|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“ธาริษา” หวั่นทุนนอกไหลออกแบบฉับพลัน เผยจับตาดูบาททุกวินาที “โฆสิต” ไม่ต้องห่วง ส่วน 6 มาตรการคุมบาทแค่ระยะสั้น ด้านสภาอุตฯ เผยความคืบหน้ากองทุนอุ้ม SME 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 กอง กองแรก 4,500 ล้าน สำหรับปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำจากแบงก์ชาติ 1.5% และแบงก์พาณิชย์ MLR-2.5 อย่างละ 2.25 พันล้าน ส่วนอีกกอง 500 ล้าน กันไว้ช่วยผู้ส่งออก NPL เตรียมสรุปร่วมกับภาครัฐ 6 สิงหาคมนี้
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.กำลังติดตามผลจากการใช้ 6 มาตรการดูแลปัญหาค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพราะเกรงจะเกิดปัญหากลับด้าน คือมีเงินต่างประเทศไหลออกมากเกินไป ธปท.ยังจำเป็นต้องมีเครื่องมือเพียงพอ เพื่อดูแลความผันผวนของค่าเงิน ขณะนี้มีภาคเอกชนเข้ามาช่วยหลังจากออกมาตรการฯ ธปท.จึงไม่ได้ดำเนินการตามลำพังอีกต่อไป อย่างไรก็ตามเป็นมาตรการระยะสั้นที่สนับสนุนให้มีเงินไหลออกมากขึ้นเท่านั้น
“เบื้องต้นผลที่เห็นได้ในขณะนี้คือเงินบาทเริ่มนิ่งแล้ว แต่ในระยะต่อไปก็ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากคาดว่าปัญหาความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงจะเกิดขึ้นต่อไป จึงจะส่งผลให้มีเงินไหลเข้าออกรุนแรงมากขึ้นอีกระยะหนึ่ง”
สำหรับ 6 มาตรการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเมื่อวันที่ 24 ก.ค. ประกอบด้วย 1.การเปิดให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สามารถลงทุนในหุ้นหรือการฝากเงินในต่างประเทศได้ไม่เกิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี พร้อมขยายเพดานการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนจากปีละ 6.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ 2.ผู้ที่มีรายได้จากต่างประเทศ เช่น ผู้ส่งออกหรือกู้เงินจากต่างประเทศ ที่มีภาระผูกพันภายใน 12 เดือน สามารถฝากเงินได้ไม่เกิน 1 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับบุคคลธรรมดา ส่วนนิติบุคคลไม่เกิน 100 ล้านเหรียญสหรัฐ 3.ปรับเพิ่มวงเงินที่ต้องการโอนไปต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ เช่น การโอนเงินให้ญาติในต่างประเทศ หรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อรายต่อปี 4.ขยายเวลาให้บุคคลที่มีรายรับเงินตราต่างประเทศ ต้องนำเงินดังกล่าวเข้าประเทศภายใน 120 วัน เป็นไม่เกิน 360 วัน
5.การยกเลิกข้อกำหนดผู้มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ ต้องขายออกหรือฝากภายใน 15 วัน เป็นไม่มีกำหนด 6.ให้นักลงทุนประเภทสถาบันสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ หรือฝากเงินกับสถาบันการเงินต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากเจ้าพนักงาน
ส่วนกรณีที่มีข้อเสนอให้นำทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศไปตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในต่างประเทศ นางธาริษาให้ความเห็นว่า จะต้องศึกษาและหารือกับผู้เกี่ยวข้องก่อนว่า มีความจำเป็นหรือสามารถจะรับมือ หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปได้หรือไม่
“วันพฤหัสฯ จะเล่าให้ฟังว่าหลังออกมาตรการไปเป็นอย่างไร”ผู้ว่าฯ ธปท. กล่าว
นางธาริษา กล่าวถึงกรณีที่นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.อุตสาหกรรม กำชับให้ ธปท.ติดตามค่าเงินบาททุกชั่วโมงว่า ธปท.จะติดตามทุกวินาทีก็ได้ เพราะ ธปท.มีข้อมูลมากกว่าที่ตลาดมีอยู่ ขอให้สบายใจได้ เราไม่ได้นั่งหลับ
ขณะที่การประชุมผู้ว่าการธนาคารกลาง 16 ประเทศในภูมิภาคเอเชียเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นางธาริษา กล่าวว่า ที่ประชุมได้แสดงความห่วงใยกับผลของเงินทุนที่ไหลเข้ามายังภูมิภาคเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งอาจจะทำให้เกิดปัญหาการไหลออกที่รุนแรงได้ในอนาคต
นายโฆสิต กล่าวถึงประเด็นค่าเงินบาทในระหว่างการเดินทางเยือนนักลงทุนยุโรป เมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ตราบใดที่มีการหมุนเวียนของเงินทุนไปทั่วโลก และสถานการณ์การเงินโลกยังมีความผันผวน ธปท.ก็ต้องดูแลและบริหารเงินบาททุกชั่วโมง ทุกวัน เพราะไม่จำเป็นที่เงินดอลลาร์สหรัฐจะต้องอ่อนค่าลงทุกวัน เหมือนกับที่มีการคาดการณ์กัน ดังนั้นการติดตามสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนของโลกจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
“วันนี้ที่ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องค่าเงินบาท ก็จะต้องบริหารจัดการไม่ให้มีการเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงมากเกินไป ต้องอยู่ในแถวเดียวกับเงินสกุลเพื่อนบ้าน”นายโฆสิต ระบุ
เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง
วานนี้ (31 ก.ค) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.77/79 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 33.72/74 บาท/ดอลลาร์ นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพกล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าสุดของวันที่ระดับ 33.73 บาท/ดอลลาร์ และอ่อนค่าสุดของวันที่ระดับ 33.85 บาท/ดอลลาร์
“วันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าในช่วงเช้าเนื่องจากวันศุกร์ตลาดหุ้นติดลบ ทำให้มีแรงซื้อดอลลาร์เข้ามาจากการขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ แต่ในช่วงบ่ายเงินบาทก็กลับมาแข็งค่าขึ้นจากแรงขายเงินดอลลาร์ของผู้ส่งออก ขณะที่เงินเยนและเงินยูโรเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากการทำ carry trade เมื่อตลาดหุ้นดาวโจนส์กลับมาปิดบวก”
สำหรับวันที่ 1 ส.ค. เขาคาดว่า เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.75-33.85 บาท/ดอลลาร์ โดยคืนวานนี้สหรัฐจะประกาศตัวเลข CORE PCE เดือน มิ.ย. และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในเขตชิคาโกเดือน ก.ค.
