ายเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส กล่าวว่า
การแต่งตั้งผู้บริหารแผนฯ รายใหม่ของทีพีไอ ขึ้นกับความเห็นชอบที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นสำคัญ
ซึ่งกฎหมายล้มละลายไม่ได้ระบุว่า ผู้บริหารแผนฯต้องได้รับความเห็นชอบจากลูกหนี้
หากไม่สามารถตกลงกันได้ เจ้าหนี้อาจยื่นฟ้องล้มละลายทีพีไอ ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้ทุกฝ่าย
ส่วนข้อเสนอที่ให้โอนหนี้ทีพีไออยู่ในบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) เขากล่าวว่าตามกฎหมาย
ไม่สามารถปฏิบัติได้ แม้ผู้บริหารลูกหนี้และคณะกรรมการเจ้าหนี้ จะยื่นคำร้องขอออกจากแผนฟื้นฟูกิจการก็ตาม
เพราะทีพีไอไม่ถือเป็นหนี้เน่า (NPL) ปี 2543 ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ก่อตั้ง บสท.
หากรัฐจะแก้ไข กฎหมายเพียงเพื่อให้ทีพีไอเข้าสู่ บสท.คงเป็นเรื่องใหญ่
แบงก์กรุงไทยพร้อมระงับเงินกู้ทีพีไอ
แหล่งข่าวธนาคารกรุงไทย ในฐานะที่เป็นหนึ่งในธนาคารปล่อยกู้เงินทุนหมุนเวียน
80 ล้านดอลลาร์ให้ทีพีไอ กล่าวว่าขณะนี้ คณะกรรมการเจ้าหนี้ยังไม่ได้แจ้งธนาคาร
กรุงไทย ระงับวงเงินกู้ดังกล่าว แต่หากคณะกรรมการเจ้าหนี้แจ้ง ธนาคารก็พร้อมดำเนินการ
เนื่องจากเงินกู้ดังกล่าว ถูกค้ำประกันจากเจ้าหนี้เดิม ซึ่งประกอบด้วย เจ้าหนี้รายใหญ่
ได้แก่ IFC, KfW และธนาคารกรุงเทพ
นางนุสรา รุนสำราญ กรรมการรองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารธนชาต เปิดเผยว่าธนาคารเป็นเจ้าหนี้ทีพีไอ
120 ล้านบาท โดยธนาคารตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และบันทึกเป็นหนี้เน่าแล้ว
761 ล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสแรกปีนี้
ผลกระทบที่จะเกิดกับธนาคาร กับกรณีเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ยึดหลักประกันทีพีไอเกี่ยวกับวงเงินหมุนเวียน
80 ล้านดอลลาร์ ธนาคารคงไม่ได้รับผลกระทบอะไรมากเมื่อเทียบธนาคารใหญ่ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ต่างประเทศ
"ความจริงเรามองว่าผู้บริหาร ซึ่งเป็นลูกหนี้ อยู่แล้ว สามารถบริหารงานและดูแลหนี้ได้ดีที่สุด
หนี้จำนวน 120 ล้านบาทนั้น ธนาคารก็รับโอนมา จาก ปรส. ท้ายสุดแล้วเจ้าหนี้หลักๆ
ก็สามารถคุยกับลูกหนี้ได้ คือตกลงกันได้อยู่แล้ว แต่ก็ต้องรอดูแผนของทีพีไอ ซึ่งเป็นลูกหนี้อีกที
ว่าจะออกมาอย่างไร" นางนุสรากล่าว
จพท.นัดประชุมเจ้าหนี้ 12 พ.ค.
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กล่าวว่าจะจัดประชุมเจ้าหนี้ เพื่อแต่งตั้งผู้บริหารแผนแผนฟื้นฟู
ทีพีไอใหม่ 12 พ.ค.นี้ เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการ ทีพีไอเป็นไปตามแผนที่เจ้าหนี้เห็นชอบ
คณะกรรมการเจ้าหนี้ทีพีไอ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซิตี้แบงก์
สาขากรุงเทพ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ
ในเครือธนาคารโลก เครดิตตันสตัล เฟอร์ วีเดอร์ ราฟบัว ธนาคารพัฒนาจากเยอรมนี และบริษัท
บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท