ปลดแอกจัสโก้ หลังออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว เปิดแผนรุกหนัก เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ เป้าอีก 3 ปี รายได้ทะลุ 7,000 ล้านบาท ผุดสาขาครบ 25 แห่ง เล็งแท่นผู้นำซูเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพฯ ซุ่มศึกษารูปแบบค้าปลีกขนาดเล็ก หนีกฎหมายค้าปลีกคุมเข้ม เผยผลประกอบการครึ่งปีแรก โกยแล้ว 900 ล้านบาท
นายเออิจิ บาตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิออน ไทยแลนด์ จำกัด ผู้บริหาร จัสโก้ซูเปอร์มาร์เก็ต เปิดเผยว่า หลังจากที่บริษัทฯได้ดำเนินการตามแผนงานทุกอย่าง จนครบถ้วนตามที่ได้กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟู และได้รับอนุมัติจากศาลล้มละลายกลางให้ออกจากแผนฯได้ในวันที่ 18 มิถุนายน 2550 ที่ผ่านมา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้บริษัทฯมีความมั่นคงด้านการเงิน ไม่มีภาระหนี้สินใดๆทั้งสิ้น ทำให้มีความพร้อมในการรุกธุรกิจจากนี้ไปเต็มที่ ภายใต้ชื่อบริษัทใหม่ อิออน ไทยแลนด์ เพื่อใช้ศักยภาพของอิออนที่เป็นบริษัทแม่ในการเพิ่มความแข็งแกร่งของธุรกิจ
อย่างไรก็ตามในแง่ของทุนจดทะเบียนมี 308.2 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อรองรับการขยายตัวจากนี้ แต่ในส่วนของโครงสร้างผู้ถือหุ้นนั้นยังคงเดิมคือ ประกอบด้วย 1.อิออนกรุ๊ป ญี่ปุ่น 2.อิออน อเมริกา ซึ่งถือหุ้นรวมกัน 49% 3.ผู้ถือหุ้นที่เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยอีก 51% และอยู่ระหว่างพิจารณาเช่นกันว่า จะเปลี่ยนชื่อใหม่อย่างไรดีที่จะมีความเหมาะสม
ยึดตลาดกทม.
แผนงาน 3 ปีจากนี้ (2551-2553) จะต้องมียอดขายรวม 7,000 ล้านบาท มีสาขารวม 25 สาขา มีผลกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 320 ล้านบาท จากปัจจุบันที่มีรายได้รวมของปี 2549 ที่ 1,967 ล้านบาท มีสาขารวม 7 สาขา และตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องเป็นผู้นำในตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลให้ได้ภายในปี 2558 จากอดีตที่เคยมีสาขามากที่สุดในปี 2543 จำนวน 14 สาขา
เหตุผลที่มุ่งเน้นตลาดกรุงเทพฯและปริมณฑลแม้ว่าจะมีพื้นที่รวมเพียงไม่เกิน 3% จากพื้นที่ทั้งประเทศ แต่ก็มีมูลค่าการบริโภคสูงถึง 50% ครึ่งหนึ่งแล้ว อีกทั้งรายได้ต่อครัวเรือนมีสูงถึง 33,088 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ขณะที่รายได้ต่อครัวเรือนเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ที่ 17,787 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน
ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะนำรูปแบบธุรกิจที่อิออนมีอยู่ในต่างประเทศเข้ามาเปิดให้บริการในไทย เช่น เวลเซีย ร้านขายยา, มินิสต๊อป ร้านคอนวีเนียนสโตร์, แม็กซ์แวลู ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่, จัสโก้ คอนเซ็ปท์จีเอ็มเอสที่มีพื้นที่มากกว่า 20,000 ตารางเมตร เป็นต้น และการขยายซูเปอร์มาร์เก็ตใน 2 ขนาดคือ พื้นที่ 1,000 ตารางเมตรกับพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร รวมทั้งแผนการเปิดบริการธุรกิจค้าปลีกขนาดเล็กพื้นที่ไม่เกิน 200-300 ตารางเมตรให้บริการด้วย หากกฎหมายค้าปลีกมีผลบังคับใช้และจะกระทบต่อการขยายสาขาขนาดใหญ่ โดยปัจจุบันสาขาของจัสโก้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000-1,500 ตารางเมตรต่อสาขา แต่สาขาใหญ่ที่สุดคือ รัชดาภิเษก พื้นที่มากกว่า 3,300 ตารางเมตร
นายเออิจิกล่าวด้วยว่า ยุทธศาสตร์การขยายสาขาและการหาทำเลนั้นจะเปิดกว้าง ทั้งการลงทุนพัฒนาเอง และการไปเช่าพื้นที่ในโครงการของนักพัฒนารายอื่น ซึ่งบริษัทฯก็ยังมีการประสานงานกับพันธมิตรเดิมคือ บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งผู้พัฒนาที่ดินรายอื่นด้วยแล้วแต่ความเหมาะสมและทำเล
ปัจจุบันบริษัทฯมีสาขาที่เช่าอยู่ในพื้นที่บริษัทอื่นคือ บางบอน ประชาอุทิศ รังสิตคลอง 2 ส่วนที่เหลือนั้นเป็นการพัฒนาเองโดยบริษัทฯในปีนี้คาดว่าจะเปิดสาขาใหม่เพิ่มอีก 1 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมการ และคาดว่าจะปิดยอดขายปีนี้ที่ 2,000 ล้านบาท โดยสาขาล่าสุดที่เปิดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา คือที่ รังสิตคลอง 2 มีพื้นที่บริการเพียง 1,000 ตารางเมตร อาคาร 1 ชั้น จอดรถได้ 113 คัน เปิดบริการ 24 ชั่วโมง เป้าหมายยอดขายสาขานี้ที่ 222 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสาขานี้ตั้งอยู่ท่ามกลางผู้ประกอบการโมเดิร์นเทรด 3 รายใหญ่ ที่มีพื้นที่บริการมากกว่า 10,000 ตารางเมตร
ครึ่งปีแรกยิ้มออกหลังปรับใหม่
สำหรับผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกปีนี้พบว่า มียอดขายรวม 912 ล้านบาท เติบโตขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ขณะที่ไตรมาสที่ 1 มีรายได้ 449 ล้านบาท เติบโต 1.5% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว และไตรมาสที่สองปีนี้มีรายได้รวม 462 ล้นบาท เติบโต 1% จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ส่วนผลกำไรไตรมาสแรกปีนี้มี 6 ล้านบาท ไตรมาสที่สองกำไร 8 ล้านบาท และครึ่งปีแรกกำไร 15 ล้านบา ท และเมื่อเทียบเป็นอัตราส่วนพบว่า ไตรมาสที่หนึ่งเติบโต 11% ไตรมาสที่สองเพิ่มขึ้น 7% และครึ่งปีแรกกำไรเติบโต 9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้วตามลำดับ
สาเหตุที่ผลประกอบการครึ่งปีแรกนี้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเนื่องจากว่า 1.บริษัทฯได้พยายามเพิ่มฐานสมาชิกผู้ถือบัตร จัสโก้การ์ดมากขึ้น ปัจจุบันมีจำนวน 12,000 ราย และตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มเป็น 1 แสนรายในปี 2553 และงดการขายสินค้าในลักษณะโฮลเซลแต่เน้นการขายให้กับลูกค้าปรกติในรูปแบบเอนด์ยูสเซอร์ 2.ใช้กลยุทธ์เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ซึ่งเริ่มทดลองแล้ว 3 สาขาที่ ประชาอุทิศ ศรีนครินทร์และ สาขาใหม่ที่ รังสิตคลอง 2
3.ใช้กลยุทธ์เว้นส์เดย์มาร์เก็ตติ้ง (Wednesday Marketing) เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายของจัสโก้จะมุ่งเน้นจับกลุ่มในละแวกพื้นที่ใกล้เคียง ดังนั้นจึงต้องเพิ่มความถี่ในการเข้าใช้บริการมากขึ้น ซึ่งกลยุทธ์นี้ก็สามารถดึงให้เข้ามาจับจ่ายซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งมีโปรโมชั่นราคาด้วย ขณะนี้เริ่มทดลอง 3 สาขา คือ รัชดาภิเษก ประชาอุทิศ และสุขุมวิท ยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 150-200% จากช่วงเดียวกันเดือนที่แล้ว
นอกจากนั้นบริษัทฯยังได้มุ่งเน้นทางด้านกลุ่มอาหารสดเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจีพีสูงอยู่แล้วด้วย และตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้ในกลุ่มของอาหารรวมเป็น 50%
|