Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ สิงหาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2550
บอลแพ้คนไม่แพ้ กับปัญหาระหว่างประเทศของนิวซีแลนด์กับฟิจิ             
โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
 


   
search resources

Social




สิ่งที่ฝังใจที่สุดเรื่องหนึ่งของผู้อ่านหลายๆ ท่าน เวลาที่พูดถึงชีวิตสมัยที่ศึกษาในชั้นมัธยมฯ ก็คงหนีไม่พ้นการเชียร์กีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬายอดนิยมของไทย ยิ่งถ้าเป็นการแข่งขันกันระหว่างสถาบันที่เป็นคู่แข่งกันแล้ว คำพูดยอดนิยมไม่ว่าจะพูดจริงหรือเล่นก็ตามเวลาที่ทีมของตนเองแพ้คือ บอลแพ้คนไม่แพ้

ในฉบับนี้ผมขอพูดถึงประเทศเล็กๆ ในคาบสมุทรแปซิฟิกชื่อว่าประเทศฟิจิเพราะประเทศดังกล่าวได้ทำเรื่องเหลือเชื่อต่อการเมืองระหว่างประเทศขึ้น จากสาเหตุ บอลแพ้คนไม่แพ้ ถ้าจะพูดถึงประเทศฟิจิ ผมเชื่อว่า ชาวไทยโดยมากคงจะไม่รู้จัก ยกเว้นแต่แฟนกอล์ฟอาจจะเคยได้ยินชื่อของวีเจย์ ซิงค์ ประเทศฟิจินั้นเป็นหมู่เกาะขนาดเล็ก ในมหาสมุทรแปซิฟิก พื้นที่ของเกาะต่างๆ นั้นรวมกันได้ 18,274 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรทั้งประเทศเพียง 8 แสนกว่าคน เศรษฐกิจหลักคือการท่องเที่ยว เพราะฟิจินั้นมีชายหาดที่สวยงามและเป็นลากูนตามธรรมชาติ นอกจากนี้ในน่านน้ำยังมีปลาทะเลจำนวนมหาศาล และบนเกาะยังมีไร่อ้อยจำนวนมากซึ่งทำให้น้ำตาลเป็นสินค้าสำคัญ

ถ้าเรามองอย่างผิวเผินแล้วฟิจิน่าจะเป็นชาติหนึ่งในโลกที่ประชาชนมีความสุข แต่ในความเป็นจริงแล้วฟิจิเป็นประเทศที่วุ่นวายที่สุดแห่งหนึ่ง ต้นตอแห่งความวุ่นวายนั้นมาจากอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคมนั่นเอง ผมเชื่อว่าผู้อ่านคงจะเคยได้ยินนิยามของฝรั่งคือแบ่งแยกและปกครอง ซึ่งเป็นการทำให้คนในชาติแบ่งแยกกันแล้วสนับสนุนกลุ่มที่จงรักภักดีต่อฝรั่งที่สุด แต่ตอนที่อังกฤษยึดฟิจินั้นเจอปัญหาไม่มีอะไรให้แบ่งแยก อังกฤษจึงนำชาวอินเดียจำนวน 6 หมื่นคนมายังฟิจิในศตวรรษที่ 19 โดยแขกเหล่านี้มาเป็นตั้งแต่คนงานในไร่อ้อยไปจนถึงข้าราชการที่ใช้ปกครองชาวฟิจิ ทุกวันนี้ ประชากรชาวฟิจิคิดเป็น 55% ขณะที่ชาวอินเดีย คิดได้ 38% ซึ่งแขกถือเป็นชนชั้นกลางถึงบนที่บริหารธุรกิจต่างๆ ในฟิจิ

ในปี 1970 ประเทศอังกฤษได้ประกาศเอกราชให้ฟิจิโดยให้เซอร์มารา ข้าหลวงเดิมปกครอง จนกระทั่งถึงปี 1987 มาราได้แพ้เลือกตั้งต่อ ดร.บาวตรา ผู้นำพรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคของชาวอินเดีย แต่ทว่าหลังจากชนะเลือกตั้งได้เพียงเดือนเดียว ราบูกา ผู้บัญชาการทหารบกได้ทำการปฏิวัติและตั้งให้มารากลับมาเป็นนายกฯ ตามเดิม แต่การปฏิวัติของราบูกาไม่ได้รับการยอมรับจากอังกฤษ ผบ.ทบ.ฟิจิเลยต้องคดีอาญาโทษฐานกบฏ ราบูกาจึงทำการปฏิวัติอีกหนโดยยกฟิจิเป็นสาธารณรัฐแถมตั้งตนเองเป็นรัฐมนตรีกลาโหมและมหาดไทย เพื่อจะได้ไม่ต้องไปขึ้นศาล พอนานวันเข้าราบูกาก็เห็นมาราขวางหูขวางตาจึงเลื่อนขึ้นไปเป็นประธานาธิบดี ซึ่งไม่มีอำนาจอะไรและดันตนเองเป็นนายกฯ แต่แล้วราบูกาก็มาตายน้ำตื้น เพราะมัวแต่หลงตนเองว่า ถ้ามีประชาธิปไตยเต็มใบ ตนก็จะชนะอยู่ดี แต่หลังการเลือกตั้ง ผลปรากฏว่าพรรคแรงงานของนายเชาว์ดีได้รับชัยชนะไปแทน แต่พอเป็นนายกฯ ได้ปีเดียวก็โดนปฏิวัติ โดยคณะปฏิวัติเรียกร้องให้มาราแต่งตั้งสเปส หัวหน้าคณะปฏิวัติขึ้นเป็นนายกฯ แต่มารากลับลาออกและยกตำแหน่งประธานา ธิบดีให้กับนายพลเรือใบนิมารามา ผู้บัญชาการ ทหารสูงสุดแทน ในขั้นแรกใบนิมารามาได้แสดงตนเป็นทหารประชาธิปไตยที่ดีโดยทำการจับสเปสและพรรคพวกไปจำคุก แต่หลังจากนั้นประเทศฟิจิก็วุ่นวายด้วยคดีระหว่างนายกฯคาราเซกับอดีตนายกฯ เชาว์ดี พอศาลตัดสินให้ เชาว์ดีชนะคดี คาราเซก็ไม่พอใจที่ทหารมาก้าวก่ายการเมืองจึงจับกุมราบูกาไปขึ้นศาลข้อหากบฏในอดีตและวางแผนปลดใบนิมารามา

ความพยายามของนักการเมืองที่จะลดอำนาจทหารกลายเป็นชนวนให้ฟิจิเกิดการปฏิวัติในเดือนธันวาคมปีก่อน หลังการปฏิวัติ ใบนิมารามาได้ตั้ง ดร.เสนิลอัครขรี นักการทูตมารักษาการนายกฯ อยู่ไม่กี่เดือนก่อนที่จะสั่งเด้งไปเป็นรัฐมนตรี ส่วนใบนิมารามาก็ยึดเก้าอี้นายกฯ เสียเอง รัฐบาลฝรั่งจึงประณามฟิจิทันทีโดยเริ่มจากการรณรงค์ให้ประชาชนไม่ไปเที่ยวฟิจิด้วยปัญหาความมั่นคง ไม่อนุมัติเงินกู้ทั้งระดับประเทศหรือระดับสถาบันอย่างไอเอ็มเอฟ นอกจากนี้ฝรั่งยังกดดันทางการเมืองอย่างต่อเนื่องเหมือนจะขู่ว่าพร้อมที่จะใช้มาตรการขั้นรุนแรงกับฟิจิเมื่อไหร่ก็ได้

ในที่สุดฟิจิจึงตอบโต้ฝรั่งที่บอยคอตตน โดยหาสาเหตุมาจากการที่นิวซีแลนด์ส่งแค่ทีมออลแบลคเยาวชนไปแข่งรักบี้นัดกระชับมิตรกับทีมชาติฟิจิแทนทีมออลแบลค ใบนิมารามาจึงสั่งให้ทีมฟิจิถล่มเจ้าหนูออลแบลคให้ราบ แต่ผลปรากฏว่า เจ้าหนูออลแบลคกลับถล่มทีมชาติ ฟิจิเสียยับ ด้วยคะแนน 57 ต่อ 8 งานนี้ใบนิมารามาซึ่งโกรธนิวซีแลนด์เป็นทุนเดิมอยู่แล้วจึงขับไล่ทูตกีวีออกจากฟิจิทันที แถมจอมเผด็จการ ยังประกาศอีกว่าไม่ต้อนรับทูตคนใหม่ในช่วงนี้ พอผ่านไป 2-3 วัน นายพลฟิจิก็เกิดคิดได้เพราะ ในงานที่ผู้นำฟิจิเชิญทูตชาติต่างๆ มาชี้แจงเรื่อง ไล่ทูตกีวี กลับไม่มีทูตเมืองฝรั่งคนไหนยอมไป แต่พร้อมใจกันไปโผล่ในงานเลี้ยงอำลาทูตนิวซีแลนด์แทน และที่ร้ายกว่านั้นคือบรรดาเมืองฝรั่งได้ร่วมกันประกาศว่าผู้นำ, นายทหารและ ครม.ฟิจิ เป็นบุคคลไม่พึงประสงค์ในเมืองฝรั่ง และไม่ว่าจะเดินทางมาเยือน หรือแม้แต่ต่อ เครื่องบินจะโดนเนรเทศทันที และยังสามารถถูกดำเนินคดีได้หากมีคนมายื่นคำร้องไว้ที่ศาล