ดอกเบี้ยกองทุน SME ยังไม่ลงตัว
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกองทุนเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม หรือกองทุนสนับสนุน มูลค่า SMEs 5,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีจากวิกฤตค่าเงินบาทว่า จากการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ได้ข้อสรุปว่า จะแบ่งกองทุนเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก มูลค่า 4,500 ล้านบาท ช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ส่งออกและประสบกับปัญหาเรื่องค่าเงินบาทกู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ โดยมีแหล่งที่มาของเงินแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนละ 2,250 ล้านบาท โดยครึ่งแรกมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งจะให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 1.5% อีกครึ่งหนึ่งขอกู้กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทางธนาคารพาณิชย์ เสนออัตราดอกเบี้ยมาที่อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) -2.5 โดยขณะนี้กำลังเจรจาต่อรอง เพราะภาคเอกชนต้องการให้ได้ดอกเบี้ย MLR-3 ซึ่งคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ ปัจจุบัน MLR ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อยู่ที่ 6.875 เปอร์เซ็นต์
ก่อนหน้านี้ นายสมมาต ขุนเศษฐ รองเลขาธิการ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า กลุ่มสถาบันการเงินยืนยันที่จะให้ใช้ MLR-2.25 แต่ภาคเอกชนต้องการดอกเบี้ย 1.5 เปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยสนับสนุน
นายสันติ กล่าวต่อว่า เงินจำนวนอีก 500 ล้านบาท กันสำรองเอาไว้จะนำมาช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีด้านส่งออกที่ประสบกับปัญหาเป็นหนี้เสีย หรือ NPL โดย ธปท.จะอนุมัติเงินสมทบ 90 เปอร์เซ็นต์ และธนาคารพาณิชย์สนับสนุนเพิ่มเติมอีก 10 เปอร์เซ็นต์
ทั้งนี้ ในวันที่ 6 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) จะประชุมหาข้อสรุปเกี่ยวกับ 6 มาตรการช่วยแก้วิกฤตค่าเงินบาท และเมื่อได้ข้อสรุปต่างๆ แล้ว จะให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้านส่งออกที่ประสบปัญหาค่าเงินบาท ได้มาขึ้นทะเบียน เพื่อขอรับการช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้รู้ตัวเลขที่ชัดเจน ว่ามีจำนวนผู้ประกอบการด้านเอสเอ็มอีด้านส่งออกที่ได้รับผลกระทบจำนวนเท่าไร หลังจากนั้น จะเสนอข้อสรุปเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และคณะรัฐมนตรีต่อไป
“มั่นใจขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือน เงินจะถึงมือเอสเอ็มอีได้อย่างแน่นอน นอกจากนี้ กกร.จะหารือมาตรการลดผลกระทบค่าเงินบาทในด้านอื่นๆ ซึ่งหลังจาก ธปท.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือยังต้องใช้เวลาในการติดตามประมาณ 1 - 2 เดือน ขณะนี้เห็นว่าแนวโน้มค่าเงินบาทได้เริ่มอ่อนค่าลงเล็กน้อย ถือว่าเอกชนมีความพึงพอใจแม้จะมีเงินทุนไหลเข้ามา แต่ค่าเงินบาทไม่ผันผวนมากนัก “นายสันติ กล่าว และเผยต่อว่า ในเบื้องต้นเอสเอ็มอีส่งออกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มสิ่งทอ กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา เพราะเจอการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่ง สิ่งที่ทำได้ขณะนี้ ต้องพยายามหาตลาดใหม่ ในส่วนของค่าเงินบาท แม้เริ่มอ่อนค่าลงมาบ้างเล็กน้อย แต่ต้องการให้ค่าเงินมีเสถียรภาพและอ่อนค่าลงมามากกว่านี้ เชื่อว่า หลังจากที่กองทุนต่างๆของภาครัฐได้ไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ช่วยแก้ปัญหาเสถียรภาพของค่าเงินบาทได้
อีกทั้ง จากการจับมือกันทำงานของรัฐบาลและเอกชน แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตลาดทุนไทย ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินไม่ให้แกว่งมากนัก แม้แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ( IMF) ยังเห็นว่า การแก้ปัญหาค่าเงินบาทของไทยเป็นแนวทางที่ดี แต่คงต้องรอดูอีก 2-3 อาทิตย์ เพื่อเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น
สสว.เผย SME รายใหม่เจ๊งปีละ 35 เปอร์เซ็นต์
นางจิตราภรณ์ เตชาชาญ ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวยอมรับวานนี้ว่า ในปัจจุบันผู้ประกอบการ SME ที่เกิดขึ้นใหม่ได้ปิดกิจการลงแล้วประมาณร้อยละ 30-35 ต่อปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการ SMEเกิดใหม่ประมาณร้อยละ 50 จากที่ตั้งเป้าไว้จำนวน 4 หมื่นรายในช่วงระหว่างปี 2550 – 2554
ทั้งนี้ สสว.ได้เตรียมงบประมาณไว้ 80 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องจากผู้ประกอบการ SME รวมถึงผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
|
|
|
|
|