นอกจากนี้บรรดาฝรั่งยังแถมแจ็กพอตโดยการยกเลิกเงินและการช่วยเหลือทุกชนิดที่เคยให้กับฟิจิ ขณะที่นิวซีแลนด์ที่โดนเล่นงานหนักที่สุดได้เพิ่มมาตรการโดยยกเลิกวีซ่านักเรียนและวีซ่าทำงานของชาวฟิจิในเมืองกีวีเป็นของแถม และยังมีแนวโน้มว่าประเทศอื่นๆ เช่น ออสเตรเลีย อังกฤษ หรืออเมริกา อาจจะทำตามมาตรการเมืองกีวีเช่นกัน คราวนี้ท่านผู้นำเลยออกมาแก้ตัวเป็นพัลวันว่าบอลแพ้คนไม่แพ้นั้นเป็นเรื่องปลายเหตุ แต่ต้นเหตุมาจากการแข่งขันรักบี้นั้นท่านทูตนิวซีแลนด์ หัวสูงไปนั่งในห้องวีไอพีขณะที่ท่านผู้นำไปเชียร์อยู่ข้างสนาม เรียกว่าท่านทูตไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง งานนี้กลายเป็นตลกระดับชาติเพราะคนที่เชิญทูตกีวีไปชมในห้องวีไอพีคือสมาคมรักบี้ที่ท่านผู้นำเป็นนายกสมาคมเอง แต่ที่ท่านนายพลไปนั่งข้างสนามเพราะต้องการเรียกคะแนนนิยมจากแฟนบอล ทั้งๆ ที่สมาคมรักบี้ได้เตรียมที่นั่งให้ท่านแล้ว

ในความเป็นจริงประชาคมโลกต่างรู้ทันว่า การไล่ทูตนิวซีแลนด์นั้นเป็นเพียงการเอาคืนกับรัฐบาลฝรั่งที่กดดันฟิจิให้เป็นประชาธิปไตย โดย ผู้นำฟิจิคงคิดว่าการเอาคืนนั้นทำเพื่อความสะใจ และคาดว่าฝรั่งคงได้แต่ขู่ แต่เมื่อทำไปแล้วรัฐบาล ทหารของฟิจิกลับพบว่าฝรั่งนั้นเป็นพวกเดียวกัน และพร้อมที่จะร่วมมือกันเล่นงานประเทศเล็กๆอย่างฟิจิ ทำให้ผู้นำฟิจิต้องออกมาแก้ตัวต่างๆนานา แต่ไม่ว่าจะแก้ตัวอย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้วเสถียรภาพของรัฐบาลทหารฟิจินั้นดูจะง่อนแง่นเต็มที จนกระทั่งล่าสุดใบนิมารามา ต้องยอมจำนนและประกาศว่าจะคืนประชา ธิปไตยให้ประชาชนในอีก 2 ปีข้างหน้า แต่ว่าใบนิมารามาจะมีโอกาสครองอำนาจถึง 2 ปีหรือไม่ จุดจบของเผด็จการทหารในฟิจิจะเป็นอย่างไรคงยากที่จะบอกได้ แต่ที่แน่ๆ คืออาการฮูลิแกนของนายพลฟิจิประเภทบอลแพ้คนไม่แพ้นั้นได้ส่งผลเสียต่อรัฐบาลทหารและประชาชนฟิจิอย่างยากที่จะคำนวณได้ทีเดียว   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us